ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เราได้เผชิญกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมากจนน่ากลัว ธุรกิจดั้งเดิมล้มหายตายจาก ธุรกิจใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีธุรกิจใหม่ไม่น้อยที่ไม่สามารถตะเกียกตะกายสู่ความสำเร็จได้ สิ่งที่เรียนมาในยุคนี้แทบจะเก่าทันทีเมื่อเรียนจบ (ยกเว้นเรื่องพื้นฐานอย่างภาษา หรือคณิตศาสตร์) แล้วเราจะอยู่ที่โลกที่หมุนเร็วขนาดนี้กันอย่างไรดี
อินเทอร์เน็ตผู้เปลี่ยนโลกไปทั้งหมด
เราทราบกันดีว่า เทคโนโลยีนั้นเปลี่ยนแปลงโลกไปมาก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ส่งผลกระทบกับธุรกิจดั้งเดิมอยู่ เสมอๆ อย่างกรณีคลาสสิกของ Kodak บริษัทยักษ์ใหญ่ที่สิ้นลายเพราะเปลี่ยนแปลงตามโลกไม่ทันก็ยังวนเวียนอยู่เสมอมา
แต่ถ้าจะให้พูดถึงเทคโนโลยีสำคัญที่ทำโลกเปลี่ยนแปลงไปเลยคงต้องยกให้อินเทอร์เน็ต โดยนับตั้งแต่อินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นบนโลกในยุค 80 ด้วยลักษณะที่เป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในโลก มันก็ได้เปลี่ยนโลกในหลายมิติ มนุษยชาติจึงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
อินเทอร์เน็ตทำให้ทุกอย่างรวมศูนย์
ทราบกันดีว่า ยิ่งเรารวมทุกอย่างให้อยู่ในจุดเดียวมากขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งประหยัดต้นทุนได้มากขึ้นเท่านั้น ยกตัวอย่างการจำหน่ายสินค้าแบบเดิมที่ต้องมีหน้าร้าน มีพนักงานออกไปประจำตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ ก็จะมีต้นทุนในการบริหารมากขึ้นเป็นเงาตามตัว จนรวมศูนย์เป็นเว็บฯ e-Commerce มีคลังสินค้าขนาดใหญ่เพียงไม่กี่แห่ง แล้วจัดส่งไปทั่วประเทศ จึงสามารถควบคุมต้นทุนให้ถูกกว่าธุรกิจดั้งเดิมได้
เมื่อธุรกิจต่างๆ ใช้ความสามารถในการรวมศูนย์ของอินเทอร์เน็ตมากขึ้น จึงทำให้ประหยัดต่อขนาดมากขึ้น กิจการต่างๆ ก็สามารถลดแรงงานหรือต้นทุนที่ซ้ำซ้อนกันได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่างๆ ต่อธุรกิจ แต่สำหรับพนักงานที่ยังทำงานเดิมๆ ไม่ได้มีความพิเศษ ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบ
เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตนั้นเปลี่ยนแปลงโลกรวดเร็วขนาดไหน แต่จนถึงตอนนี้ก็ไม่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงช้าลงเลย ปัญหาของธุรกิจยุคใหม่คือ หาคนที่ก้าวทันโลกเหล่านี้ได้ยากเย็นเหลือเกิน เพราะ ไม่ทันที่จะเรียนจบมันก็เก่าไปเสียแล้ว
อินเทอร์เน็ตทำให้พรมแดนประเทศไม่ใช่ปัญหา
การรวมศูนย์ของอินเทอร์เน็ตนั้นไม่ได้จำกัดแค่ในประเทศ แต่หมายถึงการรวมศูนย์กันทั้งโลกเลยต่างหาก ทุกวันนี้เราจึงเห็นเว็บฯ ค้าขายจากต่างประเทศอย่าง eBay หรือ AliExpress เปิดการค้ากันข้ามประเทศ ด้วยราคาสินค้าหลายอย่างที่ผู้ค้าในประเทศไม่มีทางสู้ได้ โดยเฉพาะ AliExpress ที่ขายถึงมือผู้ซื้อโดยตรง ไม่จำกัดว่าต้องซื้อไปขายต่อ แถมมาตรงจากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่อย่างจีน ทำให้ราคาสินค้าถูกมาก ส่งฟรีด้วย เรียกว่า สามารถตัดแขนตัดขาพ่อค้าคนกลางที่รับสินค้ามาขายในไทยได้เลย หรือจะเป็นการจ้างงาน ที่ผู้จ้างสามารถเข้าถึงแรงงานที่มีทักษะจากทั่วโลกได้ โดยที่ผู้รับจ้างไม่ต้องอยู่ในประเทศด้วยซ้ำ เช่น เว็บฯ อย่าง 99designs.com ที่เปิดโอกาสให้ผู้จ้างสามารถจ้างงานนักออกแบบเก่งๆ ทั่วโลกได้
เมื่ออินเทอร์เน็ตสามารถส่งตรงสินค้าและทักษะแรงงานจากทั่วโลก แน่นอนว่าแรงงานเดิมๆ ก็ยิ่งอยู่ยากขึ้น
อินเทอร์เน็ตทำให้ข้อมูลมีอำนาจ
การเชื่อมโยงของอินเทอร์เน็ต ทำให้เก็บข้อมูลได้มากขึ้น นำไปวิเคราะห์ได้มากขึ้น มีเครื่องมือและเซ็นเซอร์มากมาย เพื่อช่วยในการเก็บข้อมูล เช่น การจัดการรถแท็กซี่ ที่แต่เดิมก็มีการจัดการด้วยวิทยุ ซึ่งมีความสามารถในการควบคุมรถจำนวนหนึ่ง แต่ปัจจุบัน เรามีแอพพลิเคชั่นที่เชื่อมแท็กซี่ทุกคันที่อยู่ในระบบให้รวมศูนย์ เรามีข้อมูลในมือทันทีว่า แท็กซี่อยู่ที่ไหนบ้าง สถานะเป็นอย่างไร การจราจรเป็นอย่างไร พร้อมข้อมูลตำแหน่งผู้ใช้อย่างชัดเจนว่า เรียกจากที่ไหน
เมื่อเราใช้ข้อมูลต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันผ่านอินเทอร์เน็ตมาวิเคราะห์ความเป็นไปของธุรกิจ จะเห็นชัดขึ้นว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนไหนลงได้
อินเทอร์เน็ตนั้นย่นย่อเวลา
อินเทอร์เน็ตคือสิ่งที่เรียกแล้วมาทันที เมื่อค้นหาข้อมูลต้องได้ เมื่อดูข่าวต้องมา เมื่อจะดูหนังต้องได้ดู ทุกอย่างนั้นเกิดขึ้น On-Demand ซึ่งจากความพิเศษของอินเทอร์เน็ตในข้อนี้เองทำให้พฤติกรรมผู้ใช้งานเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เราเคยดูทีวี ฟังวิทยุ อ่านหนังสือพิมพ์ เสพเนื้อหากันตามรอบ ตามตารางออกอากาศ กลับกลายเป็นผู้ใช้ไม่ต้องวางแผนเวลาสำหรับการเสพเนื้อหาต่างๆ เพราะทุกอย่างนั้นจะมาเมื่อผู้ใช้ต้องการทันที
ด้วยลักษณะของอินเทอร์เน็ตที่ตอบสนองผู้ใช้ทันทีแบบนี้ สื่อแบบเดิมจึงค่อยๆ ตายไป
ฉบับที่ 216 เดือนธันวาคม ใช้ App ช่วยสังคม ลดช่องว่างคนที่ลำบาก |
เมื่อเทคโนโลยีฆ่าธุรกิจเดิม
ชั่วโมงนี้เราเห็นธุรกิจใดมีปัญหาเพราะเทคโนโลยีมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นธุรกิจสื่อ โดยเฉพาะสื่อดั้งเดิมอย่างโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ที่ได้รับผลกระทบกันมาก ช่วงปีที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ว่ามีนิตยสารหัวดังๆ ของไทยปิดตัวไปมากมายเช่นกัน
ข้อมูลจากสำนักข่าวอิศราที่สรุปผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 จากสำนักพิมพ์ของไทยระบุว่า บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ขาดทุนร่วม 281 ล้านบาท, บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (บริษัทแม่ของ Spring News และฐานเศรษฐกิจ) ขาดทุน 125 ล้านบาท และบริษัท มติชน จำกัด ขาดทุน 25 ล้านบาท
จากข้อมูลที่ยกมาคร่าวๆ ก็น่าจะทำให้เห็นภาพรวมว่า ธุรกิจสื่อของไทยกำลังเผชิญหน้ากับจุดเปลี่ยนที่เกิดจากพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไปเพราะเทคโนโลยีขนาดไหน นี่ยังไม่นำรวมเทรนด์ในอนาคตอย่าง Internet of Things, Virtual Reality ที่เตรียมเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก เปลี่ยนแปลงธุรกิจกันอีก ความรู้เท่าทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปจึงจำเป็นมาก
ยังไม่ทันเรียนจนจบความรู้ก็เก่าแล้ว
จากทั้งหมดที่กล่าวมา คงเห็นภาพกันแล้วว่า เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตนั้นเปลี่ยนแปลงโลกรวดเร็วขนาดไหน แต่จนถึงตอนนี้ก็ไม่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงช้าลงเลย ปัญหาของธุรกิจยุคใหม่คือ หาคนที่ก้าวทันโลกเหล่านี้ได้ยากเย็นเหลือเกิน เพราะความรู้ที่เรียนมาจากสถาบันต่างๆ ไม่ทันที่จะเรียนจบมันก็เก่าไปเสียแล้ว
ยกตัวอย่างเช่น ความรู้เรื่องการทำเนื้อหา ในขณะที่สถาบันต่างๆ เน้นไปที่การทำเนื้อหาเป็นชิ้นๆ หรือการทำเนื้อหาสำหรับทีวี สื่อสิ่งพิมพ์ แต่โลกในปัจจุบันเราต้องการเนื้อหาสำหรับโซเชียลฯ ที่รวดเร็ว และหวังผลในเชิงสถิติได้ มันจึงไม่ได้มีแต่เนื้อหาที่เสร็จสมบูรณ์ที่ต้องใช้เวลาอย่างเดียว แต่มันยังต้องมีเนื้อหาที่ตามกระแสได้ พร้อมจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามกระแสความต้องการที่รับรู้จากอินเทอร์เน็ต รวมถึงเทคนิคการนำเสนอที่ตรึงผู้ชมให้อยู่หมัดภายในเวลาไม่กี่วินาที
หรือความรู้เกี่ยวกับ e-Commerce ที่เปลี่ยนแปลงกันทุกสัปดาห์ ตามลักษณะโซเชียลฯ ที่เปลี่ยนไป (เฟซบุ๊กเปลี่ยนวิธีคิด คนอื่นก็ต้องเปลี่ยนตาม) หรือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หรือจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป มีวิทยาการใหม่ที่จะช่วยให้การค้าขายดีขึ้น
ทั้งหมดนี้ เราจึงไม่สามารถเรียนรู้ได้จบในห้องเรียน ห้องเรียนในอุดมคติคือ ห้องเรียนที่เน้นวิชาพื้นฐานเพื่อต่อยอดอย่างภาษา วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และคณิตศาสตร์ แล้วใช้เวลากับการสร้างทักษะในการทำงาน ทักษะการจัดการ ใช้เวลาฝึกทำงานมากๆ เพื่อสร้างทักษะการเรียนรู้ของตัวเองขึ้นมา
ความสามารถที่สำคัญที่สุดของบุคลากรยุคใหม่คือ ก้าวทันโลก ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
อินเทอร์เน็ตคือโลกที่รวมศูนย์จากทั่วโลกมาไว้แค่ปลายนิ้ว ตอนนี้เราจึงมีแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษามากมาย ทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ หรือบางองค์กรก็มีแพลตฟอร์มเพื่อให้ความรู้ในองค์กรของตัวเองด้วย
แล้วจะเรียนรู้ด้วยตัวเองได้อย่างไร
อย่างที่เราเล่าไป อินเทอร์เน็ตคือโลกที่รวมศูนย์จากทั่วโลกมาไว้แค่ปลายนิ้ว ตอนนี้เราจึงมีแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษามากมาย ทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ หรือบางองค์กรก็มีแพลตฟอร์มเพื่อให้ความรู้ในองค์กรของตัวเองด้วย ซึ่งก็ขอแนะนำคร่าวๆ ดังนี้
• YouTube แหล่งข้อมูลแบบวิดีโอแทบทุกอย่างบนโลกใบนี้ อยากทำอาหารอะไร ซ่อมอะไร หรือเรียนรู้อะไร ก็ลองคิด Keyword ค้นดูในยูทูปก่อนนี่แหละ
• iTunes U ถ้าอยากได้เนื้อหาแบบที่เป็นทางการขึ้นมาหน่อย ลองดูในบริการ iTunes U ที่เข้าได้ผ่านโปรแกรม iTunes หรือแอพ iTunes U ใน iOS ก็จะมีคลาสจากมหาวิทยาลัยทั่วโลกให้เลือกฟัง พร้อมแบบทดสอบ ซึ่งมีเนื้อหาภาษาไทยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และสถาบันอื่นๆ ด้วย
• Udemy ถ้าต้องการเนื้อหาที่อัพเดตทันยุค จากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านโปรแกรมมิ่ง ดีไซน์ การตลาด ภาษา ธุรกิจ และอื่นๆ อีกมากมาย ก็ลองไปค้นหาคอร์สเรียนใน Udemy ได้เลย มีให้เลือกเยอะมาก
• Skilllane ถ้าไม่อยากเรียนคอร์สด้วยภาษาอังกฤษอย่างใน Udemy เราก็มีทางเลือกสำหรับคนไทยคือ Skilllane ที่ก็มีคอร์สหลากหลายให้ได้เรียนกัน
• แอพฯ อีกมากมาย นอกจากการเรียนรู้เป็นแบบแผนบนแพลตฟอร์มต่างๆ แล้ว ยังสามารถเรียนรู้ผ่านแอพฯ อย่าง Duolingo ที่ใช้ฝึกภาษา หรือแอพฯ Andy ที่เรียนภาษาอังกฤษด้วยรูปแบบชิวๆ อย่างการแชตกับบอทสอนภาษา ทำให้เราไม่ต้องเกร็งเวลาแชตภาษาอังกฤษงูๆ ปลาๆ เพราะเราแชตกับบอทที่คงไม่ดุเรา
ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกนี้ อาจจะกดดันให้เราต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ กันตลอดเวลา ก็อย่าลืมพักผ่อน และตั้งสติดูทิศทางเทคโนโลยีกันเป็นระยะนะครับ
Contributor
Eka-X
เอกพล ชูเชิด
วุ่นวายกับเทคโนโลยีมาตั้งแต่เยาว์วัย จนเริ่มมีอายุเยอะก็จับคีย์บอร์ดหาเลี้ยงชีพด้วยงานเขียนด้านเทคโนโลยีมาตลอด ทั้งยังเปิด Aofapp.com เว็บไซต์ส่วนตัวที่เล็กมากๆ เพื่อเขียนรีวิวแอพฯ มือถือเรื่อยๆ ในเวลาว่าง ถึงจะสาหัสกับงานขนาดไหนก็ยังเขียน แชร์ บ่นไปเรื่อยใน Twitter
Twitter: Twitter.com/eka_x