ในช่วงปีที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินข่าวการนำเอา AI ไปใช้งานในแวดวงต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่นี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่นักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น ได้นำเอา AI มาเป็นผู้ช่วยในการสร้างอนิเมชั่นแบบ 2D ที่แต่เดิมจำเป็นต้องใช้แรงงานในวาดภาพการเคลื่อนไหวของตัวละครต่างๆ ที่เรียกว่า “In-between” จำนวนหลายหมื่นภาพ เปลี่ยนมาให้ระบบ AI จัดการแทนได้เกือบจะสมบูรณ์แล้ว
ระบบ AI ผู้ช่วยนี้ ถือเป็นผลงานของนักวิจัยและโปรแกรมเมอร์ชาวญี่ปุ่นที่ชื่อว่า Yuichi Yagi ซึ่งได้จับมือกับสตูดิโอผู้ผลิตอนิเมชั่น Magesโดยนำเอาเครือข่าย AI ของบริษัท Dwanga หนึ่งในเจ้าของเครือข่ายโทรคมนาคมของญี่ปุ่น มาสร้างชิ้นงาน In-between ซึ่งก็คือภาพของการเคลื่อนไหวระหว่างจุดเริ่มต้นและจุดจบ อาทิ การที่ตัวละครแกว่งแขนนั้น จำเป็นจะต้องมีภาพ Key Frame ที่เป็นภาพของแขนที่เริ่มแกว่งและอีกภาพก็คือตำแหน่งที่แขนแกว่งไปจนสิ้นสุด ภาพส่วนกึ่งกลางที่เชื่อมโยงระหว่าง Key Frame 2 ตำแหน่งเข้าด้วยกันก็คือ In-between นั่นเอง โดยภาพ In-between นั้นยิ่งมีจำนวนมากเท่าใด ก็จะทำให้การแกว่งแขนดูลื่นไหลมีเฟรมเรทที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งผลงานของ Yagi ก็ได้ดึงเอาระบบ AI มาช่วนในการทำงานส่วน In-between จนทำให้ภาพที่ได้มีความลื่นไหลมากยิ่งขึ้นกว่าการวาดภาพด้วยมือในแบบเดิมๆ ได้ถึง 4 เท่าเลยทีเดียว
แน่นอนว่าปัญหายังคงมีอยู่ นั่นก็คือแม้ AI จะสามารถทำให้ภาพเคลื่อนไหวอนิเมชั่นแบบลายเส้นลื่นไหลขึ้นมากก็จริง แต่เมื่อลงสีแล้วระบบ AI ยังไม่สามารถประมวลผลความเคลื่อนไหวได้รวดเร็วเพียงพอ ทำให้สีหลุดเละออกมาจากตัวคาแร๊กเตอร์ ซึ่งก็จำเป็นจะต้องพัฒนากันต่อไป