ถ้าไม่นับฮ่องกงและมาเก๊า “ประเทศไทยเป็นจุดหมายหลักของนักท่องเที่ยวจีน” โดยในปี 2016 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาประเทศไทยสูงถึง 8.7 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงิน 3% ของ GDP หรือ 357,630 ล้านบาท จากตัวเลขดังกล่าว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คนจีนเป็นกลุ่มที่ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสนใจ และเข้าใจพฤติกรรมการบริโภคของนักท่องเที่ยวจีน เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
พฤติกรรมที่น่าสนใจ คือ คนจีนกว่า 81% ตัดสินใจเลือกมาเที่ยวประเทศไทยจากข้อมูลบน Social Network และเมื่อเดินทางมาถึงแล้วคนจีนยังนิยมแชร์ประสบการณ์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวต่ออีกด้วย นอกจากนี้ยังพบว่านักท่องเที่ยวจีนพกเงินมาใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 2.5 หมื่นถึง 1 แสนบาทต่อทริป
เข้าถึงคนจีนผ่าน WeChat
ขณะที่อัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของคนจีนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยพบว่า ปี 2016 จีนมีจำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์อยู่ที่ 731 ล้านคน หรือคิดเป็น 53% ของประชากรทั้งหมด และ 95% หรือกว่า 695 ล้านคน เข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน นอกจากนี้พบว่า คนจีนมีการใช้งานอินเตอร์เน็ตสูงถึง 3.8 ชั่วโมงต่อวัน โดย 91% นิยมใช้งานแอพพลิเคชั่น Instant Messaging ตามด้วย Search engine 82% ขณะเดียวกันพบว่าแอพพลิเคชั่นด้าน News , e-Payment , Shopping , Banking, Reading, และ Travel&Booking มีการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นด้วย
โดยหนึ่งในนั้น WeChat นับเป็นแอพพลิเคชั่นแชทที่นิยมในกลุ่มคนจีน โดยมีผู้ใช้งานสูงถึง 938 ล้านคนต่อเดือน และพบว่ามีการชำระเงินบน WeChat ถึง 600 ล้านคนต่อเดือนด้วย ซึ่ง WeChat เป็นแพลตฟอร์มของ Tencent
TSA เครื่องมือช่วยผู้ประกอบการไทยเจาะตลาดผู้บริโภคจีน
ทั้งนี้ กฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท เทนเซ็นต์ ประเทศไทย จำกัด บอกว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยประสบปัญหาในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายชาวจีน Tencent จึงพัฒนา Tencent Social Ads (TSA) เครื่องมือที่ช่วยผู้ประกอบการไทยให้สามารถเข้าถึงกลุ่มคนจีนได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยโฆษณาจะกระจายบนแพลตฟอร์มต่างๆของ Tencent ได้แก่ WeChat , QQ และ Q Zone ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวครอบคลุมการใช้งานของคนจีนถึง 68%
อย่างไรก็ตาม กฤตธี มองว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โรงแรม อาหาร รวมถึงธุรกิจรีเทล เป็นกลุ่มธุรกิจที่นำเครื่องมือดังกล่าวไปใช้ในการเข้าถึงตลาดจีนได้