ยูทูป ประเทศไทย เปิดตัวในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ก่อให้เกิดคอนเทนต์ครีเอเตอร์จำนวนมาก มีเนื้อหาเพื่อความบันเทิง สาระความรู้ และเป็นช่องทางให้นักธุรกิจประชาสัมพันธ์ถึงผลิตภัณฑ์และบริการของตนเอง
มากกว่าครึ่งหนึ่งของการชมวิดีโอบนยูทูปมาจากอุปกรณ์เคลื่อนที่ ส่งผลให้รายได้ที่เกิดจากอุปกรณ์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น 3 เท่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
ทูปยังเป็นสื่อที่แบรนด์ต่างๆ ให้ความสำคัญ และเริ่มทำตลาดผ่านช่องทางนี้ด้วยหลักเกณฑ์ที่ว่า ต้องเป็นโฆษณาที่ดูน่าสนใจเหมือนวิดีโอคอนเทนต์ทั่วไป มีการบอกเล่าเรื่องราว ให้ผู้ชมเกิดความต้องการที่จะชมต่อเนื่องจนจบ อีกทั้งเนื้อหาต้องดึงดูดจนทำให้ผู้ชมอยากแชร์ต่อ
การเริ่มต้นของยูทูป
กัวทาม อนันด์ ผู้อำนวยการ YouTube Partnerships & Operations ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เล่าถึงประวัติของบริษัทในงานฉลองครบรอบ 1 ปี YouTube ประเทศไทยว่า บริษัทเริ่มทดลองวิดีโอออนไลน์ครั้งแรกในปี 2005 ด้วยวิดีโอเรื่อง Me at the Zoo พร้อมด้วยแนวคิดว่า “ใครๆ ก็สามารถเผยแพร่และแชร์ผ่านวิดีโอออนไลน์” และเปิดให้ทุกคนสามารถใช้บริการในรูปแบบทดลองใช้
ในช่วงปี 2007 บริษัทเปิดตัวโปรแกรมสำหรับพาร์ตเนอร์เพื่อแบ่งปันรายได้ โดยเริ่มจากครีเอเตอร์ที่มีชื่อเสียงเพียงกลุ่มเล็กๆ และเปิดให้โฆษณาในรูปแบบวิดีโอเป็นครั้งแรก (InVideo Ads) ซึ่งถือว่าเป็นวิธีใหม่ที่ช่วยให้พาร์ตเนอร์สามารถสร้างรายได้จากวิดีโอของตัวเอง นอกจากนี้ยังเปิดให้ใช้งานบนมือถือ พร้อมทั้งมีการเข้ารหัสให้กับเนื้อหา ซึ่งเป็นระบบการบริหารจัดการลิขสิทธิ์ออนไลน์เป็นครั้งแรก
ขยายขีดความสามารถเพื่อผู้รับชมทั่วโลก
ปัจจุบัน ยูทูปได้ขยายขีดความสามารถให้กับการรับชมวิดีโอให้ง่ายต่อการรับชมผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งมีสถิติออกมาแล้วว่า มีผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกร่วมแชร์วิดีโอกันรวมแล้วมากถึง 300 ชั่วโมงต่อ 1 นาที และมีผู้คนเข้ามาชมวิดีโอหลายร้อยล้านชั่วโมงต่อวัน มีแฟนๆ จากทั่วโลกเข้าชมมากกว่าหนึ่งพันล้านคนทุกเดือน และ 80 เปอร์เซ็นต์ของแฟนๆ เหล่านี้อาศัยอยู่นอกสหรัฐอเมริกา
บริษัทขยายการให้บริการไปยัง 73 ประเทศ ผู้บริโภคสามารถใช้งานได้แล้วกว่า 76 ภาษา (ครอบคลุม 95 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต) ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้แพลตฟอร์มของยูทูปได้รับความนิยมคือ การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งานด้วยกัน โดยผู้ชมสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็น แบ่งปัน ส่งข้อความ ทวีต หรือกดถูกใจ เป็นเหตุผลให้จำนวนผู้เข้าชมต่อวันเพิ่มขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์ และใช้ระยะเวลาในการชมวิดีโอสูงขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
“ตัวเลขที่น่าสนใจที่สุดคือ ประเทศไทยมีอัตราการใช้งานยูทูป สูงขึ้นถึง 110 เปอร์เซ็นต์ พิสูจน์ให้เห็นว่า คนไทยชื่นชอบการใช้งานผ่านยูทูปอย่างแท้จริง และยังใช้ YouTube เผยแพร่วัฒนธรรมผ่านรูปแบบดิจิตอลอีกด้วย”
ฉบับที่ 199 เดือนกรกฏาคมYouTuber นักสร้างสรรค์โฆษณาดิจิตอล |
คนดังที่เกิดจากยูทูปในเมืองนอก
กัวทาม เล่าต่ออีกว่า ในปีที่ผ่านมามีผลการวิจัยในวัยรุ่นชาวอเมริกัน โดยสอบถามว่า “ใครคือซุปเปอร์สตาร์ที่พวกเขาคิดว่าโด่งดังมากที่สุดในขณะนี้” และคำตอบของทั้ง 5 อันดับแรกคือ คนดังที่แจ้งเกิดบนยูทูปทั้งสิ้น ได้แก่ Smosh, the Fine Brothers, PewDiePie, Ryan Higa และ KSI
นักสร้างสรรค์คอนเทนต์ชาวไทย
ไม่เพียงแต่ชาวต่างชาติเท่านั้น คอนเทนต์ครีเอเตอร์ชาวไทยก็แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในฐานะ Vlogger นักเล่นเกม นักร้อง และหลายๆ คอนเทนต์ เห็นได้จากการเติบโตของจำนวนชั่วโมงการอัพโหลดคอนเทนต์ต่างๆ ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว อาทิ
- พลอย ชมพู สาวน้อยวัย 16 ปี ที่เริ่มต้นเส้นทางขับร้องของเธอตั้งแต่อายุ 11 ปี เธอสร้างสรรค์คอนเทนต์เพลง จนสร้างโอกาสให้เธอได้เซ็นสัญญาเป็นศิลปินค่าย GMM Grammy แล้วในขณะนี้ เธอได้รับการตอบรับจากแฟนคลับบนยูทูปเป็นอย่างดี จนตอนนี้เธอมีจำนวนผู้ติดตามเกือบหนึ่งล้านราย ขณะเดียวกันวิดีโอของเธอจำนวน 34 คลิป มีจำนวนครั้งเข้าชมมากกว่าล้านครั้ง
- ลุงพี นักสร้างสรรค์คอนเทนต์เกมชาวไทยที่ชื่นชอบการเล่นเกมได้สร้างช่องทางความบันเทิงแก่กลุ่มเด็กไทยรุ่นใหม่ผ่านการเล่นวิดีโอเกม ที่มอบทั้งความบันเทิงและความรู้ผ่านเนื้อหาของเกมไปพร้อมๆ กัน ซึ่งขณะนี้มีผู้ติดตามเกือบ 600,000 รายแล้ว และวิดีโอต่างๆ ของเขามีจำนวนครั้งการเข้าชมรวมแล้วกว่า 140 พันล้านครั้ง
- The Food Travel TV channel รายการสอนทำอาหารยอดนิยมรายการหนึ่งในประเทศไทย พวกเขาสื่อสารไปยังผู้ชื่นชอบในการทำอาหารและทานอาหารผ่านทางวิดีโอด้วยวิธีการปรุงอาหารและขนมหวานที่เข้าใจง่ายภายใต้สโลแกน ใครใครก็เข้าครัว
หมายความว่า ผู้คนสามารถเลือกดูข้อมูลที่มีความหลากหลายเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล อีกทั้งยังสามารถรับชมผ่านอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ซึ่งมร.กัวทาม เผยตัวเลขที่น่าสนใจว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของการชมวิดีโอบนยูทูปมาจากอุปกรณ์เคลื่อนที่ ส่งผลให้รายได้ที่เกิดจากอุปกรณ์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น 3 เท่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
แพลตฟอร์ม ที่ประสบความสำเร็จ
“แพลตฟอร์มความสนุกที่ประสบความสำเร็จในอนาคต จำเป็นต้องมีลักษณะ 5 ประการ 1. จะต้องสื่อสารได้ทั่วโลก 2. มีความหลากหลาย 3. โมบิลิตี้ 4. โซเชียลฯ และ 5. ต้องเข้าถึงได้ตลอดเวลาตามต้องการ ซึ่งนั่นคือ สิ่งที่ยูทูปได้สร้างสรรค์ร่วมกับคอนเทนต์ครีเอเตอร์และผู้ชมทุกท่าน”
สิ่งที่ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จในวันนี้คือ การให้เจ้าของเนื้อหาทุกชนิดมีพลังในการควบคุมและป้องกันเนื้อหาของตนเอง นี่เป็นเหตุผลที่บริษัทพัฒนา Content ID หรือระบบปิดของการบริการลิขสิทธิ์ออนไลน์ ที่อนุญาตให้เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถระบุวิดีโอที่ผู้อื่นอัพโหลดคอนเทนต์อันมีบางส่วนหรือทั้งหมดเป็นผลงานลิขสิทธิ์ของเขา แล้วเลือกล่วงหน้าว่าเขาต้องการให้ดำเนินการอย่างไรเมื่อระบบตรวจพบวิดีโอในลักษณะนี้ อาทิ ติดตาม แจ้งลบ หรือทำธุรกิจกับเนื้อหาที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นมาได้
บริษัทใช้เงินลงทุนกว่า 60 ล้านดอลลาร์ฯ ในการพัฒนาและจัดการดูแล Content ID และในเดือนพฤศจิกายน ปี 2556 มีพาร์ตเนอร์กว่า 5,000 รายที่ใช้ Content ID รวมถึงสถานีโทรทัศน์ บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ และค่ายเพลง ซึ่ง 300 ล้านวิดีโอ ได้รับการอ้างสิทธิ์ผ่านทาง Content ID จนถึงปัจจุบัน และ Content ID นี้เอง ยังคิดเป็นสัดส่วนกว่าหนึ่งในสามของยอดรับชมที่สร้างรายได้บนยูทูปด้วย
ยูทูป ประเทศไทย กับการเติบโตของโมบายล์
อริยะ พนมยงค์ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ กูเกิล ประเทศไทย กล่าวว่า “ในหนึ่งปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตสูงถึง 110 เปอร์เซ็นต์ ในแง่ของระยะเวลาการรับชมนับตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งเร็วกว่ามากเมื่อเทียบกับอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย”
สำหรับเทรนด์ของผู้ใช้งานคนไทยนั้น โทรศัพท์มือถือได้กลายเป็นหน้าจอหลักสำหรับการรับชมวิดีโอที่สะดวกสบายที่สุด ผู้ชมสามารถค้นหารายการที่ต้องการรับชมได้ง่ายกว่าการเปลี่ยนช่องโทรทัศน์ จากสถิตพบว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของระยะเวลาการรับชมบนยูทูปมาจากโทรศัพท์มือถือ และประชากร 2 ใน 3 ของไทย หรือราว 45 ล้านคน ใช้โมบายล์อินเทอร์เน็ต และชอบที่จะรับชมวิดีโอบนโทรศัพท์มือถือ
แบรนด์ใช้โฆษณาดึงดูดผู้ชม
อริยะ กล่าวต่ออีกว่า แบรนด์ที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องเป็นแบรนด์ที่เป็น Content Creators ด้วย ต้องมีการอัพเดตอย่างสม่ำเสมอ มีความต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำแค่ TVC ตัวเดียวแล้วก็หายไป ที่สำคัญคือ วันนี้มีผู้ชมบนยูทูปสำหรับแบรนด์ทุกประเภท อีกทั้งไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเวลา เมื่อคอนเทนต์มาอยู่บนยูทูป กฎ 15 – 30 วินาทีของโฆษณาส่วนใหญ่ก็จะไม่มีอีกต่อไป โดยจะเห็นได้จาก Top 10 ของ YouTube Ads Leaderboard ส่วนใหญ่เป็นโฆษณาที่มีความยาวหลายนาที