ช่วงเดือนที่ผ่านมากระแสของ Music Streaming กลับมาเป็นที่สนใจของคนทั่วไปอีกครั้งเมื่อ Apple เปิดให้บริการ Apple Music อย่างเป็นทางการ แถมก่อนหน้านี้ยังมีดราม่า (ที่หลายคนก็ว่าจัดฉาก) กับ Taylor Swift นักร้องดังด้วย แล้ว Music Streaming มีดีอย่างไร วันนี้เราจึงขอเล่าเรื่องราวในวงการดนตรี และพาไปรู้จักบริการ Music Streaming ที่เปิดให้บริการในไทย ว่าแต่ละค่ายมีจุดเด่นจุดอ่อนอย่างไรบ้าง
Apple Music ในไทยนั้นยังไม่มีเพลงจากค่ายหลักอย่าง RS หรือ GMM Grammy ก็คาดว่า Apple คงกำลังเจรจาเพื่อนำเพลงมาให้บริการให้ได้อยู่ ส่วนศิลปินไทยในกลุ่มอินดี้จัดว่ามาครบเลย
ปัจจุบัน Music Streaming ไม่ใช่เทรนด์การฟังเพลงแล้ว แต่มันพัฒนาจนกลายเป็นมาตรฐานในการฟังเพลงยุคปัจจุบันไปเรียบร้อย ซึ่งเป็นตลาดปัจจุบันที่ค่ายเพลงต้องปรับตัวกันอีกครั้ง หลังผ่านร้อนผ่านหนาวกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนรวดเร็วมาก จากยุคแผ่นเสียงมาสู่เทปคาสเซ็ต เปลี่ยนสู่ยุคแผ่น CD แล้วเทคโนโลยีดิจิตอลก็เข้ามาสร้างความโกลาหลครั้งใหญ่ให้วงการเพลงด้วย MP3 ที่สามารถบีบอัดเพลงให้มีขนาดเล็ก จนสามารถส่งต่อผ่านอินเทอร์เน็ตได้ และ Napster ก็จุดชนวนทำให้เกิดการแชร์เพลงกันฟรีๆ ระหว่างผู้ฟัง ผลกระทบนี้ยิ่งใหญ่มาก ทำให้โมเดลธุรกิจมูลค่าสูงจากการขายแผ่น CD ของค่ายเพลงต้องล้มลงมาภายในไม่กี่ปี ร้านค้าเพลงจำนวนมาก (เช่น Tower Record) ต้องปิดตัว จนเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เมื่อค่ายเพลงกำลังตั้งหลักได้กับการดาวน์โหลดเพลงดิจิตอลที่มี iTunes Store จาก Apple เป็นหัวหอก ก็ถูกอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงนำพาเทคโนโลยี Streaming มาอีกครั้ง ซึ่งทำให้ผู้ใช้เปลี่ยนพฤติกรรมในการจ่ายเงินให้เพลงไปตลอดกาล
รูปแบบการจ่ายเงินของ Music Streaming นั้น หลายคนที่เคยใช้บริการน่าจะคุ้นเคยกันดี มันคือการจ่ายเงินแบบเหมา จะฟังเพลงเท่าไรก็ได้ กี่เพลงก็ได้ในหนึ่งเดือน ก็ชำระค่าบริการเดียวกัน แล้วบริษัทที่ให้บริการก็จะจ่ายเงินให้กับศิลปินและค่ายเพลงโดยคำนวณจากการกดฟัง เพลงไหนที่มีคนฟังมาก ศิลปินคนนั้นก็จะได้เงินเยอะไปด้วย ซึ่งฟังดูก็เหมือนเป็นหนทางทำมาหากินที่ดีสำหรับศิลปิน ในยุคที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ซื้อเพลงกันอีกต่อไปแล้ว แต่ Taylor Swift นักร้องสาวอนาคตตัวแม่ของวงการกลับไม่คิดอย่างนั้น เธอมองว่าบริการ Music Streaming นั้นจะลดคุณค่าของเพลง (Devalue) ทำให้คนไม่รู้สึกว่าต้องซื้อเพลง หรือต้องจ่ายเงินเพื่อการฟังเพลงอีกต่อไป (อันนี้น่าจะหมายถึงบริการ Music Streaming บางตัวอย่าง MixRadio ที่ผู้ใช้ไม่ต้องจ่ายเงิน แค่จะมีโฆษณาติดไปด้วยเท่านั้นเอง) เธอจึงตัดสินใจนำเพลงออกจากบริการฟังเพลงแบบสตรีม อัลบั้มล่าสุด 1989 ของเธอนั้นแทบหาฟังไม่ได้ในบริการ Music Streaming ต่างๆ เพราะเธอต้องการบีบให้คนที่อยากฟังเพลงของเธอต้องซื้อเพลงนั้นเอง
จนล่าสุด ในช่วงที่ Apple กำลังจะเปิดให้บริการ Apple Music น้อง Taylor Swift ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงแอปเปิลบอกว่าเธอไม่เห็นด้วยมากๆ ที่ Apple Music จะเปิดให้บริการในช่วงทดลองใช้ 3 เดือน แต่ศิลปินจะไม่ได้รายได้จากการฟังเพลงในช่วงที่เปิดให้บริการนี้ ซึ่งเธอบอกว่าศิลปินใหญ่อย่างเธอนั้น การไม่ได้รายได้จาก Apple Music 3 เดือนมันก็รับได้ เธอยังมีคอนเสิร์ต มีช่องทางสร้างรายได้ให้พนักงานทั้งหมดอยู่ แต่สำหรับศิลปินเล็กๆ การที่ไม่ได้รับรายได้ 3 เดือนมันอยู่ไม่ได้ และเธอก็บอกว่าศิลปินไม่ได้ขอ iPhone ฟรีจากแอปเปิล เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องมาขอให้ศิลปินนำเพลงของตนเองมาเปิดให้ฟังฟรีๆ ซึ่งหลังจากที่จดหมายฉบับนี้ได้เผยแพร่ออกไป Eddy Cue ผู้บริหารของ Apple ที่ดูแล Apple Music อยู่ ก็ออกมาทวีตบอกทันทีว่า แอปเปิลพร้อมจะแก้ไขการจ่ายเงินในช่วงทดลองฟังเพลง โดยจะจ่ายเงินให้ศิลปินในช่วงทดลองฟังด้วย (เหมือนกับบริการสตรีมอื่นๆ ที่แม้จะเป็นช่วงทดลองฟัง ก็ยังจ่ายเงินให้ศิลปิน) ก็ทำให้เรื่องราวดราม่าของ Taylor Swift จบลงอย่างสวยงาม Swift ก็พร้อมปล่อยอัลบั้ม 1989 ให้ฟังใน Apple Music ด้วย (แหม สวยงามราวกับเตี๊ยมกันไว้เพื่อสร้างข่าวให้คนสนใจเลยนะครับ)
เอาล่ะ เล่าเรื่องราวรักวุ่นวายของ Music Streaming แสนเย็นชากับค่ายเพลงสุดดราม่ากันมาพอหอมปากหอมคอแล้ว มารู้จักบริการสตรีมเพลงเด่นๆ ในไทยกันครับ
KKBOX
บริการ Music Streaming ที่ AIS นำเข้ามาจากไต้หวันเพื่อเปิดตลาดในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปี 2014 โดยจุดเด่นของบริการนี้คือ เป็นไม่กี่บริการที่มีเพลงค่ายใหญ่อย่าง GMM Grammy ให้ฟังกัน นอกจากนี้ยังเคลมว่ามีเพลงในบริการมากกว่า 10 ล้านเพลงให้เลือกฟัง โดยเฉพาะเพลงในฝั่งเอเชีย แล้วยังมีฟังก์ชั่นวิทยุให้ได้ฟังเพลงแนวคล้ายกันต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ และความสามารถฟังพร้อมกันที่ให้ฟังเพลงพร้อมกับเพื่อนได้
โดย KKBOX ให้บริการด้วยเพลงในฟอร์แมท AAC 320 kbps ซึ่งผู้ใช้สามารถทดลองฟังฟรีได้ 7 วัน หลังจากนั้นคิดค่าบริการรายเดือน เดือนละ 89 บาท แต่จะจ่ายเงินได้เฉพาะผู้ใช้เบอร์ AIS เท่านั้น (เท่ากับว่าผู้ใช้นอกค่าย AIS ทดลองฟังได้ 7 วัน แต่จ่ายเงินเพื่อฟังต่อไม่ได้)
ฉบับที่ 200 เดือนสิงหาคมชำระเงินผ่านแอพฯ แชต รับตลาดโมบายล์ |
Apple Music
บริการน้องใหม่จากแอปเปิลที่หวังครองตลาดบริการฟังเพลงแบบสตรีมมิ่ง ด้วยจุดเด่นที่ค่ายอื่นไม่มีคือติดตั้งมาพร้อมอุปกรณ์ iOS ทุกเครื่อง (ที่สามารถอัพเป็น iOS 8.4 ได้) และในอนาคตจะสามารถใช้ได้ใน Android อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมาพร้อม iTunes Radio สถานีวิทยุที่จะคัดเพลงจากแนวศิลปินที่ชื่นชอบมาเล่นให้โดยอัตโนมัติ และหนึ่งในนั้นคือ สถานี Beats 1 สถานีวิทยุรูปแบบดั้งเดิมที่มีดีเจคอยเลือกเพลงมาเปิดให้ฟัง มีสัมภาษณ์ศิลปิน ซึ่งสำหรับใครที่คิดถึงบรรยากาศการฟังวิทยุจริงๆ Beats 1 ก็ฟังเพลินไม่น้อย
และฟีเจอร์ที่แอปเปิลอยากให้ทดลองใช้กันคือ Connect สื่อสังคมออนไลน์สำหรับให้แฟนๆ ได้ติดตามศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบ คล้ายๆ iTunes Ping ที่เปิดให้บริการแล้วแป้กไปเมื่อ 3 ปีก่อน เพราะไม่ได้สนับสนุน Social Network ภายนอกได้ดีเพียงพอ ก็ต้องดูว่าคราวนี้แอปเปิลจะสามารถโน้มน้าวให้ศิลปินโพสต์เนื้อหาให้ Connect ได้หรือไม่ ในเมื่อศิลปินก็มีช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของตัวเองอยู่แล้ว
เพลงที่ให้บริการใน Apple Music นั้นแตกต่างกันไปตามภูมิภาคที่เปิดให้บริการ เช่น ใช้บัญชีญี่ปุ่นก็จะเลือกเพลงญี่ปุ่นใน Apple Music มากกว่าใช้บริการในภูมิภาคอื่นๆ ส่วนการให้บริการในไทยนั้นยังไม่มีเพลงจากค่ายหลักอย่าง RS หรือ GMM Grammy ก็คาดว่า Apple คงกำลังเจรจาเพื่อนำเพลงมาให้บริการให้ได้อยู่ ส่วนค่ายเพลงไทยที่มีตอนนี้ก็มี Spicy Disc, Bakery Music, Sony BMG, LOVEiS, Believe Record, Small Room พูดง่ายๆ ศิลปินไทยในกลุ่มอินดี้จัดว่ามาครบเลย ส่วนเพลงสากลนั้นมาครบ โดยเฉพาะอัลบั้ม 1989 ของ Taylor Swift ที่ฟังจากได้บริการ Apple Music เท่านั้น
สำหรับคุณภาพเพลงใน Apple Music นั้นยังมีข้อมูลชัดเจนว่ามี Bitrate เท่าไหร่กันแน่ ก็คาดว่าน่าจะเป็นเพลงในรูปแบบ AAC ที่มี Bitrate ราว 256 kbps แต่จะแปรผันตามความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ผู้ฟังใช้ ผู้ฟังไม่สามารถเลือก Bitrate ได้เอง
และค่าบริการในประเทศไทยอยู่ที่ $4.99 ต่อเดือน และ $7.99 ต่อเดือนสำหรับการฟังในครอบครัว ที่แชร์บัญชีกันใช้สูงสุด 6 คน โดยช่วงแรกจะมีการให้ทดลองใช้ยาวนานถึง 3 เดือน
ผู้ใช้ LINE Music สามารถแชร์เพลงให้เล่นใน LINE ได้ในห้องแชตเลย เพียงแต่ว่าถ้าผู้รับไม่ได้เป็นสมาชิก LINE Music อยู่แล้ว ก็จะฟังเพลงได้เพียง 30 วินาทีเท่านั้น
Tidal
บริการที่คนไทยส่วนใหญ่อาจไม่คุ้นหูนัก แต่นักฟังเพลงทั่วโลกต่างหลงรักบริการนี้ เพราะเป็นไม่กี่บริการที่สามารถฟังเพลงได้ในระดับ Lossless ที่ไม่มีการสูญเสียคุณภาพเสียงเพลงจากต้นฉบับที่เป็น CD เลย
การให้บริการของ Tidal นั้นผู้ใช้สามารถเลือกคุณภาพในการฟังได้ 3 แบบคือ Normal ที่เป็นการบีบอัดในรูปแบบ AAC + 96 kbps ที่ให้เสียงดีกว่า MP3 128 kbps สมัยแผ่นประเทืองในบ้านเรา ก็เหมาะสำหรับการฟังผ่านเครือข่าย 3G ระดับต่อมาคือ High ที่ให้เพลงในรูปแบบ AAC 320 kbps ก็ให้คุณภาพเทียบเคียงกับแผ่น CD แล้ว ส่วนระดับสุดท้ายคือ HiFi ที่ให้คุณภาพเสียงในระดับเดียวกับแผ่น CD ด้วยการบีบอัดในแบบ FLAC ก็เหมาะสำหรับการฟังผ่าน Wi-Fi เท่านั้น
นอกจากเรื่องคุณภาพเสียงแล้ว Tidal ยังให้บริการ Music Video ด้วย และจุดเด่นอีกอย่างของ Tidal คือ Playlist เพลงที่มีให้เลือกฟังแทบทุกบรรยากาศ อยากได้เพลงที่เหมาะกับอารมณ์ไหนก็เลือกรายการเพลงที่คัดสรรโดยทีมงานของ Tidal ขึ้นมาฟังได้เลย นอกจากนี้ยังมีการคัดเลือกศิลปินที่น่าสนใจขึ้นมาให้ฟังด้วย
LINE Music
บริการน้องใหม่จาก LINE หวังชิงผู้ใช้ในไทยให้ได้ ด้วยจุดเด่นที่เป็นบริการสำหรับคนไทยโดยเฉพาะ จึงมีเพลงใหม่ๆ จากค่ายพันธมิตรให้ฟังกันก่อนบริการอื่นๆ โดยเฉพาะค่ายอย่าง Sony และ RS ที่ขนเพลงมาเกือบหมดค่ายให้ฟัง ผู้ใช้สามารถหาเพลง RS ยุครุ่งเรืองอย่าง Raptor, JR-Voy, The Next ก็สามารถสตรีมมาฟังได้ชัดเจน แถมยังสามารถบันทึกเพลงฟังแบบ Offline ได้
นอกจากเรื่องเพลงไทยแล้ว LINE Music ยังเป็นบริการเดียวเชื่อมต่อกับแอพ LINE อย่างแนบแน่น ผู้ใช้ LINE Music สามารถแชร์เพลงให้เล่นใน LINE ได้ในห้องแชตเลย เพียงแต่ว่าถ้าผู้รับไม่ได้เป็นสมาชิก LINE Music อยู่แล้ว ก็จะฟังเพลงได้เพียง 30 วินาทีเท่านั้น และตอนนี้ยังไม่สามารถฟังผ่านคอมพิวเตอร์ได้เหมือนกับบริการอื่นๆ ต้องฟังผ่านสมาร์ทโฟนเป็นหลัก
สำหรับค่าบริการตอนนี้ LINE Music คิด $1.99 ต่อเดือน ซึ่งถือเป็นค่าบริการที่ถูกที่สุดในตลาดไทยตอนนี้
dtac Deezer
บริการสุดท้ายที่อยากแนะนำในครั้งนี้เปิดให้บริการในไทยโดย dtac ครับกับ Deezer ที่มีถิ่นกำเนิดมาจากเมืองน้ำหอมอย่างฝรั่งเศส ทำให้บริการนี้มีเพลงในฝั่งยุโรปเยอะกว่าบริการอื่นๆ แต่ก็ยังมีเพลงไทยให้บริการโดยเฉพาะในค่ายกลุ่มอินดี้เหมือนบริการอื่นๆ
การแนะนำเพลงของ Deezer นั้นจะเด่นที่ระบบ Playlist ที่คัดเอา Playlist ยอดนิยมของผู้ใช้คนอื่นๆ มาแนะนำให้เราได้ฟังเพลงเพราะๆ ที่คนอื่นจัดไว้ นอกจากนี้ยังมีระบบวิทยุและ Flow ให้ได้ฟังเพลงแนวที่ชอบต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ ไม่ต้องมานั่งเลือกเพลงเองอีกด้วย
Deezer จัดว่าเป็นบริการที่ใจดีกว่าบริการอื่นๆ เพราะผู้ใช้สามารถใช้บริการบนคอมพิวเตอร์ได้ฟรี โดยไม่ต้องเสียค่าบริการ ส่วนบนสมาร์ทโฟนก็ฟังได้เหมือนกัน แค่เลือกฟังได้เฉพาะฟังก์ชั่น radio และ flow เท่านั้น แต่ถ้าอยากใช้บริการแบบไม่มีโฆษณา สามารถเลือกเสียงคุณภาพสูงขึ้น (บริการแบบฟรีจะเล่นเพลงที่ 128 kbps ส่วนแบบเสียเงินจะสามารถเลือกเป็น 320 kbps ได้) สามารถบันทึกเพลงไว้ฟังแบบออฟไลน์ในสมาร์ทโฟนได้ ก็มีค่าบริการเดือนละ 155 บาท ส่วนลูกค้า dtac ก็จะมีโปรโมชั่นโทรศัพท์มือถือที่รวมการบริการ Deezer ไว้ด้วย
บริการ Music Streaming แต่ละรายจึงมีจุดแข็ง จุดอ่อนที่แตกต่างกันออกไปนะครับ อย่าง Apple Music นี้คือมีเพลงเยอะ แล้วก็มีเพลงฝรั่งใหม่ๆ ส่วน Tidal ก็เน้นเรื่องคุณภาพเสียง (เอาจริงๆ ผมก็แยกเสียงระดับสูงสุดของ Tidal กับเสียงของบริการอื่นๆ ไม่ออกนะ) หรือ LINE Music ก็เน้นราคาประหยัด กับมีเพลงค่าย RS ให้ฟังยกค่าย ซึ่งก็เลือกใช้กันได้ตามพอใจเลยครับ
Contributor
Eka-X
เอกพล ชูเชิด
วุ่นวายกับเทคโนโลยีมาตั้งแต่เยาว์วัย จนเริ่มมีอายุเยอะก็จับคีย์บอร์ดหาเลี้ยงชีพด้วยงานเขียนด้านเทคโนโลยีมาตลอด ทั้งยังเปิด Aofapp.com เว็บไซต์ส่วนตัวที่เล็กมากๆ เพื่อเขียนรีวิวแอพฯ มือถือเรื่อยๆ ในเวลาว่าง ถึงจะสาหัสกับงานขนาดไหนก็ยังเขียน แชร์ บ่นไปเรื่อยใน Twitter
Twitter: Twitter.com/eka_x