นักลงทุน ที่สร้าง Ecosystem ให้กับสตาร์ทอัพ

เรืองโรจน์ พูนผล หรือคุณกระทิง

เรืองโรจน์ พูนผล หรือคุณกระทิง

Angel Investor นั้นใครๆ ก็อาจเป็นได้ แต่่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็น VC ได้ เพราะเป็นผู้ลงทุนกับสตาร์ทอัพที่อาจจะไม่ได้เอาเงินมาให้เพียงอย่างเดียว แต่นำองค์ความรู้ คอนเนคชั่น อินฟราสตรัคเจอร์ และอื่นๆ ที่จะมาช่วยสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ ถ้าเปรียบ VC เป็นกองทุน Angel ก็คือ นักลงทุนรายย่อย

VC โมเดลในแบบอเมริกา
หากพูดถึงวงการสตาร์ทอัพในเมืองไทย คงไม่มีใครไม่รู้จักกับชายที่ชื่อว่า เรืองโรจน์ พูนผล หรือคุณกระทิง ผู้ที่มีบทบาทเป็นอย่างมากตลอดระยะเวลาหลายปี ตั้งแต่สตาร์ทอัพของไทยอยู่ในยุคตั้งไข่ จากเด็กหนุ่มต่างจังหวัดที่เคยผ่านประสบการณ์ในดินแดนต้นกำเนิดสตาร์ทอัพมาแล้วมากมายอย่าง ซิลิคอนแวลลีย์ ทั้งจากการศึกษาในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และการทำงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Google จนในปัจจุบัน กับบทบาทหน้าที่ของการเป็น Venture Capital หรือ VC ที่คอยช่วยสนับสนุนและผลักดันให้สตาร์ทอัพเติบโต

ซึ่งก่อนที่คุณกระทิงจะมาเป็น VC นั้น ได้เปิดโรงเรียนสอนสตาร์ทอัพ ชื่อ Disrupt University ขึ้นเมื่อปี 2012 จากนั้นในปีถัดมา ก็ก่อตั้งโครงการ Accelerator ชื่อ dtac Accelerate และได้มีโอกาสต้อนรับ Dave McClure ผู้ก่อตั้งกองทุน 500 Startups แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานั้นก็คือ สตาร์ทอัพของเมืองไทยยังไม่มีรายใดที่ได้รับความสนใจ จวบจนปี 2014 ได้พูดคุยกับ Dave อีกครั้ง ซึ่งทาง Dave เองก็เห็นว่าสตาร์ทอัพในเมืองไทยมีการเติบโตขึ้นมาก และจะร้อนแรงเหมือนกับในประเทศอินโดนีเซีย

“เราพยายามสร้างอีโคซิสเต็มของสตาร์ทอัพขึ้นมา และเป็นความโชคดีที่ได้เจอ Dave แล้วเราคุยกันถูกคอ ก็เลยบอกว่า ประเทศไทยพร้อมที่จะมีกองทุนของตัวเอง จึงเปิดเป็น กองทุน 500 TukTuks ขึ้นมา โดยที่เขาเอาเงินมาลงกับเรา 1 ล้านเหรียญ และให้เราหาอีก 9 ล้านเหรียญ ซึ่งเราก็หามาได้”

 

04

เรามีเงิน ลงทุนอย่างต่ำ 1 ล้านเหรียญ เพื่อลงทุนใน EdTech โดยเฉพาะ แต่ตอนนี้ลงไปได้แค่แสนเหรียญ หรือเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ เรายังมีเงินอีกตั้งเยอะ ซึ่ง EdTech มียูนิคอร์นมากมายที่อเมริกา แต่ในขณะที่เมืองไทยมีตลาดใหญ่มาก แต่ไม่มีใครลงมาทำ

สำหรับแนวความคิดของ VC ฝั่งอเมริกากับเอเชียจะมีความคล้ายคลึงกัน แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือตัว Risk / Reward Ratio หรือผลตอบแทนต่อความเสี่ยง ซึ่ง VC โมเดลของทางฝั่งอเมริกามีการพัฒนากันมาอย่างยาวนานหลายสิบปี แต่ในขณะที่ของเอเชียยังเป็นอะไรที่ค่อนข้างใหม่และยังลองผิดลองถูกกันอยู่ ที่สำคัญอเมริกาจะมีโมเดลที่ช่วยซัพพอร์ตสตาร์ทอัพด้วย อย่างเช่น 500 Startups จะมีทีมที่เรียกว่า Growth Hacking ทีม คอยเข้ามาช่วยทำให้สตาร์ทอัพเติบโตด้วยเทคนิครูปแบบใหม่ๆ ซึ่งในเอเชียยังไม่มีโมเดลลักษณะนี้ให้เห็น

“กองทุนของพวกอเมริกาจะมีทีมที่ช่วยเรื่องนั้นเรื่องนี้ไปเลย และบางทีอาจจะมี Accelerator ที่พ่วงกันเข้าไปอีก คือ Accelerate เสร็จก็ลงทุนต่อ จะเห็นว่ามีอินฟราสตรัคเจอร์หลายๆ อย่าง ที่ของเอเชียยังไม่มี ซึ่งแทบจะไม่มีเลยที่เป็น Accelerator + Fund แต่ก็อาจจะมี VC แบบ Big Hitter อย่างเช่น SoftBank ซึ่งมี Mazayoshi Son เป็นคนลงทุนในอาลีบาบายุคแรกๆ ลงทุนใน Yahoo Japan แต่นั่นคือ Exceptional”

4 สิ่งที่กำลังมองหาและปัญหาการขาดคนดิจิทัล
คุณกระทิง ได้กล่าวต่ออีกว่า 500 TukTuks พร้อมที่จะลงทุนในทุกๆ ธุรกิจ เพราะประเทศไทยยังเป็น Whitespace แต่สิ่งที่อยากเห็นมากขึ้นคือ สตาร์ทอัพที่ทำเรื่อง Education, Property/Real Estate, Tourism/Travel และ AgriTech ซึ่งในปัจจุบันยังมีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย ในขณะเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้น ตอนนี้คือสตาร์ทอัพอาจมีจำนวนที่ดูเยอะมาก แต่สตาร์ทอัพที่คุณภาพดีสามารถลงทุนได้ยังมีน้อยอีกเช่นเดียวกัน เพราะในประเทศไทยพึ่งเกิดได้ไม่นาน ภาพรวมในปี 2012 สตาร์ทอัพทั้งประเทศไทยระดมทุนรวมกันได้ไม่ถึง 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่เพียงแค่ครึ่งปี 2016 นี้ สตาร์ทอัพสามารถระดมทุนกันไปได้กว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือโตขึ้นมาเกือบ 80 เท่า นั่นหมายความว่าสตาร์ทอัพไทยส่วนใหญ่เพิ่งเกิดในปีนี้หรือปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ต้องใช้ระยะเวลากันพอสมควร หรืออีกประมาณ 3-4 ปี

“อุตสาหกรรมด้านการศึกษาในเมืองไทยใหญ่มาก ใหญ่เป็น 5 เท่าของโทรคมนาคม แต่ระบบการศึกษา มีสตาร์ทอัพที่เราไปลงทุนได้แค่ 1 ราย นั่นคือ SkillLane นอกนั้นไม่มีเลย คือมีคนมา Pitch แต่ก็เป็นมาร์เก็ตเพลสสำหรับติวเตอร์หมด ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาระบบการศึกษา และเรามีเงินลงทุนอย่างต่ำ 1 ล้านเหรียญ เพื่อลงทุนใน EdTech โดยเฉพาะ แต่ตอนนี้ลงไปได้แค่แสนเหรียญ หรือเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ เรายังมีเงินอีกตั้งเยอะ ซึ่ง EdTech มียูนิคอร์นมากมายที่อเมริกา แต่ในขณะที่เมืองไทยมีตลาดใหญ่มาก แต่ไม่มีใครลงมาทำ และที่อยากเห็นมากขึ้น เป็นเรื่องของ Property/Real Estate เพราะมาร์เก็ตในเมืองไทยมีขนาดใหญ่มากๆ แต่สตาร์ทอัพที่ทำเรื่องนี้มีน้อยมาก ถ้าเราดูประเทศมาเลเซียซึ่งประเทศเขาเล็กกว่าเราครึ่งหนึ่ง แต่สตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดของเขาคือ iProperty ซึ่งขายไป 500 ล้านเหรียญ หรือ 17,000 ล้านบาท แล้วประเทศไทยใหญ่กว่ามาเลเซียเยอะ แต่ยังไม่มีตัวไหนเลยที่ลงทุนได้ อีกอันหนึ่งคือ Tourism ซึ่งคิดเป็น 13 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP ของประเทศไทย มีนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในเมืองไทยต่อปีหลายล้านคน แต่เราลงได้แค่ตัวเดียวที่เป็น Tourism หรือ Travel Tech นั่นคือ TakeMeTour สุดท้ายคือ AgriTech ที่ไม่มีใครทำเลย นี่คือ 4 อุตสาหกรรมเราพร้อมที่จะลงทุนทันที”

ฉบับที่ 213 เดือนกันยายน

Life of Angel & Venture Capital เส้นทางที่ไกลกว่าเงินทุน

ปัญหาสำคัญสำหรับวงการสตาร์ทอัพในเมืองไทยก็คือ การขาดคนที่มีความรู้ความสามารถในด้านดิจิทัล เช่น ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง ออนไลน์ มาร์เก็ตติ้ง หรือคนออกแบบดิจิทัล โปรดักส์ เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่สตาร์พอัพอย่างเดียวเท่านั้นที่ประสบกับปัญหานี้ แต่เอเยนซี่หรือแม้กระทั่งบริษัทต่างๆ ที่กำลังจะทำ Digital Transformation ก็ขาดกันเช่นเดียวกัน ดังนั้น สตาร์ทอัพก็เลยต้องแข่งขันกับบริษัทใหญ่ๆ เพื่อดึงคนที่มีความสามารถด้านดิจิทัลเหล่านี้เข้ามา

“สตาร์ทอัพทุกวันนี้ พยายามดึงผู้ที่มีความสามารถจากต่างประเทศเข้ามา หลายทีมมี CTO เป็นคนต่างชาติ และก็มีคนไทยเป็น CMO เพราะคนไทยจะเข้าใจธุรกิจและตลาดได้มากกว่า และเมืองไทยหา CTO ยาก ก็เลยเอา CTO ต่างชาติเข้ามา แต่ก็ไม่ใช่ฝรั่งอย่างเดียว คนเอเชียด้วยกันก็มี คือเราขาดทรัพยากรคน เลยต้องดึงคนอื่นๆ เข้ามา”

ทีมคือ สิ่งสำคัญ ส่วน Pitch เป็นแค่ตัวตัดสิน
หลายคนอาจให้ความสำคัญกับเรื่องการ Pitch เพื่อนำเสนอแผนธุรกิจต่อ VC แต่คุณกระทิงเล่าให้ฟังว่า เรื่อง Pitch นั้นคือสิ่งสุดท้าย แต่สิ่งแรกที่ต้องให้ความสำคัญคือเรื่องของทีม จากนั้นค่อยมาดูที่เรื่องของตัวโปรดักส์ว่าเป็นอย่างไร อาจจะเปรียบเทียบกับของคู่แข่งหลายๆ ราย เพราะการลงในตลาดๆ หนึ่ง ก็ลงได้แค่ 1 บริษัท จึงต้องเลือกทีมที่ดีที่สุด โปรดักส์ที่ดีที่สุด ส่วนเรื่องโมเดลธุรกิจนั้นเป็นอะไรที่ไม่ยาก 500 Startups ลงทุนมาแล้วกว่า 1,500 บริษัททั่วโลก ได้เห็นมาแทบจะทุกรูปแบบ จึงสามารถรู้ได้ว่าโมเดลไหนจะประสบความสำเร็จหรือไม่

03

ซึ่งโดยหลักๆ แล้ว จะใช้วิธีการเลือกสตาร์ทอัพโดยให้คิดว่า ถ้าตัวเองเป็นเด็กๆ อยากจะไปทำงานกับคนๆ นั้นหรือไม่ เขาสามารถจูงใจให้ไปทำงานด้วยได้ไหม มีความเป็นผู้นำหรือไม่ ทำงานด้วยแล้วสนุกหรือเปล่า มี Passion ไหม อะไรที่ Drive ธุรกิจ และถ้าต้องแข่งกับทีมนี้ ต้องทำธุรกิจคล้ายๆ กัน แล้วแข่งกับทีมนี้ จะสู้เขาได้หรือเปล่า ถ้าคำตอบคือ ทีมนี้เราเอาชนะได้แบบสบายๆ ก็ไม่ลงทุนกับทีมนี้ เพราะไปลงแข่งกับใครไม่ได้ และดูว่าปัญหาที่เขาเล็งเห็น เป็นปัญหาที่ใหญ่ขนาดไหน และจะดีมาก ถ้าเป็นปัญหาที่ยังไม่มีใครคิดมาก่อน และเป็นปัญหาที่เขาเท่านั้นที่จะจัดการได้

“Pitch มีผลกับเราน้อยมาก แต่ส่วนใหญ่จะใช้เป็นตัวตัดสินว่าเขาขายของเป็นหรือไม่ คือถ้าเขาขายของ ยังขายเราไม่ได้ เขาจะไปจูงใจลูกทีมที่เก่งๆ จูงใจพันธมิตรได้ยังไง จะขายของให้กับลูกค้าเป็นหรือเปล่า นั่นคือสิ่งที่เราจะกังวล และเราก็จะไม่ชอบประเภทนักขายมากๆ เราจะรู้สึกว่าทำไมจะต้องขายขนาดนี้ ถ้าของมันดีเราก็โอเคอยู่แล้ว ที่สำคัญเรื่องตัวเลขทุกอย่างจะต้องตรง อาจจะโม้ได้บ้างแต่อย่าโกหกเด็ดขาด เพราะจับได้ไม่ยาก วงการสตาร์ทอัพก็เล็ก ถ้าโกหกมาครั้งหนึ่ง เราไม่ไว้ใจคุณ คอมมูนิตี้ของเราทั้งหมดก็จะไม่ไว้ใจคุณ เพราะคุณเป็นคนโกหก”

ทั้งนี้ ด้วยบทบาทที่หวังจะสร้างอีโคซิสเต็มให้กับสตาร์ทอัพ สตาร์ทอัพทุกๆ รายก็สามารถเข้ามาขอคำปรึกษา ความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะต่างๆ ได้ เพราะเข้าใจว่าสตาร์ทอัพส่วนใหญ่อาจจะยังไม่พร้อม แต่อย่าแค่คิดว่าจะมาเพื่อหวังเอาเงินเพียงอย่างเดียว ซึ่งสิ่งที่จะได้รับยังมีทั้งคอนเนคชั่น ที่มีมูลค่ามากกว่าเงินหลายเท่า หรือเรื่องขององค์ความรู้ต่างๆ

“ถ้าคุณเก่งจริง คุณจะหาเงินจากที่ไหนก็ได้ แต่สิ่งที่เราให้คุณอาจจะหาจากแหล่งเงินทุนที่อื่นไม่ได้แค่นั้นเอง คอนเนคชั่น, Know How, Runway และการนำไปรู้จักกับคอมมูนิตี้ระดับโลก นั่นคือสิ่งที่คุณอาจจะไม่ได้จาก VC แหล่งอื่น”

ยินดีที่ภาครัฐเริ่มหันมาสนับสนุน
คุณกระทิง กล่าวอีกด้วยว่า การที่ภาครัฐเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสตาร์ทอัพถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่วิธีการที่เข้ามาช่วยคือ ควรเอาทรัพยากรไปลงทุนในสิ่งที่ถูกต้องนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญกว่า ไม่ควรสนับสนุนเงินทุนให้กับสตาร์ทอัพฟรีๆ เพราะสตาร์ทอัพควรหาเงินได้จากลูกค้า ต้องควรฝึกวิธีการหาเงินได้จากลูกค้า ไม่ใช่เอาเงินสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเดียว เพราะจะออกไปแข่งกับต่างชาติไม่ได้ และภาครัฐควรทำในสิ่งที่ภาคเอกชนทำไม่ได้ เช่น การแก้กรอบกฎหมายบางอย่างที่ยังไม่สนับสนุน การเพิ่มแรงจูงใจทางภาษี เรื่องการเพิ่มองค์ความรู้ด้านดิจิทัลที่เมืองไทยยังขาด ไม่เช่นนั้นประเทศไทยก็จะสู้ประเทศอื่นไม่ได้ ตลอดจนเรื่องของการวิจัยและพัฒนา หรือ R&D (The Research and Development) เพราะต่อไปสตาร์ทอัพในอนาคตจะต้องเป็นสตาร์ทอัพที่ Deep R&D

“อินโดนีเซียเขาร่วมมือกับ Google เพื่อที่จะสร้างโปรแกรมเมอร์ขึ้นมา 1 แสนคน แล้วทำไมเราไม่ทำอย่างนั้นบ้าง นี่เป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะทำที่สุดในตอนนี้ แก้ระบบการศึกษาให้เป็นเรื่องของ Tech ทั้งหมด นั่นคือสิ่งที่พวกเราทำไมได้ เพราะไม่มีเงิน การที่ภาครัฐมานั้นดีแล้ว แต่ควรจะทำในสิ่งที่ถูกต้องมากกว่า ซัพพอร์ตนักลงทุน หรือสตาร์ทอัพที่เริ่มมีกำไร เช่น บริษัทไหนที่ลงทุนไปแล้วเจ๊ง เอามาหักภาษีได้หรือเปล่า หรือมีตัวกำหนดที่ลงทุนแบบไม่ต้องเสียภาษี แบบนี้นักลงทุนก็จะเอาเงินลงมา ภาครัฐควรที่จะจูงใจนักลงทุนต่างชาติที่เก่งๆ มาได้ เพราะนักลงทุนเหล่านั้นเวลาเขามา เขาไม่ได้เอามาเฉพาะเงิน แต่เอาทั้งองค์ความรู้ เอาคอนเนคชั่นอะไรมาอีกเยอะ ซึ่งนั่นคือ สิ่งที่สำคัญกว่าเงิน และในเรื่องของ R&D เช่น FinTech ทำไมคุณไม่ทำวิจัยเรื่องบล็อกเชน คุณควรทำพวกนี้ นั่นคือสิ่งที่สำคัญมาก แล้วเปิดให้เป็น Open Source พวกเอกชนใครอยากทำก็เข้ามาคุย ใครทำสำเร็จก็แบ่งผลประโยชน์กัน ภาครัฐได้ค่า License 10 เปอร์เซ็นต์ 20 เปอร์เซ็นต์ เราว่าแบบนี้ดีกว่า แล้วทำแบบจริงจังและต่อเนื่อง”

02

ภาค รัฐควรที่จะจูงใจนักลงทุนต่างชาติที่เก่งๆ มาได้ เพราะนักลงทุนเหล่านั้นเวลาเขามา เขาไม่ได้เอามาเฉพาะเงิน แต่เอาทั้งองค์ความรู้ เอาคอนเนคชั่นมาอีกเยอะ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่สำคัญกว่าเงิน และในเรื่องของ R&D

สุดท้าย สตาร์ทอัพไทยต้องมี Exit ที่ใหญ่ๆ คือ มีความสำเร็จแบบยิ่งใหญ่ในวงการสตาร์ทอัพไทย ซึ่งตอนนี้อาจจะยังไปไม่ถึงความสำเร็จขั้นสุดท้ายที่ยิ่งใหญ่จริงๆ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นได้ ประเทศไทยจะเปลี่ยนทันที อาจไม่ต้องถึงระดับ Unicorn แต่เพียงแค่ 500 ล้านเหรียญ 300 ล้านเหรียญ ก็ถือว่าดีแล้ว ถ้าสตาร์ทอัพไทย Exit ได้ หรือเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ หรือทำยอดขายธุรกิจระดับ 10,000 ล้านบาทได้ จะเป็นการเปลี่ยนประเทศไทย และถ้าสามารถไปในระดับ Regional ได้อย่างชัดเจน หรือเมื่อพูดถึงประเทศไทยแล้วจะนึกถึงบริษัทนี้ ซึ่งได้แต่ก็หวังว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะมีหลังจากนั้นค่อยมาว่ากันจะมี Unicorn หรือไม่

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

ธนาคารกรุงเทพรับสมัครสตาร์ตอัพ เข้าโครงการ Bangkok Bank InnoHub Season 2

ธนาคารกรุงเทพร่วมกับบริษัท Nest ที่มากด้วยประสบการณ์ด้านสตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทค ค้นหาธุรกิจสตาร์ทอัพ 5 กลุ่ม …