Omise กับหนทาง สู่การเป็นยูนิคอร์น

Omise ผู้ให้บริการ Payment Gateway ที่ให้บริการร้านค้าออนไลน์สามารถจับจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตได้โดยง่าย ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพคนไทยที่ได้รับเงินทุนรอบ Series A โดยก่อนหน้านี้ได้รับเงินทุนจาก East Venture, 500 TukTuks และ True มาแล้ว ทำให้มียอดการรับเงินทุนทั้งหมด 3.45 ล้านเหรียญสหรัฐ

Cover1-1

Omise สามารถระดมทุนเพิ่ม ปิดรอบ Series A ได้สำเร็จ  เป็นจำนวนเงิน 2.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 86 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนในครั้งนี้คือ VC จากประเทศอินโดนีเซียคือ Sinarmas Bank ซึ่งมีแผนพัฒนา Payment Gateway และขยายตลาดในระดับเอเชีย

อีคอมเมิร์ซกลายเป็นการชำระเงิน
อิศราดร หะริณสุต ผู้ร่วมก่อตั้ง Omise กล่าวว่า Omise เริ่มขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 ซึ่งก่อตั้งร่วมกับจุน ฮาเซกาวา โดยเริ่มคิดโปรเจ็กต์การทำเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซให้บริการแก่คนในเมืองไทย ซึ่งได้เข้าร่วม Pitching ในงาน Echelon Asia Summit ที่ประเทศสิงคโปร์ มีโอกาสได้นำเสนอผลงานแก่เหล่า VC (Venture Capital) จำนวนมาก และในที่สุดโปรเจ็กต์เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของเขาได้รับเงินทุนจาก East Venture ในรอบ Seed จำนวน 3 แสนเหรียญสหรัฐ

หลังจากได้รับเงินทุนมาจึงพัฒนาเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซต่อ จนถึงขั้นตอนการหา Payment Gateway เพื่อมาให้บริการบนแพลตฟอร์ม แต่ไม่สามารถหาฟีเจอร์ที่ต้องการได้ในตลาด เพราะจุดประสงค์คือ ต้องการระบบที่ช่วยให้ผู้ใช้งานจ่ายได้ง่ายและสะดวกขึ้น เช่น การนำเทคโนโลยีด้าน Card Tokenization คือการจดจำข้อมูลบัตรเครดิต ซึ่งทำให้ผู้ซื้อสินค้าไม่ต้องกรอกบัตรเครดิตทุกครั้งในการเข้ามาซื้อสินค้าที่เว็บไซต์ สามารถกดเพียงหนึ่งคลิกและจบรายการชำระเงินได้ทันที เช่น แอพพลิเคชั่น Uber ที่ให้ทำการสแกนหรือลงทะเบียนบัตรเครดิตตอนสมัครและไม่ต้องกรอกข้อมูลบัตรเมื่อเรียกใช้บริการแต่ละครั้ง เพียงแค่คลิกยืนยันการชำระเงินเท่านั้น  เป็นต้น

อิศราดร กล่าวต่อว่า สิ่งนี้จะลดการยกเลิกการสั่งซื้อผ่านออนไลน์เนื่องจากกระตุ้นให้เกิดการชำระเงินง่ายเพียงแค่กดปุ่มเดียว จากเมื่อก่อน ผู้ซื้ออาจพบปัญหาต้องเสียเวลาหยิบบัตรเครดิตมากรอกรายละเอียดหลายขั้นตอน หรือบางครั้งอาจมีการ กรอกผิดพลาด จึงทำให้โอกาสในการยกเลิกการสั่งซื้อเกิดขึ้นได้สูง

อีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้อีคอมเมิร์ซไม่เติบโตอย่างรวดเร็วคือ ระบบชำระเงินสำหรับร้านค้ารายย่อย เนื่องจากร้านค้าออนไลน์ไม่มีการซื้อ-ขายออนไลน์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะการชำระเงินยังเป็นรูปแบบโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร ซึ่งมองว่าหากมีระบบชำระเงินที่ตอบโจทย์ให้กับร้านค้ารายย่อยที่มีจำนวนมากในตลาดออนไลน์ สามารถรองรับการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตหรือเดบิตให้กับลูกค้าจะทำให้ลดปัญหาการเปลี่ยนใจในการสั่งซื้อสินค้าลงไปด้วย เพราะระหว่างทางในการไปชำระเงินมีเวลาให้คิดและตัดสินใจอีกรอบ ถ้ามีสิ่งกวนใจอาจทำให้ยกเลิกได้ตลอดเวลา

สถิติจากธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า คนไทยมีการใช้บัตรเครดิตในการซื้อสินค้าเฉลี่ยเดือนละ 6 แสนล้านบาท ด้วยตัวเลขนี้ทำให้เห็นว่า คนไทยนิยมใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมาก ซึ่งเป็นโอกาสต่อการขายออนไลน์อย่างยิ่ง แต่พบว่า ร้านค้ารายย่อยและ SMEs ไม่มีระบบชำระเงินที่รองรับบัตรเครดิต เนื่องจากขั้นตอนการสมัครกับทางธนาคารที่ไม่ยืดหยุ่นสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย

“ข้อจำกัดเหล่านี้จึงเป็นโจทย์ในการพัฒนา Omise ขึ้นมากับคติประจำใจของพวกเราคือ Online payment for everyone เพราะไม่อยากให้มีข้อจำกัดในการรับชำระเงินขายสินค้าของร้านค้าออนไลน์อีกต่อไป” อิศราดร กล่าว

นักลงทุนมองว่า ถ้าสร้างระบบชำระเงินขึ้นมาเพื่อรองรับเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซเพียงเว็บฯ เดียวดูไม่เหมาะสมเท่าไร จึงอยากให้โฟกัสเพียงเรื่อง Payment Gateway เท่านั้น เนื่องจากยังเป็นปัญหาและอุปสรรคของประเทศไทย จึงทำให้เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซที่พัฒนาเกือบเสร็จแล้วต้องปิดโปรเจ็กต์ไป และกลายเป็น Omise ผู้ให้บริการ Payment Gateway ในปัจจุบัน

การเปลี่ยนครั้งนี้ ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะ Omise ได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ภายใน 8 เดือน สามารถระดมทุนเพิ่ม ปิดรอบ Series A ได้สำเร็จ  เป็นจำนวนเงิน 2.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 86 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนในครั้งนี้คือ VC จากประเทศอินโดนีเซียคือ Sinarmas Bank ซึ่งเงินที่ระดมทุนครั้งนี้มีแผนพัฒนา Payment Gateway และขยายตลาดในระดับเอเชีย

e201

ฉบับที่ 201 เดือนกันยายน

เป้าหมายของ StartUp และการเลือก Exit

เป้าให้ชัด ก้าวให้ไว ทีมต้องแข็ง
การเป็นสตาร์ทอัพไม่ใช่แค่มีไอเดียดี หรือโปรดักส์ดีเท่านั้น แต่ต้องเป็นทีมที่มีความมุ่งมั่นและแข็งแกร่งด้วยถึงจะถูกใจ VC เพราะหลังจากผ่านรอบ Seed ที่ East Venture ตัดสินใจลงทุนกับ Omise แล้ว VC ได้เดินทางมาดูบริษัทที่ประเทศไทยถึงความพร้อมและศักยภาพของทีมงาน โดยสิ่งที่ VC ให้ความสำคัญคือ ทีมงานมีความมุ่งมั่นกับโปรเจ็กต์แค่ไหน ความสามารถของคนในทีมมีหลากหลายหรือไม่ เพราะทีมที่ดีควรมีทั้งคนที่ชำนาญด้านโปรแกรม ออกแบบ บริหาร และการตลาดผสมผสานกันอยู่

นอกจากนี้ การมีโมเดลบิสิเนสที่ชัดเจนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสตาร์ทอัพบางรายสร้างโปรดักส์ขึ้นมา แต่ไม่รู้ว่าจะสร้างรายได้อย่างไร เพราะการลงทุนมาต้องพร้อมกับผลกำไร ดังนั้น สตาร์ทอัพต้องมีแผนธุรกิจและเป้าหมายในการเติบโตอย่างชัดเจน

อิศราดร เผยว่า การที่เราสามารถแตะรอบ Series A ได้อย่างรวดเร็วนั้น เพราะผมและจุนต่างมีความคิดว่าเมื่อมีแผนที่ชัดเจนอยู่ในมือแล้วจะต้องลงมือปฏิบัติให้เร็วที่สุด ซึ่งตั้งแต่รอบ Seed จนถึงรอบ Series A นั้น เพราะเมื่อเราเลือกที่จะเป็นผู้ให้บริการ Payment Gateway แล้วจึงมุ่งมั่นพัฒนาแพลตฟอร์มรับชำระเงินให้สามารถตอบโจทย์ทั้งร้านค้าและผู้บริโภคมากที่สุดคือ ร้านค้ารับชำระเงินได้มากขึ้น และผู้ซื้อสินค้าจ่ายได้ง่ายและสะดวกขึ้น

หลังจากพัฒนาระบบขึ้น ได้เปิดให้ใช้ระบบในช่วง Beta ซึ่งมีพาร์ตเนอร์กับผู้ให้บริการเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ  ได้แก่ Page 365 และ Bento Web ที่นำระบบให้ร้านค้าสามารถใช้แพลตฟอร์ม Omise ได้อัตโนมัติ รวมถึงร้านค้าออนไลน์ที่มีเว็บไซต์ส่วนตัวจากการสร้างบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสำเร็จรูป เช่น Magento เป็นต้น ซึ่งได้รับการตอบรับดีมากจากยอดธุรกรรมที่ทำผ่านระบบ จึงทำให้ Omise สามารถระดมทุนจาก VC ในรอบ Series A ได้เร็ว และรอบต่อไปมี VC มารอในการให้เงินทุนแล้ว เพราะเห็นถึงการเติบโตอย่างมากซึ่งคาดว่าจะปิดรอบใหม่ได้ภายในต้นปีหน้า

อิศราดร กล่าวต่อว่า เป้าหมายของ Omise คือ การเป็นผู้ให้บริการ Payment Gateway ที่ดีที่สุดในภูมิภาคนี้ ดังนั้น จึงได้สำรวจตลาดและพบว่า ปัญหาเรื่อง Payment Gateway ไม่เฉพาะที่ประเทศไทยเท่านั้น แต่กลายเป็นปัญหาทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยกเว้นสิงคโปร์ ทำอย่างไรจึงขยายโปรดักส์นี้ออกไปสู่ประเทศต่างๆ ให้เร็วที่สุด ซึ่งตอนนี้ ผู้ให้บริการ Payment Gateway สัญชาติอเมริกัน เช่น Stripe ที่ VISA เพิ่งลงทุนเพิ่มกับสตาร์ทอัพรายนี้ไป 100 ล้านเหรียญ และ Briantree ที่ขายให้กับ PayPal เมื่อ 4-5 ปีก่อน ในมูลค่า 850 ล้านเหรียญ ได้เริ่มเข้ามาสำรวจตลาดในภูมิภาคนี้แล้ว

Cover1-2

เราอยากก้าวไปถึงระดับยูนิคอร์น ซึ่งจะทำให้มูลค่าโปรดักส์ของเราแตะที่ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และขายให้กับนักลงทุน ซึ่งถือเป็นเป้าหมายใหญ่ของทีมเราที่จะต้องทำให้สำเร็จภายใน 2-3 ปีนี้

ดังนั้น Omise จึงต้องรีบขยายและวางรากฐานในภูมิภาคนี้ให้เร็วที่สุด โดยจุดแข็งคือ การที่รู้จักตลาดและเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในภูมิภาคนี้ได้ดีกว่า นอกจากนี้ ระบบหลักที่สร้างขึ้นสามารถออกแบบให้ฟีเจอร์ของ Omise มีความหลากหลายในการตอบสนองพฤติกรรมการชำระเงินได้อย่างครบครัน  เช่น การชำระเงินด้วยบัตรเครดิต/บัตรเดบิต อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง การผ่อนชำระสินค้าและบริการ รวมถึงกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของกลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ และการชำระเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม หรือเคาท์เซอร์วิส ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นโซลูชั่นทางด้านการเงินที่จะทำให้ Omise แตกต่างจาก Stripe

“ความโดดเด่นแตกต่างที่จะทำให้เหนือกว่าคู่แข่งในตลาดทั้งไทยและภูมิภาคนี้คือ การเป็นผู้ให้บริการระบบชำระเงินเลือดใหม่ที่จะเน้นรูปแบบการให้บริการที่เข้าถึงง่าย รวมถึงสามารถ Integrate เข้าได้ทุกแพลตฟอร์ม เพื่อให้ร้านค้าและผู้บริโภคใช้งานง่ายที่สุด ที่สำคัญการออกแบบระบบให้มีความเสถียร เพื่อรองรับการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะบริการทางการเงินจะต้องไม่มีคำว่าระบบล่ม และต้องมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการร้านค้าควบคู่กันไปด้วย”

ทำไมต้องระดมทุน
อิศราดร กล่าวว่า การระดมทุนแต่ละครั้ง ก่อนอื่นอยากให้สตาร์ทอัพถามตัวเองก่อนว่าต้องการเงินทุนไปเพื่อทำอะไร เป้าหมายที่จะก้าวเป็นอย่างไร และเมื่อนำเงินมาสามารถบริหารได้ตรงตามเวลาที่กำหนดหรือเปล่า ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ Omise มีเป้าหมายการระดมทุนคือ ต้องการเงินมาอัดฉีดการทำงานเพื่อเร่งผลิตโปรดักส์ให้สำเร็จตรงตามเป้าหมายเร็วที่สุดภายใน 3 ปี  ซึ่งการ Exit คือ เป้าหมายปลายทางในการพัฒนาโปรดักส์ของ Omise เนื่องจากตั้งใจว่าจะไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งตอนนี้บริษัทกำลังปรับโครงสร้างภายในเพื่อจะไปจดทะเบียนบริษัทในประเทศสิงคโปร์

หลังจากได้เงินทุนจาก Sinarmas Bank ทาง Omise วางแผนจะพัฒนา Payment Gateway และขยายในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตอนนี้ให้ความสำคัญกับประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่กำลังอยู่ระหว่างการพูดคุยกับธนาคารประมาณ 2-3 แห่ง และตลาดที่มีคอนเนคชั่น เพื่อจะได้เข้าถึงได้รวดเร็วยิ่งขึ้นในการเจรจาทางธุรกิจ ซึ่งถ้าสามารถเพิ่มเครือข่ายมากขึ้น จะทำให้สามารถขยายตลาดได้เร็วยิ่งขึ้นด้วย ส่งผลให้ระดมทุนจาก VC ได้ง่ายด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ Omise ได้ทำการจดทะเบียนบริษัทที่ประเทศญี่ปุ่น พร้อมเปิดสำนักงานเป็นทางการด้วย โดยจับมือกับพาร์ตเนอร์กับผู้ให้บริการ Credit Card Issue รายใหญ่คือ Saison ซึ่งเป็น Non-Bank ในประเทศญี่ปุ่น และกำลังเตรียมเปิดตัว Omise ที่ญี่ปุ่นเร็วๆ นี้ สาเหตุที่ทำการเปิดตัวบริการที่นี่ ซึ่งถือเป็น Red Ocean ในธุรกิจ Payment Gateway แต่จากการที่เคยใช้ชีวิตอยู่ญี่ปุ่น และจุนซึ่งเป็นคนญี่ปุ่นเห็นถึงโอกาสบางอย่างที่สามารถเข้าไปทำธุรกิจได้ ที่สำคัญคือ มีพาร์ตเนอร์รายใหญ่ในตลาด พร้อมผลักดันบริการเรา รวมถึงเห็นว่า เทคโนโลยีบางอย่างในญี่ปุ่นเริ่มเก่าแล้ว ควรจะมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาบริการแก่ผู้บริโภค

“ตลาดออนไลน์ของประเทศญี่ปุ่นถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และในแต่ละปีมีการซื้อ-ขายผ่านออนไลน์ประมาณ 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการตัดสินใจเข้ามาทำตลาดนี้หวังเพียงรายได้แค่ 0.5 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ตลาดทั้งหมดก็พอแล้ว” อิศราดร กล่าว

การระดมทุนแต่ละรอบนั้นไม่มีสูตรตายตัวในการกำหนดวงเงินที่ได้รับจาก VC เพราะแต่ละโปรดักส์จะมีมูลค่าที่นักลงทุนมองต่างกัน เช่น แอพฯ เกี่ยวกับถ่ายภาพ เงินที่ระดมทุนจะไม่สูงเท่ากับกับแอพฯ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนแบบ Grab Taxi เพราะมีการใช้งานเป็นประจำและสามารถสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นด้วย ดังนั้น ถ้าอยากทำรายได้สูงจากการเป็นสตาร์ทอัพจะต้องสร้างโปรดักส์ที่เกี่ยวกับชีวิตคน ยิ่งเป็นสิ่งที่คนต้องใช้ทุกวันได้ยิ่งดี

Payment Gateway เป็นหนึ่งโปรดักส์ที่สามารถระดมเงินได้สูงเช่นกัน แต่ยังไม่เทียบเท่ากับ Grab Taxi เพราะการดำเนินธุรกิจของ Omise เป็นการขายบริการผ่านระบบเพียงอย่างเดียว แต่ Grab Taxi จะเกี่ยวกับการจ้างผู้ขับรถแท็กซี่และต้องโปรโมตให้คนเข้ามาทดลองใช้บริการด้วยถึงจะเกิดธุรกรรมขึ้น จึงต้องระดมทุนที่สูงเพื่อจะได้ขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นไม่สามารถกำหนดเงินลงทุนได้อย่างชัดเจนกับสตาร์ทอัพแต่ละ Series เพราะขึ้นอยู่กับธุรกิจนั้นๆ ว่าจะเกิดผลกระทบต่อสังคมมากน้อยแค่ไหน

“เราอยากก้าวไปถึงระดับยูนิคอร์น ซึ่งจะทำให้มูลค่าโปรดักส์ของเราแตะที่ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และขายให้กับนักลงทุน ซึ่งถือเป็นเป้าหมายใหญ่ของทีมเราที่จะต้องทำให้สำเร็จภายใน 2-3 ปีนี้ หลังจากนั้นตั้งใจจะปั้นโปรดักส์ใหม่ออกสู่ตลาดต่อไป” อิศราดร กล่าว

ความสำเร็จของ Omise
ความสำเร็จของเราคือ ทีมงานและวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง การบริหารงานของ Omise เป็นองค์กรแบบ Flat คือไม่มีเลเวลในการทำงาน เพราะทุกคนมีสิทธิ์ในการเสนอความคิดเห็น และทุกคนต้องเปิดใจยอมรับความเห็นของคนอื่นด้วย ไม่มีความเป็นเจ้านายหรือลูกน้อง ในบริษัทจะนั่งทำงานรวมกันสามารถปรึกษาพูดคุยกันได้ตลอดเวลา ในทุกเช้าจะมีประชุมที่เรียกว่า Stand up Meeting โดยให้ทุกคนมาแชร์สิ่งต่างๆ ในการทำงานแก่กัน ที่สำคัญเราให้ความสำคัญกับเวลา แต่ไม่ใช่การเข้าหรือออกงานตรงเวลา แต่เป็นความรับผิดชอบในการทำงานให้เสร็จในเวลาที่กำหนด เพราะการทำงานแบบสตาร์ทอัพต้องเคลื่อนที่ถึงเป้าหมายโดยเร็ว

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่อยากให้สตาร์ทอัพรุ่นน้องได้รู้จักคอนเซ็ปต์ Lean Startup คือ การกล้าที่จะลุกขึ้นมาทำแบบลองผิดลองถูก ไม่อยากให้ทุกคนคิดแบบเดิมคือ ทำโปรดักส์จนเสร็จและเปิดให้คนมาใช้งาน ซึ่งระยะเวลาเกือบปีที่เสียไปอาจพบว่า โปรดักส์ไม่ตอบโจทย์แบบที่คิดไว้ อยากให้ทุกคนทำโปรดักส์ไปและเทสต์ตลาดกับกลุ่มเป้าหมายไป เพราะคนที่เป็นสตาร์ทอัพไม่ใช่คนที่คิดอะไรเพอร์เฟคแต่แรก แต่เป็นคนที่เคยผ่านเรื่องผิดพลาดจนสามารถสร้างโปรดักส์ที่คนยอมรับได้ อิศราดร กล่าว

 

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

ธนาคารกรุงเทพรับสมัครสตาร์ตอัพ เข้าโครงการ Bangkok Bank InnoHub Season 2

ธนาคารกรุงเทพร่วมกับบริษัท Nest ที่มากด้วยประสบการณ์ด้านสตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทค ค้นหาธุรกิจสตาร์ทอัพ 5 กลุ่ม …