ปี 2560 ที่ผ่านไปนับได้ว่าเป็นปีทองของคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) โดยแท้ โดยเฉพาะบิทคอยน์ (Bitcoin) ที่สามารถทำราคาทะลุถึงโลกพระจันทร์ (To the Moon) ที่ระดับเกือบ 20,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเดือนธันวาคม ก่อนที่จะปรับฐานลงอย่างรุนแรงจนมาอยู่ที่แถว ๆ 10,000 เหรียญ ขณะที่กำลังเขียนบทความนี้ (ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561) แต่มูลค่าที่เพิ่มขึ้นก็นับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) เมื่อบิทคอยน์มีมูลค่าเพียง 1,000 เหรียญ
จากราคาที่ผันผวนยิ่งกว่าสินทรัพย์ใด ๆ ที่มนุษย์เคยรู้จัก หน่วยงานภาครัฐได้เริ่มออกมาแสดงความกังวลและย้ำเตือนถึงความเสี่ยงจากการเข้าไปถือครองและลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี แม้ว่าจะไม่ได้ห้ามหรือประกาศให้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้มีกฎหมายรองรับว่าเป็นสื่อกลางที่ชำระหนี้ได้ จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนที่ต้องทำการศึกษาข้อมูลอย่างผู้รู้จริงและพร้อมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งาน ดังที่เรามักได้ยินข่าวตลาดรองสำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยน (exchange) ถูกโจมตีโดยแฮคเกอร์
เมื่อเห็นว่าไม่อาจหลีกหนีจากนวัตกรรมนี้ไปได้ ผมจึงได้ขออนุญาต บก. ใช้พื้นที่นี้ในการเผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซี เพื่อขอได้เป็นส่วนหนึ่งในการที่จะช่วยให้สังคมไทยได้เกิดความ “ตระหนัก” และ “ไม่ตระหนก” ต่อการอุบัติขึ้นของเทคโนโลยีดังกล่าว โดยจะแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ตอน โดยในตอนแรก ซึ่งก็คือบทความนี้ จะกล่าวถึงความหมายของเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของคริปโตเคอร์เรนซี กับความหมายของบิทคอยน์ ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมและเป็นรายใหญ่ที่สุดตามมูลค่าตลาด (Market Capitalization) ส่วนในตอนที่สอง จะเป็นการแนะนำให้รู้จักกับคริปโตเคอร์เรนซีและโทเคน (Token) อื่น ๆ หรือที่เรียกโดยรวมว่า Altcoin (ย่อมาจาก Alternative Coin หมายถึง คริปโตเคอร์เรนซีอื่นที่ไม่ใช่บิทคอยน์) ที่มีความน่าสนใจและคาดว่าจะมาแรงในปีนี้ และตอนที่สาม จะเป็นการอธิบายการระดมทุนโดยใช้สกุลเงินดิจิทัล หรือ ICO (Initial Coin Offering) ซึ่งอนาคตอาจเข้ามาแทนที่การระดมทุนรูปแบบเดิมได้เลยทีเดียว
เงินคืออะไร?
ก่อนที่จะพูดถึงบล็อกเชนกับบิทคอยน์ ผมขอปูพื้นความรู้เกี่ยวกับ “เงิน” ที่เราใช้จ่ายกันสนุกมือทุกวันนี้กันก่อน อย่างง่ายที่สุดเลยก็คือ เงินกระดาษ หรือธนบัตร (Fiat Currency) หมายถึง ตราสารที่ออกโดยธนาคารกลางและมีกฎหมายรองรับว่าสามารถชำนะหนี้ได้ตามกฎหมาย คุณสมบัติของเงินนั้นนอกจากจะต้องสามารถใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า (Medium of exchange) ได้แล้ว ยังต้องสามารถรักษามูลค่า (Store of value) และเป็นหน่วยวัดมูลค่า (Unit of account) ได้อีกด้วย ทำให้การที่ธนาคารกลางจะสามารถพิมพ์ธนบัตรได้นั้น ต้องมีทุนสำรองระหว่างประเทศเพื่อรองรับการออกธนบัตร ซึ่งทุนสำรองอาจเป็นโลหะมีค่า เช่น ทองคำ หรือพันธบัตรของรัฐบาลต่างประเทศที่มีความน่าเชื่อและมีความเป็นสากล เช่น เงินสกุลดอลลาร์ หรือเงินสกุลเยน เพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างสกุล
ด้วยเหตุนี้ เราจึงสามารถใช้เงินบาทในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในประเทศไทย เพราะเงินบาทเป็นตราสารที่กฎหมายไทยระบุว่าสามารถใช้ชำระหนี้ได้ แต่เราไม่สามารถนำเงินบาทไปแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าที่ญี่ปุ่นได้ เพราะไม่ใช่เงินที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายของเขา แต่เราสามารถนำเงินบาทไปแลกเงินเยนก่อนได้ เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศทำให้เงินบาทเป็นที่ยอมรับ
บล็อกเชนคืออะไร?
มาถึงตรงนี้เราได้รู้จักความหมายและคุณลักษะของ “เงิน” ไปแล้ว ก่อนที่จะอธิบายต่อผมอยากให้คุณผู้อ่านขีดเส้นใต้คำสำคัญ คือ ธนาคาร เพราะระบบบล็อกเชนที่ผมกำลังจะพูดถึงต่อไปได้ถูกออกแบบมาเพื่อขจัด “ตัวกลาง” ดังกล่าวทิ้งไปเสีย และกระจายอำนาจดังกล่าวกลับคืนสู่ผู้ใช้งานในระบบแทน
ระบบธนาคารที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่ทุกวันนี้ คือระบบแบบรวมศูนย์กลาง (Centralized) ซึ่งมี “ธนาคารเป็นตัวกลาง” ทำหน้าที่จัดการการทำธุรกรรมในระบบทุกอย่าง ตั้งแต่การเปิดบัญชี การฝากเงิน การออมเงิน ไปจนถึงการถอนเงิน และการแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ ซึ่งข้อดีคือมีความน่าเชื่อถือ เพราะเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับการกำกับดูแลอย่างเป็นระบบ แต่ข้อเสียคือข้อมูลทั้งหมดจะอยู่ในมือของตัวกลางเท่านั้น
และเมื่อระบบนี้ไม่มีคนกลางทำหน้าที่ยืนยันความถูกต้องของข้อมูล ทุกคนในเครือข่ายจึงมีหน้าที่ยืนยันความถูกต้องของการเดินบัญชีและการทำธุรกรรมไปด้วยกัน คล้าย ๆ กับระบอบประชาธิปไตยทางตรงที่ทุกคนมีสิทธิออกเสียงนั่นเอง
บล็อกเชนก็คือ DLT รูปแบบหนึ่ง โดยมีวิธีการทำงานคือ ข้อมูลธุรกรรมจะถูกเข้ารหัสและเก็บไว้ใน “บล็อก” จากนั้นระบบก็จะส่งสัญญาณ (broadcast) ไปยังคอมพิวเตอร์ (Node) บนเครือข่าย ว่าจะมีธุรกรรมใหม่เกิดขึ้นแล้วนะ ช่วยยืนยันด้วย เมื่อธุรกรรมได้รับการยืนยันโดย Node ต่าง ๆ แล้ว “บล็อก” ก็จะถูกเพิ่มเข้าไปในห่วงโซ่ (Chain) ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลการทำธุรกรรมในอดีตที่ผ่านมา เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ ด้วยเหตุที่ข้อมูลทางธุรกรรมได้ถูกเก็บไว้ในบล็อกซึ่งผูกติดเป็นห่วงโซ่ เราจึงเรียกระบบนี้ว่า “บล็อกเชน” นั่นเอง
ข้อดีของระบบนี้คือ สามารถทำการปลอมแปลงได้ยากมาก เพราะนอกจากข้อมูลใด ๆ จะต้องได้รับการเข้ารหัสแล้ว การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ต้องได้รับการยืนยันจากผู้ถือบัญชี (Node) ที่กระจายอยู่เสียก่อน ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีคนหัวใสนำเทคโนโลยีนี้มาใช้สร้างสกุลเงินดิจิทัลเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าได้เช่นเดียวกับเงินที่ออกโดยรัฐบาลกลาง และบิทคอยน์ก็ถือกำเนิดขึ้น
ว่าด้วยบิทคอยน์
บิทคอยน์ได้รับการพัฒนาขึ้นเมื่อทศวรรษที่แล้ว (ประมาณปี 2551) โดยบุคคล หรือกลุ่มบุคคลนาม ซาโตชิ นาคาโมโตะ (Satoshi Nakamoto) ซึ่งผ่านมาสิบปีแล้วเราก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคือใครและมาจากไหน แต่บิทคอยน์คือ การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้ได้อย่างสร้างสรรค์และสามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้กับแวดวงการเงินนับตั้งแต่ได้มีการคิดค้นระบบธนาคารขึ้น
ซึ่งกระบวนการยืนยันดังกล่าวมีศัพท์เฉพาะว่า “การทำเหมือง” (mining) ซึ่งแท้จริงเป็นการถอดรหัสสมการทางคณิตศาสตร์ขั้นสูงที่ต้องใช้กำลังคอมพิวเตอร์มากมายมหาศาล โดยนักทำเหมืองท่านใดที่สามารถแก้สมการได้ก็จะได้บิทคอยน์ก้อนหนึ่งมาเป็นรางวัล
สาเหตุที่ต้องให้บิทคอยน์ใหม่แก่ชาวเหมืองเท่านั้น ก็เพราะจำได้หรือไม่ครับว่าระบบบล็อกเชนไม่มีตัวกลางอย่างธนาคารเป็นผู้ยืนยันการทำธุรกรรม ดังนั้นการให้บิทคอยน์แก่ผู้ที่สละเวลาเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวแทนก็เหมือนกับเป็นการมอบสินน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ และเป็นการสร้างแรงจูงใจให้มีผู้สละเวลากับทรัพยากรเข้ามายืนยันการธุรกรรมในระบบมากขึ้น เพราะว่าเมื่อประวัติการทำธุรกรรมมีจำนวนมากขึ้น ก็ต้องใช้คอมพิวเตอร์จำนวนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ในการยืนยันธุรกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันแฮคเกอร์เข้าไปเจาะระบบหรือถอดรหัสได้อีกด้วย เพราะคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องก็เป็นผู้ถือบัญชีหนึ่งเล่ม การที่จะเข้าไปเจาะระบบเพื่อเปลี่ยนแปลงรายการเดินบัญชีใด ๆ ก็ต้องเจาะระบบเข้าไปเปลี่ยนทุก ๆ บัญชีให้เหมือนกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะต้นทุนในการถอดรหัสแต่ละครั้งหมายถึงการให้คอมพิวเตอร์ประมวลผลเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานไม่ใช่น้อย
สรุป
บิทคอยน์คือ นวัตกรรมทางการเงินที่พัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นพื้นฐาน ทำให้การทำธุรกรรมมีความโปร่งใสและปลอดภัย เพราะข้อมูลการทำธุรกรรมไม่ได้ถูกเก็บไว้ที่ตัวกลางรายหนึ่งรายใด แต่อยู่ที่เครือข่ายในระบบ และสามารถถูกเจาะได้ยากเนื่องจากต้องฝ่าด่านการถอดรหัสทางคณิตศาสตร์ที่ต้องใช้กำลังคอมพิวเตอร์มหาศาล จึงไม่แปลกหากบิทคอยน์มีแนวโน้มได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีมูลค่าสูงมากขึ้น
สำหรับบทความหน้าเราจะมาพูดถึง Altcoin หรือคริปโตเคอร์เรนซีอื่นที่น่าสนใจนอกจากบิทคอยน์กันนะครับ