“การเงิน” หลายคนที่ได้ยินคำนี้คงคิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก ซับซ้อน แต่ในชีวิตประจำวันเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ไปได้ ซึ่งทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) นับเป็นทักษะชีวิตพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต อีกทั้งประเทศไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงจากภาระหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เหตุสำคัญเพราะประชาชนขาดความรู้และทักษะทางการเงิน จำเป็นต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน
กลุ่มแรงงานน่าห่วงมีความรู้เรื่องการเงินต่ำ
จากการวิจัยค้นคว้าปัญหาหนี้สิน ภายใต้โครงการ “คนไทยก้าวไกล ใส่ใจเรื่องการเงิน” ที่สถาบันคีนันแห่งเอเชียและมูลนิธิซิตี้ได้ศึกษาพบ 3 กลุ่มเสี่ยงหลัก ได้แก่ กลุ่มแรงงาน กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ที่ขาดความรู้ความเข้าใจทางการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานทั้งในและนอกระบบทั่วประเทศ จำนวนประมาณ 38.4 ล้านคน มีความรู้ทางการเงินอยู่ในระดับกลางและต่ำถึง 83 เปอร์เซ็นต์
ปิยบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการสถาบันคีนันแห่งเอเชีย กล่าวว่า กลุ่มแรงงานยุคใหม่ที่มีอายุระหว่าง 25 – 35 ปี มีอัตราการก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลอดจนความสะดวกในการเข้าถึงบริการทางการเงิน ทำให้แรงงานยังประสบปัญหาด้านการชำระหนี้ ถึงแม้ว่าแรงงานจะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างมั่นคงเมื่อเทียบกับกลุ่มเกษตรกร
“กลุ่มนักเรียน นักศึกษา จะมีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พัฒนาเนื้อหาแทรกในหลักสูตร ส่วนกลุ่มเกษตรกร จะมีธนาคารของรัฐให้ความรู้การจัดทำบัญชีครัวเรือน ขณะที่กลุ่มแรงงานแม้จะเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด หากยังไม่มีหน่วยงานใดเป็นหลักเข้ามาดูแล ทางเราเข้าไปพูดคุยกับกระทรวงแรงงาน ผลักดันนโยบายเพื่อสร้างการเรียนรู้ทางการเงินที่เป็นรูปธรรม”
รู้จักวิธีการใช้เงินผ่านเนื้อหาและเกมที่เข้าใจง่าย
จากปัญหาดังกล่าว ทำให้เกิดแนวคิดที่จะพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับกลุ่มแรงงานด้วยปัจจัยที่ผู้คนเข้าถึงง่าย และทำเรื่องการเงินที่เป็นเรื่องยากสามารถเข้าใจได้ด้วยตนเอง เกิดเป็น “ฉลาดคิดเรื่องเงิน” แอพฯ ที่สอนให้ทุกคนเข้าในเรื่องบริหารการเงินอย่างถูกวิธี โดยมีสาระสำคัญ 2 ส่วนคือ ฉลาดคิดเรื่องเงิน และเกมครอบครัวหรรษา
ในส่วนของ ฉลาดคิดเรื่องการเงิน จะให้ความรู้การบริหารจัดการเงินส่วนบุคคล แบบทดสอบ ตลอดจนเครื่องคำนวณทางการเงิน มีลักษณะเป็นออนไลน์เลิร์นนิ่งที่ให้ความรู้ภายใต้ 4 โมดูลย่อย ได้แก่ 1. การตั้งเป้าหมายทางการเงิน 2. การออมอย่างมีประสิทธิภาพ 3. การใช้จ่าย และ 4. การบริหารหนี้ ที่อธิบายเนื้อหาทั้งสี่ส่วนแบบสั้น กระชับ ได้ใจความ ในลักษณะเป็นแผ่นกระดาษสไลด์อ่าน พร้อมแบบทดสอบย่อยในระหว่างศึกษาข้อมูล
ฉบับที่ 216 เดือนธันวาคม ใช้ App ช่วยสังคม ลดช่องว่างคนที่ลำบาก |
นอกจากนี้ ยังสามารถคำนวณการตั้งเป้าหมายทางการเงินได้ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ไม่ว่าจะไปเที่ยว ซื้อบ้าน ผ่อนรถ ยกตัวอย่างเช่น กรอกข้อมูลตั้งเป้าหมายในการซื้อบ้านในราคาเท่าไร ภายในกี่ปี มีผู้เกี่ยวข้องเป็นใครบ้าง ต้องการลดรายจ่ายส่วนใด เพิ่มรายได้ด้านไหน ซึ่งระบบจะคำนวณความเป็นไปได้ หากเป้าหมายเป็นไปไม่ได้จะมีคำแนะนำวิธีต่างๆ ให้สามารถนำไปปรับใช้ เมื่อเรามีการเรียนรู้บทเรียนต่างๆ จะมีใบประกาศว่าเราได้ศึกษาข้อมูลเรื่องนี้แล้ว
สำหรับเกมครอบครัวหรรษา ซึ่งออกแบบให้สอดคล้องกับสภาพชีวิตจริงของแรงงาน ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวันในแต่ละเดือน อาทิ การรับเงินเดือน การซื้อหวย ซื้อประกัน ซื้อของออนไลน์ อุบัติเหตุ ฯลฯ โดยมีลักษณะเป็นเกมกระดาษเหมือนเกมเศรษฐี ให้เงินเริ่มต้นที่ 15,000 บาท โดยระหว่างเกมที่ถอยลูกเต๋าจะมีภารกิจในระหว่างนั้นให้ทำ เช่น การทำงาน ทำโอที เจ็บป่วย เป็นต้น หากเงินหมดก็จะมีให้กู้ยืม เมื่อเดินครบ 30 วัน จะได้รับเงินเดือนและให้เราบริหารเงินที่ได้เอง เป็นการสร้างสถานการณ์จำลองขึ้น ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง Google Play และ App Store
หนี้ครัวเรือนสูง มุ่งใช้แอพฯ สร้างความตระหนัก
ทั้งนี้ แอพฯ แสดงให้เห็นถึงการใช้เงินที่ไม่ถูกต้อง หรือใช้จ่ายเกินความจำเป็นของกลุ่มแรงงาน จนบางเดือนรายจ่ายมากกว่ารายรับ ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2558 อยู่ที่ 81.1 เปอร์เซ็นต์ของ GDP เมื่อเทียบระดับประเทศที่มีเศรษฐกิจดีจะมีหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งแอพฯ จะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้กลุ่มแรงงานคนไทยตระหนัก และลดหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับ 50 เปอร์เซ็นต์ตามที่ตั้งเป้าไว้
“การพัฒนาแอพพลิเคชั่นจะเป็นส่วนที่ช่วยทำให้คนแรงงานเข้าใจเรื่องการเงิน และลดการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินของประชาชน สามารถรับมือหากเกิดปัญหาหนี้สินขึ้น ทั้งนี้เรามีทีมงานที่พร้อมพัฒนาระบบและเพิ่มเนื้อหาสาระในการอัพเวอร์ชั่นต่อไป” ปิยบุตร กล่าว
แม้ความรู้เรื่องการเงินจะเป็นเรื่องเข้าใจยาก ต้องศึกษาข้อมูลอย่างท่องแท้ ซึ่งแอพฯ ฉลาดคิดเรื่องเงิน เป็นเหมือนอาหารสำเร็จรูปที่ปรุงถึงมือผู้บริโภค เพื่อให้คนเข้าใจเรื่องการเงินง่ายยิ่งขึ้น และเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้รู้จักวางแผนการใช้จ่ายในแต่ละวัน ท้ายสุดก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเองให้เป็นคนที่รู้จักใช้เงิน หรือจะยอมให้เงินใช้เรา