สตรีมเมอร์ อาชีพใหม่ ด้วยการ Live เล่นเกม

สุรศักดิ์ วินิจ Twitch Partnership Associate Thailand

สุรศักดิ์ วินิจ Twitch Partnership Associate Thailand

หลายคนรู้จัก YouTube ที่เป็นแพลตฟอร์มรับชมคอนเทนต์วิดีโอ แต่สำหรับกลุ่มคนที่ชื่นชอบการเล่นเกมหรือดูคนอื่นโชว์เล่นเกม Twitch เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลฯ วิดีโอและชุมชนขนาดใหญ่แห่งแรกของโลกสำหรับนักเล่นเกม ซึ่งจะเป็นที่นิยมของเหล่าเกมเมอร์คนไทยในอีกไม่ช้า

แม้ว่าเกมจะยังถูกมองในแง่ลบจากความรู้สึกของใครหลายคน แต่อีกมุมหนึ่งในตลาดของวงการเกม มีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง เพราะกลุ่มคนที่ชื่นชอบการเล่นเกมเป็นคนที่ยอมจ่าย ในแพลตฟอร์มของ Twitch มีผู้ชมและพูดคุยเกี่ยวกับเกมเฉลี่ย 10 ล้านคนต่อวัน มีนักส่งสตรีมกว่า 2 ล้านคน ที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละเดือน ซึ่งบางคนสามารถหารายได้จากการสตรีมจนกลายเป็นรายได้หลัก และอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มองว่า เกมไม่ใช่เรื่องไร้สาระอีกต่อไป

เร่งสร้างความรู้จักในวงกว้าง
สุรศักดิ์ วินิจ Twitch Partnership Associate Thailand คนไทยเพียงคนเดียวในปัจจุบันที่ทำงานให้กับ Twitch ได้เล่าให้ฟังถึงการมาของ Twitch ในประเทศไทยว่า ตอนนี้ต้องทำให้แพลตฟอร์ม Twitch ได้เป็นที่รู้จักในตลาด ทั้งกับพาร์ตเนอร์หรือสื่อต่างๆ โดยเฉพาะที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเกม เพราะถ้าวงการเกมคุยกันแค่ในวงการ ก็ทำให้ไม่มีใครรู้ว่าการเล่นเกมสามารถสร้างรายได้จนเป็นอาชีพได้ หรือสตรีมเมอร์ (คนที่เล่นเกมโชว์ให้คนอื่นดู) ในต่างประเทศนั้นไปไกลถึงระดับใดบ้าง อีกทั้งยังรวมไปถึงแบรนด์ขายสินค้าและบริการต่างๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้เช่นเดียวกัน นอกจากแบรนด์ที่อยู่แค่ในวงการไอที ฮาร์ดแวร์ เกมมิ่งเกียร์ หรือซอฟต์แวร์เกมเท่านั้น

“วิธีการสร้างการรับรู้คือ เน้นไปในกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลในวงการเกมหรือ Influencer อย่างพวกแคสเตอร์ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว เช่น MR.Heart Rocker, Arifeenz หรือ BayRiffer ฯลฯ พอเขาพูด มันไปถึงคน 2-3 ล้านคน ก็เบาแรงผม ผมไม่ต้องบอกทุกคนว่า Twitch คืออะไร ผมอยู่ในวงการเกมมานาน พอรู้ว่าคนไหนมีศักยภาพด้านนี้ มีผู้ติดตาม หรือคนที่ทำตรงนี้ได้อยู่แล้ว ผมก็ยื่นข้อเสนอว่า มาอยู่กับ Twitch เขาจะได้อะไรบ้าง มีรายได้เพิ่มมาจากตรงไหน เราช่วยเหลืออะไรได้ และให้ความมั่นใจว่าเขาจะอยู่ได้ด้วยอาชีพที่เขาชอบและอยากทำ”

4

Twitch เป็นแพลตฟอร์มของคนรุ่นใหม่ เพราะคนทำคอนเทนต์ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเด็กรุ่นใหม่ เป็นคนที่เชื่อว่าการทำสตรีมมิ่ง การ Live Stream สามารถสร้างรายได้ได้ แม้ว่าอาจจะยังใหม่ในประเทศไทย แต่ Twitch ไม่ได้ใหม่ในโลก

เป็นพาร์ตเนอร์สามารถสร้างรายได้ต่อเดือน
ผู้ใช้งานทุกคนที่มีไอดี Twitch จะสามารถไลฟ์สตรีมบน Twitch สามารถเป็นคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ได้ และมี Channel ของตนเอง แต่จะมีการแบ่งระดับ Level ของคนที่ทำคอนเทนต์เป็น 3 ระดับ โดยระดับแรกคือ คนทั่วไปทุกคนที่มีไอดี Twitch ส่วนระดับที่ 2 เรียกว่า พาร์ตเนอร์ ซึ่งการจะเป็นพาร์ตเนอร์ได้ต้องส่งใบสมัคร พร้อมทั้งระบุรายละเอียดว่าตนเองกำลังทำอะไร คอนเทนต์เป็นแบบใด หรือเป็นเกมอะไรบ้าง มีความถี่ของการ Live Stream มากน้อยเพียงใด ตลอดจนมีฐานคอมมูนิตี้อยู่ที่ใดบ้าง แต่การจะเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในระดับพาร์ตเนอร์ โดยเฉพาะคนที่เริ่มต้นจากศูนย์ บางรายอาจใช้เวลาถึงครึ่งปี

5

“พาร์ตเนอร์จะมีรายได้โดยตรงที่เป็นส่วนแบ่งค่าโฆษณา และส่วนแบ่งของปุ่ม Subscribe ที่เก็บจากแฟนคลับ ราคา 4.99 เหรียญต่อเดือน โดย Twitch จะแบ่งครึ่งหนึ่งให้กับเจ้าของ Channel นั้นๆ ถ้าคนที่จริงจังทางด้านนี้มันสามารถทำเป็นเงินเดือนได้ สมมติแค่คน 100 คน Subscribe แบ่งครึ่งจาก 4.99 เหรียญ หรือประมาณ 190 บาท ตัดเปอร์เซ็นต์ช่องทางเติมเงินเหลือประมาณ 180 บาท หารครึ่งเหลือ 90 มีคน Subscribe 100 คน ก็คือคุณได้ 9,000 บาททุกเดือนๆ ซึ่งยังไม่ได้รวม Donate อีก นี่คือสิ่งที่ทำให้ Twitch แข็งแกร่ง”

ระดับที่ 3 ของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ คือ Influencer ซึ่งก็คือ กลุ่มคนที่มีอิทธิพลอย่างแท้จริง โดยจะเลือกจากคนที่ศักยภาพในการทำคอนเทนต์ มีการเติบโตในระดับหนึ่ง มีภาพลักษณ์ในการเป็นสตรีมเมอร์ชัดเจน หมายความว่า สามารถฝากแบรนด์ไว้กับคนๆ นั้นได้

ฉบับที่ 217 เดือนมกราคม

เรียนรู้ชีวิตดิจิทัล เยาวชน 4.0

 

คอนเทนต์ครีเอเตอร์เป็นเพื่อนกัน ทุกคนเติบโตไปด้วยกัน
สำหรับคนที่เป็นพาร์ตเนอร์กับ Influencer จะมีสัญญาว่าจะต้อง Live Stream บนแพลตฟอร์มของ Twitch เป็นอันดับแรก แต่ไม่ห้ามที่จะนำคลิปย้อนหลังไปอัพโหลดบนแพลตฟอร์มอื่น เพราะแพลตฟอร์มแต่ละแพลตฟอร์มก็มีจุดแข็งที่แตกต่างกันออกไป แพลตฟอร์ม Twitch มีจุดแข็งเรื่องการ Live Stream ส่วนแพลตฟอร์มอื่นๆ อาจจะมีจุดแข็งเรื่องของ Video on Demand (VOD) หรือวิดีโอแบบย้อนหลัง

“บนแพลตฟอร์มของเราค่า CPM มันสูงกว่า ได้รายได้เยอะกว่า เพราะว่าเขา Live Stream บนแพลตฟอร์มเราอยู่แล้ว และเขาจะรู้เองว่ารายได้ที่เข้ามาจากวิดีโอย้อนหลังได้เท่าไร เด็กจะรับรู้ได้เองว่าแบบไหนดีกว่ากัน ไม่ได้ผูกขาด”

ส่วนรูปแบบของคอนเทนต์จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ คอนเทนต์จากการแคสเกมตามแต่ละสไตล์ของแต่ละคน กับคอนเทนต์ที่สร้างขึ้นด้วยการจัดการแข่งขัน E-Sport ซึ่งปัจจุบันในไทยยังไม่ได้โฟกัสเรื่อง E-Sport มาก แต่กลับโตขึ้นกว่าประเทศในแถบอาเซียนทั้งหมด แม้กระทั่งฟิลิปปินส์ที่มีการจัด Tournaments ระดับโลกหลายๆ ครั้ง เพราะประเทศไทยมีกลุ่มคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่มีคอมมูนิตี้ ถ้า Twitch สร้างคอนเทนต์ที่เป็นการจัดการแข่งขัน E-Sport ขึ้นมาด้วย จะสร้างมูลค่าได้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การมอนิเตอร์คนทำคอนเทนต์ Twitch จะใช้คนในการมอร์นิเตอร์ความเคลื่อนไหวต่างๆ โดยไม่ได้ใช้ Bot และไม่ได้ตัดสินด้วยตัวเลขเพียงอย่างเดียว เพราะไม่เช่นนั้นคนทำคอนเทนต์หน้าใหม่ๆ ก็ไม่สามารถเติบโตขึ้นมาได้ เมื่อเริ่มมองเห็นคนที่มีศักยภาพก็พร้อมที่จะเข้าไปช่วยให้คำแนะนำ และในอีกไม่นานเมื่อ Twitch มีออฟฟิศในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ จะจัดส่วนที่เป็นสตรีมเมอร์โซน สำหรับคนทำคอนเทนต์หน้าใหม่ๆ หรือใครที่อยากโตทางด้านนี้ อีกทั้งการจัดอบรม เพื่อให้ความรู้กับคนที่ต้องการจะเป็นสตรีมเมอร์ เช่น การเอา Influencer มาพูดคุยเพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ เป็นต้น

6

ภาพลักษณ์ของเด็กเล่นเกมของเมืองไทย ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จได้ ภาพในด้านลบที่คนทั่วไปมักมองว่าเด็กติดเกมเป็นปัญหาของสังคมก็จะลดลงไป เพราะทุกวันนี้ที่ถูกมองแต่ด้านลบก็เพราะว่าเด็กบางส่วนยังเล่นเกมแบบไม่ถูกหลัก

เปิดคอนเทนต์รูปแบบอื่นควบคู่
นอกจาก Twitch จะเป็นแพลตฟอร์มคอม-มูนิตี้เกมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ยังเป็นตัวชี้วัดได้ว่า เกมไหนเป็นเกมที่ดังบ้าง ขณะที่คอนเทนต์กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของ Twitch จะเป็นเกม แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นโอกาสที่จะโตทางอื่นด้วย เช่น การมีในส่วนของคอนเทนต์ Creative ที่สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ หรือ Social Eating ที่เป็นการกินอาหาร หรือทอล์คโชว์ และล่าสุดที่เป็น Real Life ก็คือ ชีวิตทั่วไป ซึ่งทั้งหมดก็จะสามารถพูดคุยโต้ตอบระหว่างกันแบบเรียลไทม์ได้

“หลายคนจะมีคำถามว่า ถ้าเขาไม่เล่นเกม แล้วจะเข้ามาดู Twitch ทำไม แต่ในไทยตอนนี้ เราคงลุยเรื่องเกมตามเป้าหมายหลัก สำหรับผม อยากให้คนที่ทำงานด้านเกมจริงจัง มีรายได้เลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัวได้ และสังคมยอมรับ”

แพลตฟอร์มของ Twitch เป็นแพลตฟอร์มของคนรุ่นใหม่ เพราะคนทำคอนเทนต์ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเด็กรุ่นใหม่ เป็นคนที่เชื่อว่าการทำสตรีมมิ่ง การ Live Stream สามารถสร้างรายได้ได้ แม้ว่าอาจจะยังใหม่ในประเทศไทย แต่ Twitch ไม่ได้ใหม่ในโลก ต่างประเทศมีการเติบโตไปมาก เรื่องแนวคิดของคนไทยที่ยังมองว่าเกมเป็นแค่เรื่องเล่นๆ ก็คงเป็นเรื่องปกติ ซึ่งกำแพงที่เด็กรุ่นใหม่ต้องผ่านคือ กำแพงของครอบครัว เพราะถ้าครอบครัวไม่เห็นด้วยก็ไม่มีทางทำสิ่งนี้ได้ ไม่มีทางที่จะยึดอาชีพสตรีมเมอร์ หรือเล่นเกมจริงจังจนเป็นอาชีพได้ และทางผู้ใหญ่เองก็ต้องเปิดใจยอมรับ อย่างการแข่งขัน E-Sport ที่ทั่วโลกมีการแข่งขันชิงเงินรางวัลกันในระดับหลายร้อยล้านบาท แต่คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังมองว่าการเล่นเกมคือ สิ่งเสพย์ติด
แบ่งเวลาให้เป็น
สรินทร วโนยานชัย และวสุ สุรภากรนิธิ นักกีฬาเกมมิ่งจาก MiTH หรือ Made in Thailand E-Sports เล่าถึงประสบการณ์ในการมาเป็นเกมเมอร์ว่า เริ่มต้นคลุกคลีกับวงการเกมกันมาราว 7-8 ปี ซึ่งในตอนแรกนั้นทางบ้านเองก็ไมได้ให้การสนับสนุนมากนัก แต่ก็เลือกที่จะไม่ปิดบังและเปิดใจคุยกันตรง เมื่อทางบ้านเริ่มเปิดใจยอมรับ ก็ต้องแสดงให้เห็นได้ว่า ในการที่มาเล่นเกมนั้นไม่ได้ส่งผลเสียถึงหน้าที่การเรียนหรืองาน ต้องมีการแบ่งเวลาให้ถูกต้อง เมื่อถึงวันหนึ่งที่ทำได้ทางบ้านก็จะให้การยอมรับในตัวเราเอง

สรินทร วโนยานชัย นักกีฬาเกมมิ่งจาก MiTH หรือ Made in Thailand E-Sports

สรินทร วโนยานชัย นักกีฬาเกมมิ่งจาก MiTH หรือ Made in Thailand E-Sports

“ชีวิตประจำวันหลังจากทำงาน ก็จะเป็นช่วงเวลาที่เราต้องซ้อมทีม เราก็ต้องแบ่งเวลามาซ้อมทีม ความเป็นทีมคือสิ่งสำคัญของการเล่นเกม และบางวันที่เราซ้อมทีมเสร็จเราก็ยังมีงานอย่างอื่นอีก เช่น การ Live Stream เราก็ต้องสตรีมต่อ ซึ่งจะเป็นโปรแกรมเสริมหรืออาชีพเสริมของเรา และตอนนี้การที่แบรนด์ต่างๆ หรือทางผู้ใหญ่เริ่มหันมาให้ความสนใจในวงการเกมก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี อย่างเรื่องการแข่งขันก็มีการจัดแข่งมาขึ้น หรืออย่างเรื่องของการสตรีม ที่มีคนให้ความสนใจกับสตรีมเมอร์ การสนับสนุนก็มีเข้ามามาก ถ้าเทียบกับ 1-2 ก่อนที่ยังไม่ค่อยมีคนสนใจ” สรินทร กล่าว

ในเรื่องภาพลักษณ์ของเด็กเล่นเกมของเมืองไทย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ที่ว่าเด็กแต่ละคนจะแสดงออกมาในรูปแบบใด ต้องรู้จักแบ่งเวลาและหน้าที่ความรับผิดชอบ ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จได้ ภาพในด้านลบที่คนทั่วไปมักมองว่าเด็กติดเกมเป็นปัญหาของสังคมก็จะลดลงไป เพราะทุกวันนี้ที่ถูกมองแต่ด้านลบก็เพราะว่าเด็กบางส่วนยังเล่นเกมแบบไม่ถูกหลัก ต้องมองว่าจุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายของการเล่นเกมคืออะไร ถ้าจะเล่นเพียงแค่สนุกสนานกับเพื่อน ก็ต้องไม่ทำให้การเรียนหรืองานเสีย แต่ถ้าตั้งเป้าที่อยากเป็นเกมเมอร์หรือระดับที่โปรขึ้นมา ก็ต้องมีความตั้งใจและมีแบบแผนตั้งแต่แรก

วสุ สุรภากรนิธิ นักกีฬาเกมมิ่งจาก MiTH หรือ Made in Thailand E-Sports

วสุ สุรภากรนิธิ นักกีฬาเกมมิ่งจาก MiTH หรือ Made in Thailand E-Sports

“บางคนอาจจะมองว่า คนเล่นเกมก็แค่นั่งอยู่หน้าคอม แต่มันมีอะไรมากกว่านั้น ไม่ต่างกับนักฟุตบอลที่จะต้องคอยฝึกฝนทั้งตัวเองและกับทีม ซึ่งการเล่นเกมก็เช่นเดียวกัน การนั่งหน้าคอม 3-4 ชั่วโมง เราก็ต้องใช้ความพยายาม ใส่ความตั้งใจลงไปในนั้น บางคนเขาเล่นกันเป็นอาชีพ เป็นนักกีฬา ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคนเล่นเกมหรืออาชีพไหน หรือจะเป็นนักกีฬาอะไรก็ตามแต่ ก็ล้วนมีความพยายามไม่ต่างกัน แค่แบ่งเวลาให้มันถูก มองจุดประสงค์และเป้าหมายในการเล่น เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว” วสุ กล่าวทิ้งท้าย

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

ซีเกมส์ 2019 ยอมรับ eSport เป็นกีฬาชิง 6 เหรียญทอง

กีฬาซีเกมส์ปีหน้าที่ฟิลิปปินส์ จะมีการแข่งขันอีสปอร์ตชิง 6 เหรียญรางวัล หลังจากเป็นแค่กีฬาสาธิตในเอเชี่ยนเกมปีนี้ที่อินโดฯ