ปัจจุบันพบว่า ไทยมีจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงถึง 36 ล้านคน หรือคิดเป็น 56 เปอร์เซ็นต์ของประชากร จึงเป็นเหตุผลที่มูลค่าเม็ดเงินโฆษณาลงที่สื่อดิจิทัล เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะสุดท้าย แบรนด์จะต้องผันไปใช้จ่ายเงินในที่ที่ผู้บริโภคอยู่
จากผลสำรวจมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลปี 2559 (Thailand Digital Advertising Spend Mid-Year 2016) โดยสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT ที่ร่วมกับทีเอ็นเอส พบว่า สื่อดิจิทัลก้าวขึ้นเป็นสื่อหลักเทียบเคียงกับสื่อโทรทัศน์แล้ว
สื่อดิจิทัลก้าวเทียบสื่อโทรทัศน์อัตราใช้สื่อออนไลน์วิดีโอเพิ่มขึ้น
จากการเก็บข้อมูลจาก 24 เอเยนซี่ชั้นนำ พบว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 มีการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลไปแล้วกว่า 4,732 ล้านบาท และคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวมากกว่าช่วงครึ่งปีแรก โดยมีมูลค่าถึง 5,150 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 9,883 ล้านบาท เติบโตขึ้น 22 เปอร์เซ็นต์จากปี 2558
นรสิทธ์ สิทธิเวชวิจิตร อุปนายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ประเภทกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มใช้งบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลมากที่สุด พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำจากกลุ่มสื่อสารมาเป็น กลุ่มยานยนต์ เป็นผลมาจากการที่ดีลเลอร์หันมาใช้กลยุทธ์ด้านสื่อออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการใช้จ่ายงบสูงถึง 1,011 ล้านบาท คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าทั้งหมด ตามด้วยกลุ่มเครื่องประทินผิว 974 ล้านบาท ที่โยกเม็ดเงินโฆษณาจากสื่อโทรทัศน์มาที่ออนไลน์มากขึ้น ขณะที่กลุ่มสื่อสาร ได้ปรับลดการใช้งบด้วยมูลค่า 915 ล้านบาท หลังได้รับผลกระทบจากการประมูลคลื่นความถี่ในช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมา และตามด้วยกลุ่มเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ 627 ล้านบาท และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม 529 ล้านบาท
ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มใช้เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลเพิ่มในมูลค่าสูงที่สุดเทียบจากปี 2558 คือ กลุ่มเครื่องประทินผิว ที่ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 379 ล้านบาท โตขึ้น 64 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการใช้จ่ายในส่วนของออนไลน์วิดีโอมากขึ้น ตามมาด้วยกลุ่มเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ ที่ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 276 ล้านบาท โตขึ้น 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ และกลุ่มการเงินและธนาคาร ที่ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 189 ล้านบาท โตขึ้น 64 เปอร์เซ็นต์ อันเป็นผลมาจากการที่ทุกธนาคารกำลังมุ่งไปสู่การเป็นดิจิทัลแบงกิ้ง และกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 187 ล้านบาท และกลุ่มอาหารเสริม 187 ล้านบาท
ฉบับที่ 214 เดือนตุลาคมAI สำหรับแบรนด์ ผู้ช่วยในยุค IoT |
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุว่า โฆษณาในรูปแบบเฟซบุ๊ก ยังคงเป็นประเภทของการใช้สื่อออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยครองส่วนแบ่ง 29 เปอร์เซ็นต์จากงบโฆษณาทั้งหมด และมียอดการใช้เพิ่มขึ้นถึง 49 เปอร์เซ็นต์จากปี 2558 รองลงมาคือ วิดีโอออนไลน์ที่ครองส่วนแบ่ง 17 เปอร์เซ็นต์ หรือโตขึ้น 4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ดิสเพลย์ มียอดการใช้ลดลงจากปีที่ผ่านมา 2 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สื่อที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในทุกช่วงอายุ อย่างไลน์ มีการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 131 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2558 แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
สุดท้ายแล้ว ในการทำโฆษณา อาจไม่ใช่การมีงบโฆษณาจำนวนมาก สามารถซื้อสื่อได้เยอะ หรือแม้แต่มีครีเอทีฟที่ดีเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ การมีคอนเทนต์ที่ดีและน่าสนใจ
แบรนด์พร้อมโยกงบแต่ยังขาดข้อมูลสนับสนุน
เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ของวงการโฆษณาดิจิทัลแล้ว สิ่งที่น่าสนใจพบว่า แบรนด์มีความพร้อมในการโยกเม็ดเงินโฆษณามาลงที่สื่อดิจิทัลมากขึ้นแล้ว แต่ปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ยังไม่สามารถใช้เงินได้มากอย่างที่ควรจะเป็นคือ การขาดข้อมูลสนับสนุน โดย 83 เปอร์เซ็นต์ของเอเยนซี่ บอกว่า แบรนด์ยังไม่เข้าใจสื่อดิจิทัลมากพอ ขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้สื่อดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพ ขณะที่ 61 เปอร์เซ็นต์ ขาดมาตรฐานในการเปรียบเทียบ และ 48 เปอร์เซ็นต์ มองว่าขาดผลงานวิจัยเพื่อช่วยในการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพ
กิตติ เศรษฐวีรวัฒน์ ผู้อำนวยการด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล ทีเอ็นเอส ไทยแลนด์ หัวหน้าโครงการสำรวจฯ กล่าวว่า ภายหลังการเข้ามาและได้รับความนิยมของสมาร์ทโฟนในไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคได้แบ่งสัดส่วนในการบริโภคสื่อแบบดั้งเดิมให้กับสื่อดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งปัจจุบันสื่อดิจิทัลมีบทบาทต่อผู้บริโภคในการสร้างการรับรู้ต่อตราสินค้าและบริการ และส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการเป็นอย่างมาก โดยพบว่า 47 เปอร์เซ็นต์ ของนักการตลาดเลือกใช้สื่อดิจิทัลเพื่อวัตถุประสงค์ในการสร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) ขณะที่ 16 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค (Consumer Engagement) และ 15 เปอร์เซ็นต์ ใช้เพื่อการสร้างยอดขายบนออนไลน์ (Drive Sales Via Online) ทั้งนี้นักการตลาดจึงควรชี้ให้แบรนด์เห็นปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ เพื่อสามารถเข้าถึงลูกค้าให้มากกว่าการใช้สื่อดั้งเดิม
นรสิทธ์ กล่าวต่อว่า สื่อออนไลน์เป็นสื่อที่สามารถวัดผลได้อย่างชัดเจน ลูกค้าสามารถทราบได้ว่าเม็ดเงินที่ลงไปนั้นคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งจากรายงานผลการสำรวจจะเห็นว่านักการตลาดใช้สื่อดิจิทัล ด้วยวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อการสร้างการรับรู้ของผู้บริโภค ตามมาด้วยการสร้างความเข้าใจและมีส่วนร่วมในแบรนด์ และสร้างยอดขาย ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวจะเห็นว่า สื่อดิจิทัลได้ตอบโจทย์การทำการตลาดของแบรนด์ไปกว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ของการทำตลาดทั้งหมดแล้ว
ให้ความสำคัญกับ Data มากขึ้น เชื่ออุตสาหกรรมโตถึง 10 เปอร์เซ็นต์ในปี 2560
สำหรับเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทกับวงการโฆษณาดิจิทัลในปีนี้ แบรนด์ให้ความสำคัญกับเรื่องของ Data เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำเครื่องมือการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Data Analytic) และ Social Listenting เข้ามาช่วยทำให้การใช้สื่อดิจิทัลมีประสิทธิภาพสูงสุด ยกตัวอย่างเช่น การทำ Chatbot ที่นำเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) เข้ามาปรับใช้ในการเก็บ Data หรือการนำเทคโนโลยี Virturl Reality (VR) รวมไปถึงเรื่องของวิดีโอ 360 ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเอเยนซี่ และแบรนด์จะนำนวัตกรรมเหล่านี้เข้ามาปรับใช้อย่างไรบ้าง
นพ.ศุภชัย ปาจริยานนท์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ย้อนกลับไปยัง 4 ปีก่อน มูลค่าเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลยังอยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์ของภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาทั้งหมด แต่จากผลสำรวจล่าสุดพบว่า มูลค่าเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า โดยขยับขึ้นมาอยู่ใน 3 อันดับแรกของการใช้สื่อโฆษณา ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 8 เปอร์เซ็นต์ และจะขยับไปแตะ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือมีมูลค่าเกิน 10,000 ล้านบาท ภายในปี 2560
“ในปีหน้าจะมีการย้ายเม็ดเงินโฆษณาจากสื่อสิ่งพิมพ์มาสู่สื่อดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น จากที่เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงแล้วในปีนี้ ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ชี้ให้เห็นว่า สื่อดิจิทัลกลายเป็นสื่อที่มีผลกระทบในวงกว้างไม่น้อยกว่าสื่อโทรทัศน์และสื่อหนังสือพิมพ์ อย่างไรก็ตามเชื่อว่า อุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัลไทย จะสามารถเติบโตได้อีก 2-3 เท่า ด้วยความที่ผู้บริโภคเข้าถึงสื่อใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ด้านนักการตลาดพยายามที่จะปรับตัวเพื่อรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งจะเห็นตัวอย่างได้จากในต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ที่มีสัดส่วนโฆษณาดิจิทัลที่ 17 เปอร์เซ็นต์ จากที่เดิมมีการใช้สื่อโทรทัศน์เป็นหลัก” นพ.ศุภชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่คนในแวดวงสื่อและโฆษณาที่เร่งปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่เกิดจากการถดถอยของสื่อดั้งเดิม ผู้บริโภคเองก็เช่นกัน ซึ่งสุดท้ายแล้ว ในการทำโฆษณา อาจไม่ใช่การมีงบโฆษณาจำนวนมาก สามารถซื้อสื่อได้เยอะ หรือแม้แต่มีครีเอทีฟที่ดีเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ การมีคอนเทนต์ที่ดีและน่าสนใจ ที่จะช่วยดึงดูดใจผู้บริโภคด้วย