จากที่ได้นำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์ “Space Walker” และ “Sit and slip on” 2 อุปกรณ์ช่วยเหลือผู้สูงอายุด้านสุขภาพ จากนักศึกษาที่ได้รางวัลชนะเลิศในเวที i-CREATe 2017 ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวทีในการนำเสนอผลงานวิชาการและนิทรรศการระดับนานาชาติด้านวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ในจำนวน 10 ทีม ที่ประเทศไทยส่งเข้าประกวด มีหนึ่งทีมที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ซึ่งเป็นเพียงทีมเดียวที่ยังอยู่ในชั้นมัธยมศึกษา
โดยพัฒนาแอพพลิเคชั่น Ambient Detecter เพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางการได้ยินในการรับรู้เสียงรอบๆ ข้าง ผลงานดังกล่าว มาจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พัฒนาโดย อรัญชย์ วงศ์พร้อมมูล, ปุณญภัส สินปัญญาเลิศ และ เพชรประกาย ศิริเผ่าสุวรรณกุล ซึ่งทั้งหมดเป็นนักเรียนชั้น ม.6 มาทำความรู้จักกันดีกว่าว่าเหตุใดถึงอยากที่จะพัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่อช่วยเหลือผู้พิการ
Q: แนวคิดของการสร้างสิ่งประดิษฐ์ชนิดนี้มาจาก
A: ที่โรงเรียนมีวิชาที่ให้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ กลุ่มเราสนใจเรื่องของเทคโนโลยีจึงตัดสินใจทำสิ่งประดิษฐ์ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม เห็นถึงปัญหาของผู้พิการในประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำในเรื่องนี้อยู่ หากเราสามารถทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ก็อยากจะทำเพื่อเป็นอีกหนึ่งส่วนในการช่วยสังคม
แอพพลิเคชั่น Ambient Detecter จึงได้แนวคิดมาจากผู้พิการทางการได้ยินมีอุปสรรคในการรับรู้เสียงรอบๆ ข้าง ทำให้เกิดอันตรายในสถานการณ์ต่างๆ เช่น สมมุติว่ามีไฟไหม้ พอมีเสียงสัญญาณดังขึ้นพวกเขาไม่สามารถได้ยินอาจเกิดอันตรายได้ รวมถึงผู้สูงอายุที่เริ่มมีอาการหูตึงด้วยเช่นกัน
Q: ทำไมถึงพัฒนาในรูปแบบแอพพลิเคชั่น
A: หลังจากที่เราคิดหาอุปกรณ์ที่จะนำมาพัฒนาเพื่อช่วยในเรื่องของการได้ยิน ส่วนใหญ่จะอาศัยเครื่องช่วยฟัง หรือใช้วิธีการผ่าตัด บางรายอาจจะไม่สะดวกหรือต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งเห็นว่าปัจจุบันทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ การพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่นน่าจะตอบโจทย์ทั้งไม่มีต้นทุน และพกพาติดตัวตลอดเวลา
Q: มีวิธีการใช้งานอย่างไร
A: มีระบบตรวจจับและแจ้งเตือนเสียง จะทำงานโดยใช้ไมโครโฟนรับเสียงเข้าและประมวลผลว่าคล้ายกับเสียงในฐานข้อมูลหรือไม่ ถ้าคล้ายกันมากกว่า Sensitivity ที่กำหนดไว้ จะส่งสัญญาณเตือนด้วยการสั่น แสงไฟ และข้อความบนหน้าจอ โดยผู้ใช้งานสามารถเพิ่ม – ลบ เสียงในฐานข้อมูลได้เอง พร้อมกำหนดค่า Sensitivity และความดังได้เอง ทั้งยังสามารถทำงานแบบ Background ได้ สำหรับการติดต่อสื่อสาร และยังมีฟังก์ชั่น speech – to – text กับ text – to – speech แปลงข้อความเสียงเป็นข้อความตัวอักษรและแปลงข้อความตัวอักษรเป็นข้อความเสียง
Q: รองรับเสียงอะไรบ้าง และวิธีการเก็บข้อมูล
A: ในฐานข้อมูลที่ตั้งค่าไว้ตอนนี้ มีเสียงสัญญาณไฟไหม เสียงโทรศัพท์ แตรรถยนต์ เปิดทำงานได้ตลอดเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง โดยใช้พื้นที่ความจำบนโทรศัพท์เพียง 10 MB และไม่จำเป็นต้องเชื่อมสัญญาณอินเตอร์เน็ตหรืออุปกรณ์เสริม โดยมีการทดสอบเบื้องต้น อาจจะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อนำไปใช้กับสถานการณ์จริงให้มีความเสถียรมากที่สุด สามารถดาวน์โหลดได้ในระบบแอนดรอยด์
Q: มีความรู้ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นได้อย่างไร
A: โรงเรียนมีรายวิชาการเขียนโปรแกรม พร้อมกับกลุ่มเราสนใจที่จะศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมในด้านนี้ด้วย ก่อนหน้านี้เคยสร้างนวัตกรรมที่ใช้ภายในโรงเรียน เป็นแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับเก็บข้อมูลของสารเคมีแทนการใช้กระดาษ แก้ปัญหาในเรื่องของบันทึกและการขอยืมของนักเรียน แต่เป็นแค่ทดลองเท่านั้น ซึ่งได้นำความรู้ตรงส่วนนั้นมาพัฒนาต่อ และหาความรู้เพิ่มเติมในการเขียนโปรแกรม และสร้าง Ambient Detecter ตัวนี้ขึ้นมา โดยใช้เวลาพัฒนาระบบนี้ขึ้นมาประมาณ 6 เดือน
Q: ผลงาน สามารถไปต่อยอดอะไรได้อีก
A: จากนี้จะนำไปพัฒนาต่อในโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ โดยจะเพิ่มความแม่นยำ และเพิ่มฐานข้อมูลเข้าไปรองรับเสียงให้มากขึ้น นอกจากการปัญหาในเรื่องเสียงแล้ว ผู้พิการทางหูยังมีปัญหาในเรื่องของการสื่อสาร คิดว่าจะใส่ฟีเจอร์การสื่อสารเข้าไปด้วย เราได้นำไปเสนอให้ผู้พิการเกี่ยวกับแอพพลิเคชั่นตัวนี้ พวกเขาให้ความสนใจอยากให้พัฒนาต่อจนสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน
Q: ฝากอะไรถึงเยาวชนที่สนใจด้านเทคโนโลยีหน่อย
สำหรับคนที่สนใจด้านเทคโนโลยี สาขานี้กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในสังคมไทย มองว่าหลายบริษัทต้องการบุคลากรในสายพัฒนา อยากฝากถึงเพื่อนๆ ที่กำลังตัดสินใจเข้ามหาวิทยาลัยอย่างพวกเรา การเขียนโปรแกรม การพัฒนาแอพพลิเคชั่นไม่ได้อยากหากเกิดจากความตั้งใจ ลองเริ่มต้นจากโครงงานวิทยาศาสตร์ภายในโรงเรียน โดยใช้ความรู้ความสามารถสร้างสิ่งประดิษฐ์เพื่อช่วยเหลือสังคม