บีคอน อินเตอร์เฟส พัฒนาแอพฯ ที่ช่วยให้ผู้บกพร่องทางการมองเห็น สามารถทำธุรกรรมผ่านสมาร์ทโฟนได้ ตอบโจทย์ในยุคที่สมาร์ทโฟนกลายเป็นอุปกรณ์สื่อสารสามัญเช่นในปัจจุบัน ซึ่งคนปกติทั่วไปคงคุ้นชินกับการใช้งานฟังก์ชั่นหรือแอพฯ ต่างๆ ได้อย่างสะดวกคล่องแคล่ว และสำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็นเหล่านี้ ก็ควรได้รับโอกาสที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีด้วยเช่นเดียวกัน
ปัญหาของผู้บกพร่องทางการมองเห็น หรือผู้ที่มีความผิดปกติด้านสายตา คือเป็นกลุ่มคนที่เข้าถึงบริการทางการเงินได้ยากลำบากกว่าคนปกติทั่วไป ซึ่งแอพฯ ที่บีคอน อินเตอร์เฟส พัฒนาขึ้นมานี้จะช่วยให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยเช่นเดียวกันกับคนตาดี เป็นการส่งเสริมให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน โดยได้มีการตั้งเป้าที่จะเปิดให้ใช้บริการได้จริงภายในไตรมาสแรกของปี 2560
เมื่อสร้างจุดประสงค์ที่ดีเทคโนโลยีจะยิ่งมีความหมาย
จากการที่บริษัท บีคอน อินเตอร์เฟส สตาร์ทอัพภายใต้การสนับสนุนของธนาคารกสิกรไทย ได้ส่งผลงานแอพพลิเคชั่นด้านการเงินเข้าประกวดในงาน Singapore FinTech Festival 2016 ที่ประเทศสิงคโปร์ จนสามารถคว้า 2 รางวัลสำคัญมาได้ คือ รางวัลชนะเลิศ Winner of Global FinTech Hackcelerator จากธนาคารกลางของสิงคโปร์ และรางวัล Developer Hub Award จาก Citigroup หนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของการแข่งขันอีก 1 รางวัล โดยมีผู้ที่สนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดกว่า 650 โครงการ จาก 50 ประเทศทั่วโลก ซึ่งบีคอน อินเตอร์เฟส เป็นฟินเทคจากประเทศไทยรายเดียวที่ผ่านเข้ารอบ 20 ทีมสุดท้าย จนได้รับรางวัลชนะเลิศในที่สุด จากโจทย์ปัญหาที่มาก กว่า 100 โจทย์ ของการทำธุรกรรมทางการเงินที่เจ้าภาพกำหนดกว่า ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการสร้างความผูกพันกับลูกค้า จึงเป็นแรงบันดาลใจที่ก่อให้เกิดเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกของการใช้โปรแกรมบนโทรศัพท์มือถือสำหรับผู้มีความผิดปกติทางสายตา
อภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Architect บริษัท บีคอน อินเตอร์เฟส จำกัด ให้ข้อมูลว่า แอพพลิเคชั่นที่บีคอน อินเตอร์เฟสพัฒนาขึ้นเป็นผลงานชิ้นแรก เป็นแอพฯ สำหรับการทำธุรกรรมทางการเงินผ่าน สมาร์ทโฟน ด้วยนวัตกรรม Non-location Based Interface ที่ไม่ต้องใช้การมอง ผนวกกับ Multi-sensory Feedbacks ที่คอยช่วยเหลือและชี้นำการใช้งานในทุกๆ ขั้นตอน โดยแอพพลิเคชั่นนี้จะทำให้ผู้บกพร่องทางการมองเห็นอันประกอบด้วย คนตาบอด และคนสายตาเลือนราง ที่มีกว่า 285 ล้านคนทั่วโลก รวมถึงผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในยุคสังคมผู้สูงวัย สามารถทำธุรกรรมทางการเงินบนโลกออนไลน์ได้ด้วยตนเองอย่างมั่นใจ มีความเป็นส่วนตัว สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย นอกจากนี้ยังสามารถช่วยคนสายตาปกติให้ได้รับความสะดวกมากขึ้น เพราะสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องมองหน้าจอ
“สิ่งที่ยิ่งใหญ่และภาคภูมิใจมากกว่ารางวัลทั้ง 2 รางวัลที่เราได้รับคือ การที่มีคนมา บอกว่า เราเป็นคนช่วยปลุกจิตสำนึกทางสังคมของเขาขึ้นมาอีกครั้ง หรือแบงค์หลายๆ แบงค์ จากหลายประเทศ เขาก็มา บอกว่าอยากทำร่วมกับเรา และอีกคนหนึ่งที่เป็นหัวหน้าของกรรมการก็ได้พูดก่อนที่จะมีการมอบรางวัล โดยเขาบอกว่ามีสตาร์ทอัพอยู่ทีมหนึ่งที่เขาไม่ต้องบอกชื่อแต่ทุกคนก็น่าจะรู้ ที่ทำให้เขารู้สึกถึงหัวใจพองโต ว่ายังมีสตาร์ทอัพที่คิดถึง Social Value ไม่ใช่แค่ Business Value เพียงอย่างเดียว สตาร์ทอัพส่วนใหญ่ที่อยู่ในงานนั้น ถ้าไม่ทำให้ของมันเร็วขึ้น ก็ถูกลง หรือขายได้มากขึ้น แต่มีอยู่รายหนึ่งที่ครีเอท Value จริงๆ ให้กับคน ซึ่งในอดีตเราอาจสนใจพวกเขาน้อยไปนิดหนึ่งสำหรับอุตสาหกรรมด้าน IT”
ยังมีสตาร์ทอัพที่คิดถึง Social Value ไม่ใช่แค่ Business Value เพียงอย่างเดียว สตาร์ทอัพส่วนใหญ่ที่อยู่ในงานนั้น ส่วนใหญ่ถ้าไม่ทำให้ของมันเร็วขึ้น ก็ถูกลง หรือขายได้มากขึ้น แต่มีอยู่รายหนึ่งที่ครีเอท Value จริงๆ ให้กับคน
เพิ่มแรงบันดาลใจลงไปในการพัฒนา
การพัฒนาแอพพลิเคชั่นของบีคอน อินเตอร์เฟส เป็นการพัฒนาร่วมกันกับทีมงานด้านเทคนิคของ KBTG พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนและคำแนะนำจาก ดร.นันทนุช สุวรรนาวุธ ผู้เชี่ยวชาญระบบออนไลน์สำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อีกทั้งความร่วมมือจากพันธมิตรอย่าง ABLE (Achieve Better Living for Elderly Lab) ที่นำทีมโดย ผศ.ดร.ชูจิต ตรีรัตนพันธ์ Co-Founder ของ ABLE และรองคณะบดีฝ่ายวิจัย คณะสถาปัยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมเป็นคณะทำงานศึกษาวิจัยในเรื่องประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้ หรือ UX / UI (User Experience and User Interface) ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แอพฯ สามารถตอบสนองการใช้งานได้ตรงกับความต้องการของกลุ่มผู้ใช้อย่างแท้จริง
ฉบับที่ 216 เดือนธันวาคม ใช้ App ช่วยสังคม ลดช่องว่างคนที่ลำบาก |
สำหรับรูปแบบการใช้งานของบีคอน อินเตอร์เฟส สามารถใช้งานได้ง่ายด้วยนิ้วเพียงนิ้วเดียว การเข้าใช้งานเมนูต่างๆ จะทำได้โดยการเลื่อนนิ้วไปใน 4 ทิศทาง คือ ซ้าย ขวา ขึ้น และลง โดยการเลื่อนไปทางซ้ายหรือขวานั้นจะเป็นการเลือกเมนู ไม่ว่าจะเป็นการเติมเงิน โอนเงิน หรือชำระสินค้าและบริการ ส่วนการเลื่อนลงจะเป็นการเข้าใช้เมนูนั้นๆ หรือเมื่อจะออกจากเมนูนั้นๆ ก็ทำได้โดยการเลื่อนขึ้น พร้อมทั้งจะมีระบบสั่นและเสียงคอยกำกับตลอดในทุกขั้นตอน เพื่อให้ใช้งานได้อย่างไม่ผิดพลาด ในการกดหมายเลขบัญชีนั้นสามารถใช้นิ้วลากไปบนหน้าจอ และจะมีเสียงคอยกำกับว่าเป็นหมายเลขใด เมื่อใส่เลขบัญชีครบแล้ว ให้เลื่อนลงแล้วค้างไว้ 3 วินาที เพื่อทำการยืนยัน หลังจากนั้นก็ใส่จำนวนเงิน ยืนยันการโอน และยังสามารถบันทึกชื่อผู้โอนเป็นรายการโปรดได้อีกด้วย ด้านการดีไซน์ก็มีการนำเสนอรูปแบบต่างๆ ออกแบบสี และให้กลุ่มผู้ใช้งานเลือกดูว่าสีใดบ้างที่เห็นได้อย่างชัดเจน ดูแล้วสบายตาที่สุด เป็นต้น
“ในตอนแรกๆ ที่เราออกไปสำรวจกับกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มผู้ใช้งาน หลายคนก็บอกกับเราว่า จะทำทำไม เพราะปกติเขาก็ช่วยตัวเองได้อยู่แล้ว แต่ลึกๆ แล้วเรารู้ว่า เรากำลังทำสิ่งที่มีค่า นั่นก็คือพลังที่ทำให้เรามาถึงทุกวันนี้ได้ และเสียงตอบรับจากผู้ใช้งานหลังจากนั้น ส่วนใหญ่ก็บอก ว่าบีคอน อินเตอร์เฟส เป็นอะไรที่ดีและใช้งานง่าย ทำให้ชีวิตของพวกเขามีความเท่าเทียมมากขึ้น”
ธ.กสิกร หวังเห็นทุกคนได้ใช้เทคโนโลยีพร้อมโอกาสต่อยอดสู่ประเทศด้อยพัฒนา
ทางด้าน ธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และประธานกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการพัฒนาบริการด้านการเงินอย่างมาก ซึ่งธนาคารกสิกรไทยก็ได้มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และรองรับกับเทรนด์ของ Digital Banking โดยบริษัท บีคอน อินเตอร์เฟส จำกัด ก็เป็นสตาร์ทอัพน้องใหม่ภายใต้การร่วมทุนของธนาคารกสิกรไทยที่พร้อมสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งผลงานชิ้นแรกก็คือ การสร้างรูปแบบและประสบการณ์การใช้งานโทรศัพท์มือถือในรูปแบบใหม่ ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ เพื่อให้ผู้พิการทางสายตา ผู้มีความผิดปกติทางสายตา และผู้สูงอายุ สามารถใช้งานแอพพลิเคชั่น เพื่อการทำธุรกรรมทางการเงินบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟนได้เหมือนกับคนปกติทั่วไป สอดคล้องกับความหมายของคำว่า Beacon Interface หรือประภาคารที่นำแสงสว่างมาสู่ผู้มีความผิดปกติทางสายตานั่นเอง
“บีคอน อินเตอร์เฟส เป็นฟินเทคที่มุ่งเน้นการสร้างประโยชน์และคุณค่าให้กับสังคม เพื่อให้เทคโนโลยีสามารถเข้าถึงคนทุกกลุ่มได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยหวังว่านวัตกรรมนี้จะเป็นที่รู้จักมากขึ้น พร้อมกับได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ในการส่งเสริมให้ผู้บกพร่องทางการมองเห็นได้มีโอกาสใช้งานนวัตกรรมดังกล่าวได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งในขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้พร้อมสำหรับการใช้งานได้จริง ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560”
และนอกจากกลุ่มผู้มีความบกพร่องทางการเห็นแล้ว นวัตกรรมของบีคอน อินเตอร์เฟส ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับในประเทศด้อยพัฒนา โดยอ้างอิงข้อมูลจากธนาคารโลกที่ได้ประมาณการว่า ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในประเทศด้อยพัฒนาทั่วโลกมีสูงถึง 1 พันล้านคน ซึ่งระบบนี้จะคอยช่วยเหลือและชี้นำการใช้งานได้ในทุกๆ ขั้นตอน จึงทำให้คนที่อ่านหนังสือไม่ออกก็สามารถใช้แอพพลิเคชั่นได้อย่างไม่มีปัญหา จึงเชื่อว่านวัตกรรมของบีคอน อินเตอร์เฟส จะทำให้สามารถเข้ารับบริการทางการเงินได้ และสอดคล้องกับนโยบาย Universal Financial Access (UFA) ของประธานธนาคารโลก ที่ต้องการลดความยากจนในประเทศด้อยพัฒนาด้วย Financial Inclusion ได้