ผู้อ่านหลายท่านคงรู้จักบริษัทแอมะซอน (Amazon) กันดีว่าเป็นผู้ขายสินค้าออนไลน์ในรูปแบบของ E-commerce รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาและเป็นเจ้าแรกๆ ของโลก หนึ่งในธุรกิจหลักของแอมะซอนคือ การขายสินค้าออนไลน์ในราคาที่ถูกกว่าการซื้อจากร้านค้าทั่วไป และมีสินค้ามากมายหลากหลายประเภทหลากหลายยี่ห้อให้เลือกซื้อได้ตามความต้องการของลูกค้า อย่างไรก็ดี เนื่องจากแอมะซอนไม่มีร้านค้าที่ผู้ซื้อจะไปเลือกดูสินค้าได้ก็ต้องขายสินค้าผ่านหน้าเว็บไซต์เท่านั้น ทำให้เกิดอุปสรรค เพราะการเลือกซื้อสินค้าจากเว็บนั้นใช้เวลาค่อนข้างมากเพราะต้องค้นหาสินค้าที่ต้องการ เลือกซื้อ เลือกวิธีการส่งสินค้า เลือกวิธีการจ่ายเงิน กรอกข้อมูลการจ่ายเงิน ทั้งหมดนี้ผู้ซื้อต้องทำเองทั้งนั้น ต่างจากการซื้อสินค้าจากร้านที่มีพนักงานช่วยคิดราคาและรับเงิน
ปัญหาอีกด้านของการซื้อสินค้าผ่านเว็บฯ ก็คือ แอมะซอนเองไม่สามารถหน่วงเหนี่ยวลูกค้าให้ดูแต่สินค้าในเว็บฯ ของแอมะซอนได้ง่ายนัก เพราะลูกค้าไปหาสินค้าจากเว็บฯ อื่นได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ซึ่งต่างจากร้านค้าทั่วไปที่ลูกค้ามาถึงร้านแล้วถ้าจะไปร้านอื่นก็จะเสียเวลาเดินทางและเสียค่าใช้จ่าย แอมะซอนเองก็พยายามลดอุปสรรคทั้งสองด้านนี้ลงเรื่อยๆ และหาช่องทางที่จะขายสินค้าทางอื่นนอกจากบนเว็บไซต์เท่านั้น ในบทความนี้ ผมจะกล่าวถึงเอ็คโค่ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ตัวใหม่ล่าสุดที่แอมะซอนนำมาใช้ เพื่อดึงดูดลูกค้าให้มาซื้อสินค้าจากแอมะซอน และยังมีศักยภาพที่จะวางตำแหน่งตัวเองไว้เป็นศูนย์กลางของระบบสมาร์ทโฮมต่อไปในอนาคตด้วย
การลดอุปสรรคในการซื้อสินค้า
ก่อนที่จะมีเอ็คโค่นั้น แอมะซอนก็พยายามลดอุปสรรคในเรื่องความยุ่งยากล่าช้าในการซื้อสินค้าผ่านหน้าเว็บฯ มาแล้ว โดยเริ่มจากให้บริการที่เรียกว่า 1-Click ซึ่งจะให้ลูกค้าบันทึกข้อมูลบัตรเครดิตที่จะใช้ซื้อสินค้า และข้อมูลสถานที่ส่งสินค้ารวมไปถึงวิธีการส่งเอาไว้ก่อน (วิธีการส่งหมายถึงบริษัทนำส่ง ปกติแล้วจะให้เลือกระหว่างไปรษณีย์หรือ UPS และความรวดเร็วในการส่ง เช่น แบบปกติ แบบ 2 วัน แบบ 3 วัน หรือภายในคืนนี้) เมื่อลูกค้าจะซื้อสินค้าก็แค่กดปุ่ม 1-Click ทางแอมะซอนก็จะตัดบัตรเครดิตและส่งสินค้ามายังที่อยู่ที่กำหนดไว้แล้ว วิธีง่ายๆ เช่นนี้ ทำให้ลูกค้าใช้เวลาในการซื้อสินค้าลดลงอย่างมาก และจะยังเป็นพื้นฐานของวิธีอื่นๆ ด้วย
อีกวิธีที่แอมะซอนใช้ในการดึงลูกค้าให้มาซื้อของก็คือ บริการแอมะซอนไพร์ม (Amazon Prime) ที่ส่งสินค้าให้ลูกค้าที่เป็นสมาชิกโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเลย การส่งสินค้าฟรีนี้ก็ไม่ได้ส่งด้วยวิธีแบบถูกๆ ใช้เวลานาน แต่เป็นการส่งแบบสองวันถึงเลยทีเดียว ค่าบริการอยู่ที่ $11 ต่อเดือน ซึ่งก็นับว่าค่อนข้างสูง แต่การส่งสินค้าแต่ละครั้งก็มีค่าใช้จ่ายประมาณ $5-$10 เหรียญอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าลูกค้าซื้อสินค้าจากแอมะซอนประจำก็จะได้ประโยชน์จากบริการนี้ ต่อมาแอมะซอนได้เพิ่มสิทธิพิเศษกับสมาชิก Prime เรื่อยๆ (เช่น ดูหนังฟังเพลงออนไลน์ฟรี อ่านอีบุ๊กฟรี) ส่งผลให้ Amazon Prime เป็นบริการยอดนิยมของแอมะซอนในกลุ่มลูกค้าขาประจำไป
เอ็คโค่ ยังสามารถตอบคำถามหลายๆ ประเภทได้ เช่น ตัวสะกดของคำ (ภาษาอังกฤษ) ความสูงของภูเขา ระยะห่างระหว่างเมือง นักร้องที่ร้องเพลงนี้ นอกจากนี้ เอ็คโค่ยังเชื่อมต่อกับบริการของแอมะซอน และแน่นอนว่าสามารถสั่งซื้อสินค้าของแอมะซอนผ่านเอ็คโค่ได้ด้วย
การเพิ่มช่องทางขายสินค้าของแอมะซอน
การซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์นั้นเป็นช่องทางการขายที่จำกัด เพราะลูกค้าต้องตั้งใจไปที่หน้าเว็บฯ เพื่อเลือกซื้อสินค้า นั่นคือลูกค้าต้องมีความอยากซื้อสินค้าอันนั้นอยู่แล้วถึงจะเข้าไปซื้อ วิธีการนี้ไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าซื้อสินค้าที่เขาไม่ได้สนใจได้ เปรียบเทียบกับการวางสินค้าโชว์ในร้านค้า ซึ่งสามารถดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาดูและอาจมีความสนใจอยากซื้อเกิดขึ้นตอนนั้นทันที ปัญหานี้แก้ตรงๆ ยากนะครับ แอมะซอนใช้วิธีอ้อมๆ นั่นคือการสร้างช่องทางซื้อสินค้าเพิ่มเติม โดยให้ช่องทางนี้เข้าถึงง่ายและพร้อมใช้ ในขณะที่ลูกค้ามีความต้องการซื้อสินค้าประเภทนั้นพอดี ตัวอย่างง่ายสุดก็คือ Kindle ซึ่งเป็นอุปกรณ์อ่านอีบุ๊กของแอมะซอน คนทั่วไปอาจแปลกใจว่าทำไมแอมะซอนถึงเข้าสู่ตลาดอุปกรณ์อ่านอีบุ๊ก แต่ถ้าพิจารณาดีๆ แล้วจะเห็นว่า Kindle เป็นช่องทางการซื้ออีบุ๊กผ่านแอมะซอนด้วย ผู้ใช้ Kindle จะได้รับโฆษณาอีบุ๊กเล่มใหม่ ในขณะที่กำลังใช้งาน Kindle และสามารถซื้ออีบุ๊กได้อย่างรวดเร็วผ่านบริการ 1-Click
อุปกรณ์อีกตัวหนึ่งที่เพิ่มช่องทางขายให้แอมะซอนก็คือ Dash Button ซึ่งเป็นอุปกรณ์ปุ่มกดในรูปแบบของ Internet of Things ปุ่มกดนี้จะเชื่อมต่อกับสินค้าที่มีขายในแอมะซอน และเมื่อผู้ใช้ต้องการสินค้านี้ก็แค่กดปุ่ม ทางแอมะซอนจะคิดเงินและส่งสินค้ามาที่บ้านของลูกค้าเลย (ผ่าน 1-Click และ Prime) ลูกค้าไม่จำเป็นต้องเข้าไปสั่งซื้อที่หน้าเว็บไซต์ เป้าหมายของปุ่ม Dash นี้ก็คือ สินค้าอุปโภคบริโภคสิ้นเปลืองที่ใช้เป็นประจำในบ้าน เช่นน้ำยาซักผ้า ยาสีฟัน สบู่ เป็นต้น แนวทางการใช้งานก็คือ ลูกค้าจะนำปุ่มนี้ไปติดไว้ตรงจุดที่จะใช้สินค้า เช่น ติดปุ่ม Dash ที่พ่วงกับน้ำยาซักผ้าไว้ตรงเครื่องซักผ้า พอลูกค้าเห็นว่าน้ำยาซักผ้ากำลังจะหมดก็จะสามารถกดปุ่มเพื่อสั่งเพิ่มเติมได้ทันที สำหรับผู้ที่กังวลเรื่องความง่ายเกินไปในการซื้อสินค้าด้วยการกดปุ่มเดียวนั้น ทางแอมะซอนมีวิธีป้องกันไว้บางส่วน เช่น ถ้าสินค้าที่กดสั่งไปแต่ยังมาไม่ถึง แล้วลูกค้ากดสั่งซ้ำ ทางแอมะซอนจะไม่ขายสินค้านั้นนะครับ เพื่อป้องกันลูกค้ากดสั่งไปแล้วแต่กดสั่งซ้ำเพราะลืม หรือกันเด็กๆ มากดปุ่มเล่น
เอ็คโค่ ผู้ช่วยอัจฉริยะในบ้าน
ปัจจุบัน หลายบริษัทได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับผู้ช่วยอัจฉริยะที่จะช่วยผู้ใช้ให้ทำงานและบริหารจัดการด้านต่างๆ ของชีวิตได้สะดวกขึ้น ตัวอย่างของผู้ช่วยอัจฉริยะก็คือ Siri ของ Apple Google Now ของ Google และ Cortana ของ Microsoft ซึ่งผู้ช่วยอัจฉริยะมักจะทำงานอยู่บนโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ ช่วงกลางปีที่แล้ว (2558) แอมะซอนก็ทำให้วงการผู้ช่วยอัจฉริยะและ IoT ต้องแปลกใจด้วยการประกาศตัว Amazon Echo ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ผู้ช่วยอัจฉริยะประจำบ้าน ตัวเอ็คโค่นั้นมีรูปทรงกระบอกกว้างประมาณ 3 นิ้ว และสูงประมาณ 9 นิ้ว หนักประมาณ 1 กิโลกรัม ภายในมีลำโพงและไมโครโฟน การควบคุมสั่งงานเอ็คโค่จะทำด้วยเสียงเป็นหลัก ไมโครโฟนในตัวเอ็คโค่นั้นมีความละเอียดสูงพอที่จะรับคำสั่งจากผู้ใช้ในห้องได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้ามาพูดใกล้ๆ ตัว เอ็คโค่เองสามารถต่อกับ Wi-Fi หรือ Bluetooth เพื่อเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตและบริการต่างๆ ของแอมะซอนได้ และยังมีแอพพลิเคชั่น บนสมาร์ทโฟนที่สามารถใช้ควบคุมโต้ตอบกับเอ็คโค่ได้อีกด้วย
ฉบับที่ 211 เดือนกรกฏาคมแพลตฟอร์ม IoT หัวใจของข้อมูล |
เอ็คโค่ นั้นจะคอยฟังเสียงในห้องตลอดเวลา การสั่งเอ็คโค่นั้นต้องเริ่มประโยคด้วยคำพิเศษ ซึ่งในกรณีของเอ็คโค่คือคำว่า อเล็กซ่า (Alexa) จากนั้นค่อยสั่งให้เอ็คโค่ทำงาน ความสามารถพื้นฐานของเอ็คโค่นั้นคล้ายกับผู้ช่วยอัจฉริยะทั่วไป เช่น ตั้งเวลาปลุก ทำรายการ To-do list บันทึกนัดหมายลงปฏิทิน รายงานสภาพอากาศและการจราจร ค้นหาข้อมูลจาก Search Engine (เอ็คโค่ใช้ Bing ของไมโครซอฟท์) เอ็คโค่ ยังสามารถตอบคำถามหลายๆ ประเภทได้ เช่น ตัวสะกดของคำ (ภาษาอังกฤษ) ความสูงของภูเขา ระยะห่างระหว่างเมือง นักร้องที่ร้องเพลงนี้ เป็นต้น นอกจากนี้ เอ็คโค่ ยังเชื่อมต่อกับบริการของแอมะซอนได้ด้วย โดยผู้ใช้สามารถเล่นเพลงที่ซื้อไว้จากแอมะซอนผ่านการสตรีมได้ และแน่นอนว่า สามารถสั่งซื้อสินค้าของแอมะซอนผ่านเอ็คโค่ได้ด้วย
เอ็คโค ่ก็ยังติดต่อกับแอพพลิเคชั่นและบริการอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น ผู้ใช้สามารถสั่งเอ็คโค่ให้เรียกแท็กซีผ่าน Uber ได้ หรือขอข้อมูลหุ้นจากแอพฯ ของ NASDAQ (ตลาดหุ้นอเมริกา) และสั่งพิซซาจากโดมิโน
เอ็คโค่ ผู้ควบคุมบ้านอัจฉริยะ
ในเมื่อเอ็คโค่เป็นอุปกรณ์อัจฉริยะที่ใช้ในบ้าน ดังนั้น การนำเอ็คโค่ไปควบคุมอุปกรณ์อัจฉริยะอื่นในบ้าน จึงเป็นการเพิ่มความสามารถของเอ็คโค่ที่เป็นธรรมชาติอย่างยิ่ง ผมได้เคยนำเสนอไปแล้วว่าอุปสรรคสำคัญของการนำอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) มาใช้งานจริงนั้นคือ ความเข้ากันได้ของอุปกรณ์ IoT ประเภทต่างที่มาจากหลากหลายบริษัท วิธีการแก้ปัญหานี้ทางหนึ่งก็คือ กำหนดให้มีอุปกรณ์ที่เป็นศูนย์กลางของอุปกรณ์ IoT ทั้งหมดในที่พักอาศัย และเอ็คโค่ก็เข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้ได้พอดีด้วย ปัจจุบันผู้ใช้สามารถสั่งให้เปิด-ปิดและควบคุมอุปกรณ์ IoT จากบริษัทเนสต์ (Thermostat) ซัมซุง (SmartThings) ฟิลลิปส์ (หลอดไฟ Hue) และอื่นๆ ผ่านเอ็คโค่ได้ด้วย แอมะซอนก็เพิ่มความสามารถของเอ็คโค่ในการสื่อสารกับอุปกรณ์อัจฉริยะอื่นขึ้นเรื่อยๆ และยังเปิด API ให้ผู้พัฒนาอุปกรณ์ IoT ให้สร้างอุปกรณ์ที่รับคำสั่งจากเอ็คโค่ได้ด้วย
นอกจากอุปกรณ์อัจฉริยะแล้ว เอ็คโค่ก็ยังติดต่อกับแอพพลิเคชั่นและบริการอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น ผู้ใช้สามารถสั่งเอ็คโค่ให้เรียกแท็กซีผ่าน Uber ได้ หรือขอข้อมูลหุ้นจากแอพฯ ของ NASDAQ (ตลาดหุ้นอเมริกา) และสั่งพิซซาจากโดมิโน เป็นต้น แอมะซอนยังเปิดบริการให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านโปรแกรมสามารถที่จะเพิ่ม “ทักษะ” (Skill) ให้กับเอ็คโค่ได้ผ่าน Alexa Skill Kit โดยสร้างทักษะเพิ่มเติมใส่ไว้ในระบบของแอมะซอน และผู้ใช้อื่นๆ จะดาวน์โหลดทักษะใหม่นี้มาใช้กับเอ็คโค่ของตนเองได้ เริ่มแรกนั้นเอ็คโค่มีทักษะแค่ 80 อย่าง แต่ปัจจุบันเอ็คโค่มีถึง 1,300 ทักษะและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทักษะที่ถูกพัฒนาขึ้นนั้นมีหลากหลายมาก ตั้งแต่การแจ้งสถานะและกำหนดเวลาของรถไฟฟ้าในแถบเมืองซานฟรานซิสโก (ระบบ BART) คำถามน่ารู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์ บันทึกจำนวนครั้งที่เด็กทารกถ่ายเบาและหนัก ไปจนถึงเชื่อมต่อกับปลอกข้อมือวัดสุขภาพแบบ FitBit เป็นต้น
สรุป
เอ็คโค่ เป็นอุปกรณ์อัจฉริยะของแอมะซอนที่สามารถนำมาใช้งานกับบริการต่างๆ ของแอมะซอน เช่น การสั่งซื้อสินค้า การฟังเพลงแบบสตรีมมิ่ง อีกทั้งยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาไปเป็นศูนย์กลางของระบบ Internet of Things ภายในบ้านด้วย แต่ปัจจุบันเอ็คโค่ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น เรื่องความแม่นยำในการรับคำสั่งด้วยเสียงจากผู้ใช้ซึ่งยังมีความผิดพลาดอยู่บ้าง และยังรับคำสั่งได้เป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น นอกจากนี้ แอมะซอนยังจำกัดการใช้งานเอ็คโค่อยู่แค่ภายในสหรัฐอเมริกาเท่านั้นด้วย แต่ผมมั่นใจว่าแอมะซอนจะพัฒนาเอ็คโค่และบริการที่เกี่ยวข้องต่อไป และเปิดให้ผู้ใช้จากภูมิภาคเข้าใช้เอ็คโค่ได้มากขึ้นในอนาคต
อ้างอิง |
Amazon Echo, Amazon, retrieved from https://www.amazon.com/Amazon-Echo-Bluetooth-Speaker-with-WiFi-Alexa/dp/B00X4WHP5E |
Mario Aguilar, “Amazon Echo Review: I Just Spoke to the Future And It Listened”, Gizmodo, retrieved from http://gizmodo.com/amazon-echo-review-i-just-spoke-to-the-future-and-it-1672926712, June 2015. |
TurboFuture, “Amazon Echo: 20 Best Skills in the Alexa App”, retrieved from https://turbofuture.com/consumer-electronics/The-20-Best-Amazon-Echo-Skills-in-the-Alexa-App, June 2016. |
Contributor
ดร.เสฎฐวิทย์ เกิดผล
จบการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเซาท์เธิร์นแคลิฟอร์เนียในปี 2548 ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกเหนือจากการสอนแล้ว ยังได้ร่วมมือกับภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจสร้างและออกแบบระบบสารสนเทศ จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการใช้งานโปรแกรมรหัสเปิด (Open Source Software) โดยเน้นที่โปรแกรมระบบสำหรับบริษัทและธุรกิจเป็นหลัก
Twitter: twitter.com/Sethavidh
Website: Sethavidh@gmail.com