จากที่คาดการณ์ว่าอนาคตจำนวนประชากรจะเข้ามาอาศัยในสังคมเมือง ส่งผลให้เมืองจะมีขนาดใหญ่และซับซ้อนมากขึ้น ขณะที่ทรัพยากรยังมีอยู่อย่างจำกัดและอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ หลายๆ เมือง หลายๆ ประเทศ มุ่งพัฒนาและส่งเสริมเมืองให้มีระบบการขนส่ง การใช้พลังงาน สุขพลานามัยที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้สิ่งแวดล้อมรองรับสังคมในอนาคต
ขณะที่ในประเทศไทย หลายหน่วยงานต่างพยายามพัฒนาเมือง ที่เรียกว่า Smart City ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการทรัพยากร ซึ่งหัวเมืองหลักในไทยเริ่มมีการสร้างเมืองในรูปแบบของตนเอง ที่มีการพัฒนาแบบแผน ขณะนี้ก็เริ่มมีระบบเข้ามาใช้งานให้เห็นกันแล้ว
ทั้งนี้ ภายในงาน งาน DIGITAL THAILAND BIG BANG 2017 ที่มีการจัดแสดงความพร้อมเกี่ยวกับ Smart City ในหัวเมืองสำคัญของประเทศไทย ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต และขอนแก่น มาดูกันว่าแต่ละเมืองจะมีแผนพัฒนาไปในทิศทางไหน และมีการวางโครงสร้างระบบอะไรแล้วบ้างในขณะนี้
เชียงใหม่ Smart City
เริ่มจากเชียงใหม่ โดยภายในงานมีการจัดแสดงในส่วนของระบบการช่วยเหลือเกษตรกรแบบครบวงกร ซึ่งมีบริษัทที่ผลิตโดรนเพื่อเข้ามาช่วยในการทำการเกษตรในพื้นที่เชียงใหม่ ได้หยิบตัวอย่างชนิดของโดรนมาให้ดูอีกด้วย เช่น โดรนสำรวจวัดพื้นที่ ความสูงต่ำของพื้นดิน สามารถดูเป็นในลักษณะเป็นแผนที่ โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินสำรวจ ซึ่ง 1 วัน ใช้โดรนบินสำรวจได้ 5000 ไร่ สามารถที่จะวางแผนการเพาะปลูกได้ พื้นที่ส่วนไหนเหมาะสำหรับปลูก ส่วนไหนเก็บกักน้ำ และพื้นที่ที่ควรหลีกเลี่ยง
ทั้งยัง สามารถนำแผนที่ไปใส่ในรถแทรกเตอร์โรยปุ๋ยในพื้นที่ที่เหมาะสม ทำให้ลดต้นทุนในเรื่องของปุ๋ย รวมถึงยังมีโดรนตรวจสุขภาพของพืช โดยการใช้กล้องตรวจ พร้อมทั้งเซ็นเซอร์วัดความชื้นในดิน วัดค่าPH ในดิน ซึ่งจะมีอุปกรณ์พร้อมซอฟแวร์สำหรับการทำเกษตร โดยทำการการแจ้งเตือนและรายงานผลบนมือถือ
นอกจากนี้ ยังเน้นในเรื่องของ 3D โมเดล โดยใช้โดรนสำรวจสิ่งปลูกสร้าง ตรวจรอยร้าวของอาคาร สะพาน เขื่อน และสถานที่ที่เข้าถึงยาก ตัวช่วยสำหรับจัดการในเรื่องของผังเมือง แผนขยายถนน ออกแบบอาคาร การวางผังเมือง บนซอฟแวร์วิเคราะห์ข้อมูลจากบริษัทออโต้เดส
ภูเก็ต Smart City
ในส่วนของเมืองภูเก็ต ได้มีการวางระบบไวไฟสาธารณะติดตั้ง 1000 จุด ให้บริการสำหรับประชากรในพื้นที่จำนวน 1 ล้านกว่าคน และนักท่องเที่ยว ซึ่งปีที่แล้วมีมากถึง 13 ล้านคน เป็นการเพิ่มความสะดวกสบายสำหรับการท่องเที่ยว เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น โดยสามารถเล่นได้ไม่จำกัด เมื่อล็อคอินครั้งแรกก็จะจำและเชื่อมให้อัตโนมัติเมื่อไปตามสถานที่รอบภูเก็ต
สร้างบัตรสำหรับใช้จ่ายในเมืองภูเก็ต ทั้งร้านอาหาร โรงแรม และรถขนส่งในภูเก็ต เพียงเติมเงินเข้าไปก็สามารถนำมาใช้จ่ายได้หมด ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง รวมถึงมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่น “Choop.Me” สำหรับจองที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว และบริษัททัวร์
นอกจากนี้ ยังพัฒนาโปรแกรมสำหรับสั่งอาหาร พร้อมจัดส่งภายในภูเก็ต ในชื่อ “ We Serve” สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากทานอาหารท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นร้านเล็กๆ ข้างทาง หรือร้านดัง ก็มีให้เลือก หรืออาจจะไม่ได้เดินทางไปยังสถานที่นั้น แต่อยากทานอาหารในโซนดังกล่าวทำให้สะดวกและประหยัดเวลา ทั้งชาวภูเก็ตเองก็สามารถสั่งอาหารได้เช่นกัน โดยคิดค่าส่งครั้งละ 40 บาท ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นทีมชาวภูเก็ตที่วางแผนพัฒนาเมืองร่วมกัน
ขอนแก่น Smart City
สำหรับขอนแก่น เป็นเมืองที่เน้นในเรื่องของสุขภาพและการรักษาพยาบาล โดยสร้างศูนย์ควบคุมรถพยาบาล รับแจ้งเหตุ สั่งการทั้งภาพและเสียง ทำให้รถพยาบาลที่มีคนไข้อยู่ได้รับการดูแลตลอด จากการที่พนักงานและพยาบาลบนรถอาจจะมีประสิทธิภาพร่างกายไม่เต็มที่จากการปฏิบัติงาน รวมถึงมีความรู้ไม่เพียงพอหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ศูนย์จะส่งข้อมูลไปยังส่วนกลางมีพนักงานตรวจสอบจอ และดูเหตุการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมยังรับแจ้งเหตุจากประชาชน และเฝ้าระวังเรื่องของรถพยาบาลด้วย
สำหรับฟังก์ชั่นของการปฏิบัติการของรถพยาบาลจะมีอุปกรณ์ครบครัน มีระบบติดตามและสื่อสารกับหมอที่โรงพยาล สามารถเห็นหน้าจอชีพจรผู้ป่วยในรถพยาบาลได้เหมือนกัน ทั้งผ่านหน้าจอคอมและแอพพลิเคชั่นบนมือถือ ทั้งยังมีกล้องหน้ารถและระบบประเมินระยะทางใช้เวลากี่นาทีถึงโรงพยาบาล ทำให้เตรียมพร้อมคุณหมอและห้องฉุกเฉินได้ทันท่วงที ขณะนี้รองรับรองพยาบาลทั้งหมด 26 อำเภอ ทั่วทั้งจังหวัดขอนแก่น
ไม่เพียงเท่านั้นยังพัฒนาแอพพลิเคชั่นพร้อมทั้งลิสแบรนด์ ที่ใช้สำหรับเก็บข้อมูลคนไข้ บันทึกประวัติส่วนตัว ยาที่กำลังทาน ซึ่งจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยสูงอายุ หรือผู้ป่วยเรื้อรังอาจเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ไม่ได้ไปโรงพยาบาลประจำทำให้หมอได้ทราบประวัติ และรู้วิธีการรักษาได้ทันเหตุการณ์
จะเห็นว่า แต่ละเมืองมีโจทย์ปัญหาและความต้องการที่ต่างกัน อย่างที่ทั้ง 3 เมือง ต่างมีการวางแผนพัฒนาที่เหมาะสำหรับคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นเพียงบางส่วนที่ถูกหยิบยกมาให้เห็นกัน การจะพัฒนาเมืองไปสู่เมืองอัจฉริยะ ยังเป็นสิ่งที่ท้าทายต้องอาศัยทั้งความร่วมมือและงบประมาณ เพื่อนำไปสู่เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนในอนาคต