National e-Payment เป็นระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ทางรัฐบาลได้พยายามผลักดันตั้งแต่เมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบสำหรับรองรับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐาน สอดคล้องกับการใช้งานเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือที่มีการเติบโตและขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น
พร้อมเพย์ (PromptPay) เป็น 1 ในประเด็นสำคัญ จากโครงการ National e-Payment ที่นับเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น สะดวก และปลอดภัย ซึ่งในขณะเดียวกันจากกระแสของ FinTech ที่มีการตื่นตัวและพูดถึงเทคโนโลยี Blockchain (บล็อกเชน) กันเป็นอย่างมาก โดยมีการคาดการณ์กันว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนโลกของการเงินไปอย่างสิ้นเชิง ธนาคารหลายแห่งในประเทศไทยได้เริ่มวิจัยกันอย่างจริงจัง ในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาปรับใช้ ที่จะต้องสามารถทำได้มากกว่าบริการรูปแบบเดิมๆ ที่เคยมีอยู่
การพลิกโฉมของระบบชำระเงินไทย
เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมกันเปิดให้บริการพร้อมเพย์เต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการ ซึ่งโครงการนี้เป็นการพัฒนาระบบการชำระเงินกลางของประเทศไทยให้สามารถรองรับการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงินได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย
พร้อมเพย์ เป็นโครงการแรกจาก 6 โครงการย่อย โดยอีก 5 โครงการที่เหลือคือ การขยายการใช้บัตรเดบิตและการติดตั้งเครื่องรับบัตร EDC การปรับปรุงระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ การบูรณาการสวัสดิการและ e-Payment ภาครัฐ การสื่อสารให้ความรู้กับประชาชน และสุดท้ายเป็นการพัฒนาตลาดทุน ทั้งหมดนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของประเทศ โดยเฉพาะต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดของประเทศ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ช่วยชักจูงให้เศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบ และช่วยให้มีการเก็บรวบรวมฐานข้อมูลการรับจ่ายเงินและสวัสดิการประชาชน ซึ่งจะสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อการกำหนดนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ฉบับที่ 218 เดือนกุมภาพันธ์ร้านค้าขนาดเล็ก ไม่ต้องใช้เงินสด
|
การประยุกต์ใช้ Blockchain กับด้านการเงิน
ปัจจุบัน Blockchain ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทสู่สังคมในวงกว้าง ที่ไม่ใช่เพียงแค่สังคมเทคโนโลยีเท่านั้น แต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในบริบทต่างๆ ของทุกวงการ แต่ทุกวันนี้จะเห็นว่าถูกนำไปใช้เกี่ยวกับด้านการเงินเป็นส่วนมาก ซึ่งก็ได้รับการคาดการณ์ว่ามีโอกาสที่จะพลิกโฉมโลกการเงินไปอย่างสิ้นเชิง และเมื่อพูดถึง Blockchain คนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึง Bitcoin (บิทคอยน์) ที่เป็นการเข้ารหัสแล้วทำให้เกิดสกุลเงินดิจิทัล (Crypto-Currency) ซึ่ง Bitcoin คือแนวคิดของการเข้ารหัสสกุลเงิน โดยใช้ Blockchain Protocol ในการดำเนินการธุรกรรมด้านการเงิน
ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถจับต้อง Bitcoin ได้ แต่การชำระเงินโดย Bitcoin ก็จะไม่มีความแตกต่างจากการใช้เงินปกติ ที่ผู้ใช้งานจะต้องมี Bitcoin อยู่ในกระเป๋าเงินของตนเอง ผ่านทางเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นของผู้ให้บริการ จากนั้นจึงจะสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ได้ โดยมีเซิร์ฟเวอร์ หรือ Node ต่างๆ ที่ทำหน้าที่ดูแลข้อมูล กระบวนการตรวจสอบและยืนยันการทำธุรกรรมจะเกิดขึ้นโดยเซิร์ฟเวอร์ที่ทำหน้าที่เป็นนักขุด หรือ Miner ที่ทำให้เครือข่ายคอมพิวเตอร์สามารถสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นสำหรับการทำธุรกรรมนั้นๆ ได้ ทุกอย่างเกิดจากโค้ดคอมพิวเตอร์ที่ทำงานประสานกันอย่างเป็นระบบ ไม่ต้องอาศัยตัวกลางหรือการตัดสินใจของมนุษย์
และนอกจาก Bitcoin ที่ได้มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายแล้ว ปัจจุบันยังมีสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ เกิดขึ้น เช่น Ethereum (ETH) ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2013 และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในอีก 2 ปีถัดมา ที่สำคัญคือ มีมูลค่าตามราคาตลาดรองจาก Bitcoin และมีแนวโน้มที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตอนนี้มูลค่าของ Ethereum เมื่อเทียบกับวันแรกที่เปิดให้ใช้งานก็ได้เติบโตไปมากกว่า 1,000 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ Ethereum เองนั้นพยายามที่จะแก้ไขจุดบกพร้องในสิ่งที่ Bitcoin มี และสิ่งที่น่าสนใจก็คือ การได้รับความสนับสนุนจากธนาคารในหลายประเทศ รวมถึงการซัพพอร์ตระบบคลาวด์จากไมโครซอฟท์
Blockchain จะมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ มีความมั่นคงปลอดภัย โปร่งใส มีการบันทึกประวัติการทำธุรกรรมและมีวงจรที่สมบูรณ์ มีความเรียลไทม์ รายการไม่มีการเปลี่ยนแปลง สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่จำเป็นต้องผ่านองค์กรตัวกลาง เช่น สถาบันการเงินหรือธนาคาร เป็นต้น จึงเกิดเป็นคำถามที่ว่า Blockchain จะมาลดบทบาทของสถาบันการเงินต่างๆ ลงหรือไม่ แต่ทำไมสถาบันการเงินจึงกลายเป็น กลุ่มที่ให้ความสนใจเทคโนโลยีนี้มากที่สุด
เทคโนโลยีที่ดูเข้าใจยาก แต่จะไม่ใช้เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
ดร.สุพร พงษ์นุ่มกุล นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีการวิเคราะห์กระบวนการเชิงคำนวณ ของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ให้ข้อมูลว่า หลักการทำงานโดยกว้างๆ ของ Blockchain คือการเก็บข้อมูล Ledger (บัญชีแยกประเภท) ให้กระจายอยู่ไปทั่ว แทนที่จะเก็บไว้ในศูนย์กลางเพียงที่เดียว และทุกคนสามารถตรวจสอบความถูกต้องของบัญชีได้ตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น ในกรณีบัตรเครดิต ลูกค้าทุกคนจะมี Ledger ย่อย เป็น Transaction รายเดือนของแต่ละคน เป็น Statement ที่ทางบริษัทจะส่งมาให้ในแต่ละเดือน และ Ledger ใหญ่ของบริษัท คือรายการเก็บ Transaction ของลูกค้าบัตรทุกคน จะถูกเก็บไว้ที่ตรงกลาง ซึ่งถ้าหากนำ Blockchain มาใช้ Ledger ใหญ่จะถูกเก็บไว้ที่ทุกคน ทุกคนจะเห็นหมด เมื่อมีการอัพเดต เกิด Transaction ขึ้นที่ใดที่หนึ่ง ทุกคนก็จะอัพเดทเหมือนกันหมด ดังนั้นบทบาทของบริษัทเครดิตจึงหมดไปภายใต้โมเดลนี้
จะเห็นได้ว่า กลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านการเงินมีความตื่นตัวในการประยุกต์ใช้ Blockchain ซึ่งแนวทางในการใช้ส่วนใหญ่จะเป็นแบบ Private หรือ Consortium Blockchain ซึ่งให้สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลกับกลุ่มที่เลือกแล้วเท่านั้น โดยมีข้อดีคือ ทำให้รู้ตัวตนของคนในระบบ สามารถประมวลผลธุรกรรมได้อย่างรวดเร็ว และไม่เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดแก่สาธารณะ
นอกจากนี้ Blockchain ยังจะเข้ามามีผลกับในหลายๆ ภาคส่วนของวงการการเงิน ทั้งที่ไม่ใช่การเงินโดยตรง เช่น การทำ KYC (Know Your Customer) หรือ แนวทางปฏิบัติในการรู้จักตัวตนของลูกค้า