Cyberbullying หรือการกลั่นแกล้งผ่านทางโลกไซเบอร์ เป็นการกลั่นแกล้งระหว่างเด็กกับเด็กที่อยู่ในวัยเรียน ซึ่งเป็นการคุกคามที่มีรูปแบบที่แตกต่างไปจากการทะเลาะเบาะแว้งแบบเดิมๆ โดยเจตนาทำให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บใจผ่านการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์
สื่อลามก การล่อลวง รวมถึงการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ หรือ Cyberbullying ล้วนเป็นผลพวงมาจากความรู้ไม่เท่าทันสื่อออนไลน์ของเด็กและเยาวชน ผศ.ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ สาขาวิชาสังคมศาสตร์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้าน Cyberbullying ที่มองเห็นถึงปัญหาและติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นว่า นับวันปัญหาดังกล่าวเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ ในยุคที่เด็กเกือบทุกคนมีสมาร์ทโฟน และเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่าย จำเป็นจะต้องร่วมกันให้ความรู้ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและภูมิคุ้มกันในจิตใจของเด็กในการรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น
ด่าทอด้วยข้อความหยาบคาย แชมป์ Cyberbullying
เมื่อปี 2552 ผศ.ดร.วิมลทิพย์ ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับสถานการณ์ Cyberbullying ในประเทศไทย โดยเก็บตัวอย่างจากเด็กอายุ 12-24 ปีทั่วประเทศ จำนวน 2,500 คน โดยแบ่งเป็นเด็กสายอาชีวะ และสายสามัญ ซึ่งสำรวจถึงข้อมูลสถานภาพครอบครัว การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทัศนคติทั่วไป รวมถึงทัศนคติต่อความรุนแรง ซึ่งผลวิจัยพบว่า เด็ก 39 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่าการกลั่นแกล้งออนไลน์เป็นเรื่องสนุก ขณะที่ 28 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่าเป็นพฤติกรรมปกติ และที่น่าตกใจคือ จากตัวอย่าง 2,500 คน มีเด็กถึง 824 คน เปิดเผยว่า เคยโดนกลั่นแกล้งจากผู้อื่นในโลกออนไลน์
นอกจากนี้ ในงานวิจัยยังพบว่า รูปแบบของการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ที่พบมากที่สุดคือ การด่าทอกันด้วยข้อความหยาบคาย และยังพบกรณีการตัดต่อภาพ สร้างข้อมูลเท็จ รวมไปถึงการตั้งกลุ่มออนไลน์กีดกันเพื่อนออกจากกลุ่ม โดยมักเกิดในเด็กช่วงวัย 13-16 ปี ขณะที่ช่องทางโซเชียลมีเดียที่ใช้มากที่สุด ได้แก่ เฟซบุ๊ก
“เราคุยกับครูมิน-ชัชฎาภรณ์ พรมนอก ครูกระบวนกร โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเรื่องสุขภาพจิตของนักเรียนภายในโรงเรียน โดยครูมินได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับเด็กในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครแห่งหนึ่ง ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 อายุ 10-12 จำนวน 200 คน ซึ่งพบว่า 100 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่สำรวจมีโทรศัพท์มือถือและเฟซบุ๊ก นอกจากนี้ส่วนใหญ่ยังมีประสบการณ์พบเห็นการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ เราคุยกันต่อว่าปัญหานี้มันลงไปถึงเด็กเล็กๆ หรือยัง ซึ่งเราก็พบว่าเริ่มเจอปัญหานี้แล้ว เพียงแต่ยังไม่มากเท่ากลุ่มเด็กโต เพราะเดี๋ยวนี้เด็กอายุเพียง 5 ขวบก็เริ่มมีการใช้อินเทอร์เน็ตแล้ว” ผศ.ดร.วิมลทิพย์ กล่าว
ฉบับที่ 209 เดือนพฤษภาคมDigital Literacy เรื่องครอบครัว รู้ทันดิจิทัล |
ซื้อสมาร์ทโฟนให้ลูก = ความรับผิดชอบของพ่อแม่
ผศ.ดร.วิมลทิพย์ กล่าวต่อว่า ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อพ่อแม่จะซื้อสมาร์ทโฟนให้ลูก เขาจะคิดไคร่ครวญอย่างดีว่า สิ่งนั้นจะมาพร้อมความรับผิดชอบของพ่อแม่ ซึ่งหมายถึงพ่อแม่จะต้องเข้ามาดูคอนเทนต์ และสกรีนเนื้อหาเป็นระยะว่ามีอะไรบนสมาร์ทโฟนของลูกบ้าง ขณะที่สังคมไทย เมื่อพ่อแม่ซื้อสมาร์ทโฟนให้ลูกแล้วก็ปล่อยทิ้ง เผื่อที่จะได้มีเวลาไปทำอย่างอื่น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิธีคิดที่แตกต่างกัน
“พ่อแม่มักอ้างว่าไม่มีเวลาดูแลลูก แต่เราสามารถใช้เวลา 2 ชั่วโมงก่อนนอนในการเข้ามาสอดส่องดูแลลูกได้ และเมื่อไม่สามารถปิดกั้นเนื้อหาที่จะมาถึงลูกได้ พ่อแม่ควรเข้ามากำกับดูแลการใช้มือถือของลูก โดยการทำข้อตกลงในการใช้งานร่วมกัน ซึ่งเป็นวิธีที่จะทำให้ลูกไม่รู้สึกว่าพ่อแม่เข้ามาก้าวก่าย ส่วนการจะเข้ามาสอดส่องจนถึงอายุเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะของเด็กแต่ละคน เด็กที่สามารถดูแลตัวเองได้เร็ว พ่อแม่อาจจะช่วยสกรีนเนื้อหาเพียงอาทิตย์ละครั้ง อย่างไรก็ตามมองว่า การจะปิดกั้นเด็กไม่ให้รู้เรื่องราวบนโลกไซเบอร์เลยคงจะไม่ได้ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ทั้งนี้สิ่งที่ควรทำคือ การค่อยๆ ปล่อยให้เด็กได้เรียนรู้ทีละนิด และคอยกระตุ้นเขาเป็นระยะ” ผศ.ดร.วิมลทิพย์ กล่าว
เมื่อสังคมมองว่าเป็นเรื่องปกติ จะสร้างสังคมแห่งความรุนแรงขึ้น จนอาจขยายตัวไปสู่ความรุนแรงหรืออาชญากรรมรูปแบบอื่น ซึ่งในสังคมคนญี่ปุ่นมีการปลูกฝังให้ไม่ทนต่อความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม
สังคมดราม่า ต้องสร้างความเข็มแข็งในใจเด็ก
ส่วนสัญญาณที่บ่งบอกว่าเด็กถูกกลั่นแกล้งจากไซเบอร์นั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัยของเด็กแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ผศ.ดร.วิมลทิพย์ บอกว่า เด็กที่มีภูมิคุ้มกันในใจมากพอ จะสามารถแก้ไขปัญหาเองได้ แต่เด็กที่ค่อนข้างเปราะบาง อาจส่งผลกระทบกับจิตใจมากจนไม่อาจแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้ ทั้งนี้ในการสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของเด็ก ในขั้นแรกผู้ปกครองจะต้องทราบถึงลักษณะนิสัยของเด็กก่อน ว่าเป็นคนอย่างไร เมื่อเจอเรื่องไม่ถูกใจแล้วเขาจะมีอาการอย่างไร โดยอาจจับตาเรื่อง Cyberbullying เมื่อเขาแสดงอาการไม่พอใจออกมาคล้ายกับสิ่งที่เขาเคยเป็น ทั้งนี้เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมออกมาแล้ว จะต้องดูถึงระดับความรุนแรง หากเด็กมีปัญหาจนถึงขั้นมีอาการเครียดสูง หรือเกิดภาวะซึมเศร้า ควรต้องรีบปรึกษาแพทย์เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป
“สำหรับในประเทศไทยยังไม่พบสถิติเด็กฆ่าตัวตาย เพราะ Cyberbullying แต่จะมีข่าวในลักษณะของการติดเกมมากกว่า แต่ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น พบว่ามีเด็กฆ่าตัวตายจากปัญหานี้ อย่างไรก็ตาม ปัญหา Cyberbullying เป็นเรื่องที่ครูที่โรงเรียนไม่สามารถจัดการได้มาก เนื่องจากมีเด็กในความดูแลอยู่ค่อนข้างเยอะ ทำให้เห็นปัญหาได้ไม่ชัดเจน ทั้งนี้งานวิจัยพบว่าคนที่ทราบปัญหา Cyberbullying เป็นคนแรก ส่วนใหญ่จะเป็นเพื่อนของเด็ก พ่อแม่จะรับรู้ปัญหาของเด็กน้อยมาก ยกเว้นในกลุ่มเด็กที่ครอบครัวค่อนข้างอบอุ่น ซึ่งเราพบว่า เขาจะเข้าไปหาพ่อแม่และบอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทันที เหมือนกับเป็นการเล่าถึงเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเมื่อพ่อแม่ฟังแล้วอาจจะจับถึงความผิดปกติได้ ก็อาจปรึกษาครูเพื่อหาทางออก อย่างไรก็ตาม การสร้างความเข็มแข็งให้เด็กเป็นเรื่องสำคัญ ที่ครอบครัวจะต้องเข้ามาดูแล ซึ่งหากสามารถแก้ปัญหา Cyberbullying ได้ เท่ากับสามารถยกระดับความอบอุ่นในครอบครัวได้” ผศ.ดร.วิมลทิพย์ กล่าว
ข้อมูลเหล่านี้อยู่บนคลาวด์ ซึ่งบนอินเทอร์เน็ตเปรียบเสมือนข้อมูลใหม่ตลอดเวลา เมื่อมีคนหยิบยกขึ้นมา เด็กก็เหมือนถูกผลิตซ้ำ ถ้าเด็กที่อ่อนแอ จะเหมือนถูกกระแทกใจอยู่เรื่อยๆ
แชร์ต่อ…ช่วยผลิตซ้ำความรุนแรง
ผศ.ดร.วิมลทิพย์ กล่าวต่อว่า Cyberbullying ถือเป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่สามารถปล่อยปะละเลยไปได้ เพราะเมื่อไรที่สังคมปิดตาไม่รับรู้ปัญหา จะถือว่ายอมรับได้โดยพฤตินัย ซึ่งเท่ากับเป็นการบ่มเพาะความรุนแรง และเมื่อสังคมมองว่าเป็นเรื่องปกติ จะสร้างสังคมแห่งความรุนแรงขึ้น จนอาจขยายตัวไปสู่ความรุนแรงหรืออาชญากรรมรูปแบบอื่น ซึ่งในสังคมคนญี่ปุ่นมีการปลูกฝังให้ไม่ทนต่อความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม หรือเรียกว่า Zero Tolerance ซึ่งเขาให้ความสำคัญอย่างมาก
เราพบเด็กที่เป็นโรคซึมเศร้า เพราะถูก Cyberbullying จากการสร้างข้อมูลเท็จว่าขายบริการทางเพศ พร้อมทั้งให้เบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวและที่บ้าน ซึ่งเป็นการกระทำจากแฟนเก่าที่เลิกรากันไป กรณีนี้เด็กที่ถูกกระทำเป็นเด็กค่อนข้างเรียบร้อย เมื่อเขาไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน ประกอบกับแฟนคนนี้เป็นแฟนคนแรก ทำให้เสียศูนย์ และไม่สามารถไปเรียนได้ถึง 3 ปี แม้ว่าต่อมาจะมีการได้เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ไป แต่จะเห็นว่าปัจจุบันมีการแชร์ข้อมูลเก่ากันเป็นจำนวนมาก เช่น ข้อมูลการขอบริจาคเลือด ขอความช่วยเหลือต่างๆ โดยไม่มีใครตรวจสอบด้วยซ้ำว่าเท็จจริงหรือไม่ หรือข้อมูลนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไรก่อนที่จะแชร์ต่อ
สิ่งที่ต้องการจะบอกคือ ข้อมูลเหล่านี้อยู่บนคลาวด์ ซึ่งบนอินเทอร์เน็ตเปรียบเสมือนข้อมูลใหม่ตลอดเวลา เมื่อมีคนหยิบยกขึ้นมา เด็กก็เหมือนถูกผลิตซ้ำ ซึ่งหากเรื่องนี้เกิดขึ้นกับเด็กที่เข็มแข็งก็อาจจะบอกว่า แล้วยังไง ? แต่ถ้าเด็กที่อ่อนแอ จะเหมือนถูกกระแทกใจอยู่เรื่อยๆ อย่างนั้น
ผศ.ดร.วิมลทิพย์ กล่าวสรุปว่า ปัญหา Cyberbullying เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ไม่ควรมองข้าม หรือเห็นว่าการด่าทอล้อเลียนในโลกออนไลน์เป็นเรื่องเล็กน้อย และปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปโดยไม่ทำอะไร โดยเฉพาะครอบครัวที่ควรทำหน้าที่อย่างเข็มแข็ง และเข้ามาเป็นเบอร์ 1 ให้กับลูกแทนเพื่อนของเขา
อย่างไรก็ตาม ความรักและความอบอุ่นจากคนในครอบครัว จะเป็นยาดีที่จะทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง รู้จักการระงับความรุนแรง และสามารถผ่านพ้นปัญหาจากการถูกคุกคามทางไซเบอร์ได้