แพลตฟอร์มคลาวด์ สำหรับเกษตรกรในไร่กาแฟ

มาตรฐานเกษตรอินทรีย์” ถือเป็นเกณฑ์ข้อกำหนดขั้นต่ำที่เกษตรกรผู้ผลิตจะต้องปฏิบัติตาม และหน่วยงานรับรองจะใช้เป็นเกณฑ์ในการตรวจประเมินการผลิต และตัดสินใจในการรับรองฟาร์มที่ได้ปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐาน  ซึ่งการได้รับการรับรอง เกษตรกรจะต้องรักษาระบบนิเวศการเกษตร โดยอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและสภาพนิเวศท้องถิ่นดั้งเดิมไว้ อีกทั้งต้องมีการจัดการดิน และธาตุอาหารที่ดี และมีการจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธีและวิธีกลเป็นหลัก รวมถึงเกษตรกรจะต้องมีมาตรการในการป้องกันมิให้ดินและผลผลิตเกษตรอินทรีย์ปนเปื้อนจากมลพิษ

ซึ่งในการพัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจในภาคการเกษตร และการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีเพื่อการทำงานในภาคเกษตร จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อน โดยการเข้าถึงข้อมูลต่างๆผ่านเทคโนโลยีคลาวด์ ช่วยเสริมความรู้ความเข้าใจให้แก่เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลให้มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ สามารถทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน ทำการเพาะปลูกได้โดยไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่าและไม่ต้องใช้สารเคมี เพิ่มความถูกต้อง ลดค่าใช้จ่าย และลดเวลาในการตรวจรับรองมาตรฐานอินทรีย์ และช่วยปกป้องความเป็นอยู่ของคนในชุมชนได้ในระยะยาวอีกด้วย

มีวนา ผลผลิตกาแฟจากกระบวนการเกษตรอินทรีย์ โดย บริษัท กรีนเนท เอสอี จำกัด เป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่ก่อตั้งโดยมูลนิธิสายใยแผ่นดิน และด้านขวาบน คือ หน้าตาแอพพลิเคชั่น ICS ที่พัฒนาด้วยไมโครซอฟท์ อาซัวร์ มาช่วยตรวจสอบกระบวนการ และผลผลิตกาแฟโครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่าให้ดียิ่งขึ้น

เปลี่ยนกระบวนการกรอกข้อมูลจากกระดาษสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์

ปัจจุบันมูลนิธิสายใยแผ่นดิน ได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช จัดทำ “โครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่า” ให้กับเกษตรกรกว่า 350 ครอบครัว ใน 9 หมู่บ้าน เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าจำนวนกว่า 8,000 ไร่ ใน 3 ป่าต้นน้ำของอุทยานขุนแจและลำน้ำกก ที่จังหวัดเชียงราย โดยมีเป้าหมายที่จะจัดทำโครงการอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายพื้นที่ให้ถึง 20,000 ไร่ ภายในปี 2568 

กาแฟนับเป็นพืชสร้างรายได้ โดยหัวใจสำคัญของการปลูกกาแฟ คือการตรวจแปลง ทั้งในกระบวนการปลูกและการผลิตกาแฟเพื่อให้ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยที่ผ่านมาเกษตรกรจะใช้กระบวนการตรวจแปลง ด้วยวิธีการกรอกข้อมูล หรือการบันทึกลงบนกระดาษ จากนั้นต้องมากรอกข้อมูลลงใน Excel อีกรอบ ทำให้ข้อมูลผิดพลาดบ่อยครั้ง

แอพพลิเคชั่น ICS หรือ Internal Control System จึงเข้ามาช่วยลดข้อผิดพลาดในการบันทึกข้อมูล ทำให้พนักงานประหยัดระยะเวลาและขั้นตอนในการตรวจรับรองมาตรฐานอินทรีย์ ด้วยการจัดเก็บข้อมูลและประมวลผลผ่านคลาวด์ได้รวดเร็วขึ้น จากการใช้เวลา 4 เดือนเหลือเพียง 1 เดือนลดลงกว่า 75% เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการระบบการตรวจสอบสวนกาแฟ ส่งผลให้ขีดความสามารถในการทำงานของพนักงานเพิ่มมากขึ้น

แอพพลิเคชั่น ICS เข้ามาเพิ่มคุณค่าในกระบวนการผลิตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่การตรวจแปลง โดยเริ่มจากการลงทะเบียนเกษตรกร เพื่อกรอกประวัติฟาร์ม ทำการตรวจประจำปีในฟาร์ม เพื่อตรวจประเมินว่าผ่านการรับรองมาตรฐานอินทรีย์หรือไม่ ตลอดจนใช้ในการบันทึกผลการเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟ

เทรนด์การเกษตรผ่านคลาวด์ เชื่อมโยงไปสู่ IoT

แอพพลิเคชั่นการตรวจรับรองมาตรฐานภายใน ICS หรือ Internal Control System เกิดจากความร่วมมือของ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ในการสานต่อแคมเปญ คลาวด์ เพื่อสาธารณะประโยชน์ ร่วมกับมูลนิธิสายใยแผ่นดิน บริษัทบีทามส์ โซลูชั่น จำกัด ในการนำ ไมโครซอฟท์ อาซัวร์ ไปใช้ในการยกระดับการตรวจสอบกระบวนการและผลผลิตกาแฟในโครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่า  ช่วยเพิ่มคุณค่าในกระบวนการผลิตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ 3 ด้าน คือ

  • เพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บและประมวลผลข้อมูล – พนักงานสามารถป้อนข้อมูลได้โดยตรงผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ และไปเก็บในคลาวด์สาธาณะ ทำให้ได้ฐานข้อมูลกลางที่ถูกต้อง และสามารถแชร์เพื่อการใช้งานร่วมกันตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์
  • ประหยัดเวลาและต้นทุนในขั้นตอนของการตรวจสอบตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ – ด้วยระบบประมวลผลอย่าง Microsoft SQL Database พร้อมใช้ Power BI เป็นเครื่องมือวิเคราะห์และแสดงผลข้อมูลได้ทั้งแบบ Dashboard และ GIS ช่วยให้ผู้บริหารและทีมงานประเมินผล ทราบสถานะในกระบวนการในการจัดการทางเกษตรอินทรีย์ เพื่อที่จะบริหารจัดการได้อย่างทันเวลา และใช้ในการสร้างรายงานประกอบการรับรองมาตรฐานผลผลิตกาแฟ ทำให้เกิดการตรวจสอบและออกใบรับรองได้เร็วขึ้น
  • ในอนาคตจะยกระดับมาตรฐาน โดยการนำเทคโนโลยี IoT ทางการเกษตรมาใช้บริหารจัดการช่วงเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบูรณาการข้อมูลจาก IoT แบบเรียลไทม์และประมวลผลผ่านทาง Microsoft’s IoT Hub Public Cloud โดยจะทำให้พนักงานสามารถมอนิเตอร์และควบคุมและจัดการปรับสภาพแวดล้อมต่างๆ ในสวนกาแฟได้แบบเรียลไทม์ สามารถดูแลสวนกาแฟได้อย่างทั่วถึง เพื่อให้ได้ผลผลิตเมล็ดกาแฟออร์กานิคคุณภาพดีเพิ่มขึ้นแบบยั่งยืน

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

หัวเว่ย พัฒนาตัวโซลูชั่น เพื่อพัฒนาการเข้าถึงบริการ VR และ HD

หัวเว่ย เปิดตัว 3 โซลูชั่นใหม่ พร้อมขยายฐานผู้ประกอบการด้าน...