แม้ว่ากรุงเทพฯ จะไม่ได้มีปัญหาน้ำท่วมสูงเหมือนในจังหวัดอื่นๆ แต่เพียงแค่ฝนตกหนักติดกันระดับที่มากกว่าชั่วโมง ก็จะเกิดน้ำท่วมขังแล้วในบางพื้นที่ ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากโดยเฉพาะในเรื่องของการเดินทาง ซึ่งปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งมาจากการระบายน้ำในท่อระบาย ที่ไม่ได้มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และมีขยะอุดตันอยู่เป็นจำนวนมาก
จากปัญหานี้ จึงเป็นที่มาของ “ระบบพยากรณ์น้ำท่วม กทม.” หรือ Bangkok Flood Prediction System ผลงานของ 3 นักศึกษาสาว ญาณิศา พรหมเพ็ง, นันทหัย อินทร์บำรุง และจารุวรินทร์ กาญจนกุลสิทธิ จากภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ (SIT) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมี ผศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วราภรณ์ และผศ.ดร.วชิรศักดิ์ วานิชชา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ทำงานด้วยการอาศัยปัจจัยต่างๆ เช่น ปริมาณน้ำฝน ระยะเวลาที่ฝนตก รวมถึงตรวจสอบภายในท่อระบายน้ำ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถจัดการปัญหาได้อย่างทันท่วงที
ศึกษาปัญหาน้ำท่วมกรุงฯ หาข้อมูลเพื่อสร้างระบบช่วยเหลือ
น้องๆ เล่าว่า แนวคิดนี้เกิดจากการที่ได้สัมผัสว่ากรุงเทพฯ ประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี ทั้งที่มีเครื่องสูบน้ำ แต่การไหลของน้ำระบายได้ช้า จึงได้ลองมาสังเกตก็พบว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้น้ำท่วม ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ ขยะที่อยู่ภายในท่อระบายน้ำ ซึ่งขยะที่ติดค้างในท่อยังไม่มีเครื่องมือช่วยวัด ทำให้บางครั้งการคำนวณการไหลของน้ำคลาดเคลื่อน จึงได้คิดเพื่อออกแบบและพัฒนาระบบพยากรณ์น้ำท่วม กทม. หรือ Bangkok Flood Prediction System ขึ้น
“การพัฒนาเริ่มจากเก็บข้อมูล สอบถามปัญหาน้ำท่วมในบริเวณกรุงเทพฯ ว่ามีปัจจัยมาจากอะไร แล้วจึงเลือกพื้นที่ที่จะมาเป็นโมเดลต้นแบบในการพัฒนาระบบ ซึ่งเราได้เลือกพื้นที่บริเวณอโศก เนื่องจากเป็นพื้นที่ต่ำและเกิดน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้งทั้งที่เป็นใจกลางเมือง หลังจากนั้นก็หาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับปัจจัยที่ก่อให้เกิดน้ำท่วม เช่น ข้อมูลปริมาณน้ำฝน ระดับความสูงของถนนจากระดับน้ำทะเลในแต่ละตำแหน่ง ขนาดของท่อระบายน้ำ จำนวนของท่อระบายน้ำเพื่อคำนวณปริมาณการรับน้ำและอัตราการไหลของน้ำ รวมถึงข้อมูลของปั๊มต่างๆ ที่ช่วยในการระบายน้ำในบริเวณอโศก”
เมื่อได้ข้อมูลเบื้องต้นแล้ว น้องๆ ก็จัดหาอุปกรณ์เซ็นเซอร์ต่างๆ เพื่อมาใช้ในการวัด ให้ได้อย่างเหมาะสมแม่นยำ เพื่อประสิทธิภาพของการใช้งานเครื่องมือ
ใช้ระบบเซ็นเซอร์ช่วยตรวจสอบ นำผลรวมมาวิเคราะห์ความเสี่ยง
สำหรับระบบพยากรณ์น้ำท่วม กทม. ใช้ระยะเวลาในการพัฒนาประมาณ 1 ปี โดยการทำงานของระบบประกอบด้วยเว็บแอพพลิเคชั่นและเซ็นเซอร์ โดยมี LDR Sensor (Light Dependent Resistor Sensor) เป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งเป็นตัวที่ใช้วัดขยะที่อยู่ในท่อระบายน้ำ ด้วยวิธีการทำงานแบบการวัดความเข้มของแสง ซึ่งถ้าความเข้มของแสงมาก หรือมืด ค่าที่ออกมาจะสูง ถ้าความเข้มของแสงสว่างน้อย ค่าที่ออกมาก็จะน้อย จุดนี้ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถทราบถึงปริมาณขยะหรือสิ่งอุดตันภายในท่อ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำว่ามากหรือน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะได้ดำเนินการกำจัดอุปสรรคได้ถูกจุดและรวดเร็ว
“การทำงานกับระบบนี้ เจ้าหน้าที่จะสามารถนำค่าที่ได้มาคำนวณเพื่อประเมินโอกาสที่อาจจะเกิดน้ำท่วมได้ โดยใช้เว็บแอพพลิเคชั่น ที่แสดงแผนที่ท่อระบายน้ำของแต่ละสาย และกรอกข้อมูลของปริมาณน้ำฝน ระยะเวลาฝนตก และปริมาณขยะหรืออุปสรรคที่วัดได้จากชุดเซ็นเซอร์ลงไป ระบบก็จะคำนวณผลรวม และทำงานร่วมกับ Google API ที่วัดความสูงของขยะในท่อ ระดับน้ำในท่อ ให้ทราบความสูงของพื้นที่เหลือ ที่จะรองรับน้ำไหลได้”


โดยเป็นการทำงานในแนวทางของ Internet of Things (IoT) อย่างอัตโนมัติ และส่งข้อมูลที่ได้เข้ามายังระบบประมวลผลส่วนกลาง และแสดงผ่านทางหน้าจอ เพื่อให้ทราบว่าจากปริมาณน้ำฝนระยะเวลาที่ฝนตกและปริมาณขยะที่อยู่ในท่อระบายน้ำมีโอกาสส่งผลให้เกิดน้ำท่วมหรือไม่ ซึ่งการพยากรณ์นี้จะช่วยให้ทราบได้ว่า พื้นที่บริเวณนั้นจะเกิดน้ำท่วมหรือไม่ อย่างไร โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ต้องลงไปสำรวจภายในท่อด้วยตัวเอง ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น และนำไปสู่การติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม หรือแก้ปัญหาได้ด้วยวิธีอื่นๆ
![]() |
ฉบับที่ 219 เดือนมีนาคมยุค IoT ของพลเมืองสูงวัย
|
รับรู้และมีส่วนร่วมในสถานการณ์ ช่วยผลักดันคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
การพัฒนาระบบนี้ขึ้นมา น้องๆ วางกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้งานเป็นประชาชนทั่วไปที่อาศัยในบริเวณพื้นที่ถนนอโศกและพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ ที่มีส่วนช่วยดูแลพื้นที่เขตกรุงเทพฯ
ทั้งนี้ ขั้นตอนในการใช้งานสามารถเข้าถึงได้ทั้งเว็บเบราว์เซอร์และแอพฯ โดยทางส่วนเจ้าหน้าที่ภาครัฐ หรือเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ ต้องติดตั้ง Trash Sensor ไว้ตามจุดต่างๆ ภายในท่อระบายน้ำ และดาวน์โหลดแอพฯ BKK Officer ผ่านทางมือถือเพื่อใช้งานได้ ประชาชนทั่วไปสามารถดาวน์โหลดแอพฯ BKK Citizen และสมัครสมาชิกได้ทันที ซึ่งสามารถรับแจ้งเตือนหรือรายงานสถานการณ์น้ำท่วมจากเจ้าหน้าที่ รวมถึงส่งข้อความแจ้งเหตุ โดยการถ่ายรูปและใส่ข้อมูล และระบบจะจัดเก็บรายละเอียดของโลเคชั่นนั้นไว้ด้วย


จากการทดลองใช้งานที่ผ่านมา กระแสตอบรับที่ได้จากผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงประชาชนเป็นไปในทางที่ดี เพราะสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ รวมถึงสามารถช่วยลดปัญหาที่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมจากการระบายน้ำไม่ทันได้ เนื่องจากระบบสามารถทำงานได้หลากหลาย ใช้งานง่าย
นอกจากปัจจัยน้ำท่วมขังและการระบายของน้ำที่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมแล้ว การต่อยอดในอนาคต น้องๆ จะมีการพัฒนาระบบให้รองรับการคำนวณปริมาณน้ำในแม่น้ำลำคลอง อัตราการระบายน้ำลงแม่น้ำลำคลอง รวมถึงความสามารถในการรับน้ำ เพื่อช่วยประเมินความเป็นไปได้ที่จะเกิดน้ำท่วม และจะรองรับพื้นที่ทุกภาคส่วนในประเทศ ไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะในอโศกหรือในกรุงเทพฯ เพียงเท่านั้น
ระบบนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับกรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นเมืองหลวงที่เราควรจะรักษาภาพลักษณ์ให้ดีที่สุด นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะมองภาพอย่างไรหากเกิดน้ำท่วม ซึ่งระบบพยากรณ์น้ำท่วมนี้ถือเป็นตัวนำร่องสามารถนำไปต่อยอดและนำไปใช้งานได้จริงกับพื้นที่อื่นๆ ของประเทศได้ ดั่งสโลแกนของกลุ่มที่ว่า “We believe we can create a better liveable city