ทุกๆ กลางปีแอปเปิลจะจัดงาน WWDC หรือ Apple Worldwide Developers Conference งานประจำปี เพื่ออัพเดตความรู้ของนักพัฒนาทั่วโลกให้พร้อมรับกับซอฟต์แวร์เวอร์ชั่นใหม่ของแอปเปิล ซึ่งในงาน WWDC 2016 นี้แอปเปิลได้เปิดตัวระบบปฏิบัติการใหม่ครบทุกกลุ่มอุปกรณ์ที่แอปเปิลมีอยู่ นั่นคือ macOS, iOS, tvOS และ watchOS
iOS 10 มามะ…มาใช้ iMessage กันเถอะ
สำหรับเวอร์ชั่นที่ 10 ของระบบปฏิบัติการสำหรับ iPhone, iPad ตัวนี้ ดูเหมือนว่าแอปเปิลจะเน้นไปที่ฟีเจอร์สร้างสีสันในการใช้งานมากกว่าฟีเจอร์พื้นฐานของระบบที่พัฒนากันจนเกือบจะสุดทางแล้ว ซึ่งความสามารถที่ชูโรงมากๆ คือลูกเล่นของ iMessage ใหม่ๆ
iMessage หรือระบบแชตระหว่างผู้ใช้ iOS และ macOS นั้น พัฒนาขึ้นมาทัดเทียมแอพแชตอย่าง LINE หรือ WhatsApp ได้แล้วใน iOS 10 ด้วยการใส่ลูกเล่นแฟนซีเข้าไป เช่น ใส่เอฟเฟ็กต์ในวิดีโอที่ส่ง ส่งสติ๊กเกอร์ได้ (แบบ LINE) ลูกเล่นตัวอักษรตกกระแทก หรือตัวอักษรใหญ่ (เหมือน MSN) ลูกเล่นแอนิเมชั่นเต็มจอ เช่น บอก Happy Birthday จะมีลูกโป่งลอยขึ้นมา (เหมือน WeChat) หรือแนะนำ Emoji สำหรับคำต่างๆ ที่พิมพ์ได้แถมพรีวิวลิงก์ที่ส่งได้ก่อนกดดู (เหมือน LINE อีก) นอกจากนี้ ยังเปิดให้นักพัฒนาภายนอกสามารถทำแอพฯ เสริมความสามารถให้ iMessage ได้อีกด้วย (เหมือน Facebook Messenger) และข้อความลับที่ต้องเอานิ้วถูจอถึงจะเห็นข้อความ (ไม่เหมือนใครสักที)
อีกจุดที่ปรับปรุงเยอะ และผู้ใช้น่าจะชอบกันคือ Notification ที่สามารถดูข้อมูลได้มากขึ้น สามารถออกแอ็คชั่นกับการแจ้งเตือนนั้นได้มากขึ้นจาก Lock Screen เลย เช่น เมื่อข้อความเข้า ก็สามารถอ่านแชตนั้นได้ย้อนหลัง และตอบกลับได้จากหน้าล็อก โดยไม่ต้องเข้าแอพ นอกจากนี้ ยังมีฟังก์ชั่น Raise to wake หรือยกเครื่องขึ้นมองและจอจะติดเองเพื่อให้ผู้ใช้ได้ดูการแจ้งเตือน และ 3D Touch จะถูกเอามาใช้ดูข้อมูลโดยไม่ต้องเปิดแอพฯ มากขึ้น นอกจากนี้ การเลื่อนหน้าจอเพื่อปลดล็อกที่เราคุ้นเคยกันดีจะหายไป แล้วเปลี่ยนเป็นการแตะที่ปุ่มโฮมเพื่อปลดล็อกแทน
ที่น่าสนใจคือ แอพฯ Phone ของระบบก็จะเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น ต่อไปจะสามารถใช้รับสายหรือโทรออกบริการ VoIP ต่างๆ ได้ เช่นมีคน LINE Call มา ก็ใช้แอพ Phone รับได้เลย แถมยังมีการแจ้งเตือนสายที่ผู้ใช้ไม่อยากรับด้วย
ในส่วนของ Siri ในที่สุดก็เปิดให้นักพัฒนาภายนอกใช้งานผู้ช่วยอัจฉริยะตัวนี้กับแอพฯ ของตัวเองได้แล้ว เช่น ใช้ Siri เรียกรถแท็กซี่ในแอพฯ ส่งเงินให้เพื่อนในแอพฯ ที่รองรับ หรือให้ Siri เขียนข้อความให้ แล้วส่งเข้าแอพฯ อย่าง LINE ไปเลย
Apple Maps ก็จะได้รับการปรับปรุงความสามารถให้เก่งขึ้น สามารถจองร้านอาหาร เรียก Uber ได้ภายในแอพฯ เลย หน้านำทางระหว่างขับรถก็เพิ่มปุ่มค้นหาปั้มน้ำมัน หรือร้านอาหารแบบด่วนๆ ได้ (เหมือน Google Maps) และเพิ่มความฉลาดให้แผนที่ โดยสามารถช่วยผู้ใช้จำได้ว่าจอดรถไว้ที่ไหน หรืออ่านปฏิทินเพื่อแนะนำสถานที่ที่ต้องไปต่อ (เหมือน Google Now)
ในส่วนของรูปภาพ ใน iOS 10 แอปเปิลจะเปิดให้นักพัฒนาเข้าถึงกล้องมากขึ้น แอพฯ กล้องจากนักพัฒนาจะสามารถถ่ายเป็นไฟล์ RAW เพื่อเอาไปแต่งต่อได้ นอกจากนี้ แอพฯ Photos จะสามารถนำเสนอภาพความทรงจำต่างๆ ในรูปแบบวิดีโอสวยงาม แถมสามารถวิเคราะห์รูปภาพเพื่อจัดกลุ่มและค้นหาภาพได้ แม้ผู้ใช้ไม่ได้ใส่ข้อมูล พร้อมสามารถระบุตัวตนในภาพได้ด้วย (ความสามารถแบบนี้เหมือนใน Google Photo แต่แอปเปิลเคลมว่าของ iOS จะมีความเป็นส่วนตัวมากกว่า)
Siri ในที่สุดก็เปิดให้นักพัฒนาภายนอกใช้งานได้แล้ว เช่น ใช้ Siri เรียกรถแท็กซี่ในแอพฯ ส่งเงินให้เพื่อนในแอพฯ ที่รองรับ หรือให้ Siri เขียนข้อความให้ แล้วส่งเข้าแอพฯ อย่าง LINE ไปเลย
สุดท้ายคือ การเปลี่ยนแปลงย่อยๆ อีกหลายจุดใน iOS 10
- เพิ่ม แอพฯ Home สำหรับจัดการอุปกรณ์ Internet of Things ภายในบ้าน
- แอพฯ News ปรับปรุงให้น่าอ่านมากขึ้น รองรับการสมัครสมาชิกบอกรับข่าวสารด้วย
- การแนะนำคำของคีย์บอร์ดจะฉลาดขึ้น เพราะนำ Siri มาช่วยคิด เช่น แนะนำเบอร์ ที่อยู่ หรือข้อมูลที่เรากำลังจะพิมพ์ได้ โดยวิเคราะห์จากข้อความที่เราพิมพ์ไปแล้ว
- แอพฯ Music ปรับปรุงใหม่ให้ใช้ง่ายขึ้น มีหน้า For You เพื่อแนะนำเพลงที่น่าสนใจ และสามารถดูเนื้อเพลงได้แล้ว
- Apple Pay จะใช้จ่ายผ่านหน้าเว็บฯ ได้แล้ว (แต่ในไทยยังใช้งานไม่ได้)
- ทีเด็ดคือ iOS 10 จะสามารถลบไอคอนแอพฯ ที่มาพร้อมเครื่องที่เราไม่ใช้ได้แล้ว เช่นแอพ Stock หรือ Apple Watch
โดย iOS 10 เวอร์ชั่นสมบูรณ์น่าจะออกภายในเดือนกันยายนนี้พร้อมกับ iPhone ตัวใหม่ โดย iOS 10 นี้ได้หยุดการสนับสนุนอุปกรณ์ที่ใช้ชิป A5 แล้ว หมายความว่า iPhone 4s, iPod Touch gen 5, iPad 2,3 และ iPad Mini รุ่นแรกจะไม่ได้รับการอัพเดตเป็น iOS 10 ต่อไป
macOS Sierra เมื่อ Siri บุกแมค
ใน macOS รุ่นล่าสุดนี้มีประเด็นสำคัญอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ เปลี่ยนชื่อจาก OSX มาใช้ชื่อต้นฉบับอย่าง macOS อย่างเป็นทางการ เพื่อให้สอดคล้องกับระบบปฏิบัติการอื่นๆ ของบริษัท โดย macOS Sierra ที่ตั้งชื่อตามเทือกเขา Sierra Nevada นั้นนับเป็นเวอร์ชั่น 10.12 ครับ ต่อจาก OSX 10.11 El Capitan ที่ใช้กันอยู่ตอนนี้
อีกประเด็นหนึ่งคือ Sierra เป็น macOS ตัวแรกที่รองรับ Siri เต็มตัวสักที โดยความสามารถของ Siri จากบน iOS ก็มาครบในเรื่องผู้ช่วยส่วนตัวที่สามารถจัดการนัดหมาย หาสถานที่ หาร้านอาหาร หาข้อมูลได้ แต่ที่พิเศษกว่าคือ การจัดการข้อมูลในลักษณะคอมพิวเตอร์ ทั้งการค้นหาไฟล์ในเครื่อง ที่สามารถเจาะจงได้ถึงช่วงเวลาของไฟล์หรือเป็นไฟล์ที่มาจากใคร และที่หลายคนน่าจะชอบคือ หลังจาก Siri หาข้อมูลอะไรมาให้แล้ว ผู้ใช้สามารถลากมาใช้ต่อได้ทันที เช่น สั่งให้หาภาพ ก็สามารถลากภาพนั้นมาวางบน e-mail ได้ทันที
จุดเด่นที่แอปเปิลมีมาตลอดคือ การใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆ ของแอปเปิล ใน macOS Sierra แอปเปิลได้ขยายความสามารถในส่วนนี้ให้กว้างขึ้นไปอีก เช่น Apple Watch ของผู้ใช้สามารถปลดล็อกเครื่องแมคส่วนตัวได้อัตโนมัติเมื่อเข้าไปอยู่ใกล้ๆ หรือฟังก์ชั่นอย่าง Universal Clipboard ที่จะก็อปอะไรบน iPhone ก็ไปวางบนแมคได้ หรือก็อปรูปบนแมค ก็เซฟไปใช้บน iOS ต่อได้ ฟังก์ชั่นนี้เจ๋งมาก ต่อยอดจาก Hangoff ที่เคยมีมาได้อย่างน่าสนใจ
![]() |
ฉบับที่ 211 เดือนกรกฏาคมแพลตฟอร์ม IoT หัวใจของข้อมูล |
นอกจากนี้ แอปเปิลยังเสริมความสำคัญของ iCloud ให้มากขึ้น ด้วยการซิงค์ Desktop, โฟลเดอร์งาน ให้เก็บใน iCloud Drive จะได้สามารถเข้าถึงได้จากทุกอุปกรณ์ (ปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเราชอบเก็บสิ่งต่างๆ ไว้ที่หน้า Desktop กันมากนะครับ) และยังมีฟังก์ชั่น Optimized Storage ที่ระบบจะจัดการเก็บไฟล์ที่ไม่ค่อยได้ใช้ไว้บน iCloud อัตโนมัติ เพื่อให้กินพื้นที่เครื่องน้อยลง (แต่ไปกินเงินให้คนสมัคร iCloud กันมากขึ้น)
และการเปลี่ยนแปลงย่อยๆ ของ macOS Sierra คือ
- Photos ความสามารถเหมือน Photos ที่อยู่บน iOS 10 คือ สามารถวิเคราะห์ภาพเพื่อให้ค้นหาได้ง่ายขึ้น เช่น หาภาพชายหาดโดยไม่ต้องนั่งแท็กภาพเอง หรือสามารถจับกลุ่มบุคคลในภาพได้ นอกจากนี้ ฟังก์ชั่น Memories ที่จะสร้าง Slideshow ให้เองก็ตามมาด้วย
- Apple Pay จะใช้กับหน้าเว็บฯ ได้
- iMessages ก็จะมีฟังก์ชั่นแชตที่อลังการเหมือน iOS
- iTunes ปรับปรุงใหม่ เพิ่มหน้า For You สำหรับแนะนำเพลงที่น่าสนใจ
- ต่อไปนี้ทุกโปรแกรมบนแมค ผู้ใช้จะสามารถเปิดแท็บได้ เช่น เปิดหลายๆ งานแบบแท็บใน Keynote
- วิดีโอที่เล่นใน iTunes หรือ Safari จะสามารถทำเป็นกรอบเล็กๆ (Picture in Picture) เพื่อให้ลอยอยู่เหนือหน้าต่างอื่นๆ และเล่นวิดีโอไปพร้อมกับที่เราทำงานอื่นๆ
- Apple File System ระบบไฟล์ตัวใหม่ที่จะเข้ามาแทน HFS+ ที่ใช้กันมาร่วม 20 ปีแล้ว โดยสร้างให้เหมาะกับเทคโนโลยีปัจจุบันอย่าง Flash มากขึ้น ซึ่งแอปเปิลคาดว่าจะเริ่มใช้จริงจังได้ภายในปี 2017
ก็คาดว่า macOS Sierra จะเปิดให้ผู้ใช้ได้อัพเกรดได้ฟรีในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมปีนี้
WatchOS 3 ในที่สุดก็สมบูรณ์สักที
ที่ผ่านมาเรามีคำล้อเลียน Apple Watch นั้นเป็นเหมือนผลิตภัณฑ์ที่ยังทำไม่เสร็จ มีข้อจำกัดเยอะ เปิดแอพฯ ช้า ที่ผ่านมา WatchOS 1 ก็เหมือนซอฟต์แวร์รุ่น Alpha แล้ว WatchOS 2 ที่ทำงานเร็วขึ้นก็เหมือนเป็นรุ่น Beta และ WatchOS 3 ที่กำลังจะออกมานี้จะได้ถือเป็นรุ่นสมบูรณ์สักที
Apple Watch ของผู้ใช้สามารถปลดล็อกเครื่องแมคส่วนตัวได้อัตโนมัติเมื่อเข้าไปอยู่ใกล้ๆ หรือฟังก์ชั่นอย่าง Universal Clipboard ที่จะก็อปอะไรบน iPhone ก็ไปวางบนแมคได้
จุดเด่นของ WatchOS 3 คือ ทำงานได้รวดเร็วขึ้น แอพฯ สามารถถูกเปิดไว้เบื้องหลังได้เพื่อให้ตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังเพิ่ม Dock เข้าไปเพื่อให้เรียกใช้แอพฯ 10 ตัวล่าสุดได้เร็วขึ้น
สิ่งที่เคยทำได้อยู่แล้ว เช่น Messages ก็ปรับปรุงให้รองรับข้อความแฟนซีของ iOS 10 มีหน้าปัดนาฬิการูปแบบใหม่ๆ (เช่น มินนี่เมาส์) รวมถึงรองรับการใช้งานสำหรับคนที่นั่งรถเข็นได้ดีขึ้น มีแอพฯ ใหม่ๆ อย่าง Breathe ที่ช่วยฝึกลมหายใจด้วย
ก็คาดว่า WatchOS 3 จะเสร็จสมบูรณ์ เปิดให้อัพเกรดได้ในช่วงเดียวกับ iOS 10 คือราวๆ เดือนกันยายน-ตุลาคมปีนี้เช่นกัน
tvOS 10 ปรับปรุงไม่เยอะ แต่ก็ใช้ดี
เทียบกับ OS อื่นๆ แล้ว tvOS สำหรับ Apple TV เหมือนจะได้รับการปรับปรุงน้อยที่สุด โดยความสามารถเด่นที่จะเพิ่มเข้ามาคือ Single Sign On ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้กรอกรายละเอียดการล็อกอินครั้งเดียว ก็สามารถล็อกอินเข้าสู่บริการต่างๆ ได้ทันทีโดยไม่ต้องกรอก User, Password ใหม่ ซึ่งก็เหมาะมากสำหรับการใช้งานกับโทรทัศน์
นอกจากนี้ แอพฯ Remote สำหรับ iOS ก็จะได้รับการปรับปรุงใหม่ ให้มีความสามารถเทียบเท่ากับ Siri Remote แล้ว สามารถพูดสั่งงาน Apple TV ผ่าน iPhone ได้ (สักที)
บทสรุปของของระบบปฏิบัติการใหม่ทั้ง 4 ตัวจากแอปเปิลนั้นอาจจะไม่ได้มีความสามารถอะไรที่เข้าขั้นพลิกโลกได้ เป็นการยืมความสามารถที่เห็นว่าดีจากระบบอื่นๆ มารวมกันมากกว่า และเชื่อมต่อระบบทั้งหมดให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากยิ่งกว่าเดิม แต่สุดท้ายมันก็ยังคงน่าใช้อยู่ดีครับ
Contributor
Eka-X
เอกพล ชูเชิด
วุ่นวายกับเทคโนโลยีมาตั้งแต่เยาว์วัย จนเริ่มมีอายุเยอะก็จับคีย์บอร์ดหาเลี้ยงชีพด้วยงานเขียนด้านเทคโนโลยีมาตลอด ทั้งยังเปิด Aofapp.com เว็บไซต์ส่วนตัวที่เล็กมากๆ เพื่อเขียนรีวิวแอพฯ มือถือเรื่อยๆ ในเวลาว่าง ถึงจะสาหัสกับงานขนาดไหนก็ยังเขียน แชร์ บ่นไปเรื่อยใน Twitter
Twitter: Twitter.com/eka_x