บริษัท ดิจิโอ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้พัฒนาและให้บริการระบบชำระเงิน และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallet) ในประเทศไทย ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2555 และมีฐานลูกค้าทั้งธนาคาร สถาบันการเงิน และSME ที่ใช้บริการระบบรับชำระเงินในรูปแบบเครื่องรูดบัตรที่สามารถเชื่อมต่อกับมือถือได้ หรือเรียกว่า “mPOS” (Mobile point of sale)
ดิจิโอมีรายได้จาก 3 ช่องทางหลัก
- ค่าธรรมเนียมการรูดเงินจะเป็นรายได้หลัก
- การพัฒนาระบบรับชำระเงิน
- จากอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์
จากการเติบโตปีละ 50-100% ต่อเนื่องในช่วง 4 ปีแรก และปี 2559 เป็นปีที่เติบโตสูงสุด 400% โดยมีรายได้รวมประมาณ 190 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากนโยบายระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ของรัฐบาล ที่ต้องการพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศไทยสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless)
ร่วมระดุมทุน ขยายบริการรับนโยบายรัฐบาล
ต่อจากนี้ดิจิโอได้มีแผนที่จะขยายธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้น โดยนพพรได้บอกว่า “เราพยายามเติบโตด้วยตนเองมาโดยตลอด และไม่เคยคิดที่จะเพิ่งแหล่งเงินทุน แต่เมื่อเราต้องการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศทำให้จำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มขึ้น และยังขาดในเรื่องของเน็ตเวิร์คในประเทศต่างๆ ทำให้เราหา VC ในไทยที่สามารถช่วยในส่วนนี้ได้”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเตรียมเปิดให้บริการชำระเงินผ่านระบบคิวอาร์โคด (QR Code) เป็นมาตรฐานการชำระเงินรูปแบบใหม่ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมจะประกาศให้ใช้ได้อย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการเติบโตของฐานลูกค้าซึ่งเป็นร้านค้ารายย่อยทั่วประเทศได้อีกมาก
ทั้งนี้ ได้มีการจับมือกับ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ในโครงการอินเว้นท์ (InVent) VC ในเครือ AIS โดยจะนำเงินลงทุนไปใช้ในการขยายธุรกิจ และร่วมมือกับอินทัชในการผลักดันการใช้ระบบชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ในภาคธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย National e-Payment ของรัฐบาล รวมถึงการขยายธุรกิจของบริษัทไปสู่ประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยมองตลาด พม่า ลาว กัมพูชา เป็นหลัก และมีแนวคิดที่จะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอีก 3-5 ปี ข้างหน้า
คิมห์ สิริทวีชัย รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานบริหารการลงทุน และหัวหน้าโครงการบริษัทร่วมทุน อินเว้นท์ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อินทัชสนใจลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพที่มีแผนธุรกิจที่ชัดเจน มีฐานลูกค้า มีสินค้าหรือบริการออกสู่ตลาดแล้ว และสามารถสร้างรายได้จากการขายสินค้า และบริการได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริษัทในกลุ่มอินทัช สามารถนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่คิดค้นได้มาเสริมศักยภาพทางธุรกิจ และพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ให้กับลูกค้าได้ในอนาคต
“ในปีนี้เราเริ่มให้ความสำคัญในเรื่องของระบบการจ่ายเงิน ให้ลูกค้าใช้จ่ายสะดวกขึ้น และผู้ประกอบการนำพาธุรกิจให้อยู่รอดได้ จึงเป็นเหตุผลที่ร่วมลงทุนกับดิจิโอ แต่เข้าไปลงทุนในส่วนน้อย และไม่ได้เข้าไปยุ่งในส่วนงาน พร้อมสนับสนุนการเข้าถึงฐานลูกค้าในกลุ่มอินทัชด้วย”
อย่างไรก็ดี ดิจิโอถือเป็นธุรกิจสตาร์ตอัพแห่งที่ 11 ที่บริษัทเข้าร่วมลงทุนกับอินเว้นท์ ภายใต้นโยบายการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพปีละ 200 ล้านบาท และมี 2 แห่งที่บริษัทได้ขายการลงทุนออกไปแล้ว และได้ผลตอบแทนจากการลงทุน 20%