สำหรับตัวผมที่เป็นอาจารย์มานาน ไม่ค่อยได้พูดถึงภาพรวมยุค Digital Economy ในฝั่งการศึกษาหรือวิชาการเลย ส่วนใหญ่เป็นในเชิงของผู้ประกอบการมาตลอดทั้ง Startups หรือ SMEs รอบนี้เลยอยากจะมาถ่ายทอดเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับวงการการศึกษาบ้างดีกว่า ไหนๆ ก็เป็นอาจารย์ประจำอยู่มหาวิทยาลัยอยู่แล้ว
บทเรียนสำหรับผู้เรียนบนสื่อดิจิทัล ก็เหมือนเครื่องมือการตลาดตัวหนึ่งที่ต้องทำ Content Marketing เรียกความสนใจให้เกิด Attraction และ Convert เพียงแค่ Convert เปลี่ยน Visitor (ผู้เยี่ยมชมซึ่งอาจจะเป็นผู้เรียนธรรมดา หรือคนทั่วไป) ให้กลายเป็น Learners (ผู้เรียนที่แท้จริง) ที่สนใจในบทเรียนของเราอย่างแท้จริง
ในยุคที่ทุกสิ่งเข้าสู่โลกของดิจิทัล (Digital) ทั้งเรื่องของแนวโน้มการตลาด สื่อสังคมออนไลน์ เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนหรือธุรกิจ ไปจนถึงภาครัฐฯ สำหรับส่วนของการศึกษาเองก็มีการตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีและสารสนเทศที่มากมายมาประยุกต์ใช้กับผู้เรียน เช่น นักเรียน นิสิต หรือนักศึกษาเช่นกัน
ตัวผมเองได้เข้าร่วมเครือข่ายของอาจารย์ ผ่านเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษา (ควอท.) หรือ Professional and Organizational Development Network of Thailand Higher Education ที่มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และแนวคิดในเรื่องของการปรับปรุงการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาที่เกี่ยวกับ “นวัตกรรมด้านการเรียนการสอน” ในนามของมหาวิทยาลัยร่วมกับอาจารย์ และนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายๆ สถาบันในประเทศไทย ทั้งศาสตร์ด้านสังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ทุกศาสตร์ต่างยอมรับว่า เทคโนโลยีด้าน ICT มีผลต่อการเรียนการสอนของอาจารย์ที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ผู้เรียนในปัจจุบัน
ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21
เพราะในตอนนี้ผู้เรียน หรือนักเรียน นักศึกษา มีแนวโน้มที่เปลี่ยนไป เช่นกันกับผู้บริโภคในภาคการค้าและธุรกิจ เพียงแค่เปลี่ยนจากการซื้อ-ขาย หรือการทำโฆษณาออนไลน์ เป็นแนวโน้มที่เปลี่ยนไปในการศึกษา หรือการเรียนรู้แทน อีกทั้งได้ข้อสรุปจากอาจารย์ และนักวิชาการส่วนใหญ่ระบุแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ว่า “การเปลี่ยนแปลงแนวคิดด้านการศึกษาในศตวรรษที่ 21 (Changing Education Paradigms, Ken Robinson, 2006 )” โดยมีข้อมูลที่ถูกตกผลึก และพัฒนาออกมาในประเทศไทย โดยท่าน ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช (หนังสือวิถีสร้างการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21) ที่ตอกย้ำกับสายวิชาการในแง่ของแนวคิดที่ว่า สาระวิชาความรู้แม้จะมีความสำคัญ แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการเรียนรู้เพื่อมีชีวิตในโลกยุคศตวรรษที่ 21 เพราะปัจจุบันการเรียนรู้สาระวิชา (Content หรือ Subject Matter) ส่วนมากจะเป็นการเรียนรู้จากผู้เรียน หรือนักศึกษา โดยการค้นคว้าเองผ่านสารสนเทศจำนวนมหาศาลบนโลกอินเทอร์เน็ตที่เป็นสื่อหลักที่แซงหน้าหนังสือ และตำราไปแล้ว
การเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 นี้ ครูหรืออาจารย์จะมีเพียงบทบาทในเชิงการช่วยแนะนำและออกแบบกิจกรรม ไปจนถึงการสร้างเงื่อนไขที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถประเมินความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของตนเองได้ ในรูปแบบการศึกษา และนวัตกรรมการสอนก็มีหลากหลายรูปแบบแยกย่อยออกไปตามคุณลักษณะของผู้เรียนหรือนักศึกษา อาจจะสรุปได้ว่า ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 นั้น จะต้องมีทักษะเหล่านี้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องทำการวิเคราะห์
ฉบับที่ 202 เดือนตุลาคมMaker ผู้สร้างสินค้าด้วยเทคโนโลยี |
ทักษะระดับพื้นฐานที่เคยมีมาก่อน
- Reading หรือทักษะการอ่าน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าถึงองค์ความรู้ หรือสารสนเทศ
- Writing หรือทักษะการเขียนเพื่อเป็นการเริ่มต้นถึงทักษะของการถ่ายทอดและการสื่อสาร
- Arithmetics หรือทักษะการคำนวณ หรือการคิดเชิงคณิตศาสตร์-ตรรกะศาสตร์ เพื่อใช้ในการคิดแก้ปัญหาชีวิตประจำวันทักษะระดับมาตรฐานที่เกิดขึ้นในศตวรรตที่ 21
- Critical thinking & Problem Solving หรือทักษะการคิดเชิงวิพากษ์และการแก้ปัญหาโดยอาศัยการเรียนรู้และสังเกตุ
- Creativity & Innovation หรือทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ และการคิดค้นนวัตกรรม
- Cross-Cultural Understanding ทักษะการเรียนรู้บนความเข้าใจด้านวัฒนธรรมที่แตกต่าง เพื่อสร้างระเบียบ
- Collaboration, Teamwork & Leadership ทักษะด้านการทำงานเป็นทีมและภาวะผู้นำ
- Communications, Information & Media Literacy ทักษะด้านการสื่อสารและมีความรู้ในการสืบค้นสื่อ
- Computing & ICT literacy ทักษะด้านการใช้งานอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และข้อมูลสารสนเทศรูปแบบดิจิทัล
- Career & Learning Skills ทักษะที่ตรงกับความชำนาญในการประกอบอาชีพและการพัฒนาการเรียนรู้ผสมเข้ากับการทำงาน
สำหรับลีลาเทคนิคการสอน หรือการเตรียมความพร้อมในรูปแบบของอาจารย์นั้น ต้องปรับปรุงทักษะสำหรับผู้เรียนจากเดิมแค่ 3 ข้อพื้นฐาน ให้กลายเป็น 10 ข้อที่ดูลำบาก เอาเข้าจริงหากมองโดยผิวเผินอาจจะคิดว่าเป็นไปได้ยาก แต่ด้วยคุณลักษณะของผู้เรียนที่อยู่ในศตวรรตที่ 21 นั้น ความท้าทายที่แท้จริงกลับอยู่ในเรื่องของ Critical thinking & Problem Solving, Communications, Information & Media Literacy และ Computing & ICT literacy เพียง 3 ข้อ
เท่านั้นที่ดูจะต้องมีการปรับตัวในแวดวงวิชาการกันขนานใหญ่ เพราะด้วยรูปแบบของการติดต่อสื่อสารผ่านสมาร์ทโฟน เช่น Facebook, LINE, Twitter และ Instagram ที่ผู้เรียน หรือนักศึกษานิยมใช้ในการแสดงออกในเรื่องความสนใจของตน และการใช้ Google และสารสนเทศจำนวนหมื่นล้านล้านมหาศาล หลายแห่งบนเว็บไซต์ก็สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง แซงหน้าสิ่งที่ผู้สอน หรืออาจารย์เตรียมพร้อมให้เกิดภาวะที่ผู้เรียนหรือ “เด็กรุ่นใหม่” (คน GenC) ให้ความสำคัญกับศาสตร์แขนงอื่นน้อยลง และเจาะจงเพียงสิ่งที่ตนถนัดมากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งอาจารย์ หรือห้องเรียน ไปจนถึงไม่ต้องพึ่งสถาบัน
เพราะคน GenC มักจะใช้ความรู้เฉพาะด้านโดยศึกษาผ่านบนอินเทอร์เน็ตในการติดตามและศึกษา ไม่ค่อยอยากจะทำงานในบริษัท เลือกที่จะเป็นการทำงานในระยะสั้น หรือรูปแบบ Freelance ไม่ให้ความสำคัญกับวุฒิ เพราะเชื่อมั่นใน Skill หรือทักษะเฉพาะด้านที่ตนถนัด ไม่ชอบกฎเกณฑ์ล้อมกรอบ และจุดประสงค์หลักของชีวิตคือ การเป็นเจ้าของธุรกิจ หรือเป็นนายตัวเอง แต่ด้วยรูปแบบของสังคม และระบบการทำงานในประเทศไทยยังคงต้องใช้วุฒิในการศึกษาเป็นใบเบิกทางส่วนใหญ่ คน GenC หรือคนรุ่นใหม่ก็ยังต้องใช้คำว่า “จำใจ” เข้ามาใช้เวลาศึกษาในสถาบันตามปกติ แตกต่างจากเดิมเพียงแค่เรื่องของการเรียนนั้น สถิติความสนใจ หรือสมาธิของคน GenC หรือผู้เรียนในศตวรรตที่ 21 นั้นมีอัตราความสนใจ และตั้งใจเพียงแค่ 20 นาทีเท่านั้น
ดังนั้น การจะให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพต่อคนกลุ่มนี้นั้นเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนอย่างละเอียด รูปแบบการทำงานของผู้สอนจึงต้องปรับเปลี่ยนไปพร้อมกับการนำเสนอบทเรียนที่แตกต่างจากสมัยก่อนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ
สื่อดิจิทัลเบี่ยงเบนความสนใจ และชั่วโมงโฮมรูมบน Facebook
ห้องสมุด ณ ตอนนี้เต็มไปด้วยหนังสือดีๆ ที่ไม่ใช่แค่ไม่มีคนหยิบ หรือยืมไปอ่าน แม้แต่จะเอาไปถ่ายเอกสารยังไม่ค่อยจะมี อันที่จริงห้องสมุดกลายเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยหนังสือดีๆ ที่ไม่เคยเปลี่ยนตำแหน่งจากชั้นวางเสียมากกว่า สื่อดิจิทัลอย่างวิดีโอ อย่างตัวอย่างภาคปฏิบัติ หรือ Tutorials บนเว็บไซต์ YouTube กลายเป็นแหล่งค้นคว้าขนาดใหญ่สำหรับผู้เรียน ณ เวลานี้ ทั้งที่เกิดจาก User Generate Content ขึ้นมาเอง หรือจากอาจารย์สถาบัน สำหรับตัวผมก็ต้องยอมรับว่า การบันทึกการสอนในชั่วโมงด้วยโปรแกรมบันทึกการเรียนการสอนย้อนหลัง มันไม่ได้ช่วยวัดความอยากรู้อยากเห็น อยากศึกษาหรือทบทวนจากผู้เรียนเลย กลับคิดว่าเป็นเพียงการลงทุนที่เสียเปล่า เมื่อไปเห็นสถิติของผู้เรียนในรายวิชาที่เข้าไปเปิดดู การเรียนการสอนย้อนหลังนั้นอยู่ที่ 0.67 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนของผู้เรียนรายวิชาทั้งหมด เหตุผลที่พอจะคาดเดาได้จากการสอบถามก็ได้เพียงข้อคิดว่า ผู้เรียนไม่เคยอยากจะทบทวนรายวิชาที่ผู้สอนได้สอนย้อนหลัง ผู้เรียนต้องการวิดีโอที่เป็นสิ่งที่ผู้สอนแนะนำเทคนิค หรือทบทวนบทเรียนแบบสรุปพร้อมตัวอย่างให้เข้าใจในเวลา 20-50 นาทีมากกว่า ด้วยเหตุผลสนับสนุนที่ว่า วิดีโอที่บันทึกจากระบบบันทึกการเรียนการสอนในชั่วโมงเรียนนั้น มันมีระยะเวลายาวเกินไป และมีการทิ้งระยะความเข้มข้น หรือการขัดจังหวะปรากฏตลอดช่วงการบันทึก ก็กลายเป็นว่าผลลัพธ์นี้สอดคล้องกับความสนใจ และสมาธิของคน GenC ที่มีพื้นฐานในแง่การรับรู้สารสนเทศ และการเรียนรู้ที่ 20 นาทีนั่นเอง กลายเป็นว่าสำหรับผมนั้น สื่อดิจิทัลที่เราใช้ทำการตลาดให้ลูกค้าสนใจมาตลอด ตามหลักของ Inbound Marketing การตลาดสมัยใหม่ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับการศึกษา
เป็นไปได้ว่า บทเรียนสำหรับผู้เรียนบนสื่อดิจิทัล ก็เหมือนเครื่องมือการตลาดตัวหนึ่งที่ต้องทำ Content Marketing เรียกความสนใจให้เกิด Attraction และ Convert เพียงแค่เปลี่ยนจาก Visitor (ผู้เยี่ยมชม) เป็น Customer (ลูกค้า) เป็นการ Convert เปลี่ยน Visitor (ผู้เยี่ยมชมซึ่งอาจจะเป็นผู้เรียนธรรมดา หรือคนทั่วไป) ให้กลายเป็น Learners (ผู้เรียนที่แท้จริง) ที่สนใจในบทเรียนของเราอย่างแท้จริง ดังนั้นเครื่องมือในการทำการตลาด หรือการศึกษานั้นก็คือเครื่องมือที่คล้ายกัน คือ Social Media หรือสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งบนเว็บไซต์ และสมาร์ทโฟน เช่น Blog, Facebook, Google Hangout และชั่วโมงเรียน E-Classroom รูปแบบดิจิทัลสมบูรณ์อย่าง Google Classroom (ใช้ได้เฉพาะสถานศึกษา)
ผู้เรียนในศตวรรตที่ 21 หรือคน GenC นั้นแม้จะสามารถหาแหล่งความรู้ได้เองจากสื่อออนไลน์ต่างๆ แต่เราจะทราบได้อย่างไรว่า สื่อออนไลน์เหล่านั้นมันถูกต้อง และสร้างสรรค์ ดังนั้น ในภาวะของการเป็นอาจารย์ ผู้สอน หรือ “ครู” นั้นจำต้องสร้างแหล่งข้อมูลสารสนเทศให้มากขึ้น
Blog สำหรับถ่ายทอดความรู้
เว็บไซต์ประเภท Knowledge Management หรือ Blog เกี่ยวกับวิชาต่างๆ ที่เขียนโดยอาจารย์ประจำวิชานั้น จำเป็นต้องถ่ายทอดขั้นตอนวิธีของการเรียนการสอน เช่น วิชาบรรยาย โดยเน้นให้เป็นการทบทวนต่อเนื่องจากบทเรียน เป็นไปได้ว่าแนะนำให้ผู้สอน หรืออาจารย์ทุกท่านควรมี Blog เป็นของตัวเอง และใช้เป็นเครื่องมือในการตลาดเชิงการศึกษากับผู้เรียน ผ่านการโปรโมต URL ของ Blog พร้อมบอกให้ไปทบทวนหลังการเรียนเสร็จสิ้นในชั่วโมง
เนื้อหาหรือตัวอย่างใน Blog ควรจะเป็นการสรุปหัวข้อสั้นๆ ตรงประเด็น และตัวอย่างที่มีการอธิบายการคิดที่เรียบง่าย โดยอาจจะอาศัยการใช้เทคนิคการนำกราฟิกรูปภาพ หรือ Infographic มานำเสนอให้เกิดความน่าสนใจ ส่วนรายวิชาที่เป็นการปฏิบัติหรือการใช้ทักษะ ผู้เขียน Blog หรืออาจารย์ผู้สอนจำเป็นต้องใช้รูปภาพในการนำเสนอ และคำอธิบายรูปภาพทั้งใต้ภาพ และเป็นกราฟิกภายในภาพ โดยใช้การเรียงลำดับขั้นตอน เช่น ขั้นตอนที่ 1, 2, 3 และลูกศรมาใช้นำทาง เป็นต้น
จากสถิติที่ได้ทำการเก็บข้อมูลมา ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในตัวเนื้อหาของบทเรียนเพิ่มขึ้นเมื่อมีการเรียนการสอนในห้อง แล้วมีเนื้อหาทบทวนใน Blog ที่ผู้สอนบอกให้ไปอ่านทบทวนทันที เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.3 เปอร์เซ็นต์ เพียงแค่การเตรียมความพร้อมในเนื้อหาของ Blog ต้องต่อเนื่องจากในชั่วโมงเรียนไม่เกิน 48 ชั่วโมง หรือ 2 วัน เพราะความต่อเนื่อง และความสนใจในเนื้อหาที่เกิดคำถามจะลดลง ถ้าระยะเวลาทบทวนของ Blog เกิน 48 ชั่วโมง
YouTube Channel ช่องทีวีออนไลน์เพื่อการศึกษา
แน่นอนว่า ถ้าผู้สอน หรืออาจารย์มี Blog เป็นของตนเองแล้ว บางเนื้อหาที่เป็นเชิงปฏิบัติ อาจจะใช้ลำดับรูปภาพอธิบายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้วิดีโอช่วยสอน ความแตกต่างของการที่อาจารย์ผู้สอนสร้าง Content บน YouTube นั้นคือ วิดีโอช่วยสอนบน YouTube นั่นคือการทบทวน และเป็น Tutorial ที่ต้องอธิบายทีละขั้นตอนอย่างกระชับ แต่ไม่เร็วเกินไป ที่สำคัญคือ จำไว้ว่า วิดีโอสำหรับทบทวนบน YouTube ของอาจารย์ผู้สอน ไม่ใช่การอัดบันทึกการเรียนย้อนหลัง แต่เป็นการบันทึกใหม่ในรูปแบบของขั้นตอนที่กระชับ และชัดเจน เป็นลำดับ
ข้อสังเกตสำหรับวิดีโอสื่อการสอนบน YouTube สำหรับผู้สอน หรืออาจารย์ที่ต้องสร้างขึ้นนั้น จะเหมาะกับรายวิชาที่เป็นการปฏิบัติ ส่วนวิชาบรรยายที่มีการถ่ายทอดการเรียนการสอนของตัวเองจะไม่ค่อยเกิดประสิทธิภาพเท่าไรนัก นอกเสียจากย่อประเด็นบรรยายให้เหลือ 2-5 นาที แล้วใส่เนื้อหาที่ตลกลงไปให้เกิดการรับรู้จดจำบทเรียนที่ต้องการเน้นย้ำ ซึ่งมันก็ยากเกินไปสำหรับผู้สอนคนหนึ่งจะจัดทำได้ทุกบทเรียนที่อย่างน้อยๆ ก็ 15 ครั้งต่อเทอม ถ้าไม่อยากเสียพลังงานเกินไป เลือกวิชาปฏิบัติเป็นวิดีโอ และเอาวิชาบรรยายไปเขียนลง Blog ดีกว่าครับ
โฮมรูม (HomeRoom) บน Facebook ไม่ใช่ LINE
อีกหนึ่งข้อมูลที่ผมได้ทำการเก็บรวบรวมมานั้นคือ การพบปะกันระหว่างอาจารย์ประจำวิชากับผู้เรียน หรือนักศึกษาในรายวิชาที่สอน ไปจนถึงนักศึกษาที่เป็นศิษย์ในที่ปรึกษา ช่องทางในการกระจายข่าว เอกสารการสอน หรือแหล่งข้อมูลอื่นๆ ไปจนถึงการช่วยเหลือในการถ่ายทอดจากผู้เรียนที่เข้าใจการเรียน ไปยังผู้เรียนที่ไม่เข้าใจ หรือที่เรียกว่า การช่วยเหลือแบ่งปันกันนั้นเกิดบน Social Network สื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook Group มากที่สุด โดยสถิติที่ได้นั้นเป็นช่องทางในการกระจายตัวองค์ความรู้จากผู้เรียนถึงผู้เรียนด้วยกัน และอาจารย์ถึงผู้เรียน ให้เกิดการสื่อสารและเข้าใจสารสนเทศต่างๆ ได้สูงถึง 77.11 เปอร์เซ็นต์ บนเว็บไซต์ และ 59.55 เปอร์เซ็นต์ บนสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นช่องทางติดต่อสื่อสาร และกระจายความรู้ที่เปรียบเทียบกับ LINE ที่อยู่บนสมาร์ทโฟนอย่างเดียวบนสถิติ 33.45 เปอร์เซ็นต์
ทำให้เกิดข้อเท็จจริง และข้อสังเกตได้ว่า LINE เป็นแพลตฟอร์มการติดต่อสื่อสารที่ไม่เหมาะกับการศึกษา อันที่จริงอาจจะไม่เหมาะกับองค์กรภาคธุรกิจด้วยซ้ำไป หากใช้เป็นเครื่องมือหลัก LINE เป็นได้แค่เครื่องมือสำหรับเตือนและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เมื่อกลับมาในเรื่องของการศึกษา เหตุผลที่ Facebook Group เป็นช่องทางติดต่อของผู้สอน และผู้เรียนได้ประสิทธิภาพมากที่สุด ในแง่ของความจำเป็น และคงอยู่ของข้อความที่ไม่ใช่ Information Over Load ที่มักจะเกิดบน LINE ที่คุ้ยหาข้อความสำคัญเก่าๆ ยากเสียเหลือเกิน
Google Classroom และ E-Classroom เปลี่ยนโลกของการศึกษาในศตวรรตที่ 21
อันที่จริงระบบ E-Classroom ตัวอื่นๆ ก็มีประโยชน์ เช่น ClassStart.org, Moodle, eClassroom, BlackBoard และอื่นๆ เป็นต้น ประสบการณ์ในการใช้งานก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เพราะผมเองก็ใช้ ClassStart.org อยู่ เพียงแค่เครื่องมือที่หยิบมาคือ Google Classroom ในแง่ของภาพรวมการทำงานที่มีประโยชน์กับสถานศึกษาหลายๆ แห่ง ที่ผู้ใช้ไม่ต้องใช้ความพยายามในการเปลี่ยน (โดยเฉพาะอาจารย์รุ่นเก่าๆ) เพราะเมื่อเลือกใช้ Google Classroom เมื่อไร เราจะได้ Blog คือ Google Site, Video & File Sharing คือ Google Drives, เอกสารประกอบการเรียนการสอน Google Docs, Slide, Sheets และระบบข้อสอบ และแบบฝึกหัดที่อยู่ใน Google Classroom ในตัวทันที พร้อม Social Network อย่าง Google+ ของตัวอาจารย์ หรือผู้สอนที่สามารถนำมาใช้เป็นช่องทางกระจายสื่อการสอน และบทเรียนได้อีกทางหนึ่ง
ผู้สอนหรืออาจารย์ สามารถจัดการสื่อการเรียนการสอน หรือทบทวนบทเรียนไปจนการตรวจนับคะแนน และเกรดของผู้เรียนได้อย่างสะดวกผ่านระบบของ Google Classroom ผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน หรือเว็บไซต์ได้อย่างสบายๆ อีกทั้งยังสามารถเข้าไปเป็นผู้ร่วมสอนรายวิชาอื่นๆ ได้เพียงแค่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของวิชาให้เราเข้าไปร่วมสอน
เครื่องมือที่ว่ามาทั้งหมดนั้น เมื่อถูกนำมาจัดการอย่างเป็นระบบแล้ว เราจะเห็นว่าสื่อจะวิ่งเข้าหาผู้เรียนตามทักษะ Communications, Information & Media Literacy และ Computing & ICT literacy ทีนี้ก็อยู่ที่ว่า เมื่อสื่อและองค์ความรู้วิ่งเข้าหาผู้เรียนแล้ว ก็เป็นการใช้เครื่องมือสำหรับวัดผลตัวสุดท้าย อย่างแบบฝึกหัด Google Forms หรือ Assignments บน Google Classroom เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจผู้เรียนให้เกิดการแก้ปัญหาจากการเรียนรู้ ซึ่งต้องผสมผสานเจ้ากับการสอนแบบดั้งเดิม เพื่อสร้างทักษะสุดท้ายของผู้เรียนคือ Critical thinking & Problem Solving ทักษะการแก้ปัญหาเชิงประยุกต์
สรุป
จะเห็นว่า โลกของการศึกษาเองนั้นไม่ได้ติดอยู่กับรูปแบบเก่าๆ เดิมๆ งานเอกสาร ผู้สอน หรืออาจารย์ในยุคนี้ต้องมีการเรียนรู้ และปรับตัวให้ทันผู้เรียนในส่วนของทักษะทั้ง 10 และเน้นที่จุดเด่นบนทักษะ 3 ข้ออย่าง
- Critical thinking & Problem Solving
- Communications, Information & Media Literacy
- Computing & ICT literacy
การเป็นผู้สอนหรืออาจารย์ ไม่ใช่แค่การสอนด้านเดียว ผู้สอนจำเป็นต้องเพิ่มภาระของตัวเองในการสร้าง Content ในสื่ออื่นๆ มากขึ้น เพื่อเป็นช่องทางช่วยเหลือให้ผู้เรียนได้เกิดความเข้าใจ และแก้ปัญหาด้วย เพราะผู้เรียนใน ศตวรรตที่ 21 หรือคน GenC นั้นแม้จะสามารถหาแหล่งความรู้ได้เองจากสื่อออนไลน์ต่างๆ แต่เราจะทราบได้อย่างไรว่า สื่อออนไลน์เหล่านั้นมันถูกต้อง และสร้างสรรค์ ดังนั้น ในภาวะของการเป็นอาจารย์ ผู้สอน หรือ “ครู” นั้นจำต้องสร้าง แหล่งข้อมูลสารสนเทศให้มากขึ้นผ่านเทคโนโลยีเว็บไซต์ และสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อประโยชน์ต่อผู้เรียนที่จะได้เข้าใจและทบทวน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ แก้ปัญหา สำหรับการสร้างอนาคตของผู้เรียนต่อไป
นี่ล่ะมั้งที่เค้าเรียกว่า “ครูเพื่อศิษย์” ยุค “ดิจิทัล”
Contributor
บัญญพนต์ พูนสวัสดิ์
อาจารย์ประจำสาขาการออกแบบเชิงโต้ตอบและการพัฒนาเกม คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์,นักเทคโนโลยีการศึกษา ชำนาญการด้าน Blended Learning และ Game-Based Learning ควบตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท เดย์เดฟ จำกัด ที่ปรึกษาด้านธุรกิจดิจิทัลด้วยประสบการณ์ในสายงานมากกว่า 10 ปี
Facebook: banyapon
Website: www.daydev.com