จากการที่ทีมงาน Digital Age ได้นำเสนอในเรื่องของ IoT คือคำตอบของการศึกษายุค 4.0 ให้เด็กยุคใหม่ได้สัมผัสกับเทคโนโลยีในการเรียนการสอน ส่งเสริมให้รู้จักการเขียนโปรแกรม ตั้งแต่วัยประถม รับรู้พื้นฐานของการทำงาน IoT และรู้จักพัฒนาต่อยอดสู่นวัตกรรม แม้ว่าภาคการศึกษากำลังหาวิธีการสอดแทรกสิ่งเหล่านี้เข้าไปในรายวิชา ก็ยังคงต้องใช้เวลาไม่น้อยในการที่จะสร้างเป็นมาตรฐานการศึกษาในขณะนี้
ล่าสุด ในงาน DIGITAL THAILAND BIG BANG 2017 ได้มีการจัดการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมด้าน IoT ขึ้น สิ่งที่สร้างความสนใจให้กับผู้เข้าร่วมงานจำนวนไม่น้อย จากจำนวนทีมที่เข้าร่วมทั้งหมด 30 ทีม มีเด็กชายวัย 10 ขวบ จากโรงเรียนสาธิตปทุม ที่เข้าร่วมประกวดเพียงคนเดียว มาเสนอสิ่งประดิษฐ์จากไอเดียที่อยากจะช่วยเหลือสังคมโดยนำเทคโนโลยีมาช่วยจัดการให้ดียิ่งขึ้น มาทำความรู้จักกับ เด็กชาย รัชชานนท์ เวียงนาค หรือน้องพัตเตอร์ พร้อมกับ คุณแม่ มาลัยพร กุลสุทธิชัย ที่คอยเป็นให้กำลังใจอยู่ข้างๆ
Q: ผลงานของเรามีชื่อว่าอะไร
A: ระบบควบคุมจัดการประตูระบายน้ำอัจฉริยะ โดยใช้คลื่นอัลตราโซนิควัดระดับผิวน้ำ เป็นการนำเทคโนโลยี IoT เข้ามาช่วยจัดการ ควบคุม แจ้งเตือน เฝ้าระวัง และติดตามประตูระบายน้ำให้สัมพันธ์กับปริมาณน้ำที่มี จะช่วยลดปัญหาปัญหาน้ำท่วม รวมถึงมีน้ำใช้อย่างพอเพียง
Q: แนวคิดของการสร้างสิ่งประดิษฐ์ชนิดนี้มาจาก
A: ผมชื่นชอบหุ่นยนต์ และชอบประดิษฐ์หุ่นยนต์โดยเริ่มจาก mBot ต่อง่าย เหมาะสำหรับของเด็ก ประกอบเป็นหุ่นยนต์ตามขั้นตอน จากนั้นจึงซื้อชิ้นส่วนหุ่นยนต์มาสร้างเป็นผลงานตนเอง โดยออกแบบเป็นหุ่นยนต์ควบควบประตูระบายน้ำ แนวคิดมาจากเมื่อก่อนเกิดน้ำท่วมคนจะพายเรือหรือฝ่าน้ำท่วมไปเปิดสวิทซ์ระบายน้ำออก แต่อาจเกิดปัญหาระบายไม่หมดทุกที่ เลยคิดว่าก่อนที่จะเกิดน้ำท่วมก็ให้ระบบทำการระบายน้ำออกให้หมดก่อน
Q: มีขั้นตอนการทำงานอย่างไร
A: การทำงานโดยมีคลื่นอัลตราโซนิควัดระดับผิวน้ำ และสั่งเปิดปิดประตูระบายน้ำ รวมถึงมีเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ เซ็นเซอร์วัดเสียง และเซ็นเซอร์วัดแสง ซึ่งจะเป็นตัววัดสภาพอากาศในแต่ละวัน วัดคลื่นเสียงของน้ำ และวัดช่วงเวลา จะทำการวัดค่าต่างๆ พร้อมแจ้งเตือน และสั่งการไปยังประตูกั้นน้ำตามที่เราตั้งค่าระดับน้ำไว้ สามารถเก็บกักไว้ใช้ในช่วงหน้าแร้ง หรือกระจายน้ำไปยังนาข้าว
Q: อะไรที่ทำให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการเข้าประกวด
A: ปกติแล้วชอบเดินดูการประกวดหุ่นยนต์ จึงอยากโชว์ไอเดียของตนเองบ้าง เลยตัดสินใจเข้าร่วมประกวดเป็นครั้งแรก ในระดับบุคคลทั่วไป เพราะว่าไม่มีระดับประถมศึกษา มีทั้งหมด 30 ทีม เป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด ผมเป็นเด็กคนเดียวที่เข้าประกวด รู้สึกตื่นเต้นมากครับ ใช้เวลา 1 อาทิตย์ในการคิดไอเดีย และสร้างสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมา
Q: มีพื้นฐานการประดิษฐ์ได้อย่างไร
A: ผมมีพื้นฐานการสร้างหุ่นยนต์ตั้งแต่เด็ก พ่อจะสอนแบบง่ายๆ ผ่านแอพพลิเคชั่นในเรื่องของการเขียนโปรแกรม เป็นเกมผ่านด่าน และสอนเทคนิคในการคิด จนซื้อชิ้นส่วน mBot มาให้มาประดิษฐ์ ผมก็จะลงมือทำเอง
Q: ผลงาน สามารถไปต่อยอดอะไรได้อีก
A: นำไปใช้เป็นระบบระบายน้ำในพื้นที่ต่างๆ สามารถประยุกต์ใช้กับคลอง พื้นที่ในไร่ หรือนาข้าวได้ ผมคิดว่าผลงานของชิ้นนี้เป็นเพียงชิ้นแรก และมีไอเดียใหม่ๆ อยากจะประดิษฐ์รถเก็บเกี่ยวนาข้าวได้เอง อยากจะช่วยชาวบ้าน เกษตรกร จากปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ได้เห็นถึงความคิดและความสามารถของเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจด้านหุ่นยนต์ และพร้อมที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่สู่สังคม เรามาฟังทัศนคติของผู้ที่อยู่เบื้องหลังกับคุณแม่มาลัยพร กันบ้างว่ามีวิธีการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างไร ให้เป็นเด็กที่เก่งและกล้าแสดงออกอย่างน้องพัตเตอร์
Q: ส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับลูกอย่างไร
A: ประมาณควบครึ่งน้องจะเริ่มต่อเลโก้เอง จากนั้นเริ่มสนใจเรื่องหุ่นยนต์ ต่อเอง หาข้อมูลเอง โดยเราจะช่วยในเรื่องของอุปกรณ์ในการเรียนรู้ประดิษฐ์หุ่นยนต์สำหรับน้อง เลือกในราคาที่เราสามารถจับต้องได้ โดยสั่งตัว mBot มาจากต่างประเทศ 1 ตัว จะเริ่มที่ราคา 3000 บาท ขึ้นไป อยู่ที่ระดับความยากง่าย
Q: มีวิธีการอย่างไรในการอธิบายให้เด็กเข้าใจ
A: สำหรับขั้นตอนการประกอบชิ้นส่วนบางครั้งเด็กอาจจะไม่เห็นภาพ เราพาไปดูรูปร่างสิ่งประดิษฐ์จริงๆ และอธิบายให้เขาเข้าใจง่าย เรื่องเทคโนโลยีถ้ายากเด็กจะไม่ค่อยสนใจ ต้องทำให้ง่ายและสนุกด้วย อย่างเด็กรุ่นเดียวกันมีน้อยมากที่สนใจด้านนี้ อาจจะเกิดจากปัญหาด้านการศึกษาที่ยังไม่ผลักดัน ในการเรียนการสอนเองไม่มีเลย อีกทั้งการเข้าถึงหุ่นยนต์ไม่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป
Q: อยากให้น้องเรียนรู้ด้านใดกับการเข้าร่วมประกวด
A: น้องอยากมาประกวดเอง เกี่ยวกับ IoT น้องจะเข้าใจทันทีว่าคืออะไร อธิบายให้น้องเข้าใจแบบง่ายๆ ว่าสามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ ด้วยความที่ยังเป็นเด็กจึงไม่อธิบายเชิงลึกเกินไป ให้รู้ว่าใช้อย่างไร นำไปต่อยอดทำอะไรได้บ้าง และเรียนรู้เซ็นเซอร์ที่สร้างขึ้นเองภายในบ้าน เช่น เซ็นเซอร์ระบบรดน้ำต้นไม้ ระบบเปิดปิดไฟอัตโนมัติ เขาก็จะทำความเข้าใจและเรียนรู้กับสิ่งที่เราสอนไปพร้อมๆ กัน
Q: แชร์วิธีการอบรบสอนลูกๆ หน่อย
A: การอบรมสั่งสอนต้องคุยกับเขาแบบเพื่อน ถ้าลูกสนใจด้านไหน เราก็สนับสนุนด้านนั้น ดีใจภูมิใจไปกับความสำเร็จของลูก ให้เขาเป็นตัวของตัวเอง อยากทำอะไรก็ปล่อยให้ลงมือทำ เราก็คอยส่งเสริมการเรียนรู้ให้มากที่สุด เห็นว่าเขาชอบด้านหุ่นยนต์เราก็สนับสนุบอย่างเต็มที่
Q: อยากฝากอะไรถึงสังคมบ้าง
A: ฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า การที่เราจะเป็นไทยแลนด์ 4.0 เราต้องฝากความหวังไว้กับเด็กรุ่นใหม่ การศึกษาเป็นส่วนสำคัญ การผลักดันเทคโนโลยีต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ งบประมาณ และบุคลากรที่เข้มแข็ง ให้เด็กเข้าถึงอุปกรณ์ง่ายๆ พร้อมทั้งสอนแบบใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน ไม่ล้ำเกินไป และพ่อแม่ควรที่จะคอยสนับสนุนการเรียนรู้เทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
บางครั้งอาจไม่จำเป็นต้องรอให้โรงเรียนเป็นผู้สร้างการเรียนรู้ให้เด็กเพียงอย่างเดียว ครอบครัวนี่แหละที่จะเป็นผู้เติมทักษะและเสริมการเรียนรู้โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยี สอดแทรกเข้าไปในชีวิตประจำให้เด็กเข้าใจง่ายและสนุกไปด้วย อย่าง น้องพัตเตอร์ ถือว่าเป็นเยาวชนตัวอย่างที่ดี และเป็นอนาคตของชาติในยุคของสังคมนวัตกรรมต่อไป