เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์หัวกะทิอย่าง Stephen Hawking, Elon Musk และ Steve Wozniak ได้มาร่วมประชุมในงาน International Joint Conference on Artificial Intelligence ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นงานเสวนาเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ค.ศ. 1969 เนื้อหาในงานมีการพูดคุยถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ตลอดจนการหารือว่าเรา ในฐานะมนุษย์เดินดินทั่วไป ควรจะเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างไร
ตามจริงแล้ว งานเสวนาดังกล่าวมีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะในแวดวงนักวิชาการ บริษัทเอกชนในวงการ หรือนักวิทยาศาสตร์กลุ่มเล็กๆ ทว่า งานเมื่อปีที่แล้วได้มีการจัดทำจดหมายเปิดผนึกที่ลงนามโดยนักวิทยาศาสตร์ผู้เข้าร่วมประชุม โดยมีเนื้อหาเชิงแจ้งเตือนว่าหากเทคโนโลยี AI ยังคงได้รับการพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ก็มีโอกาสที่แรงงานมนุษย์จะได้รับผลกระทบ เพราะจะถูกหุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะแย่งงานไปจนหมด
ความน่าจะเป็นบนเส้นขนาน
หลายคนอาจคิดว่านี่อาจเป็นเพียงเรื่องเพ้อฝัน แต่หากมองไปรอบตัวก็จะพบได้ว่า หลายสิ่งหลายอย่างที่เราใช้งานอยู่ในชีวิตประจำวันถูกควบคุมโดย AI ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น Netflix ที่สามารถนำเสนอภาพยนตร์ที่น่าจะโดนใจเราโดยวิเคราะห์จากประวัติการรับชม ร้านค้าออนไลน์ Amazon ที่สามารถจับคู่สินค้าแล้วนำเสนอต่อนักช้อป หรือ Facebook ที่สามารถแสดงเนื้อหา (และโฆษณา) ที่ตรงกับรสนิยมของผู้ใช้ เป็นต้น จึงเห็นได้ว่า AI แฝงอยู่ในบริการออนไลน์ที่เราคุ้นเคยแทบจะทุกที่ เพียงแต่เราอาจไม่ทันรู้ตัวเท่านั้น
กระแสปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งกระโน้น เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในอัตราที่สามารถ “จัดการได้” ทำให้แรงงานมีเวลากับทรัพยากรเหลือพอที่จะปรับเปลี่ยนและพัฒนาตัวเองเพื่อให้ “ไม่ตกงาน” แต่การปฏิวัติ AI ในครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รุนแรง
อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างเหล่านั้นเป็นเพียงน้ำจิ้มของอาหารมื้อหลักที่กำลังจะมาถึง งานศึกษาของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด สหราชอาณาจักร เมื่อ ค.ศ. 2013 ชิ้นหนึ่งวิเคราะห์ว่า ภายใน 20 ปีข้างหน้า กว่าร้อยละ 47 ของอาชีพในสหรัฐอเมริกาจะถูกแทนที่ด้วย AI และหุ่นยนต์ ขณะที่ Kevin Kelly ผู้ก่อตั้งนิตยสาร Wired ได้ทำนายว่าอีก 90 ปี ร้อยละ 90 ของอาชีพการงานที่เราเห็นอยู่จะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร เช่นเดียวกับ Bill Gates และ Elon Musk ที่ได้แสดงความกังวลว่า AI อาจกลายเป็นภัยคุกคามต่อสังคมและโลกการทำงานในอนาคต
ดูเหมือนทุกฝ่ายจะมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เทคโนโลยี AI จะส่งผลต่ออนาคตการทำงานของมนุษยชาติเป็นแน่ แต่ประเด็นที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้แน่ชัดก็คือ เราจะสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่ว่าได้หรือไม่?
ฉบับที่ 214 เดือนตุลาคมAI สำหรับแบรนด์ ผู้ช่วยในยุค IoT |
ฝ่ายหนึ่ง อาทิ James Barrat ผู้เขียนหนังสือ Our Final Invention: Artificial Intelligence and the End of the Human Era มีความเห็นว่า มนุษย์จะไม่สามารถสร้างงานใหม่เข้ามาแทนที่งานเดิมที่ถูกสมองกลแย่งไปได้ทันเวลา ยกตัวอย่างเช่น จะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ประกอบอาชีพขับรถรับจ้างเมื่อทักษะที่ใช้ในการหาเลี้ยงมาทั้งชีวิตถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ? ยกตัวอย่างแบบนี้หลายฝ่ายอาจแย้งว่า เครื่องจักรซึ่งเข้ามาแทนที่แรงงานคนสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมก็ไม่ได้ทำให้อาชีพแรงงานไร้ฝีมือหมดไป แต่ Barrat ก็โต้กลับว่า กระแสปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งกระโน้น เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในอัตราที่สามารถ “จัดการได้” ทำให้แรงงานมีเวลากับทรัพยากรเหลือพอที่จะปรับเปลี่ยนและพัฒนาตัวเองเพื่อให้ “ไม่ตกงาน” แต่การปฏิวัติ AI ในครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รุนแรง และส่งผลกระทบในวงกว้างมากกว่า เพราะแม้แต่พนักงานออฟฟิศหรือในอุตสาหกรรมไฮเทคก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น Foxconn ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลก (iPhone ก็ผลิตจากโรงงานนี้) ได้สั่งซื้อหุ่นยนต์กว่า 60,000 ตัว ให้มาทำงานแทนที่พนักงานในโรงงานกว่า 60,000 ราย แม้ว่ามีพนักงานส่วนหนึ่งที่จะได้รับการฝึกอบรมเพื่อเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ควบคุมหรือกลายเป็นช่างบำรุงหุ่นยนต์เหล่านั้น แต่ก็มีพนักงานอีกจำนวนไม่น้อยที่จะต้องโดนเลย์ออฟ ขณะที่ในแวดวงการเงินและการลงทุน ก็มีการนำ Robo Advisor หรือบริการแนะนำการจัดสรรเงินลงทุนด้วยระบบอัตโนมัติ ซึ่งลูกค้าเพียงใส่ข้อมูลส่วนบุคคลและเป้าหมายการลงทุนลงไป ระบบก็จะให้คำแนะนำได้ว่า ควรจะลงทุนอะไรและในสัดส่วนเท่าใด เพื่อให้ถึงเป้าหมายภายในระยะเวลาที่กำหนด ทำให้ความจำเป็นที่จะต้องจ้างโบรกเกอร์ที่เป็นมนุษย์ลดลงในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้มองว่าในท้ายที่สุดแล้วมนุษย์จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเข้ามาของหุ่นยนต์ได้เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงจากการทำงานซ้ำๆ อันน่าเบื่อหน่ายในออฟฟิศไปสู่การทำงานเชิงสร้างสรรค์ที่สามารถก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ ขณะที่องค์กรก็จะพบว่า การผลิตสินค้าและการนำเสนอบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ส่วนกำลังมนุษย์ที่เหลือก็สามารถนำมาใช้กับภาคส่วนอื่นที่สมองกลยังไม่สามารถแทนที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการ การนำเสนอเทคนิคการตลาดที่สร้างสรรค์ งานออกแบบสุดแหวกแนว หรืองานอื่นที่ต้องการปฏิสัมพันธ์จากมนุษย์ อาทิ การบริการสุดประทับใจในร้านอาหาร หรือโรงแรม
นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมว่า กว่าที่ AI จะมีศักยภาพพอที่จะนำมาใช้งานแทนมนุษย์ได้เต็มร้อยนั้นยังอยู่อีกไกล และถึงแม้จะได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพได้สูงขึ้นจริง แต่ก็ยังต้องการ ”มนุษย์” เป็นผู้ควบคุมให้อยู่กับร่องกับรอยและป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จากกรณี Tay บัญชี Twitter ที่ควบคุมโดย AI จาก Microsoft ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อให้สามารถโต้ตอบผู้ใช้โดยอัตโนมัติจากการเรียนรู้บทสนทนาของผู้ใช้ แต่กลับกลายเป็นว่า Tay พ่นคำพูดที่ไม่เหมาะสมออกมามากมาย เพราะ AI ไม่สามารถเรียนรู้บริบททางภาษาของมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพพอที่จะวิเคราะห์คำพูดที่มีความหมายในเชิงลบ และล่าสุดที่ Facebook ตัดสินใจปลดพนักงานทีม Trending Topics ซึ่งทำหน้าที่คัดกรองประเด็นข่าวน่าสนใจ กลั่นกรองข้อมูลลวงจากข้อเท็จจริง แล้วนำเสนอต่อผู้ใช้ และหันไปใช้ AI ทำหน้าที่แทน แต่เรื่องกลับกลายเป็นว่าสมองกลเจ้ากรรมกลับนำเสนอเนื้อหาข่าวที่เป็นเท็จจากแหล่งข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ เป็นเหตุให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่เทคโนโลยี AI จะสามารถนำมาใช้แทนแรงงานมนุษย์ได้เต็มร้อย
ล่าสุด Facebook ตัดสินใจปลดพนักงานทีม Trending Topics ซึ่งทำหน้าที่คัดกรองประเด็นข่าวน่าสนใจ กลั่นกรองข้อมูลลวงจากข้อเท็จจริง แล้วนำเสนอต่อผู้ใช้
และหันไปใช้ AI ทำหน้าที่แทน
สรุป
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยี AI อยู่รอบตัว ไม่ว่าเราจะตระหนักได้หรือไม่ก็ตาม แต่ประเด็นที่ควรคิดให้ตกผลึกคือ ทำอย่างไรมนุษย์จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ บ้างก็ว่ากระแสที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว จนเป็นผลให้แรงงานมนุษย์ไม่น้อยต้องตกงาน ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็แย้งว่าท้ายที่สุดแล้ว AI จะเข้าไปทำหน้าที่แทนการใช้แรงงานที่น่าเบื่อ และปล่อยให้งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการบริหารจัดการ และการบริการเป็นหน้าที่ของมนุษย์
อย่างไรก็ดี การที่จะไปให้ถึงเป้าประสงค์ดังกล่าวต้องเริ่มที่การเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ โดยเฉพาะในมิติของการศึกษาที่ต้องมุ่งเน้นให้ผู้เรียนรู้จักการดึงศักยภาพภายในออกมาใช้อย่างเต็มที่ พัฒนาความถนัดเฉพาะตัวที่สามารถนำไปใช้สร้างมูลค่าเพิ่มทางอาชีพได้ และตอกย้ำด้านการนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่สามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างน่าสนใจ อีกทั้งต้องไม่ลืมปลูกฝังหลักคิดคุณธรรมและจริยธรรมอันเป็นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมมนุษย์
มิเช่นนั้น ลูกหลานของพวกเราก็คงไม่แตกต่างจากหุ่นยนต์ที่เก่งแต่ทำตามอย่างเขา และแยกผิดชอบชั่วดีไม่ออกครับ
Contributor
falcon_mach_v
สรนาถ รัตนโรจน์มงคล
จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 48 และปริญญาโทจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รหัส 55 ปัจจุบันประกอบอาชีพที่ไม่เกี่ยวกับด้านไอที แต่ด้วยความชอบจึงได้มีงานเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้เสมอ สามารถติดตามอ่านได้ที่ www.bitwiredblog.com และชมเว็บไซต์ผลงานภาพถ่ายได้ที่ http://iviewphoto.me
Facebook: sorranart
Website: ontechz.blogspot.com