สมาร์ทโฟนที่รัก

วิธีรักษาความสัมพันธ์ในยุคสมาร์ทโฟนย้อนกลับไปเมื่อสิบปีที่แล้ว Apple ได้เปิดตัว iPhone ซึ่งถือได้ว่าเป็นสมาร์ทโฟนเครื่องแรกที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค โดยมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ iOS ที่ใช้งานง่ายและเสถียร ส่งผลให้เกิดกระบวนการตามแห่มากมายจากหลายผู้ผลิตอย่างที่พวกเราทราบกัน โดยเว็บไซต์ Statista ได้ประมาณการณ์ว่าภายในสิ้นปี 2560 นี้ จะมีผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนทั่วโลกกว่า 2.32 พันล้านราย ขณะที่ประเทศไทยคาดว่าจะอยู่ที่ราว 21.8 ล้านราย  ผลกระทบที่ตามมานั้นผมคิดว่าทุกท่านน่าจะทราบกันดี แต่หากใครไม่ทันสังเกตการเปลี่ยนแปลงโดยรอบ ลองสละเวลาสักเล็กน้อยพิจารณาปรากฏการณ์ต่อไปนี้ดูว่าเกิดขึ้นกับบุคคลใกล้ตัวเราหรือไม่

  • เวลานัดเพื่อน (หรือแฟน) ทานข้าว แทนที่จะพูดคุยถึงสารทุกข์สุขดิบหรือเมาท์มอยตามประสาคนไม่เจอกันนาน กลับกลายเป็นว่าต่างคนต่างก้มหน้าเล่นมือถือไม่สนใจเพื่อนร่วมโต๊ะอาหาร (แล้วจะนัดมาเพื่อ…)
  • คนโดยสารรถเมล์หรือรถไฟฟ้ามัวแต่ก้มหน้าดูมือถือ โดยไม่สนใจว่าตัวเองกำลังยืนขวางทางผู้โดยสารคนอื่น (แถมเวลาบอกให้หลีกทางยังทำเป็นค้อนใส่เราอีกต่างหาก…)
  • เด็กน้อยที่ยังต้องอาศัยรถเข็นนั่งจิ้มแท็บเล็ตอย่างเมามัน ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว เพราะคุณพ่อคุณแม่หวังดีอยากให้ลูกคุ้นเคยกับเทคโนโลยีแต่เล็ก
  • ฯลฯ

ระยะเวลาใช้สมาร์ทโฟน

สมาร์ทโฟนไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์เลวร้าย เพราะเราใช้มันเป็นเครื่องมือในการค้นหาข้อมูล ทำงาน เช็คสภาพอากาศ คุยกับญาติพี่น้องที่อยู่ห่างไกล เสพความบันเทิง และแน่นอน แอบดูชีวิตส่วนตัวของชาวบ้าน (ที่เจ้าตัวยินยอมเปิดเป็น Public) สะท้อนให้เห็นจากข้อมูลที่บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย เปิดเผยออกมาเมื่อปีที่แล้วเกี่ยวกับยอดการใช้ข้อมูล (Data) ของสมาร์ทโฟนในประเทศไทยว่า ผู้ใช้สมาร์ทโฟนชาวไทยใช้เวลาเฉลี่ย 230 นาที หรือเกือบ 4 ชั่วโมงต่อวันไปกับการใช้งานสมาร์ทโฟน โดยการสื่อสาร (ครอบคลุมถึงการโทรคุย แชต Line และส่งอีเมล) ยังเป็นการใช้งานอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยการใช้โซเชียลมีเดีย (Facebook, Instagram ฯลฯ)และการสื่อความบันเทิง (เล่นเกม ดูหนัง ฯลฯ) ตามลำดับ

ด้วยความสามารถของสมาร์ทโฟนและความหลากหลายของคอนเท้นท์บนโลกออกไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น จึงไม่แปลกใจที่เรามีแนวโน้มผูกติดชีวิตเข้ากับมือถือหน้าจอเหลี่ยม ๆ ต่อวันนานขึ้น แต่สิ่งที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้คือ ผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต พัฒนาการของระบบประสาท และยังไม่นับรวมถึงอุบัติเหตุที่จะตามมาจากการใช้งานไม่ถูกกาลเทศะ เช่น ขณะขับรถ ข้ามถนน หรือเดินชนคนอื่นโดยไม่ได้ตั้งใจ และที่สำคัญคือ ยังส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักหรือกระทั่งเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ผลกระทบโซเชียลมีเดีย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีผลการสำรวจโดย The Royal Society for Public Health (RSPH) ร่วมกับ the Young Health Movement (YHM) สหราชอาณาจักร เกี่ยวกับผลกระทบของการใช้งานโซเชียลมีเดียที่มีต่อสุขภาพจิตของเยาวชน โดยผู้ทำการสำรวจได้ขอให้เยาวชนกลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 14 – 24 ปี กว่า 1,500 รายในประเทศดังกล่าวให้คะแนนบริการโซเชียลมีเดียแต่ละรายการว่าได้ส่งผลต่อความเครียด ความวิตกกังวล รวมถึงความรู้สึกที่มีต่อร่างกายของตนเอง (Body Image) อย่างไรบ้าง

ผลการสำรวจพบว่า YouTube คือโซเชียลมีเดียที่ส่งผลกระทบทางบวกต่อความรู้สึกของผู้รับการสำรวจมากที่สุดจากทั้งหมด 5 รายการ รองลงมาคือ Twitter และอันดับสามจึงเป็น Facebook ส่วนสองบริการรั้งท้ายนั้นก็คือ Snapchat และ Instagram ตามลำดับ ซึ่งแปลความได้ว่าทั้งสองบริการนั้นทำให้ผู้บริโภคเกิดความเครียด และไม่พอใจกับสภาพความเป็นจริงของตนเองมากที่สุด

Snapchat และ Instagram นั้นทำให้ผู้บริโภคเกิดความเครียด และไม่พอใจกับสภาพความเป็นจริงของตนเองมากที่สุด

เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น?? สังเกตได้ว่าทั้ง Snapchat และ Instagram คือโซเชียลมีเดียที่เน้นการสื่อสารด้วย “ภาพ” ซึ่งโบราณก็กล่าวไว้ว่าสามารถแทนคำพูดได้พันคำ ผนวกกับฟังชันของแอปที่ออกแบบให้กดไลค์และแชร์ได้ง่ายเพียงปลายนิ้วเขี่ยนั้น ก็ยิ่งทำให้ภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่แสนจะน่าอิจฉาของเพื่อนหรือคนที่เราติดตามถูกฉายซ้ำและส่งต่อไปไม่รู้จบ มิหนำซ้ำเจ้าอัลกอริธึมตัวแสบพอเห็นเรากดไลค์ก็คงนึกว่าเราชื่นชอบภาพโลกสวยแบบนั้น ทำให้คราวถัดไปที่เราเปิดแอปขึ้นมาก็มักจะพบภาพแบบดังกล่าวลอยหวือเต็มฟีดไปหมด! ทั้งหลายทั้งปวงล้วนแต่ทำให้คนรุ่นใหม่ (ที่จิตไม่แข็งพอ) มีความต้องการไม่รู้จบ และไม่พอใจกับสิ่งที่ตนเป็น

ความจริงกับที่อยู่ใน IG

ง่าย ๆ ลองเทียบกับสมัยพ่อแม่เรา พอพวกท่านเรียบจบก็แยกย้ายกันไปทำมาหากิน จะเจอกันทีก็งานเลี้ยงรุ่นบ้าง งานแต่งเพื่อนบ้าง งานบวชลูกบ้าง หรือแม้แต่งานตายของเพื่อนในกลุ่มบ้าง ซึ่งท่านทั้งหลายก็จะใช้ช่วงเวลาเหล่านี้เนี่ยแหละในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเป็นไปในหมู่เพื่อนฝูง ไม่เหมือนคนรุ่นใหม่ที่เพียงเปิดมือถือขึ้นมาไล่นิ้วก็รู้แล้วว่าเพื่อนเราเพิ่งเลิกกับแฟน รุ่นน้องเราคนนี้เพิ่งไปเรียนต่อเมืองนอก หมาแมวของรุ่นพี่คนนี้ตายก่อนวัยอันควร หรือมิตรสหายร่วมรุ่นเราเพิ่งถอยรถใหม่ เป็นต้น

แต่น่าสนใจที่ว่าลักษณะนิสัย “แชร์” ไม่จำกัดแบบก็เกิดกับคนรุ่นพ่อแม่ของเราที่ใช้สมาร์ทโฟนด้วย! เพียงแต่คอนเท้นท์ที่ท่านแชร์มักจะมีความ “โชว์ออฟ” น้อยกว่า อย่างเบา ๆ ก็เป็นภาพธรรมมะสวัสดีพร้อมช่อดอกไม้ตามสีประจำวัน หรืออย่างมากก็เป็นภาพที่ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้า ดูน่ารักและอบอุ่น

ไม่เพียงแต่การใช้งานโซเชียลมีเดียมากเกินไปจะส่งผลทางลบต่อสุขภาพจิตแล้ว ผลการวิจัยพบว่ายังส่งผลต่อความสำพันธ์ระหว่างบุคคลด้วย

ผลกระทบสมาร์ทโฟน

เมื่อปีที่แล้ว วารสาร Psychology of Popular Media Culture ได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยเรื่องหนึ่งที่พบว่า กว่าร้อยละ 70 ของผู้หญิงบอกว่าสมาร์ทโฟนส่งผลในทางลบต่อความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ โดยหนึ่งในสามของผู้หญิงที่ได้รับการสำรวจทั้งหมด 143 ราย กล่าวว่าแฟนของพวกเธอตอบสนองต่อการแจ้งเตือนจากมือถือขณะที่กำลังสนทนาด้วยกันขณะที่กว่าหนึ่งในสี่บอกว่าแฟนของพวกเธอชอบคุยแชตระหว่างการสนทนา

ที่น่าสนใจคือ งานวิจัยได้สรุปว่าผู้หญิงที่บอกว่าแฟนของพวกเธอชอบใช้มือถือ (หรืออุปกรณ์เทคโนโลยีอื่น) ระหว่างการสนทนาด้วยกันนั้น มีความสุขในชีวิตคู่และชีวิตโดยรวมน้อยกว่าผู้หญิงที่มีแฟนมารยาทดีพอที่จะไม่ควักมือถือออกมาเล่นพร่ำเพรื่อ

ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ได้เกิดกับเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น เพราะงานวิจัยของดอกเตอร์ James Roberts ศาสตราจารย์ด้านการตลาดจากมหาวิทยาลัย Baylor สหรัฐอเมริกา ก็พบว่าผู้ชายก็มีความรู้สึกนอย ๆ เช่นกันเวลาแฟนของตัวเองเล่นมือถือไม่รู้จักเวลา และเช่นเดียวกันที่ความสัมพันธ์มักจะไม่ราบรื่นนัก หากพบว่าแฟนหยิบมือถือมาคุยแช็ทระหว่างสนทนากันอยู่บ่อย ๆ

ทว่า ด้วยสภาวการณ์ปัจจุบันเราคงไม่สามารถตัดขาดจากสมาร์ทโฟนได้อย่างเด็ดขาด แต่เราคงต้องกำหนดกฎกติกาบางอย่างขึ้นมาเพื่อธำรงความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคู่รัก และกับเพื่อนร่วมโลกให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างราบรื่น โดยกระทำไปทีละขั้นตอน ดังนี้

  1. บังคับตัวเองให้ใช้สมาร์ทโฟนน้อยที่สุด โดยคงเหลือแต่ที่จำเป็นจริง ๆ เช่น คุยงาน ค้นหาข้อมูล เป็นต้น และตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นทิ้ง เช่น การโพสต์บ่นลอย ๆ หรือการแชร์คอนเท้นท์พร่ำเพรื่อไร้สาระ
  2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานสมาร์ทโฟนให้ถูกกาลเทศะมากขึ้นทีละเล็กละน้อย เช่น ไม่ใช้งานระหว่างทานอาหารกับเพื่อนหรือแฟน ไม่ใช้งานขณะเดินข้ามถนนหรือขับรถ เป็นต้น ที่สำคัญคือต้องหัดดูสภาพแวดล้อมรอบตัวขณะใช้งานด้วย
  3. หากิจกรรมอื่นทำนอกจากการใช้งานโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นอ่านหนังสือ เดินเล่นในพิพิธภัณฑ์ เดินทางท่องเที่ยว และที่สำคัญ ต้องหัดพูดคุยกับคนเป็น ๆ ต่อหน้าให้มากขึ้น เพราะโลกไม่ได้มีแค่ปุ่ม แป้น และจอเหลี่ยม ๆ

เพียงเท่านี้ โลกก็คงน่าอยู่ขึ้นอีกหลายเท่าตัวแล้วครับ

 

Contributor

สรนาถ รัตนโรจน์มงคล

สรนาถ รัตนโรจน์มงคล

จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 48 และปริญญาโทจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รหัส 55 ชื่นชอบและติดตามความเคลื่อนไหวด้านเทคโนโลยีมานาน งานอดิเรกคือชอบถ่ายภาพควบคู่กับการเดินทาง

ปัจจุบันเป็นข้าราชการในโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) รุ่นที่ 10 สำนักงาน ก.พ.ร. ติดตามอ่านบทความย้อนหลังได้ที่ www.bitwiredblog.com และชมเว็บไซต์ผลงานภาพถ่ายได้ที่ http://iviewphoto.me

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

เมื่อระบบ AI เข้าในระบบของสมาร์ทโฟน เพื่อเจาะตลาดกลุ่มลูกค้ามิลเลนเนียล

จอห์น เฉิน ผู้อำนวยการฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสียวหมี่ ประเทศไทย และปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส   ประกาศเปิดตัวความร่วมมือ ระหว่าง เอไอเอสและเสียวหมี่ ในฐานะดิจิทัล พาร์ทเนอร์ นำ “Xiaomi...

  • ซิมเพนกวินไรเดอร์ เจาะตลาดคนขับมอเตอร์ไซต์

    ช่วงนี้วงการโทรคมนาคมไทยยังคงแข่งขันกันอย่างดุเดือน ต่างพากันปล่อยหมัดเด็ดอัดโปรโมชั่นออกมาเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ รวมถึงการดึงลูกค้าจากรายอื่น ๆ แม้ว่าจะมีรายใหม่เข้ามาในตลาดเพื่อแย่งส่วนแบ่งบ้าง แต่ก็ยังไม่สามารถขยับขึ้นไปได้มากนัก ซึ่งขณะนี้มีเพียง 3...

  • Zenfone Max Plus สมาร์ทโฟนอีกรุ่น ที่ปลดล็อคด้วยใบหน้า

    ปัจจุบันแบรนด์มือถือในตลาดต่างแข่งขันกันปรับดีไซน์เครื่องและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์หน้าจอแบบไร้ขอบ ถ่ายภาพด้วยกล้องคู่ รวมถึงฟีเจอร์ปลดล็อคด้วยใบหน้า เป็นต้น หลังจากปลายปีที่แล้ว iPhone X เปิดตัวพร้อมระบบสแกนใบหน้าในรูปแบบ 3 มิติ ทำให้ในปี 2018 มีการคาดการณ์ว่าระบบปลดล็อคด้วยใบหน้าจะเป็นที่นิยม...