กระทรวงวิทย์ฯ กับการปรับรูปแบบพัฒนาคน ใช้ IoTs ดันไทยเป็น Makers Nation


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พูดถึงการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นเมืองแห่งนักพัฒนา (Makers Nation) ด้วยการยก “NETPIE” แพลตฟอร์ม Internet of Things (IoTs) Platform ที่วิจัยพัฒนาและให้บริการโดย เนคเทค-สวทช. มากว่าสองปี สู่การให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ

ทั้งนี้ ได้ถ่ายทอดแพลตฟอร์มดังกล่าว ให้เน็กซ์พาย บริษัท Startup นำไปพัฒนาต่อยอดและให้บริการในเชิงพาณิชย์ รองรับอุตสาหกรรมทางด้าน IoTs ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยสามารถสร้างผลิตภัณฑ์และบริการ IoTs ของตนเองได้

ทางกระทรวงวิทย์ มีเป้าหมายนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปใช้ในการตอบโจทย์สำคัญของประเทศทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ “วิทย์สร้างคน” เตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21, “วิทย์แก้จน” ลดความเหลื่อมล้ำ และการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน “วิทย์เสริมแกร่ง”

ในด้านการสร้างกำลังคนให้เป็น Makers Nation นั้น ต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมและความเชื่อมั่นของคนในประเทศ ในการสร้างสรรค์และประดิษฐ์ผลงานเอง เยาวชนมีความสนุกกับการสร้างประดิษฐ์ใหม่ๆ โดยไม่ใช่เป็นการซื้อมาใช้อย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นของเล่น เกมส์ หรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ

โดยเพิ่มงบประมาณในโครงการ Coding at School มอบชุดอุปกรณ์ KidBright บอร์ดวงจรสำหรับการหัดเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมอุปกรณ์ IoTs โดยใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ไปยังชุมนุมวิทยาศาสตร์ในกว่า 1,000 โรงเรียนทั่วประเทศ จำนวนกว่า 200,000 ชุด โดยโครงการนี้จะเริ่มส่งมอบบอร์ด KidBright ให้กับโรงเรียนภายในปี 2561

การเปิดตัว NETPIE IoT Platform สามารถอำนวยความสะดวกให้นักพัฒนาได้ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด สามารถพัฒนาอุปกรณ์โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการติดตั้งดูแลระบบสื่อสาร ระบบเซิร์ฟเวอร์ หรือฐานข้อมูลใดๆ ในขณะเดียวกัน ยังช่วยให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์เข้าถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ผ่านโปรแกรมสำเร็จรูปที่เตรียมไว้ให้

หลังจากที่ NETPIE ได้เปิดให้บริการต่อสาธารณะมาตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2558 มีผู้ใช้ทั่วประเทศมากกว่า 11,000 ราย ถูกนำไปใช้จริงในหลายภาคส่วน เช่น ภาคเกษตร ในการควบคุมสภาพแวดล้อมของโรงเรือน, ภาคครัวเรือน ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับบ้านอัจฉริยะ, ภาคสังคม ในการพัฒนาบริการสำหรับเมืองอัจฉริยะที่จังหวัดภูเก็ต และภาคการผลิต ในการตรวจสอบสถานะของเครื่องจักรและกระบวนการผลิตในโรงงาน

จะเห็นได้ว่า ภาพรวม IoTs Platform เป็นการเตรียมพัฒนาบุคลากร รวมถึงเป็นประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจ และสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็น Makers Nation อย่างเต็มรูปแบบได้เร็วขึ้น

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

ระบบ NB-IoT ที่เข้ามาช่วยธุรกิจเครื่องหยอดเหรียญ

ระบบ IoT หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินหรือผ่านหูกันมาบ้าง แต่หากพูดถึงระบบ NB-IoT คงอาจจะยังไม่คุ้นตาเท่าไร เรามาลองทำความรู้จัก NB-IoT กันว่าคืออะไร และสามารถทำอะไรได้บ้าง