จัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 กับงาน Aging 2.0 โดยเป้าหมายเพื่อที่จะแนะแนวทางและไอเดียสำหรับ Health Tech Startup นำไปต่อยอดนวัตกรรมสำหรับกลุ่มผู้สูงวัยที่กำลังเป็นสังคมใหญ่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยครั้งนี้มีสปีคเกอร์ กรณ์ จาติกวณิช ประธานชมรมฟินเทคแห่งประเทศไทย มาพูดถึงสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนไปสำหรับประเทศไทย และแนวทางการรองรับสังคมผู้สูงวัยด้วย
สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ โครงสร้างของสังคมไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก 5 ปีที่ผ่านมาประชากรชนบทเข้ามาในสังคมเมืองเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้ที่อยู่อาศัยมีความต้องการเพิ่มขึ้น เมื่อมองดูจากประเทศเพื่อนบ้านอาจจะยังไม่รวดเร็วเท่าไทย อาจจะมีลักษณะคล้ายกับสังคมในประเทศญี่ปุ่น ทำให้ต้องรีบหาวิธีในการใช้ทรัพยากรในร่วมกันที่มีอย่างจำกัด
ส่งผลให้โครงสร้างครอบครัวของสังคมไทยที่มีลูกคอยดูแลพ่อแม่ยามแก่ชรา อาจจะเปลี่ยนบริบทเหมือนกับสังคมตะวันตกมากขึ้น ต้องพึ่งพารัฐบาลจากเงินเกษียณอายุ แต่เมื่อมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจำนวนผู้เสียภาษีก็จะน้อยลงตามไปด้วย ทำให้เกิดแรงกดดันในส่วนของกระทรวงการคลังที่จะต้องหาทางออกในเรื่องนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ
สวนทางกลับวัยทำงานที่มีจำนวนน้อยลง ทำให้ต้องมีการเพิ่มทักษะแรงงานเป็น 2 เท่า เรื่องของการพัฒนาระบบการศึกษาจึงเป็นสิ่งจำเป็น อีกทั้งในส่วนของแรงงานต่างด้าวอาจจะเข้ามาแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้บ้าง แต่ต้องเปลี่ยนทัศนะคติคนไทยเสียใหม่มองให้เป็นเรื่องดีไม่ใช่มาแย่งงานคนไทย
อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นแน่นอน ในส่วนของภาคการเกษตร ซึ่งปัจจุบันชาวนนาในระบบอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 53 ปี จากเมื่อก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 33 ปี แสดงให้เห็นถึงการปลูกข้าวจะลดลง ในอนาคตอาจจะเห็นนาร้าง เพราะไม่มีใครปลูกข้าว และอาจมีข้าวไม่พอสำหรับบริโภคในประเทศ ถึงขั้นต้องนำเข้าด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ ยังมี ไพฑูรย์ เบญจพรเลิศ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด มาบอกเล่าถึงปัญหาด้านสุขภาพที่ผู้สูงอายุต้องพบเจอ ซึ่งอายุ 75 ปี ขึ้นไป มีโอกาสล้มได้ถึง 1 ใน 4 คน ด้วยอายุที่เยอะขึ้น ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือปวดเขา แม้ว่าจะมีไม้เท้าช่วยในการเดินแต่ก็ยังมีการใช้งานน้อยอยู่ ด้วยคนไทยมีความคิดที่ว่า รู้สึกอายเมื่อใช้ไม้เท้า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางต้องระมัดระวัง
สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2050 และการแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยี
จากปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น มีสิ่งหนึ่งที่จะมาช่วยบรรเทาให้มีการจัดการที่ดีขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสังคมผู้สูงอายุในจุดต่างๆ ซึ่งปัจจัยสำคัญได้แก่ สุขภาพ การเงิน และที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ จะเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจ และสตาร์ทอัพ ได้คิดค้นโซลูชั่นมารองรับสิ่งเหล่านี้ให้ทันภายในปี 2050 ที่จะมีจำนวนผู้สูงอายุถึง 20 ล้านคน
ไม่แน่ว่าเราอาจจะเห็นการนำเทคโนโลยีมาเปลี่ยนแปลงสังคมผู้สูงวัย มีบริการใหม่ๆ อย่างเช่น มีรถยนต์ไฟฟ้าให้เช่า ส่งถึงหน้าบ้านอาจสะดวกกว่าการซื้อรถ เรื่องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ปัจจุบันก็มีการพัฒนาใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น หรือในเรื่องของที่อยู่อาศัย อาจจะมีเทคโนโลยีมารองรับสามารถแท็กคนที่ต้องการซื้อบ้านกับคนที่ปล่อยเงินกู้ โดยไม่ต้องติดต่อธนาคารโดยตรง ทำให้ดอกเบี้ยถูกลง
สิ่งที่เริ่มเห็นเป็นรูปร่างในขณะนี้แล้วนั้น คงจะเป็นในส่วนของการเงิน กับ สุขภาพ มีสตาร์ทอัพจำนวนไม่น้อยเริ่มเข้ามาแก้ปัญหาสำหรับผู้สูงวัย ซึ่ง FinTech กำลังบูมมากในการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งการเงินได้มากขึ้น และลดต้นทุนในการทำธุรกรรม สำหรับ HealthTech ก็ถือว่ากำลังตื่นตัวอยู่ไม่น้อย ในไม่ช้าเราคงจะเห็นบริการที่หลากหลายในเรื่องของสุขภาพมากขึ้นเช่นกัน