ความท้าทายอย่างมากของคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีคือ โลกมันไปเร็วมากครับ ในแต่ละปีมีเรื่องใหม่เข้ามามากมาย เรื่องเก่าที่เคยบูมก็จบกระแสอย่างรวดเร็วได้เช่นกัน และแน่นอนทุกช่วงสิ้นปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ เรามาลองมองโลกเทคโนโลยีตอนนี้ แล้วเงยหน้ามองปี 2017 กันว่าจะมีเทรนด์เทคโนโลยีอะไรที่น่าสนใจบ้างครับ แล้วมีเทรนด์อะไรที่เคยมาแรง แต่ตอนนี้เงียบไปแล้ว
Blockchain – แนวคิดรากฐานการทำงานยุคต่อไป
Blockchain เป็นคำที่เราได้ยินกันมากในช่วงปีที่ผ่านมา อย่างน้อยๆ เราก็ต้องเคยได้ยินคำนี้จากเรื่อง Bitcoin สกุลเงินดิจิทัลที่มาแรงมาก ซึ่ง Blockchain นั้นเป็นเทคโนโลยีเบื้องหลัง Bitcoin ที่กำเนิดขึ้นมาพร้อมกัน แต่แนวคิดของ Blockchain นั้นดีมาก จึงมีการต่อยอด เพื่อนำมาใช้กับงานด้านอื่นๆ ครับ
Blockchain คือการเก็บข้อมูลแบบเรียงลำดับ ข้อมูลที่เก็บแต่ละชุดนั้นมีการอ้างอิงข้อมูลชุดที่อยู่ก่อนหน้าอยู่เสมอ ทำให้สามารถสืบสาวกลับไปได้ว่า ข้อมูลชุดนี้มีที่มาอย่างไร ซึ่งการเก็บข้อมูลแบบ Blockchain นี้มีความปลอดภัยสูงมาก ใครก็ไม่สามารถแก้ไขข้อมูลที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ได้ เพราะจะไปขัดกับข้อมูลชุดต่อๆ มาทั้งหมด แถมยังกระจายรายการเดินข้อมูลทั้งหมดให้ผู้ใช้ทุกคนถือ จึงเป็นระบบที่ไม่มีศูนย์กลาง ถ้าต้องการแก้ไขข้อมูลก็ต้องแก้รายการเดินข้อมูลของผู้ใช้ทั้งหมดด้วย ซึ่งมันเป็นไปได้ยากในระบบที่มีผู้ใช้จำนวนมาก และยังมีกลุ่มผู้ใช้ที่แย่งกันตรวจสอบความถูกต้องของรายการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาในระบบด้วย โดยคนที่ตรวจสอบถูกต้อง รวดเร็วที่สุดก็จะได้รางวัลไป
จากลักษณะการทำงานของ Blockchain ที่รัดกุม สืบสาวต้นตอได้ มีแนวคิดตรวจสอบความถูกต้องเสมอ ทำให้เราสามารถประยุกต์ใช้ Blockchain กับงานการเงิน (อันนี้ Bitcoin พิสูจน์แล้วว่าเป็นแนวคิดที่เวิร์ก) งานเก็บประวัติวัตถุโบราณ งานค้าขาย หรืองานอะไรก็ได้ที่เน้นความถูกต้องของข้อมูลครับ ทำให้เทคโนโลยีนี้น่าจะกลายเป็นพื้นฐานของหลายๆ เรื่องในอนาคต และเป็นความรู้พื้นฐานของคนทำงานในยุคต่อไปด้วย
VR – ความจริงเสมือนเติบโตต่อในด้านอื่นๆ
ปี 2016 ถือเป็นปีแรกที่ VR – Virtual Reality โลกความจริงเสมือนเติบโตอย่างแท้จริงนะครับ เพราะในปีนี้ผู้เล่นรายสำคัญๆ อย่าง Oculus Rift, HTC Vive และ PlayStation VR ออกอุปกรณ์ชุดแรกมาให้ผู้ใช้ทั่วไปได้เป็นเจ้าของในราคาที่ไม่โหดร้ายมากนัก (โดยเฉพาะ PS VR) แต่ก้าวต่อไปในปี 2017 นั้น VR จะขยายตัวต่อไปในส่วนต่างๆ ของชีวิตประจำวันมากขึ้นครับ
กิจกรรมนอกสถานที่ อย่างคอนเสิร์ต หรือการแสดงต่างๆ ก็จะเริ่มปรับมาให้บริการผ่าน VR ด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เข้าถึงอรรถรสของกิจกรรมได้เหมือนอยู่ในสถานที่จริง โดยไม่ต้องแย่งกันซื้อบัตร
หนึ่งในภาพของ Facebook ที่ลงทุนซื้อบริษัท Oculus VR ไปก็คือ การใช้ VR เพื่อติดต่อสื่อสารครับ ต่อไปผู้ใช้สามารถนั่งสวมแว่น VR อยู่ที่บ้านเพื่อพูดคุยกับเพื่อน เหมือนนั่งอยู่ในสถานที่เดียวกันผ่าน VR ได้ หรือมีประสบการณ์แปลกๆ ไปด้วยกัน เช่น ดูหนัง 360 องศาไปพร้อมกัน ถ่าย Selfie ในโลก VR ก็ยังทำได้
และภาพที่ไกลกว่านั้นคือ ต่อไปกิจกรรมนอกสถานที่ อย่างคอนเสิร์ต หรือการแสดงต่างๆ ก็จะเริ่มปรับมาให้บริการผ่าน VR ด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เข้าถึงอรรถรสของกิจกรรมได้เหมือนอยู่ในสถานที่จริง โดยไม่ต้องแย่งกันซื้อบัตร เบียดเสียดในสถานที่ แถมไม่ต้องอยู่ห่างไกลจนมองเวทีไม่เห็นอีก
ในทางการแพทย์ ก็เริ่มใช้ VR เพื่อรักษาอาการต่างๆ โดยเฉพาะอาการที่เกี่ยวกับจิตใจ เช่น ความกลัวหรือความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD – Posttraumatic Stress Sisorder) เพื่อช่วยให้ผู้รับการรักษาอยู่ในสภาพการณ์ที่เหมาะสมสำหรับฟื้นฟูจิตใจ
นอกจากเรื่อง VR – Virtual Reality ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ในอีกสายหนึ่งเรียกว่า MR – Mixed Reality ที่ผู้ใช้ไม่ได้เข้าไปอยู่ในโลกเสมือนเต็มตัวเหมือน VR แต่เป็นการนำโลกเสมือนบางส่วนมาซ้อนทับกับโลกความจริง ตัวอย่างที่ใกล้ตัวหน่อยอาจจะเป็นเกม Pokemon Go ที่ทำให้เราจับโปเกมอนเสมือนในโลกจริงได้ หรืออุปกรณ์ที่กำลังพัฒนาอยู่ อย่าง Microsoft Hololens ที่นำคอมพิวเตอร์กราฟิกต่างๆ ขึ้นมาซ้อน เหมือนกราฟิกนั้นๆ วางอยู่บนโลกความจริงเลย ปีหน้าจึงเป็นอีกปีที่โลกต้องติดตามความเป็นไปของ VR ครับ
Live – ความบันเทิงจะย้ายไป Live กันหมด
ปี 2016 ถือเป็นปีที่วงการสื่อเมืองไทยเจอผลกระทบกันหนักมาก นิตยสารปิดตัวกันไปหลายราย ดิจิทัลทีวีก็ลุ่มๆ ดอนๆ แถมเจอ Facebook Live ที่รุกเต็มสูบ ดึงผู้ชมชาวไทยไปได้เยอะ แน่นอนว่าปีหน้าการ Live บนอินเทอร์เน็ตมันจะยิ่งหนักกว่านี้อีก
ต้องบอกว่า แผนครองโลกด้วย Live ของ Facebook ยังไม่จบลงเท่าที่เห็นในปี 2016 แน่นอน ยังมีอีกหลายเรื่องที่ Facebook กำลังทดสอบอยู่ และจะเริ่มใช้ในปีหน้าครับ ตอนนี้ที่เรารู้แล้วก็มี
• โฆษณาใน Live เปิดให้ผู้ Live สามารถกดเพื่อพักโฆษณาได้เลย ซึ่งระบบของ Facebook จะไปดึงโฆษณาที่เหมาะสมสำหรับผู้ใช้แต่ละคนมาแสดง ไม่เหมือนกับทีวีที่โฆษณาจะยิงเหมือนกันหมดทั้งประเทศ
• Live แบบ 360 องศา ถ้ามีอุปกรณ์ที่รองรับก็สามารถนำเสนอได้รอบทิศทาง ให้ผู้ชมเลือกดูว่าจะดูมุมไหน
• Live แค่เสียง หรือ Facebook Live Audio พูดง่ายๆ คือ จัดรายการวิทยุ จัด Podcast นั้นแหละครับ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะอยาก Live แบบเห็นหน้าเห็นตา Facebook เลยเตรียมฟีเจอร์แบบนี้ด้วย จุดเด่นคือ ใช้อินเทอร์เน็ตน้อยกว่า Live เป็นวิดีโอ แถมบนแอนดรอยด์ยังสามารถฟังได้เรื่อยๆ แม้ปิดแอพฯ Facebook ไปแล้วด้วยนะ
![]() |
ฉบับที่ 217 เดือนมกราคมเรียนรู้ชีวิตดิจิทัล เยาวชน 4.0
|
ซึ่งกลายเป็นว่า การ Live (ที่ในปีหน้าเราจะเห็นแพลตฟอร์มอื่นๆ นอกจาก Facebook บุกไทยด้วย) เป็นอีกหนึ่งช่องทางหลักในการเสพเนื้อหาของคนไทย แทนที่สื่อเก่าอย่างทีวี และอาจจะแทนวิทยุในอนาคตด้วย ใครที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเหล่านี้ก็เตรียมปรับตัวกันให้ดีนะครับ ไหวตัวทัน มองไกลรับสื่อใหม่ ก็อาจประสบความสำเร็จอย่างมากก็ได้
Message Bot – เมื่อมนุษย์ต้องการสื่อสาร แต่ทรัพยากรมีจำกัด
ทุกวันนี้เราสื่อสารผ่านระบบแชตต่างๆ กันมากนะครับ ทั้ง Facebook Messenger หรือ LINE องค์กรต่างๆ ก็หันมาเปิดช่องทางการสื่อสารกับบริการกลุ่มนี้ แต่การสื่อสารกับลูกค้าจำนวนมากในรูปแบบแชต ก็ต้องใช้ทรัพยากรบุคคลมาก จึงเกิดเป็นเทรนด์ Message Bot หรือ Chat Bot ขึ้นมา เพื่อช่วยให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นครับ
ในช่วงปีที่ผ่านมาทั้ง Facebook และ LINE ต่างเร่งพัฒนาระบบการแชตเพื่อรองรับการพัฒนาบอท ตอบสนองการสื่อสารกับผู้ใช้ อย่าง LINE ก็จัดงาน LINE Developer Day ขึ้นในไทย เพื่อแนะนำความสามารถของแกนระบบสนทนารุ่นใหม่ ที่เปิดโอกาสให้นักพัฒนาเข้าไปเขียนโปรแกรมได้
การ Live (ที่ในปีหน้าเราจะเห็นแพลตฟอร์มอื่นๆ นอกจาก Facebook บุกไทยด้วย) เป็นอีกหนึ่งช่องทางหลักในการเสพเนื้อหาของคนไทย แทนที่สื่อเก่าอย่างทีวี และอาจจะแทนวิทยุในอนาคตด้วย
ผลก็คือ Message Bot จะช่วยธุรกิจได้ตั้งแต่เรื่องง่ายๆ เช่น ระบบติดต่อสอบถามที่ให้ผู้ใช้แชตเลือกเมนูไปเรื่อยๆ จนเจอข้อมูลที่ต้องการ (แบบระบบ IVR ของ Call Center) หรือเรื่องที่ซับซ้อนขึ้นมาอย่างการเขียนแอพฯ ลงไปในระบบแชตเลย เช่น Uber ที่สามารถเรียกรถผ่าน LINE ได้โดยไม่ต้องลงแอพฯ เพิ่ม หรือระบบที่สามารถตอบกลับได้เป็นภาษาธรรมชาติแบบที่มนุษย์คุยกัน
Message Bot จึงเป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจในปีหน้า ว่าเราจะเห็นผลิตภัณฑ์อะไรภายในแอพฯ แชตที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเรื่องพวกนี้ใกล้ตัวคนไทยนิดเดียว อาจจะทำให้คนใช้บริการได้ง่ายกว่าการโหลดแอพฯ ใหม่ทั้งตัว
หนึ่งเทรนด์ที่ซาไป Wearable Computer
หนึ่งในเทรนด์ที่มาแรงมากในช่วงปีก่อนๆ คือ Wearable Computer แต่กลับกลายเป็นว่าในปีนี้ความนิยมกลับตกวูบ เพราะผู้ใช้ได้เรียนรู้แล้วว่า Wearable ส่วนใหญ่ ก็เหมือนเป็น “ภาระอะเบิ้ล” กับชีวิตมากกว่า เพราะต้องมานั่งใส่ข้อมูล คอยดูแล แถมผลิตภัณฑ์อย่างนาฬิกาก็ไม่ได้กลายเป็นเครื่องประดับจริงๆ อย่างที่นาฬิกาแบรนด์หรูทำได้ กลับกันแม้จะซื้อมาแพงเท่าไร สุดท้ายราคาก็ตกอยู่ดีเมื่อรุ่นใหม่ออก ตามประสาของผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีครับ
หนึ่งในการล่มสลายสุดสะเทือนใจในปี 2016 คือ Pebble แบรนด์ที่ทำให้คนทั่วโลกรู้จักนาฬิกาที่สามารถแสดงการแจ้งเตือนในหน้าปัด สั่นเตือนโทรศัพท์เข้า นับก้าวเดิน และลงแอพฯ ได้ ก่อนที่ Apple Watch จะเกิดด้วยซ้ำ เรารู้จัก Pebble ในปี 2012 หลังระดมทุนสร้างนาฬิการุ่นแรกผ่าน Kickstarter ได้มากกว่าสิบล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของเว็บ Kickstarter ซึ่งหลังจากนั้น Pebble ก็ออกนาฬิกามาอีกหลายรุ่น จนถึง Pebble 2 ที่ยังไม่ทันจะส่งถึงมือผู้สั่งทั้งหมด บริษัทก็ต้องปิดตัวลงไป เพราะประสบปัญหาด้านการเงิน มีหนี้มากมายที่ต้องชำระ จนสุดท้าย Fitbit ได้เข้าซื้อบริษัทเพื่อนำสิทธิในการพัฒนา สิทธิบัตร และวิศวกรของ Pebble ไป โดยตัดหางลูกค้าเดิมของ Pebble ทั้งหมดที่จะไม่มีการสนับสนุนหรือการรับประกันอีกต่อไป
แนวโน้มของ Wearable Computer โดยเฉพาะในส่วนของ Smart Watch นั้นน่าจะยังไปได้กับกลุ่มคนออกกำลังกาย ที่ต้องการอุปกรณ์ช่วยวัดการเต้นของหัวใจ ติดตามการออกกำลังกาย มากกว่ากลุ่มผู้ใช้ทั่วไปที่เน้นผลิตภัณฑ์เชิงแฟชั่นมากกว่า และตลาดในกลุ่มนี้น่าจะยังคงซบเซาต่อไปจนกว่าจะมีเทคโนโลยีที่ดีพอจะเปลี่ยนรูปแบบการใช้ได้อีกครั้ง
Contributor
Eka-X
เอกพล ชูเชิด
วุ่นวายกับเทคโนโลยีมาตั้งแต่เยาว์วัย จนเริ่มมีอายุเยอะก็จับคีย์บอร์ดหาเลี้ยงชีพด้วยงานเขียนด้านเทคโนโลยีมาตลอด ทั้งยังเปิด Aofapp.com เว็บไซต์ส่วนตัวที่เล็กมากๆ เพื่อเขียนรีวิวแอพฯ มือถือเรื่อยๆ ในเวลาว่าง ถึงจะสาหัสกับงานขนาดไหนก็ยังเขียน แชร์ บ่นไปเรื่อยใน Twitter
Twitter: Twitter.com/eka_x