เด็กแอลดี (LD : Learning Disability) หรือเด็กที่อยู่ในภาวะความบกพร่องในการเรียนรู้ เด็กๆ เหล่านี้จะมีสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือฉลาดกว่า แต่การเรียนรู้ในด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายๆ ด้านจะช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน ซึ่งโรคแอลดีเป็นโรคที่ติดตัวเด็กไปจนโต การรักษาในวัยเด็กระยะแรกจะสามารถช่วยได้ เพราะเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้อาจประสบความสำเร็จในด้านการเรียนและด้านอื่นๆ ได้ โดยแอลดีจะแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ความบกพร่องด้านการอ่าน (Dyslexia) ด้านการเขียนสะกดคำ (Dysgraphia) ด้านคณิตศาสตร์ (Dyscalculia) และด้านการเคลื่อนไหว (Dyspraxia)
อยากจะทำผลงานที่ช่วยเหลือคนที่ด้อยโอกาสหรือผลงานที่เป็นประโยชน์กับสังคมส่วนรวม กลุ่มเด็กแอลดี ยังมีซอฟต์แวร์ที่ช่วยสร้างพัฒนาการของพวกเขาน้อยอยู่ และความรู้กับความสนใจของพวกเราก็น่าจะพอทำชิ้นงานประเภทนี้ออกมาได้
มาโนช ศรีวราเกียรติ และคณะ นักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นำแนวความคิดการประยุกต์ความรู้ด้านไอที สร้างเครื่องมือเพื่อช่วยพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวให้กับเด็กแอลดี ด้วยเกมสามมิติและการปฏิสัมพันธ์ผ่านอุปกรณ์ต่อพ่วง Kinect จนชนะใจกรรมการคว้ารางวัลดีเด่น ด้าน Edutainment ประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษา รางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ ครั้งที่ 9
เล็งเห็นความสำคัญในการช่วยเหลือผู้อื่น
ผลงาน Movement Skill Development for LD Kids เป็นเกมสามมิติเพื่อฝึกฝนและสร้างพัฒนาการให้เด็กที่มีภาวะความบกพร่องในการเรียนรู้ หรือแอลดี โดยผลงานนี้จะเน้นพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวผ่านทางการเล่นเกมสามมิติที่มีรูปภาพและสีสันสวยงาม สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เล่นด้วยอุปกรณ์ต่อพ่วง Kinect ช่วยให้เด็กฝึกการเคลื่อนไหวไปพร้อมกับตัวละครในเกม ซึ่งลักษณะของเด็กที่มีความบกพร่องด้านการเคลื่อนไหวคือ มีการเคลื่อนไหวเชื่องช้า มีความลำบากในการเล่นกีฬา มีความลำบากในการเคลื่อนไหวข้ามแนวกลางลำตัว วิ่งหรือเดินสะดุดหกล้มบ่อย มักถูกเพื่อนปฏิเสธไม่ยอมให้เข้ากลุ่มเล่นเกมที่ต้องใช้ทักษะการเคลื่อนไหว มีความลำบากในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต
แนวทางการช่วยเหลือเด็กที่มีความบกพร่องด้านการเคลื่อนไหวคือ การจัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬาประเภทต่างๆ เช่น ว่ายน้ำ แบดมินตัน จัดกิจกรรมเพิ่มความคล่องตัวในการเคลื่อนไหวผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น วิ่งเป็นเส้นตรงมาหยิบการ์ดผลไม้ตามคำสั่ง จัดกิจกรรมให้เด็กได้มีการปีนป่าย โหนราว ไต่ราว จัดกิจกรรมส่งเสริมการเคลื่อนไหวข้ามแนวกลางลำตัวและสหสัมพันธ์ของร่างกายในการเคลื่อนไหว เช่น กระโดดตบ กระโดดแขนไขว้ ขากาง แขนไขว้สลับกัน กระโดดสลับขาซ้าย/ขวา เป็นต้น
จิราภรณ์ วิเชียรวรรณ หนึ่งในทีมผู้พัฒนา กล่าวถึงแนวความคิดการพัฒนาผลงานว่า เกิดจากการรวมกันของกลุ่มเพื่อนที่เรียนด้วยกัน โดยต้องการนำเอาความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและสังคม จึงเริ่มไปค้นหาข้อมูล และพบว่า กลุ่มเด็กแอลดี ยังมีซอฟต์แวร์หรือเครื่องมือที่ใช้ประโยชน์ในการช่วยส่งเสริมการเรียนรู้น้อยอยู่ และมีความเป็นไปได้ในการพัฒนา ประกอบกับมีความสนใจทางด้านงานกราฟิกสามมิติ และเพื่อนๆ ก็มีความสามารถในการเขียนโปรแกรม จึงรวมทีมกันทำผลงานดังกล่าว
“เนื่องจากพวกเราต้องทำโปรเจ็กต์ก่อนจบการศึกษา เราจึงมาคิดกันว่าอยากจะทำผลงานที่ช่วยเหลือคนที่ด้อยโอกาสหรือผลงานที่เป็นประโยชน์กับสังคมส่วนรวม หลังจากค้นหาข้อมูลก็พบว่า กลุ่มเด็กแอลดี ยังมีซอฟต์แวร์ที่ช่วยสร้างพัฒนาการของพวกเขาน้อยอยู่ และความรู้กับความสนใจของพวกเราก็น่าจะพอทำชิ้นงานประเภทนี้ออกมาได้จึงรวมทีมกันศึกษาข้อมูล และพัฒนาเป็นเกมสามมิติชิ้นนี้ขึ้นมา และหลังจากที่พวกเราพัฒนาเสร็จยังได้มีการนำไปทดสอบกับเด็กแอลดีให้ได้ลองใช้จริง ก็พบว่ามีส่วนช่วยสร้างพัฒนาการการเรียนรู้ของพวกเขาได้จริง ทำให้พวกเราพอใจมาก”
ฉบับที่ 197 เดือนพฤษภาคมกระเป๋าเงิน Virtual เชื่อมเศรษฐกิจดิจิตอล |
เทคโนโลยีกับการบำบัด ที่ใช้ประโยชน์ได้จริง
แนวคิดของโครงงานเป็นลักษณะของแอพพลิเคชั่นที่จะมาช่วยในส่วนของการพัฒนาทักษะ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของกลุ่มเด็กที่เป็นโรคแอลดี โดยเฉพาะเด็กที่มีความบกพร่องในเรื่องของการทรงตัวเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตเป็นปกติแบบเด็กทั่วไปได้ในสังคม โดยแอพฯ ถูกพัฒนาในรูปแบบของเกมร่วมกับเทคโนโลยี Kinect เพื่อดึงดูดความสนใจ โดยจะเน้นเรื่องราวรูปภาพและกราฟิกที่สวยงามและเสมือนจริงเหมาะสมกับเด็ก ซึ่งจะนำเสนอผ่านคอมพิวเตอร์ หรือจอภาพต่างๆ เพื่อให้สามารถใช้งานได้ง่าย มีรูปแบบการแสดงผลที่ชัดเจนและสะดวกในการโต้ตอบกับแอพฯ พร้อมกับการพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตได้
สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับคือ เด็กได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะทางการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้จะได้มีการพัฒนาทักษะให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ลดภารกิจของผู้ฝึกให้น้อยลง ผู้ปกครองสามารถให้เด็กพัฒนาความบกพร่องทางการเรียนรู้ได้ทุกเวลาโดยไม่ต้องมีผู้ฝึก สร้างความน่าสนใจและความดึงดูดให้เด็กไม่เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย และไม่อยากเข้ารับการพัฒนาการเมื่อถึงเวลาที่ต้องเข้ารับการพัฒนาทักษะ
หวังเพิ่มความน่าสนใจ ต่อยอดสู่ระบบออนไลน์
ความสามารถของซอฟต์แวร์คือ ช่วยส่งเสริมการพัฒนาการของเด็กในเรื่องของการทรงตัวได้ และสร้างความรู้สึกเหมือนการเล่นเกมไม่ใช่การบำบัด ส่งเสริมและกระตุ้นให้เด็กอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนา นำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับการแพทย์ สามารถนำไปพัฒนาและต่อยอดแนวคิดได้ ซึ่งซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการพัฒนาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ Graphic Design และ Programming & Driver โดยมีเพียงข้อจำกัดในการใช้คือ สามารถเล่นได้บนระบบปฏิบัติการ Windows 7 ขึ้นไปเท่านั้น ต้องใช้ Kinect ในการเล่น และรองรับผู้เล่นครั้งละ 1 คน ซึ่งผู้เล่นต้องยืนห่าง Kinect 2 เมตร และด้านข้างของผู้เล่นต้องมีที่ว่างข้างละ 1 เมตร
แนวทางในการพัฒนาต่อยอดคือ ทำเป็นระบบออนไลน์ เพื่อให้สามารถเล่นร่วมกับผู้อื่นและแชร์คะแนนกันได้เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ เพิ่มการพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ของเด็ก เพื่อให้สามารถใช้ในการพัฒนาได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น และทำการเพิ่มระบบช่วยตรวจสอบเพื่อดูว่าเด็กที่มาเล่นมีความเสี่ยงที่จะเป็นแอลดีหรือไม่