โดรน : แกดเจ็ตปฏิวัติโลก

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โดรนได้รับความนิยมมากขึ้นคงหนีไม่พ้นราคา ซึ่งการแข่งขันที่รุนแรงได้ช่วยผลักดันให้ราคาของโดรนรุ่นใหม่ๆ เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น แต่เช่นเดียวกับเทคโนโลยีใหม่อื่น การได้รับความนิยมมากขึ้นของโดรนก็ได้สร้างความท้าทายขึ้นเช่นกัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “โดรน” หรืออากาศยานไร้คนขับ คือแกดเจ็ตที่ได้รับความนิยมสูงในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา BI Intelligence หน่วยงานเคราะห์อุตสาหกรรมไอทีชื่อดัง คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมโดรนทั่วโลกในปี 2564 จะเพิ่มเป็น 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปีที่แล้ว นำโดยตลาดในกลุ่มลูกค้าองค์กร (Enterprise Sector) ที่มีแนวโน้มนำโดรนไปเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ

ขณะที่ตลาดผู้บริโภค (Consumer Sector) ก็มีแนวโน้มเติบโตขึ้น เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรง เทคโนโลยีเสริมทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ตลอดจนเสียงตอบรับจากผู้บริโภคที่ผลักดันให้อุปสงค์ในตลาดเพิ่มมากขึ้นนั้น ล้วนส่งผลให้โดรนมีราคาถูกลงและมีตัวเลือกมากขึ้นในตลาด

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมโดรนยังต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมจากภาครัฐ ซึ่งรวมไปถึงกระบวนการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ การรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของบุคคลสาธารณะ ตลอดจนการนำโดรนไปใช้ในทางมิชอบต่างๆ ที่อาจสร้างความเข้าใจผิดที่อาจทำให้สังคมเห็นว่า โดรนคือ “ของเล่นเจ้าปัญหา” เป็นต้น

ผมจึงเขียนบทความนี้เพื่อที่อย่างน้อยจะได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการตระหนักรู้ถึงประโยชน์และความท้าทายของโดรน ที่กำลังจะมีบทบาทต่อการใช้ชีวิตของเราในอนาคตอย่างเลี่ยงไม่ได้ครับ


คุณ (ของ) โดรน
โดรน คืออากาศยานไร้คนขับประเภทหนึ่งที่ควบคุมด้วยอุปกรณ์บังคับ ลักษณะการใช้งานเหมือนกับเครื่องบินบังคับวิทยุทั่วไป เพียงแต่เมื่อนำมาผนวกเข้ากับเทคโนโลยีใหม่อย่าง GPS กล้องถ่ายภาพและวิดีโอความละเอียดสูง และการเชื่อมต่อกับอิเล็กทรอนิกส์อื่นอย่างสมาร์ทโฟน ก็ทำให้แกดเจ็ตตัวนี้ถูกประยุกต์ใช้งานหลากหลาย

ภาพที่เราคุ้นเคยเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีโดรนคงหนีไม่พ้นด้านการทหาร จากภาพยนตร์สมัยใหม่หลายเรื่องที่มีการใช้โดรนในการต่อสู้กับเหล่าร้าย ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะโดรนได้ถูกนำมาใช้ในด้านดังกล่าวมานับทศวรรษ โดยเฉพาะในส่วนของการสำรวจตรวจพื้นที่ การสอดแนม และการโจมตี โดยเฉพาะกองทัพสหรัฐที่ได้นำโดรนใช้ในสงครามในตะวันออกกลางจากข่าวที่เคยปรากฏอยู่เนืองๆ

อย่างไรก็ดี ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง ก็ทำให้โดรนถูกนำมาใช้งานในอุตสาหกรรมอื่นเช่นกัน ยกตัวอย่าง การสำรวจสภาพการจราจรด้วยการใช้โดรนบินสำรวจแนวถนนสายหลัก การแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายด้วยโดรนจากผู้รักษากฎหมาย การใช้โดรนบินสำรวจพื้นที่การเกษตร ป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติอื่นที่มนุษย์เข้าถึงยาก รวมไปถึงการใช้โดรนเพื่อการขนส่งสินค้า เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคทั่วไปก็ตอบรับการมาถึงของโดรนอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง เห็นได้จากการนำโดรนไปใช้งานอดิเรกอย่างการถ่ายภาพนิ่ง/วิดีโอจากมุมสูง และการฝึกบินโดรนเพื่อการแข่งขัน

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โดรนได้รับความนิยมมากขึ้นคงหนีไม่พ้นราคา ซึ่งการแข่งขันที่รุนแรงได้ช่วยผลักดันให้ราคาของโดรนรุ่นใหม่ๆ เข้าถึงได้ง่าย การพัฒนาบอดี้ที่ทำให้โดรนโมเดลใหม่มีขนาดกะทัดรัดมากขึ้น และพกพาไปไหนต่อไหนสะดวก ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่อย่างระบบป้องกันการชนก็มีส่วนทำให้มือใหม่สามารถบังคับโดรนได้อย่างไม่ลำบากนัก เช่นกัน

ความท้าทาย
เช่นเดียวกับเทคโนโลยีใหม่อื่น การได้รับความนิยมมากขึ้นของโดรนสร้างความท้าทายให้ทางฝั่งภาครัฐให้เข้ามากำกับดูแลเพื่อให้การใช้งานโดรนไม่เลยเถิดจนเกินไป โดยเฉพาะการบินโดรนเข้าไปในพื้นที่หวงห้าม อาทิ พื้นที่การบิน สถานที่ราชการและหน่วยงานเอกชนโดยไม่ได้รับอนุญาต ตลอดจนการรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว เป็นต้น

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้กำหนดให้โดรนในไทยต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย โดยผู้ครอบครองโดรนต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2560 ผู้ฝ่าผื่นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตาม การขึ้นทะเบียนดังกล่าวเป็นการลงทะเบียน “ครอบครอง” เท่านั้น หากต้องการนำโดรนขึ้นบินต้องไปขึ้นทะเบียน “ขับขี่” ที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย อีกทางหนึ่งด้วย

นั่นคือกลไกทางกฎหมายล่าสุดที่ภาครัฐได้นำมาใช้ในการกำกับดูแลการใช้โดรนในไทย ซึ่งยังไม่นับรวมมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ ประกาศห้ามนำโดรนขึ้นบินในพื้นที่พระราชพิธีสำคัญ และการติดตั้งอุปกรณ์โดรนแจมเมอร์ในพื้นที่หวงห้ามเพื่อบังคับให้โดรนร่อนลง เป็นต้น ซึ่งมาตรการทั้งหลายที่ภาครัฐงัดขึ้นมาล้วนแต่มีวัตถุประสงค์ด้านการรักษาความปลอดภัยจากอันตรายและความผิดพลาดของโดรน

อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ให้ดีจะพบว่า กลไกทางกฎหมายดังกล่าวยังมีช่องโหว่ให้ต้องขบคิดกันอีกมาก เพราะความจริงอีกด้านหนึ่งก็คือปัจจุบันเราสามารถหาซื้อโดรนกันได้ง่ายมาก ไม่ว่าจะเป็นจากร้านค้าทั่วไป ร้านค้าออนไลน์ หรือการเปลี่ยนมือเป็นสินค้ามือสอง ซึ่งภาครัฐควรมีมาตรการกำกับดูแลผู้ขายเช่นเดียวกับผู้ซื้อ โดยให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ที่ต้องการขายโดรนและโดรนที่ต้องการจะขายอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นการขายผ่านช่องทางออนไลน์หรือออฟไลน์ ควบคู่ไปกับการกำหนดมาตรการปราบปรามอย่างจริงจัง

ขณะเดียวกัน ฝั่งผู้ใช้งานก็ต้องมีการกำกับดูแลกันเอง โดยเฉพาะกลุ่มมือสมัครเล่นและมือใหม่หัดบิน ที่ต้องมีการฝึกสอนทักษะการบินที่ถูกต้อง ร่วมมือกับภาครัฐในการกำหนดกฎกติกา คุณลักษณะของโดรนที่สามารถขึ้นบินได้ รวมไปถึงการให้ความรู้ด้านความปลอดภัยและการเคารพสิทธิของผู้อื่น เพราะคงไม่มีใครอยากให้มีโดรนของคนแปลกหน้าเข้ามาด้อมๆ มองๆ แถวบ้านเป็นแน่


สรุป
โดรนคือของเล่นไฮเทคที่สามารถใช้งานได้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจและกลุ่มองค์กรที่ได้นำโดรนมาประยุกต์ใช้ในการสำรวจพื้นที่ การตรวจตรารักษาความปลอดภัย หรือการทหาร ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคก็นำโดรนมาประยุกต์ใช้ในการถ่ายภาพมุมสูง และงานอดิเรกเพื่อความบันเทิงอื่นที่อุปกรณ์บังคับวิทยุอื่นไม่สามารถให้ได้ ขณะเดียวกัน ความท้าทายที่สำคัญคือการกำกับดูแลใช้งาน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าธรรมชาติของการใช้งานโดรนมีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของผู้อื่นไม่มากก็น้อย ความสุ่มเสี่ยงที่จะรุกล้ำพื้นที่ส่วนบุคคลก็อาจเกิดขึ้นได้

ดังนั้น กลไกสำคัญคือกติกาและระเบียบ ที่เป็นผลมาจากการตกลงร่วมกันระหว่างรัฐกับกลุ่มผู้ใช้งานโดรน ซึ่งภาครัฐควรมีกฎระเบียบที่ครอบคลุมทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ส่วนกลุ่มผู้ใช้งานโดรนเองก็ควรมีวิธีการกำกับดูแลกันเองที่ได้ผลเป็นรูปธรรม เพราะมิเช่นนั้น ภาพลักษณ์ของผู้ใช้โดรนอาจเสียหาย และไทยอาจพลาดโอกาสจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ไปอย่างน่าเสียดายครับ

 

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts