เชื่อว่าใครหลายคนประสบปัญหาการให้บริการของรถแท็กซี่ประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันยังไม่เป็นที่พอใจของผู้ใช้บริการ เช่น การขาดคุณภาพบริการที่ดี คนขับรถปฏิเสธผู้โดยสาร ไม่เปิดมิเตอร์ให้บริการ กริยามารยาท การพูดจา หรือการวางตัวไม่เหมาะสม ไม่มีใจให้บริการ ไม่มีการรับประกันคุณภาพบริการ ผู้ใช้บริการขาดความมั่นใจในความปลอดภัย และมีการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค เป็นต้น

รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์ Smart Cities Research Center (SCRC) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ออกแบบและพัฒนาระบบการทำงานของ All Thai Taxi
และในขณะเดียวกันนั้นเอง ผู้ให้บริการที่คร่ำหวอดในระบบขนส่งโดยสารอย่างบริษัท นครชัยแอร์ จำกัด ก็ได้เปิดให้บริการแท็กซี่รูปแบบใหม่ All Thai Taxi หรือรถแท็กซี่อัจฉริยะ โดยความร่วมมือระหว่างศูนย์ Smart Cities Research Center (SCRC) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, บริษัท ไอทีเอส คอนซัลแตนซี จำกัด และกรมการขนส่งทางบก ซึ่งรถแท็กซี่จะถูกควบคุมแบบครบวงจร ศูนย์ควบคุมสามารถทราบการกระทำที่เกิดขึ้นของรถทั้งหมด พร้อมทั้งมีการบริหารจัดการมอบหมายงานให้พนักงานขับรถทำหน้าที่อย่างเป็นระบบ
จุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลง เสริมศักยภาพวงการแท็กซี่ไทย
รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์ Smart Cities Research Center (SCRC) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ออกแบบและพัฒนาระบบการทำงานของ All Thai Taxi ให้ข้อมูลว่า โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างบริษัท นครชัยแอร์, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, บริษัท ไอทีเอส คอนซัลแตนซี และกรมการขนส่งทางบก คิดค้นและพัฒนาระบบให้บริการรถแท็กซี่อัจฉริยะ ในชื่อ “All Thai Taxi” มีการใช้ระบบ Smart Taxi Control System ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ โดยผ่านศูนย์ควบคุม Smart City Research Center (SCRC) เพื่อสื่อสารระหว่างแท็กซี่ที่ได้ติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ภายในอย่างทันสมัยสูงสุดในประเทศไทย รวมทั้งแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในกลางปี 2558
โดยรถยนต์ที่เปิดให้บริการจะเป็นรถโตโยต้า พรีอุส ซึ่งเริ่มต้นให้บริการช่วงหลังสงกรานต์ที่ 40 คัน และเพิ่มขึ้นเดือนละ 100 คัน จนครบ 500 คัน ตามแผนการให้บริการ และเชื่อว่าจะสามารถคุ้มทุนได้ภายในระยะเวลา 5-7 ปี ทั้งนี้ระบบดังกล่าวสามารถรองรับการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในอนาคตสามารถเพิ่มจำนวนรถได้อย่างไม่จำกัด ขณะที่ระบบสำรอง (DR Site) ได้ถูกวางแผนไว้อย่างชัดเจน โดยระบบทั้งหมดจะใช้พื้นที่ในการเก็บข้อมูลแบบคลาวด์ เพื่อความสะดวกในการควบคุมและสั่งการ ซึ่ง All Thai Taxi จะไม่มีการปฏิเสธผู้โดยสารอย่างแน่นอน
![]() |
ฉบับที่ 198 เดือนมิถุนายนไอทีเชื่อมสู่ท้องถิ่นแบบ Social Enterprise |
มาตรฐานการบริการที่ดีขึ้น กับอัตราค่าโดยสารในราคาปกติ
การใช้บริการ All Thai Taxi สามารถใช้ได้ 3 ทางเลือก คือ 1) ผ่านแอพพลิ-เคชั่น All Thai Taxi 2) การโทรจองผ่าน Call Center และ 3) การโบกเรียกรถแท็กซี่ ซึ่งการใช้บริการผ่านแอพพลิเคชั่น All Thai Taxi ผู้ใช้บริการจะต้องสมัครสมาชิก ระบุข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลบัตรชำระเงินไว้ในระบบ เช่น บัตรเดบิต บัตรเครดิต เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการชำระเงินในรถแท็กซี่ การเรียกใช้งานผู้ใช้บริการจะต้องระบุตำแหน่งรับ-ส่ง เพื่อให้ระบบทำการประมวลผลหารถแท็กซี่ที่ใกล้ที่สุด ระหว่างการเดินทางผู้ใช้บริการสามารถแชร์ตำแหน่งของตนเองเพื่อให้ผู้อื่นทราบได้ผ่านแอพพลิเคชั่นนี้ การจ่ายค่าบริการสามารถเลือกการจ่ายแบบตัดเงินผ่านบัตรที่ใส่ข้อมูลไว้ในแอพพลิเคชั่นหรือการจ่ายด้วยเงินสด
การโทรจองผ่าน Call Center ผู้ใช้บริการต้องทำการสมัครสมาชิกก่อน โดยการแจ้งข้อมูลส่วนตัวผ่านทาง Call Center แล้วจึงแจ้งรายละเอียดของตำแหน่งที่จะให้ไปรับ-ส่ง การชำระเงินสามารถเลือกได้ว่าจะจ่ายผ่านบัตรหรือจ่ายด้วยเงินสด หากชำระด้วยบัตรเครดิตจะต้องแจ้งเลขที่บัตรให้ Call Center ด้วยเช่นกัน และในขณะที่การโบกเรียกรถแท็กซี่สามารถเรียกได้ตามปกติ หากรถขึ้นสถานะว่าง ซึ่งพนักงานขับจะเป็นผู้แจ้งกลับทางศูนย์ควบคุมว่ามีการรับผู้ใช้บริการ โดยลักษณะการบริการจะคล้ายกับแท็กซี่อื่นทั่วไป
“อัตราค่าบริการของ All Thai Taxi จะอ้างอิงจากมาตรฐานมิเตอร์ธรรมดาทั่วไป คือเริ่มต้นที่ 35 บาท แต่ถ้าหากมีการเรียกใช้ผ่านแอพพลิเคชั่นหรือโทรจองผ่าน Call Center ก็จะมีการคิดค่าธรรมเนียมค่าเรียกครั้งละ 20 บาท ขณะที่ในกรณีโบกเรียกจะไม่มีค่าบริการ 20 บาท ชำระเฉพาะค่าโดยสารตามมิเตอร์ปกติ ซึ่งการโดยสารแต่ละเที่ยว อนุญาตให้มีจุดหมายปลายทางจุดเดียว กรณีมีค่าผ่านทางด่วนหรือทางพิเศษ ผู้โดยสารเป็นผู้จ่ายเอง”
เทคโนโลยีที่ผสานกับชีวิตคนเมือง ตอบโจทย์ความต้องการอย่างตรงจุด
การทำงานของ All Thai Taxi มีการใช้ระบบ Smart Taxi Control System เพื่อควบคุมการทำงานทั้งโครงสร้างผ่านศูนย์บริการ Smart City Research Center (SCRC) ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่เป็นเพียงแค่ผู้มอนิเตอร์ โดยการเรียกใช้บริการจะเรียกผ่านแอพพลิเคชั่นเท่านั้น แม้ว่าจะมีศูนย์ร่วมเพื่อคอยรับสายผู้ใช้บริการอย่างสายด่วนนครชัยแอร์แล้วก็ตาม
ทางด้านระบบความปลอดภัยรถแท็กซี่ ในรถจะมีการติดตั้งกล้อง CCTV และระบบคอมพิวเตอร์ ที่จะทำการตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงาน เช่น ลักษณะการขับรถ การให้บริการ เป็นต้น ซึ่งจะมีผลกับคะแนนการทำงาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาพนักงานขับรถ และการปรับปรุงการบริการต่อไป อีกทั้งยังมีการติดตั้งระบบตรวจสอบตำแหน่งรถ (GPS) ซึ่งจะส่งตำแหน่งของรถแท็กซี่ในขณะนั้นให้แก่ศูนย์ควบคุมกลาง เพื่อทำการตรวจสอบเส้นทางการเดินทางของรถแท็กซี่ให้ตรงกับเส้นทางที่ระบบมอบหมาย
ศูนย์ควบคุมกลางและคอมพิวเตอร์บนรถ ทั้ง 2 ส่วนนี้จะทำงานควบคู่กัน โดยมีหน้าที่ในการประมวลผลและมอบหมายงานให้รถแท็กซี่แต่ละคัน อาทิ การเดินทางไปรับ-ส่งผู้โดยสารตามที่ได้รับการร้องขอ การเดินทางไปจุดจอดรถเพื่อรอการมอบหมายงานจากส่วนกลางการเดินทางไปเติมน้ำมันเมื่อมีปริมาณต่ำกว่าที่จะสามารถให้บริการต่อไปได้ และการประมวลผลให้รถแต่ละคันมีการ กระจายตำแหน่งเพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม
“ระบบนี้จะช่วยให้เราสามารถบริหารจัดการ และตรวจสอบการขับของพนักงานขับได้ เราสามารถตรวจสอบได้แม้กระทั่งว่าพนักงานแต่ละคนนั้นขับรถกระชากหรือนิ่มนวลเพียงใด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเก็บมาใช้ประเมินการขับของแต่ละคนใช้เป็นคะแนนในการให้เงินโบนัสในแต่ละเดือน ด้วยความที่พนักงานขับของ All Thai Taxi จะเป็นพนักงานกินเงินเดือน นอกจากเงินเดือนและส่วนแบ่งแล้ว เขาจะมีโบนัสพิเศษจากคะแนนเหล่านี้”