เสาร์ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ออกคำสั่งแบนคนจาก อิรัก อิหร่าน ลิเบีย โซมาเลีย ซูดาน ซีเรีย และ เยเมน ห้ามเข้าสหรัฐอเมริกา 90 วันทันที่ แต่ซีเรียโดนหนักพิเศษคือแบนไม่มีกำหนด
งานนี้สร้างความปั่นป่วนทั้งต่อแรงงานต่างชาติและฝ่ายบริษัทนายจ้างในสหรัฐฯด้วย เช่นวงการไอที ซึ่งต่างก็มีปฏิกิริยาออกมาอย่างต่อเนื่อง
เริ่มจาก Google ที่รีบเรียกตัวพนักงานที่ติดร่างแหเดินทางด่วนกลับสหรัฐฯ ซึ่ง CEO คือ Sundar Pichai เผยว่ามีบุคลากรของกูเกิ้ลเข้าข่ายถึงกว่า 100 คน, ส่วน Airbnb นั้นสวนกระแสประกาศให้ที่พักฟรีกับผู้ที่เข้าข่ายโดนห้ามเข้าสหรัฐฯ โดย CEO คือ Bryan Cheskey ทวีตด้วยตัวเองให้ติดต่อที่เขาได้โดยตรง
ผู้นำหลายบริษัทก็ออกมาต้านเรื่องนี้ เช่น Apple โดยซีอีโอ Tim Cook ประกาศว่าบริษัท Apple จะไม่มีวันนี้ ถ้าไม่มีบรรดาแรงงานผู้อพยพทำงานให้
ส่วน Satya Nadella ซีอีโอของ Microsoft นั้นเขียนลงโซเชียล “LinkedIn” ว่าเขาเองก็เป็นผู้อพยพมาก่อน เห็นว่าผู้อพยพมีความสำคัญต่อบริษัทและต่อสังคมโลก
Mark Zuckerberg แห่ง Facebook ประกาศว่าสหรัฐอเมริกาคือพื้นที่ของผู้อพยพ และเสริมว่าพ่อแม่ของเขามาจากเยอรมัน ออสเตรีย โปแลนด์ ส่วนพ่อแม่ของภรรยา Priscilla Chan ก็เป็นผู้อพยพจากจีนและเวียดนาม
อีกคนที่ชัดเจนคือ Elon Musk แห่ง Tesla บริษัทที่ผลิตทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและจรวด เขาทวีตว่านโยบายนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหา และผู้อพยพคือผู้สนับสนุนให้สหรัฐฯแข็งแกร่ง ไม่สมควรจะถูกขับไล่
นอกจากผู้บริหารประกาศแล้ว บางบริษัทก็โพสต์ในนามบริษัทเองเลย เช่น Twitter ที่ทวีตในนามบริษัทว่า ทวิตเตอร์เกิดได้จากผู้อพยพจากหลายศาสนา และบริษัทอยู่ข้างผู้อพยพเสมอ
นอกจากแสดงความไม่เห็นด้วยแล้ว บางบริษัทก็เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้วย เช่น Travis Kalanick ซีอีโอ Uber โพสต์ลงเฟสบุ้คว่ามีผู้บริสุทธิ์เดือดร้อนจากนโยบายนี้มากมาย อูเบอร์ที่มีคนขับเป็นผู้อพยพได้รับผลกระทบแน่นอน และทางบริษัทกำลังพิจารณาค่าชดเชยให้
… นอกจากท่าทีจากวงการดิจิตัลแล้ว ยังมีท่าทีจากทุกวงการ และมีประท้วงอยู่หลายจุดทั่วสหรัฐฯจนถึงขณะนี้ด้วย
ภาพจาก