ไทยเป็นชาติที่ล็อกอินเข้าเฟซบุ๊กเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมา เฟซบุ๊กปรับการแสดงผลหน้า Feed เน้นไปที่คอนเทนต์วิดีโอมากขึ้น เป็นจุดกำเนิดของเพจใหม่ๆ มากมายบนโลกออนไลน์ แต่จะสื่อสารอย่างไรให้ได้รับความสนใจจากผู้ชม โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y และ Z ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ
วิดีโอกลายเป็นคอนเทนต์ที่เข้าถึงผู้ชมได้ดีที่สุดในยุคนี้ ทำให้หลายเพจบนเฟซบุ๊กโด่งดังจากการสร้างคอนเทนต์วิดีโอ เช่นเดียวกับเพจ “ภาพละเพลง”, “Airrlikaa” และ “Kogu Studio” เพจน้องใหม่มาแรงสามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ได้ จนกลายเป็นที่รู้จักบนโลกออนไลน์ในระยะอันรวดเร็ว ซึ่งกระบวนการคิดและวิธีการทำงาน ที่กว่าจะออกมาเป็นผลงานคุณภาพให้แฟนเพจได้ชมนั้นต้องผ่านอะไรมาบ้าง
จับภาพชนคำ ต่อเป็นเพลง คอนเทนต์สุดครีเอท เรียกเสียงฮา
จากกระแสการทำคอนเทนต์วิดีโอบนเฟซบุ๊ก ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น จนเป็นเทรนด์สำคัญที่นักการตลาดต่างจับตามอง โดยข้อมูลเผยว่า คนไทยมีพฤติกรรมดูวิดีโอเกิน 1 พันล้านวิวต่อเดือน และวิดีโอสั้นก็เป็นวิดีโอที่คนดูจนจบมากที่สุด
ทำให้ ปิ๊ก – องอาจ หาญชนะวงษ์ เจ้าของเพจ ภาพละเพลง ฟรีแลนซ์ อดีตโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ พบว่า ปัจจุบันรายการโทรทัศน์ได้รับความนิยมลดลงไปมาก แต่ด้วยความที่เป็นคนชื่นชอบการถ่ายภาพจากสิ่งที่พบเจอในชีวิตประจำวัน และทักษะด้านการแต่งเพลงที่มีจุดประกายความคิดให้เขาสร้างวิดีโอสั้นขึ้น โดยมีภาพ คำ และเพลง เป็นวัตถุดิบสำคัญในการสื่อสารกับผู้ชม
“เพจภาพละเพลง เริ่มต้นขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมของปีที่ผ่านมา หลังจากที่เราสังเกตเห็นว่า คนสมัยนี้ชอบดูอะไรสั้นๆ ไม่นิยมดูรายการโทรทัศน์เหมือนอย่างเคย แต่ถ้าเราทำเพจที่นำเสนอแค่ภาพกับคำ ก็ดูจะธรรมดาเกินไป ขณะที่บนเฟซบุ๊กมีเพจในลักษณะนี้อยู่แล้ว และหลายเพจก็ทำกันได้ดี เราเลยแต่งเพลงใส่เข้าไป โดยใช้โปรแกรม Garage Band ต่อเข้ากับกีตาร์แบบง่ายๆ หรือบางครั้งก็มีคีย์บอร์ดเข้ามาเสริมเพื่อเพิ่มสีสัน พร้อมใส่มุขตลกเข้าไปในเนื้อหาแบบที่คนชื่นชอบ” ปิ๊ก กล่าว
เจ้าของเพจภาพละเพลง เล่าต่อว่า คนที่ติดตามเพจส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นที่อยู่ในช่วงมัธยมศึกษา จนถึงระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งมีพฤติกรรมชอบเสพคอนเทนต์ง่ายๆ แต่มีไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจากจุดนี้ทำให้เขาต้องการสร้างคอนเทนต์สนุกๆ โดยใส่ความครีเอทเข้าไปในชิ้นงาน
วัยรุ่นที่อยู่ในช่วงมัธยมศึกษา จนถึงระดับมหาวิทยาลัยมีพฤติกรรมชอบเสพคอนเทนต์ง่ายๆ แต่มีไอเดียและความคิดสร้างสรรค์
“ตอนนั้นเราทำวิดีโอไปได้แล้วประมาณ 30 คลิป แต่หลังจากที่เพจจะฮาตรงคอมเมนต์ นำเพลงน้ำปฏิเสธ ของเราไปแชร์ต่อ จากที่เพจมีผู้ติดตามประมาณ 400 คน ก็เพิ่มขึ้นเป็น 4 หมื่นคนในไม่นาน ทำให้เราไปย้อนดูว่าคลิปใดบ้าง ที่คนชื่นชอบ ปรากฏว่าเป็นคอนเทนต์ที่หักมุม ตบท้ายด้วยมุมตลก ซึ่งหลังจากนั้นก็มีกระแสการ Cover เพลงน้ำปฏิเสธ และเพลงอื่นๆ จากแฟนเพจตามมา” ปิ๊ก กล่าว
เสนอไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายบนมุมมองแปลกใหม่ในสไตล์ตัวเอง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเป็นตัวตน หรือคาแร็กเตอร์ เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนติดตามเพจ โดย แอร์ – ธัญจิรา ตระการสิทธิกุล เจ้าของเพจและช่อง YouTube : Airrlikaa กล่าวว่า แนวคิดการทำวิดีโอบนเพจ Airrlikaa มาจากการหยิบเรื่องราวรอบตัวที่น่าสนใจในมุมมองที่แปลกใหม่ ทั้งจากโลกความเป็นจริงและโลกออนไลน์ มาผลิตเป็นคอนเทนต์ในแบบฉบับของตัวเอง แต่ไม่ได้มีเนื้อหาตายตัว เนื่องจากความเป็นไลฟ์สไตล์ จึงทำให้เธอสามารถเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ และจุดนี้เองที่ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงแอร์ได้มากขึ้นจากความเป็นกันเอง
แอร์ เล่าต่อว่า สำหรับขั้นตอนการผลิตวิดีโอ หลังจากที่คิดหัวข้อที่ต้องการจะนำเสนอ โดยเลือกสิ่งที่ตรงกับความชอบและความสนใจแล้ว จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการเล่าเรื่อง ว่าจะทำการสื่อสารออกมาอย่างไรให้ได้อารมณ์ตามที่ต้องการสื่อกับคนดู แล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนการถ่ายวิดีโอ ก่อนจะตัดต่อและอัพโหลดขึ้นบนเพจ
“เรามีการเคลื่อนไหวบนเพจต่อเนื่องทุกวัน ในอนาคต แอร์ตั้งใจจะพัฒนาคอนเทนต์ที่ให้ความรู้น่าสนใจ แต่เสพง่ายมากยิ่งขึ้น รวมถึงสื่อสารกับแฟนเพจให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และเพิ่มการ Live Streaming ให้มากขึ้น” แอร์ กล่าว
ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญที่จะทำให้เพจสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน แอร์มองว่า จำเป็นจะต้องสร้างความแตกต่างอย่างชัดเจน และจะต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากนี้จะต้องบอกผู้ชมได้ว่า หลังจากที่ชมวิดีโอแล้ว พวกเขาจะได้รับอะไรกลับไป
ฉบับที่ 217 เดือนมกราคมเรียนรู้ชีวิตดิจิทัล เยาวชน 4.0
|
Special Effect เลียนแบบหนังสุดเจ๋ง สร้างวิดีโอเน้นขายไอเดีย
นอกจากวิดีโอจะต้องสั้น สร้างสรรค์ในแบบของตัวเองแล้ว ไอเดียก็เป็นสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ ความจริงข้อนี้ถูกพิสูจน์โดย สองพี่น้องที่มีอายุเพียง 14 และ 16 ปี ผู้โด่งดังจากคลิป “Dr.Strange – VFX Fanmade” ผลงานการทำ Special Effect เลียนแบบภาพยนตร์ชื่อดังระดับโลก ที่ตระการตาสมจริง จนมีผู้ชมหลักล้านวิวภายในชั่วข้ามคืน ซึ่ง ก้อง – ณัฐภัทร ตุลาประพฤทธิ์ และไก๊ – โภคิน ตุลาประพฤทธิ์ เจ้าของเพจ KoGu Studio เล่าว่า เดิมทีความตั้งใจของเขาทั้งสองต้องการอัพโหลดผลงานไว้ชื่นชมเล่นๆ เท่านั้น และไม่คาดคิดว่าเพียงแค่คลิปเดียวจะสร้างกระแสตอบรับจากผู้ชมมากถึงเพียงนี้
การสร้างงานวิดีโอของพวกเขา ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์ต่างประเทศที่มีการใช้ Special Effect ซึ่งทั้งคู่เกิดความสนใจการทำ CG และเริ่มเรียนรู้ด้วยตัวเองจากอินเทอร์เน็ต
ซึ่งในการสร้างงานวิดีโอของพวกเขา ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์ต่างประเทศที่มีการใช้ Special Effect เจ๋งๆ ซึ่งทั้งคู่เกิดความสนใจการทำ CG และเริ่มเรียนรู้ด้วยตัวเองจากอินเทอร์เน็ต รวมถึงเพจที่เกี่ยวข้องทั้งจากต่างประเทศและไทย อย่าง Overact และ Nipanstudio
“เราเริ่มต้นทำเพจเมื่อช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยผลงานตอนนี้มี 3 ชิ้น และหนึ่งในนั้นคือ Dr.Strange – VFX Fanmade ที่เราชื่นชอบและภูมิใจมาก เป็นงานที่ได้รับแรงบันดาลใจหลังจากที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว แล้วรู้สึกว่าเจ๋งดี และอยากลองทำบ้าง โดยหลังจากที่คิดพล็อตเรื่องได้ เราก็เริ่มทำ Storyboard จากนั้นจะเลือกหามุมกล้องที่ดีเพื่อถ่ายทำเป็นคลิปภาพยนตร์ หรือ Footage ออกมา จากนั้นจึงเริ่มทำ CG ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการตัดต่อภาพ การใส่เสียง จนสำเร็จออกมาเป็นหนึ่งคลิป โดยโปรแกรมที่ใช้จะมี Adobe After Effect ที่เอาไว้ใช้สร้าง Effect และโปรแกรม Sony Vegas ที่ใช้สำหรับการรวมเสียง รวมคลิป และตัดต่อ” เจ้าของเพจ KoGu Studio กล่าว
ทั้งคู่ยังบอกอีกว่า นอกจากแรงบันดาลใจแล้ว ไอเดียเป็นสิ่งสำคัญต่อการผลิตชิ้นงาน โดยพวกเขานำไอเดียที่ได้รับจากการชมภาพยนตร์มาปรับใช้กับงานของตนเอง ซึ่งถึงแม้ว่าทั้งสองจะได้รับกระแสชื่นชมเข้ามามากมาย แต่พวกเขามองว่า ยังต้องพัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่อง
“เราอยากทำคลิปออกมาให้ดีกว่านี้ ดังนั้นสิ่งที่เราอยากจะพัฒนาต่อ เป็นเรื่องของฝีมือในการทำ CG ซึ่งในอนาคต แฟนเพจจะเห็นงานที่มีการนำ CG มาผสมในชิ้นงานมากขึ้น นอกจากนี้พวกเรากำลังศึกษาเรื่องการทำ Model 3D อยู่ ก็เชื่อว่าในอนาคตจะได้เห็นกันเเน่นอน” ก้องและไก๊ กล่าวทิ้งท้าย
จะเห็นว่า ไม่ว่าใครก็สามารถสร้างงานวิดีโอสุดสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ เพียงแค่หยิบนำสิ่งรอบตัวที่มี มาพัฒนาให้เป็นคอนเทนต์คุณภาพ ตรงกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย และที่สำคัญคือ การทำมันในแบบที่ถนัดและเป็นตัวเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่เพียงแต่คอนเทนต์วิดีโอเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปปรับใช้กับการสร้างคอนเทนต์อื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน