ข้อมูลงบประมาณและการใช้จ่ายด้านสื่อต่างๆ ถือเป็นข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจทางธุรกิจของนักการตลาดและนักโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งปัจจุบันสื่อดิจิทัลมีบทบาทในการสร้างการรับรู้ต่อตราสินค้า รวมไปถึงการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก
สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ร่วมกับ ทีเอ็นเอส ประเทศไทย เผยผลสำรวจมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัล ปี 2558-2559 ที่สำรวจจาก 23 เอเยนซี่ในประเทศไทย 12 กลุ่มอุตสาหกรรม 56 ประเภทธุรกิจ โดยได้เพิ่มระบบ Data Verification เพื่อความแม่นยำของผลวิจัย
โฆษณาดิจิทัลขยับเฉียดหมื่นล้านบาท กลุ่มสื่อสารใช้จ่ายมากสุดอันดับ 1
ดร.อาภาภัทร บุญรอด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มคันตาร์ ประเทศไทย กล่าวว่า ผลสำรวจเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลในปี 2558-2559 พบว่า ภาพรวมของการใช้งบโฆษณาดิจิทัลในปี 2558 มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยยอดการใช้งบโฆษณาในสื่อดิจิทัลอยู่ที่ 8,084 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 32 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผลสำรวจจาก 23 ดิจิทัลเอเยนซี่ชั้นนำของไทย ระบุว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้งบโฆษณาสื่อดิจิทัลมากที่สุดอันดับ 1 ได้แก่ กลุ่มสื่อสาร 974 ล้านบาท ตามด้วยกลุ่มยานยนต์ 918 ล้านบาท กลุ่มเครื่องประทินผิว 595 ล้านบาท กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม 567 ล้านบาท และกลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผม 513 ล้านบาท ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลเพิ่มในมูลค่าสูงที่สุดเมื่อเทียบจากปีก่อนคือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ที่ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 400 ล้านบาท
“สำหรับปี 2559 มีการคาดการณ์ว่า แนวโน้มการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลจะสูงขึ้นอีก 23 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นมูลค่า 9,927 ล้านบาท โดยจะมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่มีการใช้จ่ายงบโฆษณาดิจิทัลในปีที่ผ่านมา ซึ่งนำโดยกลุ่มสื่อสารที่มีการใช้งบ 1,304 ล้านบาท กลุ่มยานยนต์ 1,228 ล้านบาท กลุ่มเครื่องประทินผิว 691 ล้านบาท กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม 653 ล้านบาท และกลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม 592 ล้านบาท” อาภาภัทร กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะทำให้กลุ่มสื่อสารยังคงมีการเติบโตต่อเนื่องอยู่นั้น มาจากการปรับแผนการใช้งบประมาณบางส่วนจากในปี 2558 มาใช้ในปี 2559 ซึ่งคาดว่ากลุ่มสื่อสารจะกลับมาใช้จ่ายงบโฆษณามากขึ้น ภายหลังมีความชัดเจนเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ ขณะที่กลุ่มยานยนตร์คาดว่าจะเติบโตหลังจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ในแต่ละเซกเมนต์ ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองในปีนี้ ได้แก่ กลุ่มประกันภัย ที่จะเข้ามาใช้โฆษณาดิจิทัลในการกระตุ้นการซื้อ-ขายมากขึ้น โดยคาดว่าจะเติบโตถึง 44 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และภาครัฐ ที่จะเห็นการเติบโตเพิ่มขึ้นในปีนี้เช่นกัน
ฉบับที่ 209 เดือนพฤษภาคมDigital Literacy เรื่องครอบครัว รู้ทันดิจิทัล |
ปีนี้เป็นปีที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นหนึ่งในสื่อหลักของดิจิทัลมีเดียที่ใช้ จนมีสัดส่วนที่เทียบเคียงกัน ซึ่งจากเดิมที่นักโฆษณาจะใช้เพียงดิสเพลย์ หรือเป็นเว็บไซต์ทั่วๆ ไปเท่านั้น
Facebook ยังครองส่วนแบ่ง งบโฆษณาดิจิทัลสูงสุด
Facebook และ Google ยังคงเป็นสื่อที่ผู้ลงโฆษณาใช้มากที่สุดและยังมีการเติบโตในปี 2558 ขณะที่ LINE และเว็บไซต์ เช่น Sanook และ Mthai ต่างปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดการแข่งขัน และคาดว่าจะมีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นในปี 2559 นี้
โดย นรสิทธ์ สิทธิเวชวิจิตร กรรมการสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT กล่าวว่า ผลสำรวจประเภทของการใช้สื่อออนไลน์ พบว่า Facebook ครองส่วนแบ่งงบโฆษณาดิจิทัลสูงถึง 24 เปอร์เซ็นต์ของยอดการใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งเติบโตแบบก้าวกระโดดถึง 95 เปอร์เซ็นต์จากปี 2557 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องประทินผิว เป็น กลุ่มที่มียอดการใช้จ่ายผ่านช่องทาง Facebook เพิ่มขึ้นสูงสุดจากปี 2557 ตามมาด้วย Display ที่มียอดการใช้จ่าย 21 เปอร์เซ็นต์ และ YouTube 20 เปอร์เซ็นต์ โดยเติบโตจากปี 2557 ถึง 87 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่แนวโน้มการใช้งบประมาณตามประเภทสื่อออนไลน์ของปี 2559 คาดว่าจะมีสัดส่วนใกล้เคียงกับปี 2558
“การโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กยังคงเติบโตอย่างรวดเร็วจนเป็นผู้นำเทรนด์ตลาดในปัจจุบัน ด้านยูทูปเองยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ดิสเพลย์มีการเติบโต แต่ไม่เท่ากับเฟซบุ๊กและยูทูป อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าในปีนี้เป็นปีที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นหนึ่งในสื่อหลักของดิจิทัลมีเดียที่ใช้ จนมีสัดส่วนที่เทียบเคียงกัน ซึ่งจากเดิมที่นักโฆษณาจะใช้เพียงดิสเพลย์ หรือเป็นเว็บไซต์ทั่วๆ ไปเท่านั้น” นรสิทธ์ กล่าว
แบรนด์มุ่งทำโฆษณาวัดผลได้ เน้นยอดขายมากขึ้น คาดอีก 2 ปี สื่อดิจิทัลโตแซงสิ่งพิมพ์
ด้าน ศิวัตร เชาวรียวงษ์ อดีตนายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT กล่าวว่า ความนิยมในการบริโภคสื่อดิจิทัลของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการที่คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์สมาร์ทโฟนจำนวนมาก อีกทั้งยังใช้เวลาบนสมาร์ทโฟนไม่ต่ำกว่า 4.5 ชั่วโมงต่อวัน ประกอบกับการเข้ามาของ 4G ทำให้ผู้บริโภคสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ สามารถดูวิดีโอได้อย่างไม่สะดุด นักการตลาดจึงใช้รูปแบบวิดีโอในการสื่อสารโฆษณาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค จากที่ผ่านมาใช้จ่ายเงินโฆษณาผ่านโทรทัศน์เป็นส่วนมาก
ในปี 2558 ที่ผ่านมารวมถึงปีนี้ บริษัทต่างจัดสรรงบประมาณเพื่อนำเสนอโฆษณาผ่านทางสื่อดิจิทัลเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนๆ ในทุกๆ แพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่สามารถสร้างยอดขายผ่านทางอินเทอร์เน็ตทันที อย่างประกันภัย ธนาคาร และร้านค้าปลีกที่ขยับเข้าสู่อีคอมเมิร์ซ ขณะเดียวกันเริ่มมองเห็นสื่อออนไลน์เป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงคนได้ในวงกว้างและสามารถเจาะกลุ่มได้ชัดเจน แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทเข้าสู่วงจรรัดเข็มขัด เพื่อใช้จ่ายเงินให้มีประสิทธิภาพ และต้องสร้างยอดขายมากขึ้น ดังนั้นโจทย์ของโฆษณาในปี 2016 จึงเปลี่ยนเป็นการโฆษณาเพื่อการขาย แบรนด์ต้องการทำโฆษณาแบบวัดผลได้ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าโจทย์ที่เปลี่ยนไปคือ การสร้างแบรนด์น้อยลง เน้นขายของมากขึ้น
“ด้านฝั่งเอเจนซี่ในปีนี้จะเห็นว่า กระแส Social listening ค่อนข้างมาแรง ซึ่งเหล่าเอเยนซี่ให้ความสำคัญกับเครื่องมือนี้มากเป็นอันดับหนึ่งถึง 61 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่สนใจเรื่องการทำคอนเทนต์หรือการทำวิดีโอ เนื่องจากกระแสของผู้บริโภคในปัจจุบันที่มีพฤติกรรมสร้างคอนเทนต์เอง ประกอบกับการมีคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการดูคอนเทนต์ อัพโหลดคอนเทนต์ หรือการแสดงความคิดเห็นกับแบรนด์ต่างๆ” ศิวัตร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ตลาดโฆษณาดิจิทัลจะยังคงเติบโตต่อเนื่องด้วยอัตราการเติบโตไม่ต่างจากเดิม แต่หากมีปัจจัยการถดถอยของสื่ออื่นๆ เกิดขึ้น จะส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาในส่วนของสื่อดิจิทัลรวดเร็วมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่า ภายใน 2 ปีจากนี้ สื่อดิจิทัลจะเติบโตขึ้นแซงสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2 รองจากสื่อโทรทัศน์ ซึ่งเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมสื่อของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงที่ผ่านมา โดยคาดว่าสิ่งพิมพ์จะมีการเติบโตลงเหลือประมาณ 8-9 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ปัจจุบันโทรทัศน์มีผู้ชมลดน้อยลง เหลือเพียงกลุ่มผู้ชมการถ่ายทอดสดกีฬา คอนเสิร์ต และละครตอนจบเท่านั้น