ในอเมริกา กลไกการให้เงินคืน (Cashback) ได้รับความนิยมอย่างมาก ขณะที่ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีความน่าสนใจในแง่ของอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นต่อเนื่องทำให้ ShopBack แพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่เชื่อมระหว่างร้านค้าชั้นนำจากในและต่างประเทศกับนักช้อปออนไลน์ เลือกเปิดตัว ShopBack ในประเทศไทยเป็นประเทศที่ 6 ในภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังเปิดให้บริการไปแล้ว ได้แก่ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน เมื่อไม่นานมานี้
ด้วยคอนเซ็ปต์การทำงานง่ายๆ เมื่อมีการซื้อขายสำเร็จในแต่ละครั้ง นอกจากการที่ผู้ซื้อจะได้รับส่วนลดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคูปอง บัตรกำนัล โค้ดส่วนลด และเงินคืนสำหรับบัตรเครดิตจากร้านค้าออนไลน์แล้ว
“ยังจะได้รับเงินคืนตั้งแต่ 0.5% สูงสุดถึง 30% ผ่าน ShopBack อีกด้วย”
โดย ShopBack จะได้รายได้จากค่าคอมมิชชั่นจากร้านค้าออนไลน์ จากนั้น ShopBack ก็จะนำค่าคอมมิชชั่นส่วนหนึ่งมาแบ่งให้กับผู้ซื้อในรูปแบบของการคืนเงิน ซึ่งเป็นเหมือนโบนัสให้กับผู้ซื้อนั่นเอง
กวิน ประชานุกูล ผู้ก่อตั้งและผู้จัดการ ShopBack ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การคืนเงินของ ShopBack จะแยกออกจากส่วนลด บัตรกำนัล โค้ดส่วนลด หรือข้อเสนอต่างๆ จากร้านค้า แตกต่างจากเว็บไซต์ที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการทางออนไลน์อื่นๆ หรือโปรโมชั่นเงินคืนของบัตรเครดิต ซึ่งมักจะมีข้อจำกัดมากมาย (เช่น สามารถใช้ส่วนลดภายในช่วงเวลาที่กำหนดเท่านั้น) และมีข้อจำกัดเกี่ยวกับประเภทสินค้าหรือบริการ (เช่น ดีลนี้สามารถใช้ได้กับสินค้าหรือบริการเฉพาะบางรายการเท่านั้น) นอกจากนี้ผู้ซื้อสามารถโอนเงินคืนที่ได้จาก ShopBack เข้าสู่บัญชีธนาคารได้โดยตรง เมื่อมียอดเงินสะสม 250 บาทขึ้นไป
“ปัจจุบัน ShopBack มีผู้ใช้งานรวมกว่า 3 ล้านคน โดยมีจำนวนการสั่งสินค้า 1,000 รายการต่อชั่วโมง และมีร้านค้าออนไลน์กว่า 1,300 ร้านค้าทั่วภูมิภาค ที่ผ่านมามีการคืนเงินให้กับลูกค้าไปแล้ว 350 ล้านบาทต่อปี ใน 5 ประเทศ ในรูปแบบเงินสดที่โอนเข้าบัญชีธนาคาร ภายใน 1 วัน และนานที่สุด 45 วัน
อย่างไรก็ตาม สำหรับการเปิดให้บริการที่ประเทศไทย คาดว่าจะสามารถคืนเงินให้ผู้ซื้อชาวไทย มากกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้มีแผนที่จะเพิ่มร้านค้าออนไลน์ในไทยให้ได้ 500 ร้าน จากปัจจุบันมีอยู่ 100 ร้านค้า อาทิ Lazada , Grab , Uber , Expedia , Booking.com , Eatigo , Pomelo และ Sephora เป็นต้น” กวิน กล่าว