สำรวจพฤติกรรมแบบด่วน Fast in Flow แอพฯ วิจัยตลาดบนโมบายล์

Fast in Flow ได้เกิดขึ้นอย่างเต็มตัวหลังจากเข้าประกวด dtac Accelerator 2013 และได้ไปดูงานวงการสตาร์ทอัพที่ซิลิคอนวัลเลย์ เมื่อกลับมาจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำและร่วมประกวด dtac Accelerator 2014 อีกรอบจนสามารถเปิดให้บริการเครื่องมือวิเคราะห์ตลาดแบบง่ายๆ ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องจ้างบริษัทวิจัย

เฉลิมยุทธ์ บุญมา ผู้ก่อตั้ง Fast in Flow

เฉลิมยุทธ์ บุญมา ผู้ก่อตั้ง Fast in Flow

นักการตลาดส่วนใหญ่ยังคุ้นเคยกับการจ้างบริษัทวิจัยการตลาดในการเก็บข้อมูลแบบเดิม ดังนั้น Fast in Flow จะทำอย่างไรให้นักการตลาดหันมาใช้เครื่องมือนี้ในการวิเคราะห์ตลาดแบบง่ายๆ ด้วยตัวเอง

ผู้ช่วยการตลาดในยุคด่วนๆ
เฉลิมยุทธ์ บุญมา ผู้ก่อตั้ง Fast in Flow กล่าวว่า โปรเจ็กต์นี้เกิดจาก Pain Point และเทรนด์การใช้งานแอพฯ บนโมบายล์ในกิจกรรมต่างๆ ประกอบมากขึ้น รวมถึงมีการทำวิจัยสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคและมีการเก็บคำถามผ่านเว็บไซต์ โดยมองว่าโมบายล์เริ่มมีบทบาทในชีวิตของคนอย่างต่อเนื่องจึงเห็นถึงโอกาสที่จะสร้างอีกช่องทางหนึ่งในการเก็บข้อมูลผ่านช่องทางใหม่ๆ ให้กับนักการตลาด โดยลดการใช้กระดาษและมาเก็บข้อมูลผ่านโมบายล์ที่ติดกับมือของผู้บริโภคตลอดเวลาแทน โดยจุดเด่นของวิธีการนี้คือ สามารถสอบถามข้อมูลของผู้ใช้ได้แบบเรียลไทม์ประหยัดกว่าทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย โดยเรียกว่า Fast Online Survey Platform

“เราได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นชื่อ Tikko ขึ้นมาโดยเปิดให้ผู้บริโภคทั่วไปใช้งานฟรี และสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคเข้ามาตอบแบบสอบถามผ่านระบบเก็บแต้มแลกรางวัล เช่น บัตรกำนัล Google Play หรือ iTunes โดยโมเดลธุรกิจของ Fast in Flow คือสร้างฐานผู้บริโภคที่ยินดีจะตอบแบบสอบถามเป็นจำนวนมากและหลากหลาย จากนั้นหารายได้จากบริษัทหรือแบรนด์ต่างๆ ที่ต้องการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคแทน โดยคิดเงินจากจำนวนคำถามและจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม”

ปัจจุบันแอพพลิเคชั่น Tikko มีให้ใช้งานบนแพลตฟอร์มแอนดรอยด์ และไอโอเอส โดยในอนาคตจะมีเวอร์ชั่นเว็บฯ เพิ่มเข้ามาอีกช่องทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคไม่ว่าอยู่หน้าจอใดก็สามารถเข้ามาร่วมทำแบบสอบถามได้

เฉลิมยุทธ์ กล่าวต่อว่า ส่วน Fast in Flow จะเป็นเครื่องมือผู้ช่วยนักการตลาดในการส่งแบบสอบถามไปยังกลุ่มเป้าหมาย โดยสามารถเก็บข้อมูลได้เสร็จภายในไม่กี่วัน ซึ่งช่วยให้แบรนด์สามารถเก็บข้อมูลกลุ่มเป้าหมายได้รวดเร็วขึ้นจากปกติใช้เวลาเป็นเดือน ตอนนี้เน้นลูกค้าในไทยเป็นหลัก และเป็นการวัดพฤติกรรมของผู้บริโภคโดยรวมคือกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในอนาคตมีแผนจะขยายความสามารถของแอพฯ ให้เจาะเป็นรายภูมิภาคได้ และระยะยาวมีแผนจะไปทำตลาดต่างประเทศด้วย

การเข้าร่วมในโครงการบ่มเพาะอย่างโครงการประกวด dtac Accelerator ช่วยได้มากเพราะมีคำแนะนำจากที่ปรึกษาผู้มีประสบการณ์ โดยเฉพาะจากซิลิคอนวัลเลย์ที่บินมาให้คำแนะนำกับผู้เข้าโครงการ ข้อดีอีกอย่างคือ ในเรื่องช่องทางการตลาด เช่น การเข้าร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือที่สามารถใช้ช่องทางของโอเปอเรเตอร์ช่วยโปรโมทแอพฯ ให้เราได้

นอกจากนี้ ประสบการณ์จากการเข้าร่วมเข้าค่ายต่อเนื่องที่ซิลิคอนวัลเลย์หลังได้รับรางวัลจาก ดีแทคนั้นทำให้เห็นถึงมุมมองของโลกสตาร์ทอัพที่กว้างขึ้น รวมถึงสตาร์ทอัพในกลุ่มของเครื่องมือวิจัยทางการตลาดด้วย ที่สำคัญได้เจอกับนักลงทุนจำนวนมากที่เข้ามาฟังการนำเสนอผลงานของสตาร์ทอัพและได้มีความคิดเห็นต่อโปรดักส์ของ Fast in Flow กลับมาซึ่งเป็นประโยชน์มาก

เมื่อกลับมาประเทศไทยจึงตัดสินใจเปิดบริษัทและเริ่มต้นทำโปรดักส์อย่างจริงจัง โดยนำสิ่งที่ได้มาปรับกับตลาดเมืองไทย เพราะพบว่าพฤติกรรมของนักการตลาดกับการเรียนรู้เทคโนโลยีของคนยุโรปและอเมริกาไม่เหมือนกับประเทศไทย

e205

ฉบับที่ 205 เดือนมกราคม

NextGen ของโฆษณาบน Mobile

ความท้าทายกับความสบาย
เฉลิมยุทธ์ กล่าวว่า เริ่มต้นด้วยการสำรวจวงการของนักการตลาดอย่างจริงจัง ทำให้เห็นถึง Pain Point ของหลายๆ แบรนด์ และองค์กรหลายแห่งที่มีความต้องการข้อมูลสดใหม่ที่จะได้ข้อมูลนำไปใช้วางกลยุทธ์และปรับเทคนิคการตลาดให้ตอบสนองกับพฤติกรรมผู้บริโภคได้ทันท่วงทีมากยิ่งขึ้น

ถึงแม้ตอนนี้ตลาดในการนำเครื่องมือรูปแบบของ Fast in Flow มาใช้งานยังน้อยแต่เข้าใจว่าตลาดต้องการเวลาในการปรับตัวกับรูปแบบการสำรวจใหม่นี้ ซึ่งโปรดักส์นี้นักการตลาดหรือเอเยนซี่ต่างมองว่าเป็นโปรดักส์ที่ดี แต่ยังไม่ถึงเวลาคาดว่า ปีหน้าทุกคนเข้าใจและปรับใช้งานกับเครื่องมือการตลาดใหม่นี้ได้ดีมากยิ่งขึ้น และกลายเป็นดีมากกับนักการตลาดยุคใหม่แน่นอน

“การสร้างคำถามบนแพลตฟอร์มของ Fast in Flow ไม่ใช่สิ่งที่ท้าทายของเรา แต่ความท้าทายที่แท้จริงคือ ทำอย่างไรให้นักการตลาดเห็นถึงประสิทธิภาพ เกิดการเรียนรู้เครื่องมือ เห็นถึงความสะดวกสบาย และเข้ามาตั้งคำถามต่างหาก”

ตลอดระยะเวลา 2 ปี กับโปรเจ็กต์ Fast in Flow ตอนนี้เริ่มมีรายได้เข้ามาบ้างแล้วแต่ไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดดเหมือนสตาร์ทอัพอื่นๆ และตามที่คิดไว้ในตอนแรก เนื่องจากโปรดักส์ยังไม่พร้อมกับตลาด เพราะยังเป็นเครื่องมือใหม่สำหรับนักการตลาดและผู้บริโภคที่เข้าใจในการทำงานและประโยชน์ต่อการใช้งานแอพพลิเคชั่น ดังนั้นจึงต้องเร่งให้ความรู้กับนักการตลาดและจัดแคมเปญแก่ผู้บริโภคดึงดูดในการดาวน์โหลดแอพฯ เพื่อเข้ามาตอบแบบสอบถามให้มากที่สุด

ในส่วนของแอพฯ Fast in Flow ที่เป็นเครื่องมือของนักการตลาด ตอนนี้ลูกค้าที่เป็นแบรนด์หรือเอเยนซี่ต่างได้มี Feed Back เข้ามา ซึ่งถือเป็นเรื่องดีในการนำมาพัฒนาฟีเจอร์และพัฒนากลยุทธ์เพื่อนำไปขยายให้รองรับลูกค้าที่มากขึ้น แต่ยังมีนักการตลาดบางส่วนที่ยังไม่เข้าใจการทำงานของ Fast in Flow และมองว่าเป็นบริษัทวิจัยการตลาดแบบดิจิทัล และมีเครื่องมือช่วยทางการตลาดบนโมบายล์แอพพลิเคชั่นแบบครบวงจร แท้จริงแล้ว Fast in Flow เป็นเพียงจิกซอว์หนึ่งในการช่วยเก็บข้อมูลสำรวจความต้องการหรือสนใจของผู้บริโภคผ่านโมบายล์ได้เร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น ซึ่งหลายๆ ธุรกิจต้องการข้อมูลที่สดใหม่เพื่อนำไปวางแผนและพัฒนากลยุทธ์ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีเครื่องมือทางการตลาดที่จะช่วยสำรวจความคิดเห็นหรือความสนใจของผู้บริโภคได้รวดเร็วทันต่อการแข่งขันทางธุรกิจแบบเรียลไทม์

cover2-2

โอกาสและทำงานกับเอเยนซี่
เฉลิมยุทธ์ กล่าวต่อว่า การทำงานของ Fast in Flow ในอุตสาหกรรมวิจัยการตลาด จัดเป็นกลุ่ม Primary Data คือข้อมูลคำตอบจากแบบสอบถาม และนำมาวิเคราะห์ได้ทันที ในอดีตหรือแม้แต่ตอนนี้การทำวิจัยของหลายๆ บริษัทจะเริ่มต้นด้วยลูกค้ามีโจทย์มาให้และนำมาวางแผนว่าต้องทำวิจัยรูปแบบใด และสร้างเป็นโปรเจ็กต์ขึ้น โดยนำโจทย์ไปให้บริษัทวิจัยการตลาดทำการวางแผนในการเลือกใช้เครื่องมือชนิดใดในการสำรวจตลาดและส่งรายงานกลับไปให้กับลูกค้า โดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาวิเคราะห์ข้อมูลประมาณ 1-2 เดือน

แต่สิ่งที่ Fast in Flow พยายามนำเสนอเข้ามาทำให้การทำวิจัยแนวนี้ นักการตลาดสามารถได้ข้อมูลในระยะเวลาสั้นเพื่อนำไปประเมินผลได้รวดเร็วขึ้น ด้วยการตั้งคำถามให้สั้น กระชับ เข้าใจง่าย และส่งไปยังกลุ่มเป้าหมายให้ตอบคำถามผ่านแอพฯ Tikko ซึ่งจะใช้เวลารวบรวมประมาณ 1-2 วัน จากจำนวนผู้ตอบคำถามประมาณ 200 คน

“การนำเทคโนโลยีมาเป็นบริการแบบ Shorten กับการทำ Quick Questionnaire ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะจากการทำงานมาร่วม 2 ปี สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นอุปสรรคคือ พฤติกรรมของนักการตลาด เพราะนักการตลาดส่วนใหญ่ยังคุ้นเคยกับการจ้างบริษัทวิจัยการตลาดในการเก็บข้อมูลแบบเดิม ดังนั้น Fast in Flow จะทำอย่างไรให้นักการตลาดหันมาใช้เครื่องมือนี้ในการวิเคราะห์ตลาดแบบง่ายๆ ด้วยตัวเอง”

ตอนนี้ Fast in Flow ร่วมทำงานกับเอเยนซี่ในรูปแบบโปรเจ็กต์ให้กับแบรนด์สินค้า โดยการทำงานเป็นบริษัทวิจัยการตลาดบนโมบายล์ ตั้งแต่การทำ Proposal และออกแบบแบบสอบถามบนโมบายล์เพื่อส่งออกไปยังกลุ่มเป้าหมายนำมาวิเคราะห์ส่งให้กับเอเยนซี่ เกิดการขยายบริการออกไปจากจุดเริ่มต้นแค่เป็นเครื่องมือสำหรับนักการตลาด จึงทำให้ตอนนี้เริ่มมีการทบทวนในการพัฒนาโปรดักส์และให้บริการในอนาคตว่าจะกำหนดกรอบการทำธุรกิจอย่างไร เพราะถ้าเดินทางผิดอาจส่งผลต่อการทำธุรกิจในอนาคตได้

ช่วงนี้เป็นช่วงที่เอเยนซี่ปรับตัวหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภค ดังนั้น สิ่งที่สตาร์ทอัพจะได้ประโยชน์คือ หากรู้ว่ากลุ่มผู้บริโภคของพวกเขาคือกลุ่มไหนสามารถนำไปเสนอกับทางเอเยนซี่ ถ้าสตาร์ทอัพรู้ว่าเอเยนซี่ดูแลแบรนด์อะไรและเครื่องมือของเราให้ประโยชน์กับ Audience กับแบรนด์นั้น ก็น่าจะลองไปนำเสนอและพูดคุยกัน สมมติว่า เอเยนซี่รายหนึ่งดูกลุ่มลูกค้าเกี่ยวกับรถยนต์ ถ้าเป็นสตาร์ทอัพทำเกี่ยวกับรถยนต์ลองไปคุยกับแบรนด์ว่าเครื่องมือของเราสามารถช่วยให้คนขับรถยนต์ชีวิตดีขึ้น ตรงนี้อาจเป็นโอกาสในการร่วมทำงานแบบพันธมิตรทางธุรกิจ

กลุ่มอายุกลุ่มเป้าหมายของ Tikko จะไม่เกิน 40 ปี ดังนั้น นักการตลาดจะมาใช้ Fast in Flow จะได้ฐานผู้ตอบคำถามคือ กลุ่มคนที่ใช้งานสมาร์ทโฟน อายุ 18-40 ปี โดยมีเครื่องมือให้นักการตลาดสามารถส่งคำถามให้กับผู้บริโภคได้ไม่เกิน 10 ข้อ และตัวเลือกตอบไม่เกิน 7 ข้อ โดยใช้การคลิกเลือกตัวเลือกเท่านั้น จึงเหมาะกับนักการตลาดที่ต้องการข้อมูลรวดเร็วและนำไปวิเคราะห์ต่อได้ทันที เพราะ Fast in Flow เป็นเพียงเครื่องมือทางการตลาดรูปแบบหนึ่งในการช่วยนักการตลาดเพื่อได้ข้อมูลความต้องการหรือความสนใจของผู้บริโภคในช่วงเวลานั้นได้อย่างรวดเร็ว โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ใช้งานบนสมาร์ทโฟน

ข้อมูลที่มีคุณภาพ

“ในทุกวันนี้สิ่งหนึ่งที่ทั้งสตาร์ทอัพในต่างประเทศเจอเหมือนกันกับสตาร์ทอัพไทยคือนักการตลาดยังไม่มั่นใจกับคนที่ตอบคำถามว่าคือผู้บริโภคตัวจริงหรือไม่”

เฉลิมยุทธ์ กล่าวว่า ตอนนี้การทำตลาดจะเน้น 2 รูปแบบ คือ จะเน้นเจาะกลุ่มนักการตลาดแบรนด์สินค้า เอเยนซี่ เอสเอ็มอีหรือสตาร์ทอัพที่ต้องการเครื่องมือการตลาดไปสำรวจพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายแบบง่ายผ่านโมบายล์ ซึ่งตอนนี้เน้นการให้ความรู้และสอนการใช้งานมากกว่าการดาวน์โหลดแอพฯ ส่วน Tikko กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้บริโภค โดยตั้งใจจะขยายฐานลูกค้าให้กว้างมากขึ้น ตั้งเป้าไว้คือ 100,000 ดาวน์โหลด เพราะมองว่าเป็นตัวเลขที่พอเหมาะกับปริมาณกลุ่มตัวอย่างทางการตลาด ปัจจุบันมีผู้ดาวน์โหลดแล้วมากกว่า 80,000 ดาวน์โหลด

การตั้งเป้ากลุ่มดาวน์โหลดเพียง 100,000 ดาวน์โหลดนั้น เพราะต้องการกลุ่มตอบแบบสอบถามที่มีคุณภาพมากที่สุด การมีจำนวนผู้ตอบแบบสอบมากไม่ได้หมายความว่าข้อมูลที่ได้กลับมาจะมีคุณภาพ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นปีนี้ฟีเจอร์หนึ่งของ Tikko ในการยืนยันตัวตนของผู้ตอบแบบสอบถามละเอียดมากขึ้นจากเดิม คือการยืนยันด้วยการกรอกหมายเลขโทรศัพท์มือถือ เพราะต้องการให้นักการตลาดรู้สึกถึงคุณภาพของข้อมูลที่ได้รับ

การตอบแบบสอบถามโดยไม่ได้เห็นหน้าตาผู้ตอบทำให้ลดความน่าเชื่อถือของข้อมูลในมุมของนักการตลาด เพราะไม่รู้ว่าได้ตอบแบบสอบถามจริงหรือไม่ ดังนั้น Tikko จะถูกพัฒนาให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์สินค้าในการเข้ามาตอบคำถามผ่านแอพฯ อย่างมีคุณภาพและได้ข้อมูลที่แท้จริงมากที่สุด ซึ่งระบบการตอบแบบสอบถามนี้จะช่วยทำให้นักการตลาดนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์และต่อยอดในการวางแผนการตลาดได้เลยเมื่อได้เห็นคำตอบจากกลุ่มเป้าหมาย โดยเชื่อว่าข้อมูลที่ได้รับเป็นข้อมูลจริงจากผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายตัวจริง

“ผมเชื่อว่าตอนนี้หลายๆ ธุรกิจต้องการข้อมูลที่สดใหม่เพื่อนำไปวางแผนและพัฒนากลยุทธ์ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีเครื่องมือทางการตลาดที่จะช่วยสำรวจความคิดเห็นหรือความสนใจของผู้บริโภคได้รวดเร็วทันต่อการแข่งขันทางธุรกิจแบบเรียลไทม์ ปีที่ผ่านมาตลาดและบุคลากรอาจยังไม่พร้อมกับการใช้เครื่องมือนี้แต่มั่นใจว่าปีนี้หรือปีต่อไปเครื่องมือชนิดนี้จะเป็นที่ต้องการของตลาดแน่นอน” เฉลิมยุทธ์ กล่าว

 

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

chatbot
การแชทช่วยให้ข้อมูลสำคัญแก่ธุรกิจ

กรัณย์ วระพงษ์สิทธิกุล CEO บริษัท Mojito Technology แชทบอท กำลังกลายเป็นหนึ่งในช่องทางที่ผู้บริโภคจะใช้สื่อสารกับแบรนด์...

  • Chatbot-Thailand
    เสริมศักยภาพองค์กร ด้วยการใช้เทคโนโลยี Chatbot

    Chatbot จุดเริ่มต้นของการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ในภาคอุตสาหกรรม การแชทผ่านแอพฯ ในปัจจุบัน เป็นช่องทางที่หลายๆ คนเลือกใช้เป็นช่องทางหลักมากกว่าการโทร หรือส่งอีเมล ด้วยความสะดวก รวดเร็ว และสามารถตอบกลับกันได้อย่างทันที ซึ่งการใช้ในชีวิตประจำวันอาจจะไม่ได้พบเจออุปสรรคมากนัก  แต่การใช้งานในระดับองค์กรที่ต้องรับข้อความวันละหลายร้อยข้อความ นับว่าเป็นปัญหาที่หนัก และต้องใช้แรงานคนเข้ามาจัดการจำนวนมากเลยทีเดียว การนำระบบแชทบอท...

  • DAAT
    เทรนด์โฆษณาดิจิทัล ธุรกิจความงามเติบโตสูงสุด

    ศุภชัย ปาจริยานนท์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) สื่อโฆษณาดิจิทัลเป็นสื่อที่มีบทบาทมากขึ้นในยุคการตลาด 4.0 อีกทั้งรูปแบบของการโฆษณาดิจิทัลก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง...

  • GOOGLE-MOBILESITE
    โมบายล์ไซต์ เชื่อมต่อการค้าบนเดสก์ท็อป

    กิลาน เลอ ฌาเตลิเยร์  ผู้อำนวยการประจำภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โซลูชันส์การตลาด Google ไม่กี่ปีที่ผ่านมา...