การสำรวจตลาดซอฟต์แวร์ไทยครั้งล่าสุด (ปี 2559) เป็นโครงการที่จะนำข้อมูลที่สำรวจได้ไปใช้ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และดิจิทัลคอนเทนต์ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มอบหมายให้สถาบันไอเอ็มซี (IMC) เป็นคณะผู้วิจัย
โดยการสำรวจข้อมูลอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ภายใต้โครงการนี้ จะทำการสำรวจเฉพาะรายได้ของซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ ไม่รวม Software-enable Service อย่าง Agoda, Ookbee, Netbay, Grab, Line Man เป็นต้น
ส่วนมูลค่าการส่งออก 3,714 ล้านบาทนั้น พบว่าเกิดจากการที่มีบริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ทำให้ตัวเลขเป็นการส่งออก ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 11.53%
“จากข้อมูลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ที่ทุกวันนี้ที่กำลังเปลี่ยนรูปแบบต่อเนื่องจากปีที่แล้ว แทนที่จะขายไลเซนส์ซอฟต์แวร์ มาเป็นการที่บริษัทซอฟต์แวร์ต้องนำซอฟต์แวร์มาสร้างเป็นบริการแทน ทั้งหมดนี้เป็นไปตามทิศทางการปรับตัวของธุรกิจในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล” ดร.ณัฐพลกล่าว
สำหรับสัดส่วนการใช้งานซอฟต์แวร์ในประเทศไทยภาคการเงินยังคงเป็นส่วนที่มีการใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์และบริการมากที่สุด รองลงมา คือ หน่วยงานราชการและท่องเที่ยว
โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตของตลาดซอฟต์แวร์ในปี 2559 มีดังนี้
1.เศรษฐกิจมีการชะลอตัวในภาพรวม
2.มีบริการใหม่ที่เกิดจากการใช้ซอฟต์แวร์เกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งผู้ประกอบการหันไปใช้งานมากขึ้น (ไม่ได้รวมในการสำรวจนี้)
3.รูปแบบการดำเนินงานไปสู่ SaaS และ Revenue Sharing มากขึ้น และเป็นการเช่าใช้งาน
4.เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว เพื่อความคล่องตัวบริษัทจึงหันไปใช้งานบนคลาวด์
DEPA จึงได้ผลักดัน 3 มาตรการสำคัญเพื่อส่งเสริมภาคธุรกิจ 3 ด้านได้แก่
1. มาตรการสร้างตลาด โดยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นำผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานและบริหารจัดการธุรกิจเพิ่มมากขึ้น
2. มาตรการสร้างความเชื่อมั่น โดยการส่งเสริมผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ ให้ได้รับมาตรฐาน ISO 29110 เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์มีการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพ สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
3. มาตรการการสร้างขีดความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล (Digital Innovation) ซึ่ง “คน” เป็นปัจจัยหนึ่ง โดยจะจัดตั้งสถาบันไอโอที โดยในสถาบันจะประกอบไปด้วยพื้นที่สำหรับ IoT co-working space, Cloud innovation center, Maker space ทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ รวมถึงมีพื้นที่จับคู่ธุรกิจ
รศ.ดร. ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบัน IMC กล่าวว่า รัฐควรมีนโยบายระดับชาติด้านการพัฒนาบุคลากรซอฟต์แวร์อย่างเร่งด่วนและจริงจัง เพื่อให้เกิดผลโดยเร็ว รวมทั้งควรมีแผนพัฒนาบุคลากรทั้งในระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาในขั้นวิกฤติด้านการขาดแคลนบุคลากรซอฟต์แวร์ รวมทั้งควรปรับหลักสูตรการเรียนการสอนด้านซอฟต์แวร์ให้ทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และควรต้องส่งเสริมให้เกิดการใช้ซอฟต์แวร์ในกลุ่มผู้ประกอบการระดับ SME ให้มากขึ้น เพื่อช่วยให้เกิดผลประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในระยะยาว
ถึงแม้ว่าตัวเลขที่พบจากผลสำรวจเหล่านี้จะดูลดลงในภาพรวม แต่อย่างไรก็ตามส่วนของ Software-Enable Service ที่ไม่ได้ถูกรวมในการสำรวจนี้ก็ดูจะได้รับความนิยม และมีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง เรียกว่ายังไม่อยู่ในสภาวะที่ถดถอยแต่อย่างใด อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ยังมีโอกาสที่จะสร้างมูลค่าอีกมาก โดยไม่ได้จำกัดอยู่ในวงอุตสาหกรรมใดๆ เท่านั้น และยังพร้อมที่จะขยายไปยังกลุ่มผู้บริโภคโดยตรงอีกด้วย