ภาคเกษตรกรรมยังคงเป็นอาชีพพื้นฐานของคนทั่วโลก โดยเฉพาะในอาเซียนเองพบว่า ภาคเกษตรกรรมยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของประเทศ ซึ่งเมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามามากขึ้น การนำเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการลดค่าใช้จ่าย และดูแลผลผลิตให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่เริ่มนำเทคโนโลยีมาติดตั้ง ดูแลการเกษตรเพื่อเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล บรรดาประเทศเพื่อนบ้านของเราก็ตื่นตัวในเรื่องนี้ และเริ่มนำไปประยุกต์ใช้แล้วเช่นกัน
สมาร์ทฟาร์มเวียดนามใช้ IoT จัดการระบบและจัดการผลผลิต
ประชากรเวียดนามกว่า 80% ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกข้าว ยางพารา ชากาแฟ ยาสูบ พริกไทย ที่เป็นพืชเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็มีวิธีการจัดการแตกต่างกันออกไป Cau Dat Farm ฟาร์มเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 90 ปี ในเมืองดาลัท เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่น่าสนใจ เนื่องจากมีการนำ IoT มาประยุกต์ใช้ และเปิดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้กับผู้ที่สนใจด้วย
Nguyen Duc May รองผู้อำนวยการ Cau Dat Farm เจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพ ประเภทเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมการเกษตร (Agritech) มาแรงจากเวียดนาม กล่าวว่า เขาและทีมงานเข้ามาเป็นเจ้าของฟาร์มแห่งนี้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา มีผลิตภัณฑ์หลัก 6 ชนิด ได้แก่ ชา กาแฟอาราบิก้า ผัก สตรอว์เบอร์รี ดอกไม้ และการจัดให้ทัวร์ภายในฟาร์ม โดยสามารถเลือกซื้อได้ผ่านทาง Caudatfarm.com ด้วย
ทีมงานของ Cau Dat Farm เป็นคนรุ่นใหม่ทั้งหมด และพวกเขามีความเชื่อว่าสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดการทำธุรกิจในประเทศได้ด้วยเทคโนโลยี เนื่องจากในฤดูหนาวประเทศเวียดนามเองไม่มีผลผลิตมากพอสำหรับประชากร ซึ่งทำให้ต้องนำเข้าจากประเทศจีนที่บางครั้งคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน จึงตั้งใจจะทำให้ฟาร์มในประเทศ สามารถจัดการผลผลิตได้ตลอดทั้งปีด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการ
โดยข้อแตกต่างของ Cau Dat Farm คือ การนำ IoT เข้ามาใช้ในฟาร์ม โดยมีทีมสร้างอุปกรณ์ ที่เป็นพาร์ตเนอร์กับอินเทลเอเชีย ซึ่งได้สนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ อาทิ ไมโครชิป เครื่องประมวลผล เป็นต้น ซึ่งพวกเขาก็นำมาใช้เพื่อเก็บสะสมข้อมูล และให้เกษตรกรได้เห็นการเจริญเติบโตของพืชผักแต่ละชนิดว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งข้อมูลทั้งหมดได้เก็บไว้บนคลาวด์ และสามารถเข้าถึงได้ทั้งทางเว็บไซต์และแอพฯ
ในฟาร์มของเรามีหุ่นยนต์ที่จะเข้าไปในพื้นที่เพราะปลูกเพื่อดูสภาพอากาศตลอด 24 ชั่วโมง เซ็นเซอร์เช็กสภาพดินและน้ำ ซึ่งทั้งสองตัวนี้จะเก็บข้อมูลและส่งขึ้นบนคลาวด์เพื่อแสดงผล ส่วนทางด้านเกษตรกรเองก็จะสามารถรายงานผลด้วยซอฟต์แวร์ที่เรามีโดยการถ่ายภาพผลผลิต ระบุระยะเวลาการเติบโต เพื่อช่วยเก็บข้อมูลของฟาร์มไว้ให้มากที่สุด
เราเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า Demeter ซึ่งพอได้ข้อมูลสักระยะหนึ่งเจ้าของฟาร์มก็ไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่ เพียงแต่เข้าไปล็อกอินในระบบ ก็จะเห็นว่าในฟาร์มมีใคร ทำอะไรบ้าง อุณหภูมิ กราฟความชื้น เป็นอย่างไร และสามารถปรับเปลี่ยน การทำงานได้ตามที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดพัดลม เพิ่มน้ำ เปิด-ปิดไฟได้ทันทีแค่ปลายนิ้ว และสามารถลดต้นทุนในการจ้างแรงงานได้อีกด้วย
ซึ่งเมื่อมีฐานข้อมูลที่ประสบความสำเร็จมากพอแล้ว พวกเข้าจะนำความรู้และเทคโนโลยีเหล่านี้กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรยังคงใช้วิธีแบบเดิม รวมถึงการใช้สารเคมีร่วมด้วยเพื่อให้ได้ผลผลิตจำนวนมาก ทั้งนี้เมื่อมีผลผลิตเยอะราคาก็จะถูกลง หากนำข้อมูลเหล่านี้ไปช่วยการบริหารได้ ก็จะช่วยควบคุมผลผลิต และราคาให้กับเกษตรกรได้
ซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ในกัมพูชา ลดเวลาซื้อของกลุ่มชนชั้นกลาง
Chakrya Chea ผู้ร่วมก่อตั้งบริการซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ Pengpos สตาร์ทอัพจากกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ที่จะเข้ามาช่วยให้เหล่าคนทำงานที่เร่งรีบ แม่บ้าน รวมถึงคนต่างชาติที่อยู่อาศัยในประเทศ กัมพูชาได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น ด้วยบริการที่พร้อมการจัดส่งสินค้าภายในวันเดียว
ฉบับที่ 219 เดือนมีนาคมยุค IoT ของพลเมืองสูงวัย
|
จุดเริ่มต้นของการทำสตาร์ทอัพของเธอเกิดจากการที่มีโอกาสไปศึกษาต่อยังประเทศเกาหลีใต้ และได้ใช้งานแอพฯ ที่ช่วยบอกเวลาที่รถโดยสารจะมาถึง แอพฯ อีคอมเมิร์ซ และอื่นๆ ซึ่งเห็นว่าช่วยลดเวลาในการเดินทางลงไปได้ และเธอสามารถโฟกัสกับการเรียนและกิจกรรมได้อย่างเต็มที่ และต้องการที่จะมีบริการเหล่านี้เกิดขึ้นในบ้านของเธอ
“เมื่อกลับมายังกัมพูชา ก็ค้นหาบริการที่เคยมีหรือมีอยู่ และทดลองใช้กับตัวเอง ซึ่งไม่ประทับใจเท่าที่ควรเนื่องจากการเข้าระบบเป็นไปด้วยความซับซ้อน และสินค้าที่ได้มาไม่เหมือนกับในรูปภาพ ส่วนร้านค้าที่มีหน้าร้านส่วนใหญ่ก็เลือกใช้ช่องทางเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรมมากกว่า ทำให้เกิดไอเดียที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มช้อปปิ้งที่มีคุณภาพและตอบสนองพฤติกรรมที่ไม่ชอบออกไปช้อปปิ้งของคนในปัจจุบัน เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับสตาร์ทอัพในประเทศกัมพูชา”
หลังจากมีไอเดียในการทำสตาร์ทอัพแล้ว เธอก็เริ่มหาทีมงาน แต่ก็พบกับอุปสรรคแรกเมื่อเพื่อนๆ มีงานประจำที่ทำและไม่สามารถมาช่วยเหลือเธอได้ และแน่นอนว่า ไม่มีใครที่กล้าเสี่ยงลาออกจากงานเพื่อมาลงทุนกับอาชีพที่ไม่รู้ว่าจะได้กำไรเมื่อไร จน 1 ปีต่อมา เธอได้พบกับเพื่อนที่ทำงานด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ และเริ่มต้นทำบริการนี้ขึ้นมาด้วยกัน โดยเลือกกลุ่มเป้าหมายเป็นคนในเมืองพนมเปญ ในระดับชนชั้นกลางที่มีประมาณ 30% ซึ่งอยู่ระหว่างอายุ 25-45 ปี
ในตอนเริ่มต้นนั้นเราต้องการเรียนรู้อะไรหลายอย่าง ก็เริ่มศึกษาพฤติกรรมและสอบถามคนอื่นๆ เพื่อหาแนวทางที่จะเป็นไปได้ และลงมือสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาเป็น Pengpos.com และแอพฯ
Pengpos ในภาษากัมพูชาแปลว่า มะเขือเทศ ซึ่งเป็นตัวแสดงให้เห็นถึงสินค้าที่สดใหม่จากไร่ แต่ในเว็บไซต์ของเราตอนนี้ก็มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิ ผัก ผลไม้ ของใช้ในครัวเรือน อาหารสัตว์ให้ผู้ใช้งานได้เลือกซื้อเหมือนในซุปเปอร์มาร์เก็ต
โดยเรามีการติดต่อกับร้านค้าด้วยตัวเอง และเมื่อลูกค้ากดสั่งของ เราจะไปรับของที่ร้านและไปส่งถึงบ้านด้วยทีมงานของเรา เพื่อศึกษาและพูดคุยกับผู้ใช้บริการและนำมาปรับปรุงต่อไป
ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน Pengpos แล้วกว่า 500 ราย ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และเสียงตอบรับจากลูกค้าส่วนใหญ่ก็ประทับใจ ที่ช่วยให้มีของสดส่งตรงถึงบ้านโดยที่ไม่ต้องออกจากบ้านและมีเวลาทำอย่างอื่นมากยิ่งขึ้น
การสร้างตลาดในประเทศกัมพูชานั้นยังคงเป็นเรื่องยากที่เธอต้องเจอ เนื่องจากประชากรมีน้อย พฤติกรรมลูกค้ายังไม่ได้ใช้เทคโนโลยีที่จะช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นเท่าที่ควร ผู้คนยังไม่ใช้แอพฯ ชำระค่าบริการ ยังคงไปที่ร้านค้าเท่านั้น นอกจากนี้เธอยังยอมรับว่ายังมีกลุ่มคนที่ไม่เปิดรับอะไรใหม่ๆ มากเท่าที่ควร และไม่เหมือนหลายๆ ประเทศจะมีรัฐบาลสนับสนุน ทำให้คนรุ่นใหม่ต้องผลักดันธุรกิจเหล่านี้ให้เติบโตด้วยตัวเอง
เห็นได้ว่า วงการสตาร์ทอัพในแต่ละประเทศเองก็มีความแตกต่างกันออกไป แต่จุดมุ่งหมายเดียวกันที่ทุกคนต้องการคือ พัฒนาศักยภาพ และวิถีชีวิตของตัวเองให้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยี และถึงแม้ว่าจะมีบริษัทต่างชาติเข้ามาเปิดบริการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่กลุ่มคนที่เข้าใจและรู้พฤติกรรมของคนพื้นที่มากที่สุดก็ยังคงเป็นคนในพื้นที่เองเท่านั้น