ส่องเทรนด์ AR/VR ในงาน SIGGRAPH Asia 2017 ที่เชื่อมต่อชีวิตมนุษย์

ต้องยอมรับว่าพัฒนาการทางเทคโนโลยีกำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตมนุษย์เข้าไปทุกที บางอย่างที่อาจจะเคยเห็นผ่านภาพยนตร์ก็ค่อยๆ ทยอยเป็นความจริงทีละอย่างสองอย่าง โดย 2 เทคโนโลยีที่ปัจจุบันกำลังเข้ามามีบทบาท สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตมนุษย์ได้หลากหลายคงหนีไม่พ้น VR ( Virtual Reality) และ AR (Augmented Reality) กำลังได้รับการพัฒนามาใช้ในหลายด้าน ที่เห็นเป็นอย่างแรกๆ ก็คงจะเน้นไปในเรื่องของการเล่นเกม และส่วนอื่น เช่น ท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

แน่นอนว่าเทรนด์ของ VR และ AR ไม่ได้หยุดแค่นี้ ยังมีการขยายออกไปในหลากหลายอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยภายในงาน SIGGRAPH Asia 2017 ครั้งนี้มาจัดที่ประเทศไทย มีกลุ่มคนในวงการมาแสดงผลงานวิจัย, โชว์ผลิตภัณฑ์หรือผลงานของแต่ละบริษัท รวมถึงการแสดงผลงานศิลปะด้วยกลไก, การประมวลผลของคอมพิวเตอร์หรือเชิงปฏิสัมพันธ์ หนึ่งในงานที่ให้ความสำคัญคือ VR/ AR

AR/VR กำลังก้าวเข้าสู่โลกของภาพยนตร์

เวทีเสวนาที่เชื่อมต่อการประชุมแบบเสมือนจริงผ่านตัวละครอนิเมชั่น

โดยหัวข้อเสวนา “Towards Stronger Human Connections In AR/VR” มีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาพูดถึงการเชื่อมต่อ AR/VR เข้ากับชีวิตมนุษย์ หนึ่งในวิทยากรที่ไม่ได้เดินทางมายังประเทศไทย แต่ใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อการประชุมแบบเสมือนจริง พูดคุยโต้ตอบผ่านหน้าจอและมีตัวละครอนิเมชั่นขยับร่างกายไปตามสิ่งที่วิทยากรเสมือนท่านนั้นกำลังพูด เป็นการเสวนาที่น่าสนใจไม่น้อย

ประเด็นหลักที่พูดถึง เราอยู่ในช่วงเวลาที่เทคโนโลยีเชื่อมต่อกับมนุษย์แบบดิจิทัล โดยเฉพาะการสร้างและสำรวจประสบการณ์ที่ใช้ร่วมกัน ผ่านกลไกทางเทคโนโลยีในการทำงาน โดย Sophie Ansel ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ VR เล่าถึงการทำงานเกี่ยวกับการสร้างหนัง ในโครงการ VR FOR GOOD ได้เข้าอบรมที่สำนักงานใหญ่ Facebook และได้รับกล้อง Nokia OZO เพื่อการถ่ายทำ ส่วนเนื้อหาของภาพยนตร์นำเสนอเรื่องราวทางสังคมผ่านวิดีโอ 360 ออกแบบสำหรับ VR โดยผลงานของเธอ “Out of the Blue” เกี่ยวกับครอบครัวชาวประมงในเม็กซิโก เปิดตัวที่ Oculus House ในช่วงฤดูร้อน 2017 ที่ SXSW

การถ่ายทำภาพยนตร์ VR ชาวประมงในเม็กซิโก ด้วยกล้อง Nokia OZO

ส่วน Karan Singh ผู้ร่วมก่อตั้ง janus VR และยังเป็นศาสตราจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยโตรอนโต พูดถึงงานวิจัยในสิ่งที่เขาสนใจเกี่ยวกับกราฟิกแบบโต้ตอบศิลปะ การรับรู้ภาพรวม การออกแบบทางเรขาคณิต การประดิษฐ์การเคลื่อนไหวตัวละครกายวิภาคศาสตร์ และเทคนิคการปฏิสัมพันธ์กับอุปกรณ์เคลื่อนที่ความสมจริงเสมือนจริงแบบ AR/VR โดยนำเทคนิคดังกล่าวไปใช้ในการสร้างภาพยนตร์

สิ่งที่เห็นได้ชัด AR/VR กำลังก้าวเข้าสู่โลกของภาพยนตร์อย่างเต็มตัว เป็นส่วนหนึ่งทั้งในขั้นตอนการสร้างและการรับชม อีกหนึ่งกระแสใหม่ที่ค่ายใหญ่อย่าง Pixar ทำการโปรโมทหนัง Coco ที่กำลังเข้าฉายอยู่ในขณะนี้ ด้วย VR โดยผู้ชมสามารถแปลงร่างเป็นโครงกระดูกเปลี่ยนหัวกระโหลกของตัวเอง ออกสำรวจโลกหลังความตายตามสถานที่ในหนัง ทั้งนี้ Coco ไม่ใช่หนังเรื่องแรกที่ใช้ VR มาเป็นส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์ ก่อนหน้านี้มีเรื่อง Dunkirk จะเห็นว่า VR กำลังเป็นช่องทางใหม่ในการโปรโมทหนัง


ไฮไลต์ในงาน SIGGRAPH Asia 2017 ด้าน VR/AR

ในส่วนของไฮไลต์ในงาน VR Showcase เป็นโซนที่ใหญ่ที่สุด โดยมีการจัดแสดงผลงานจากหลากหลายบริษัทในมุมมองใหม่ๆ เช่น FullDome นำวิดีโอ 360 องศา มาจัดแสดงในโดมขนาดใหญ่ที่สามารถเข้าไปอยู่ได้หลายคนพร้อมกันโดยไม่ต้องสวมแว่น VR ภาพจะถูกฉายบนหลังคาด้านในโดม เหมาะสำหรับจัดอีเวนท์ งานแสดงศิลปะ

เมื่อสวมแว่น VR ทำให้รู้สึกว่าแขนยืดได้จริง

อีกทั้ง รูปแบบการนำ VR ใช้สำหรับการเคลื่อนที่ของมนุษย์แล้วประมวลผลสร้างเป็นภาพจำลองใน VR ทำให้รู้สึกว่าแขนยืดได้ จากการทดสอบรู้สึกเหมือนแขนยืดออกไปจริงๆ แม้ว่าแขนจะไม่ได้ยืดออกไปก็ตาม หรือการใช้ VR หลอกภาพเมื่อสวมแว่น โต๊ะที่เห็นจะเป็นสี่เหลี่ยม จากนั้นจะให้เราคลำแล้วเปลี่ยนภาพกลายเป็นสามเหลี่ยม เมื่อคลำต่อ ก็เปลี่ยนเป็น 5 เหลี่ยม ซึ่งทำให้รู้ว่าเปลี่ยนไปจากสิ่งที่เห็นผ่านแว่น

ผลงาน Walking Tour of Cultural ใช้ VR เดินเที่ยวสถานที่จริง
ส่วนบูธที่มีคนให้ความสนใจจำนวนไม่น้อย สามารถเดินชมมรดกทางวัฒนธรรม ผ่านเทคโนโลยีการแสกนแบบสามมิติและเสมือนจริง เมื่อสวมแว่นผู้ชมจะเห็นภาพวัด ต้องขยับร่างกายด้วยการก้าวเท้าเดิน ภาพจะเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ หากจะเลี้ยวก็เพียงแค่หันซ้ายหรือหันขวาเท่านั้น หรือบูธที่ใช้ VR ในการเดินหาเส้นทางในพื้นที่จำกัด แต่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมเสมือนจริงแบบไม่จำกัด พูดง่ายๆ เป็นการเดินเปลี่ยนทิศทางไปได้เรื่อยๆ ในขณะที่สวมแว่นได้ไม่สิ้นสุดนั้นเอง

การแปลภาษาอัตโนมัติด้วยแว่น AR ชื่อว่า MOVERIO

อีกหนึ่งบูธเป็นการสร้างภาพวาดบนพื้นที่ว่างเปล่าด้วยตัวเอง โดยตัวควบคุมที่มือจะทำหน้าที่เป็นดินสอ สร้างรูปร่างขึ้นมาในรูปแบบสามมิติ ส่วนโซนด้านนอกก็มี AR ที่น่าสนใจเหมือนกัน อย่างการนำแว่น AR/Mixed Reality ชื่อว่า MOVERIO แว่นแปลภาษา ผู้สาธิตจะพูดภาษาญี่ปุ่น ส่วนคนใส่แว่นจะเห็นตัวหนังสือสีเขียวอยู่กลางหน้าจอเป็นภาษาอังกฤษตามเสียงที่ได้ยินจากผู้สาธิต โดยบอกว่าเป็นแนวคิดที่นำไปพัฒนาใช้กับการชมภาพยนตร์ต่อไป

นอกจากนี้ ในงาน SIGGRAPH Asia 2017 ยังมีเทคโนโลยี VR/AR ด้านอื่นอีกมาก ที่จะเปลี่ยนประสบการณ์โลกเสมือนผสานเข้ากับโลกความเป็นจริงให้แปลกใหม่ไปอีกขั้น ไม่ช้าจะเข้ามาสู่ชีวิตของมนุษย์มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

Walmart อัพเดตแอพให้สแกนสินค้าด้วย AR ดูข้อมูลออนไลน์ได้ก่อนซื้อ

Walmart เพิ่มฟีเจอร์ AR บนแอพสำหรับไอโฟน ให้ลูกค้าสามารถเปิดกล้องส่องสินค้าบนชั้น แล้วดูข้อมูลต่างๆได้ง่ายๆ