หลังจากการเข้าโจมตีของมัลแวร์ WannaCry ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ทำให้หลายๆ หน่วยงานต้องมีการให้ข้อมูลการป้องกันเบื้องต้นกับพนักงาน เพื่อลดความเสี่ยงลง ซึ่งก็มีหลายหน่วยงานที่แก้ไขได้ทัน และหลายหน่วยงานที่ถูกโจมตี
ซึ่งเรื่องความปลอดภัยนับว่าเป็นการใช้งานขั้นพื้นฐานของระบบดิจิทัล แต่ปัจจุบันพฤติกรรมของเหล่าพนักงานออฟฟิศมีความถนัดทางด้านการใช้งานโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับงานได้เป็นอย่างดี แต่ทางด้านการป้องกัน นอกจากติดตั้งแอนตี้ไวรัสแล้วก็แทบจะไม่รู้ทางป้องกันอื่นๆ อีกเลย
การรักษาความปลอดภัยเป็นทักษะดิจิทัลพื้นฐานของพนักงาน
ทักษะการใช้งานดิจิทัลของคนไทยในด้าน Digital Lifestyle อยู่ในระดับที่ดี ประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม แต่เรื่องของทักษะ Digital workforce ยังคงต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติมอีกหลายด้าน
แม้ว่าการอบรมและพัฒนาศักยภาพด้านทักษะดิจิทัลในประเทศไทยยังไม่ได้มีการจัดทำข้อสอบที่เป็นมาตรฐานโดยเฉพาะ แต่ในระดับนานาชาติมีองค์กรอย่าง The International Computer Driving License (ICDL) (https://goo.gl/ixAiiq) ที่จะมีการอบรมพัฒนาและวัดผลยกระดับการทำงานของผู้ใช้งานอย่างเราๆ ด้วยการมอบใบประกาศนียบัตรเมื่อสอบผ่าน
ทักษะดิจิทัลสากล
1. หลักการพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (Concepts of Information Technology)
2. การใช้คอมพิวเตอร์และการจัดการไฟล์ต่างๆ บนคอมพิวเตอร์ (Using the Computer and Managing Files)
3. โปรแกรมประมวลคำ (Word Processing)
4. โปรแกรมตารางคำนวณ (Spreadsheets)
5. โปรแกรมฐานข้อมูล (Databases)
6. โปรแกรมการนำเสนอ (Presentations)
7. สารสนเทศ และการสื่อสาร (Information and Communication)
ที่มา : การวัดผลของ ICDL ครอบคลุมเนื้อหาในหมวดต่างๆ รวมทั้งหมด 7 วิชา (Modules)
หากอ้างอิงตาม ICDL แล้ว ในส่วนของหลักการพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (Concepts of Information Technology) เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ และเหมาะสำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการพัฒนาตัวเอง และไม่ต้องร้องหาฝ่ายไอทีบ่อยๆ อีกต่อไป ซึ่งจะให้ความรู้และประเมินใน 3 ด้าน
1.ความรู้เกี่ยวกับฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ
2.ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมการใช้งานคอมพิวเตอร์
3.ความรู้เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และประเด็นสำคัญ เกี่ยวกับความถูกต้องของลิขสิทธิ์และการป้องกันข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์
เห็นได้ว่าทักษะเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่ได้ไกลตัว แต่ก็น้อยคนนักที่จะเข้าใจและปฏิบัติได้จริงด้วยตัวเอง และสำหรับผู้ที่สนใจก็สามารถติดตามความเคลื่อนไหวในการอบรมและลองทดสอบเพื่อรับใบประกาศนียบัตรจากสถาบันต่างๆ เพื่อเป็นใบเบิกทางได้ในตอนการสมัครงาน เพราะหลายๆ องค์กรก็เริ่มมองหาคนที่มีทักษะพื้นฐานเหล่านี้ก่อนรับเข้าทำงานแล้วเช่นกัน
ภาคการศึกษาปรับตัวเสริมศักยภาพให้คนรุ่นใหม่
ทางด้านการศึกษาเองก็ได้มีการเตรียมความพร้อม จัดการอบรม การสอบ ทั้งภายในสถานศึกษา และร่วมมือกับบริษัทเอกชนต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนรุ่นใหม่ให้เกิดขึ้น และพร้อมเข้าสู่กระบวนการทำงานในอนาคต

บรรยากาศการแข่งขัน ICDL Digital Challenge 2017 เพื่อค้นหาตัวแทนไปแข่งขันที่ประเทศสิงคโปร์ ใน 2 วิชา การจัดทำเอกสาร Word Processing (Words 2013) การบันทึกและการคำนวณ ด้วยตาราง Spreadsheets (Excel 2013)
ผศ.พิภัช ดวงคำสวัสดิ์ นายกสมาคมอีเลิร์นนิ่งแห่งประเทศไทย กล่าวว่าทักษะดิจิทัลเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ในหลายประเทศที่ใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันก็ได้มีการจัดการทดสอบมาตรฐานบุคลากร ให้เท่าทันกับเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งในด้านการใช้งานและความปลอดภัย
“ตอนนี้ในหลายมหาวิทยาลัยก็มีหลักสูตรการอบรม เป็นของตัวเอง นักศึกษาทุกคนต้องสอบให้ผ่าน โดยต้องสามารถใช้งานโปรแกรมที่เหี่ยวข้องกับการทำงานได้ดี รู้จักรักษาความปลอดภัย ตลอดจนเข้าใจในกระบวนการทำงาน เพื่อเป็นความรู้พื้นฐาน ก่อนเข้าสู่กระบวนการทำงานจริง”
การพัฒนาทักษะตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล
ถึงในประเทศไทยจะยังไม่มีระดับการวัดความรู้หรือมาตรฐานที่ชัดเจน แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมาทางภาครัฐบาลได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลสำหรับข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ (Digital Government Skill Development) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์กรมหาชน) เพื่อจัดทำแผนพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้บุคลากรภาครัฐ เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลยุคใหม่ ให้มีทักษะพื้นฐานเพื่อให้บริการแก่ประชาชน
เมื่อองค์กรกำลังมองหาคนที่มีพื้นฐาน รัฐบาล และคนรุ่นใหม่ก็กำลังตื่นตัว กับการพัฒนาทักษะดิจิทัล พนักงานที่ใช้ชีวิตกับคอมพิวเตอร์แทบตลอดเวลา พร้อมหรือยังที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ให้ทันกับการเปลี่ยนผ่านที่กำลังจะมาถึง