การประกอบอาชีพในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็ม เป็นทักษะที่สอดคล้องกับการทำงานในศตวรรษที่ 21 และสอดรับกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เป็นสิ่งจำเป็นที่เยาวชนรุ่นใหม่ไม่ควรมองข้ามในยุค 4.0
หากยังสงสัยว่างานสายสะเต็มเป็นอย่างไร อธิบายง่ายๆ คือ อาชีพที่เกี่ยวกับการนำวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ ที่ไม่ใช่แค่นักวิทยาศาสตร์เท่านั้น โดยภายในงาน Enjoy Science Careers Year 2: สนุกกับอาชีพวิทย์ ปีที่ 2 จัดกิจกรรมเสนอ 10 อาชีพสาขาสะเต็มที่กำลังมาแรง ทั้งนี้ยังเชิญบุคคลต้นแบบใน 3 อาชีพ มาจุดประกายความสนใจให้กับนักเรียนที่มาเข้าร่วมงาน ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย, เกษตรกรยุคใหม่ และวิศวกรหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
ทั้งนี้ ได้สรุปประเด็นที่น่าสนใจผ่านการบอกเล่าทั้ง 3 ท่าน โดยเริ่มจาก สิริวิมล ชื่นบาน ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด บอกให้ฟังว่า ตนเรียนสายวิทย์มาตั้งแต่มัธยมต้น ชื่นชอบเรียนชีวะจึงเลือกเรียนคณะสาธารณะสุขศาสตร์ สาขาอาชีวะอนามัย เมื่อทำงานเข้าสู่อุตสาหกรรมเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย ซึ่งมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักร และสารเคมีในการผลิต หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นก็จะส่งผลกระทบทั้งต่อผู้ปฏิบัติงาน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
อาชีพนี้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการป้องกันและดูแลความปลอดภัยของเพื่อนพนักงาน สิ่งแวดล้อม และชุมชน ด้วยการประเมินอันตรายจากการทำงาน กำหนดระบบการจัดการ และควบคุมมาตรฐานในการป้องกันที่เหมาะสม ตลอดจนรับรองความปลอดภัยให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่บริษัทเข้าไปดำเนินธุรกิจ
เช่น เรื่องการวัดแสงสว่างภายในสถานที่ทำงานว่าเพียงพอต่อลักษณะงานหรือไม่ เสียงและอากาศภายในสถานที่ทำงานและการป้องกันตัวเองหากจำเป็นต้องเข้าในทำงานในบริเวณพื้นที่ๆ เป็นอันตราย เพราะสภาพแวดล้อมในการทำงานส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพของการทำงานและตัวผู้ปฏิบัติงาน
ทั้งนี้ เป็นอาชีพที่สามารถทำได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย มีโอกาสของความก้าวหน้าทางการงานที่เท่าเทียม โดยหัวใจสำคัญแห่งความสำเร็จของอาชีพนี้คือความสามารถในการบูรณาการองค์ความรู้ด้านต่างๆ เพื่อคิดวิเคราะห์ วางแผน และป้องกันอันตรายจากการทำงานและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้
นอกจากนี้ได้แนะนำน้องๆ นักเรียนว่า สำหรับใครที่อยากทำงานร่วมกับคน ช่วยสังคมและผู้คนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น อาชีพนี้นับว่าน่าสนใจ ยังได้ใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงเป็นผู้สอนในเรื่องของความปลอดภัยอีกด้วย
สำหรับอาชีพวิศวกรหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียนเป็นอย่างมาก โดย รศ. ดร. ปัณรสี ฤทธิประวัติ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าย้อนไปเมื่อหลายปีก่อนว่า การเรียนสร้างสิ่งประดิษฐ์หุ่นยนต์ในไทยยังไม่มีการเรียนการสอนในสาขาวิชานี้มาก่อน เมื่อตนจบปริญญาตรีได้มีโอกาสทำงานร่วมกับอาจารย์ที่เพิ่งจบวิศกรหุ่นยนต์จากต่างประเทศ โดยเริ่มประดิษฐุ์หุ่นยนต์ความเร็วสูงเครื่องเจียระไน ใช้สำหรับในโรงงานอุตสาหกรรม ยากมากทั้งไม่มีเอ็นเตอร์เน็ต และตำราที่เป็นภาษาไทย
ขณะนี้ เริ่มมีสาขาวิชาเปิดสอนเกี่ยวกับหุ่นยนต์แพร่หลายมากขึ้น ไม่เกิน 10 ปีข้างหน้าหุ่นยนต์ที่มีระบบอัตโนมัติจะเข้ามาทำงานแทนที่งานบางอย่างของมนุษย์ ปัจจุบันมีให้เห็นแล้วอย่างภายในบ้าน เช่น หุ่นยนต์ทำความสะอาด หุ่นยนต์เลี้ยงเด็กและดูแลคนชรา หุ่นยนต์สอนเด็กออทิสติก เป็นต้น
ยิ่งประเทศเราเปิดรับนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามารองรับเกือบทุกอุตสาหกรรม การเรียนเรื่องวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งจำเป็น หากต้องการที่จะเรียนรู้เรื่องหุ่นยนต์จะต้องมีพื้นฐาน 3 ด้าน คอมพิวเตอร์ เครื่องกล และอิเล็กทรอนิกส์
“สาขาอาชีพนี้กำลังจะฉีกกรอบของสายอาชีพและเชื่อมอาชีพต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน หากต้องการประดิษฐ์หุ่นยนต์ให้ฉลาดก็ต้องเข้าใจเกี่ยวกับแมชชีนเลินนิ่ง ด้านอื่นไม่ว่าจะเป็น หุ่นยนต์ทางการแพทย์ หรือศาสตร์การออกแบบหุ่นยนต์ผนวกเข้ากับศิลปะทำให้ดูน่ารัก เป็นมิตรกับมนุษย์ อีกทั้งต้องรู้จักทำงานเป็นทีม” รศ. ดร. ปัณรสี กล่าว
อีกหนึ่งอาชีพที่อยากจะแนะนำ แม้ว่าจะไม่ใช่อาชีพที่ใหม่นักและอยู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน แต่มีการนำหลักของวิทยาศาสตร์เข้ามาประยุกต์ก็สามารถเพิ่มยอดขายได้เป็นกอบเป็นกำ นั้นก็คือ เกษตรกรยุคใหม่ หรือที่เรียกกันว่า Smart Fammer โดยบุคคลต้นแบบมาจากจังหวัดมหาสารคาม พงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์ บอกเล่าถึงแนวคิดที่ไม่เหมือนใครคิดต่างจากการทำเกษตรคนรุ่นเก่า และเปลี่ยนการทำเกษตรด้วยเทคโนโลยี
อุปสรรคแรก คือ แม้ว่าพ่อแม่จะเป็นเกษตรแต่ก็ไม่อยากเห็นลูกทำอาชีพเกษตรกร แต่ด้วยความตั้งใจที่เขาต้องการเป็นนักปรับปรุงพันธ์พืช เนื่องจากเห็นรุ่นพี่ผสมเกสรเพาะพันธุ์ขายรายได้ดี จึงตัดสินใจแอบไปเรียนวิทยาลัยการเกษตรที่ จ.ร้อยเอ็ด จากนั้นได้ทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศอิสราเอล ได้ความรู้ในเรื่องระบบจัดการปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงได้กลับมาทำแปลงเกษตรที่บ้านตน
โดยปัญหาหลักๆ พื้นที่แต่ละแห่งสภาพของดินไม่เหมือนกัน ทฤษฎีในหนังสืออาจช่วยไม่ได้ จึงนำหลักและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่เรียนมาวัดปริมาณธาตุอาหาร วัดความเป็นกรดเป็นด่างของดิน และวัดความเค็มก่อน เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าดินที่มีลักษณะธาตุอาหารเช่นนี้เหมาะสำหรับปลูกพืชได้
สิ่งที่นำความรู้จากประเทศอิสราเอลมาปรับใช้ โดยคิดระบบให้น้ำและปุ๋ยแบบอัตโนมัติขึ้นเอง ทำการวัดความชื่นในดินและทำการฉีดพ่นน้ำเมื่อความชื้นในดินลดลงถึงจุดที่ตั้งระบบไว้ สามารถสั่งการได้ด้วยมือถือ โดยเผยรายได้ต่อปีสำหรับขายผักสดส่งซุปเปอร์มาเก็ตมายังกรุงเทพฯ ตกอยู่ที่ 800,000 บาทต่อไร่ต่อปี ยังไม่รวมเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตขายซึ่งแย้มว่ารายได้ดีกว่าผักสดมาก
พงษ์พัฒน์ แนะทิ้งท้ายว่าการเรียนเกษตรนั้นไม่ใช่แค่การปลูกผักเป็นเท่านั้น ยังสามารถเป็นผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์ก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องปลูกพืชผักเอง หรือทำงานด้านวิจัยพืช แล้วแต่ความชอบส่วนบุคคล ทำอาชีพเกษตรไม่มีวันตกงานแน่นอน
จะเห็นได้ว่า สาขาสะเต็มกำลังเข้าไปอยู่ในทุกส่วนของอาชีพในอนาคต เยาวชนยุคนี้ต้องมองให้ไกล พร้อมวางแผนการศึกษาให้ถูกจุดถูกทาง เชื่อว่า เมื่อเข้าสู่วัยทำงานจะสามารถก้าวไปไกลในยุคที่ล้วนแต่ใช้นวัตกรรมในการพัฒนาประเทศอย่างแน่นอน