ผู้ใช้สมาร์ทโฟน 1 เครื่อง จะมีการติดตั้งแอพพลิเคชั่นอย่างน้อย 32 แอพฯ ดังนั้น ฟีเจอร์และฟังก์ชั่นการใช้งาน รวมถึงการสร้างสรรค์พัฒนาเนื้อหาภายในแอพพลิเคชั่น ต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานให้มากที่สุด
ประเทศไทยมีคนใช้โทรศัพท์มือถือมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นสัดส่วนเดียวกันกับสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ตลาดแอพพลิเคชั่นได้รับความนิยมมากขึ้นตามไปด้วย มีแอพพลิเคชั่นประเภทต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายหวังแจ้งเกิด เพื่อได้รับความนิยมในตลาด
11 แอพฯ ไทย ติดอันดับยอดเยี่ยม
Android เป็นระบบปฏิบัติการสำหรับสมาร์ทโฟนที่นิยมและมีผู้ใช้งานจำนวนมาก ดังนั้น Google Play Store จึงเป็นแหล่งรวมแอพพลิเคชั่นที่มีคนเข้าถึงมากที่สุดด้วยเช่นกัน โดยภายในปี 2558 มีอยู่มากกว่า 1.6 ล้านแอพฯ ขณะที่ใน App Store ของแอปเปิล มีอยู่ประมาณ 1.5 ล้านแอพฯ
ไมเคิล จิตติวาณิชย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด Google ประเทศไทย กล่าวถึงพฤติกรรมของคนไทยเกี่ยวกับการใช้งานโมบายล์แอพฯ ว่า โดยคนไทย 55 เปอร์เซ็นต์ ที่ใช้สมาร์ทโฟนเป็นกลุ่มที่เข้าสู่ยุค Mobile First เข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยใช้โทรศัพท์มือถือเป็นหลัก เพราะโทรศัพท์สามารถให้ความบันเทิง ให้ข้อมูลและช่วยให้ทำสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้นในเครื่องเดียว ส่วนประเภทแอพฯ ที่ได้รับความนิยมที่สุด ได้แก่ เกม โซเชียลมีเดีย และแอพฯ สนทนา
ทั้งนี้ กูเกิลจะพิจารณาแอพพลิเคชั่นและเกมยอดเยี่ยมประจำทุกปี ทั้งความนิยม ผลการรีวิว และคุณภาพ ซึ่งแอพพลิเคชั่น ที่ดีที่สุดแห่งปี 2016 คือ Prisma แอพฯ เปลี่ยนรูปถ่ายให้กลายเป็นรูปวาด เพียงแค่เลือกโหมด ภาพก็เปลี่ยนให้เองโดยไม่ต้องแต่งเพิ่มเติม ส่วนเกมที่ดีที่สุดประจำปี 2016 และยังเป็นเกมที่ฮิตทั่วโลกคงเป็นใครไปไม่ได้นั่นก็คือ Pokemon GO ที่นำเทคโนโลยี Virtual Reality จำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริง ออกไปจับโปเกมอนได้เอง
กูเกิลยังประกาศมอบรางวัลให้กับแอพฯ และเกม ยอดเยี่ยมของประเทศไทย ประจำปี 2559 จากนักพัฒนาไทยทั้ง 11 ราย ที่ติดอันดับรายชื่อทั้งหมด 77 แอพฯ ทั่วโลก ซึ่งมีหลายแอพพลิเคชั่นที่คนไทยคุ้นเคยกันดีและมียอดดาวน์โหลดจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น Kaidee ตลาดซื้อ-ขายสินค้ามือสองออนไลน์, Wongnai ค้นหาและรีวิวร้านอาหาร, Ookbee ร้านหนังสืออีบุ๊ก, WinkCamera แอพฯ ถ่ายรูปพร้อมแต่งภาพ และ TrueMoney ระบบชำระเงินบนมือถือ ที่มีการพัฒนาฟีเจอร์อย่างต่อเนื่อง
สำหรับเกมส์ที่ได้รับความนิยมนั้นมีด้วยกัน 2 แอพฯ ได้แก่ GThapster เกมดนตรีที่ใช้เพลงไทยในการเล่น โดยลักษณะเกมจะมีตัวโน้ตไล่เรียงลงมา ผู้เล่นมีหน้าที่เพียงใช้นิ้วจิ้มแตะปุ่มด้านล่างหน้าจอให้พอดีกับจังหวะที่ตัวโน้ตตกลงมา
ส่วนอีกหนึ่งเกมที่มีกระแสแรงไม่แพ้กันคือ Super Slam – POGS Battle เป็นเกมที่ยกเอา POGs เทรนด์การละเล่นในยุค 90s เป็นแผ่นเหรียญพลาสติกทรงกลม ด้านหนึ่งจะพิมพ์ลาย ส่วนอีกด้านจะปล่อยไว้เรียบๆ ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะนำเหรียญ POGs ของตัวเองมารวมกันให้ได้ขั้นต่ำ 10-15 เหรียญ แล้ววางเรียงกันเป็นแนวตั้งโดยเอาหน้าที่มีลายคว่ำลง จากนั้นก็ผลัดกันใช้เหรียญ “Slammer” ที่มีขนาดหนากว่าปาลงไปเพื่อตีให้เหรียญในกองให้พลิกเอาฝั่งที่มีลายขึ้นมา ตัวเหรียญที่พลิกหน้าขึ้นมาก็จะตกเป็นของผู้เล่นที่ทำได้
ตลาดแอพฯ ในไทยเติบโต
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่เป็นแอพพลิเคชั่นที่ปล่อยมาให้ดาวน์โหลดสักพักใหญ่ และยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ส่วนอีก 4 แอพฯ ที่ติดใน 11 รายชื่อ ได้กระแสการตอบรับดีมากในช่วงปีนี้
เริ่มจาก Keyboard ManMan เป็นแอพฯ คีย์บอร์ดที่มีความแม่นยำในการพิมพ์ ตัวคีย์บอร์ดขยายและหดตัวได้ระหว่างพิมพ์ ด้วยรูปแบบการทำงานที่ช่วยในการเดาข้อความหรือเน้นอักษรที่คาดว่าผู้ใช้จะพิมพ์เป็นตัวถัดไปให้ใหญ่ขึ้นกว่าปกติ อีกทั้งยังสามารถตั้งค่าการสั่นในขณะที่เราพิมพ์และตั้งค่าเสียงปุ่มกดได้
สำหรับฝั่งแอพพลิเคชั่นที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาชีวิตประจำวันในการจองร้านอาหารอย่าง Eatigo ก็มีผู้เข้าใช้งานจำนวนไม่น้อย ที่เป็นมากกว่าการจองร้านอาหารแต่มีส่วนลดให้แก่ผู้ที่จองโต๊ะอาหารโดยไม่คิดค่าบริการ เพียงแค่กดจองโต๊ะตามเวลาที่สะดวก เลือกอาหารที่ชอบจ่ายเงินตามส่วนลดที่เลือกไว้ สะดวกและไม่จำเป็นเป็นต้องไปยืนต่อคิว
นอกจากนี้ อีกหนึ่งแอพพลิเคชั่นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน Piggipo ที่ช่วยจัดการการใช้บัตรเครดิต และแก้ปัญหาการใช้บัตรเครดิตเกินตัว ซึ่งมีฟีเจอร์ช่วยบันทึกค่าใช้จ่ายของบัตรเครดิต เห็นสถานการณ์ใช้จ่ายจริงแบบ Real-time,สามารถกำหนดระบบแจ้งเตือนไม่ลืมวันชำระเงิน แสดงวันตัดรอบของแต่ละบัตร มีระบบ Billbox ที่ช่วยให้ประหยัดเวลาในการเช็กความถูกต้อง และมีความปลอดภัยสูง
ฉบับที่ 217 เดือนมกราคมเรียนรู้ชีวิตดิจิทัล เยาวชน 4.0
|
ส่วน Comico Thailand แอพพลิเคชั่นอ่าน การ์ตูนออนไลน์สัญชาติญี่ปุ่น ที่ได้รับความนิยมจนถูกเผยแพร่ไปสู่หลายๆ ประเทศในเอเชีย ที่มีการ์ตูนถูกลิขสิทธิ์ให้อ่านฟรี พร้อมสร้างสรรค์โดยนักเขียนชาวไทยชื่อดัง อาทิ Vicmon, Tako และ Ozakaoxygenz รวมถึงการ์ตูนจากญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน ที่นำมาแปลเป็นภาษาไทย ซึ่งนำเสนอเนื้อเรื่องหลากหลายแนวให้ได้เลือกอ่านรวมกว่า 125 เรื่อง และมีการอัพเดททุกวัน จนสามารถเรียกยอดดาวน์โหลดได้สูงถึง 5 แสนครั้งในประเทศไทย
แสดงให้เห็นถึงจุดเด่นของแต่ละแอพฯ ที่มีคอนเทนต์ที่ต่างกัน แต่สิ่งที่จะทำให้มียอดดาวน์โหลดและคนใช้งานจริง จะต้องมีความโดดเด่น โดนใจ และมีฟังก์ชั่นที่ใช้งานสะดวก ทำให้เห็นได้ชัดว่าตลาดแอพฯ ประเทศไทยกำลังเติบโต และนักพัฒนาไทยก็ประสบความสำเร็จอันดับต้นๆ
จับโมบายล์เป็นหลัก สร้างให้เข้ากับผู้ใช้ในพื้นที่
หากมองเทรนด์ของแอพพลิเคชั่นในปี 2017 จากความคิดเห็นนักพัฒนาไทย โดยฝั่ง Ookbee มองว่า ตลาดของงานเขียนออนไลน์จะขยายเข้าสู่ยุค User Generated Content ที่ผู้ใช้งานสามารถสร้างคอนเทนต์เองจะมาแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูน นิยาย และหนังสือ ส่งผลให้มีคนใช้งานและอ่านผ่านแอพฯ เพิ่มขึ้น
Mobile Payment จากประเทศจีนอย่าง WeChat เป็นแอพพลิเคชั่นที่ครบเกือบทุกการใช้งาน ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในประเทศไทย และส่งผลให้นักพัฒนาไทยต้องมีการเตรียมรับมือในเรื่องนี้
ส่วน Kaidee บอกว่า แอพฯ ในแอนดรอยด์จะโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผู้ใช้งานแอนดรอยด์จำนวนมากสร้างรายได้อันดับหนึ่งบนแอพพลิเคชั่น Kaidee ส่วนผู้ใช้งาน Desktop เป็นแค่อันดับ 3 ของผู้ใช้ทั้งหมด และจะมีผู้ใช้งานน้อยลงเรื่อยๆ แต่สำหรับ Wongnai กลับมองว่า คนจะโหลดแอพฯ น้อยลง ทำให้จำเป็นต้องวางวิสัยทัศน์ถึงแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ไม่ใช่แอพฯ เพียงอย่างเดียว อาจจะเป็นแพลตฟอร์มที่มีคนใช้งานอยู่แล้ว และรุกมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังพูดไปถึงเรื่องของกลยุทธ์สำคัญในการสร้างแอพพลิเคชั่นออกสู่ตลาดในอนาคต ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นไปทาง Localize หรือการปรับให้เข้ากับผู้ใช้ในพื้นที่นั้นๆ โดย Ookbee ได้มีการทำเซ็กเมนต์ที่ละเอียดขึ้น และขยายบริการใหม่ๆ ในประเทศที่มี Ookbee อยู่แล้ว แต่ต้องปรับให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศ ขณะที่ Kaidee ที่เคยทำบริการให้ง่ายมาโดยตลอด ปกติมีเพียงฟังก์ชั่น Menu และเปลี่ยนมาเป็นการใช้ปุ่ม Hamberger Menu (ปุ่ม 3 ขีด) ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนสูงขึ้น 200 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกิดจากคนไทยเข้าใจการใช้โมบายล์มากขึ้น และมีการเสริมฟีเจอร์เข้าไปอีก
ส่วน Wongnai เองก็ทั้งมุ่งไปที่โมบายล์เป็นหลัก เพราะผู้ใช้งานกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ มาจากโมบายล์แอพพลิเคชั่น นอกจากนี้ Mobile Payment จากประเทศจีนอย่าง WeChat เป็นแอพพลิเคชั่นที่ครบเกือบทุกวงจรในการใช้งานในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในประเทศไทย และจะส่งผลให้นักพัฒนาไทยต้องมีการเตรียมรับมือในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่ง Wongnai เองอาจจะเข้าไปร่วมใน Payment ที่สามารถค้นข้อมูลแล้วจ่ายเงินได้ทันที
“ตลาดแอพพลิเคชั่นจะมีการแข่งขันกันสูงและมีจำนวนมาก ซึ่งแอพฯ หนึ่งตัวจะเสริมฟีเจอร์มากขึ้นเรื่อยๆ เล่นเกมได้ จ่ายเงินได้ แต่สุดท้ายผู้ใช้อาจจะไม่ต้องการความยุ่งเหยิงแบบนั้นก็ได้ ไม่แน่ว่าอาจจะทำให้แอพฯ กลับไปเป็นความเรียบง่ายใหม่อีกครั้ง ก็จับตาดูความเคลื่อนไหวนี้ต่อไปว่าจะเป็นอย่างไรกันแน่” ไมเคิล กล่าวทิ้งท้าย