การสัมผัสประสบการณ์มองเห็นในรูปแบบใหม่ๆ กำลังเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเรามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality) หรือ VR ที่เป็นการจำลองสภาพแวดล้อมต่างๆ ทั้งจากสภาพแวดล้อมจริง และจากในจินตนาการ ขึ้นมาด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ให้เราได้สัมผัสในรูปแบบ 360 องศา ซึ่งในปัจจุบันทุกคนสามารถจับต้องได้ด้วยอุปกรณ์อย่างแว่น VR หรืออุปกรณ์ราคาถูกอย่าง Cardboard
โดยการใช้งานของเทคโนโลยี VR ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในกลุ่มของหนัง และเกม ทำให้น้องๆ จาก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี อย่างฐิติศักดิ์ ตรีรัตน์ และศราวุธ สีขว่าง ได้คิดนำเทคโนโลยี VR นี้ มาร่วมกับการศึกษาและพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่นความเป็นจริงเสมือนเพื่อสำรวจระบบสุริยะ Exploring The Solar System VR ที่ใช้การทำงานของสมาร์ทโฟนร่วมกับการ์ดบอร์ด
เริ่มเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่เพื่อสร้างสรรค์ผลงาน
ที่ผ่านมาวงการศึกษาในประเทศไทยเริ่มปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ด้วยการนำภาพ เสียง หรือวิดีโอต่างๆ เข้ามาใช้ประกอบการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กได้เข้าใจและมองเห็นภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่ไกลตัวก็จะถูกนำมาสร้างสรรค์ให้ได้สัมผัสได้อย่างใกล้ชิด
“เริ่มจากการที่เราสนใจในตัว VR ก่อน ว่าเป็นเรื่องใหม่และยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก พอรู้ประโยชน์แล้วเราเลยคิดว่า เทคโนโลยีตรงนี้มันสามารถทำให้เราไปอยู่อีกโลกหนึ่งได้เลย จึงนำมาใช้ร่วมกันกับการศึกษา เพื่อเป็นประโยชน์กับน้องๆ ให้ได้ประสบการณ์ใหม่และได้ใช้เทคโนโลยีไปพร้อมๆ กัน เพราะการทำงานใช้อุปกรณ์เพียงแค่สมาร์ทโฟน และกูเกิลการ์ดบอร์ดมาประกอบเข้าด้วยกัน”
โดยเชื่อว่า การสร้างสรรค์ผลงานนี้จะเปิดโลกใหม่และทำให้ผู้เรียนได้มีความจดจำกับสิ่งที่ได้เห็นง่ายขึ้น น้องๆ จึงเลือกใช้เนื้อหาเกี่ยวกับระบบสุริยะเพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจ กับประสบการณ์ที่จะได้รับจากแอพฯ นี้
เทคโนโลยีตรงนี้มันสามารถทำให้เราไปอยู่อีกโลกหนึ่งได้เลย จึงนำมาใช้ร่วมกันกับการศึกษา เพื่อเป็นประโยชน์กับน้องๆ ให้ได้ประสบการณ์ใหม่และได้ใช้เทคโนโลยีไปพร้อมๆ กัน
สร้างสรรค์รายละเอียดหลายอย่าง ต้องใช้เวลาพัฒนานานกว่าปกติ
ด้วยความที่เทคโนโลยีนี้ยังมีความใหม่ ทำให้ต้นแบบในการพัฒนาหาได้ยาก น้องๆ ใช้เวลามากกว่า 3 เดือน เพื่อเรียนรู้ระบบที่จะสร้างเป็นภาพเพื่อใช้กับ VR และเลือกใช้ Unity ร่วมกันกับ Cardboard SDK เพื่อทำภาพเป็น 2 หน้าจอ เพื่อให้ผู้ใช้งานได้เห็นภาพเสมือนจริง
ฉบับที่ 211 เดือนกรกฏาคมแพลตฟอร์ม IoT หัวใจของข้อมูล |
“เพราะว่ามันใหม่มาก ตัวอย่างการทำงานที่เสร็จแล้วก็ยังมีไม่เยอะ ยิ่งการทำงานเบื้องหลังอย่างการเขียนสคริปต์ ก็ยิ่งหายาก แต่ด้วยความตั้งใจแต่แรกว่าต้องทำอันนี้เราก็ศึกษาจากหลายๆ แหล่ง การพัฒนานี้ใช้เวลามากกว่า 6 เดือน เพราะต้องดูรายละเอียดทางด้านกราฟิก และมุมมองต่างๆ ให้เสมือนจริงมากที่สุด เลยซับซ้อนกว่าการพัฒนาแอพฯ ทั่วๆ ไป”
ปัญหาสำคัญที่พบในช่วงการพัฒนาแอพฯ คือ เรื่องการแสดงผล ด้วยความที่การแสดงภาพต้องเป็น 2 จอและซ้อนกันให้เกิดมิติ ต้องมีการกำหนดค่าขอบเขตการมองเห็น (Field of View) ให้ได้อย่างเหมาะสม และอีกส่วนหนึ่งที่ใช้เวลาคือ เรื่องของการทำภาพให้ออกมาเหมือนจริง เพราะว่าการปั้น Object ดวงดาว และกลุ่มดาวมีความซับซ้อนพอสมควร
จากภาพในจินตนาการสู่การเรียนรู้เสมือนจริง
น้องๆ เล่าว่า ตอนเด็กๆ เราก็มีความฝันอยากไปดูดาว อยากเห็นว่าพื้นผิวมันเป็นยังไง รูปทรงเป็นยังไง แต่มันเป็นไปได้ยากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้เห็นของจริง เราเลยเลือกระบบสุริยะมาเป็นแนวคิดหลัก เพื่อให้ได้ท่องเที่ยวไปยังดวงอาทิตย์และดาวทั้ง 8 ดวง
“เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด เราเลือกใช้ข้อมูลออฟฟิเชียลจากเว็บไซต์ของนาซ่าเป็นมาตรฐาน ในการสร้างสรรค์ระบบสุริยะให้ออกมาเหมือนจริงมากที่สุด โดยในระหว่างการใช้งานจะมีการบอกข้อมูลจำเพาะของแต่ละดวงดาว เช่น ขนาด ความร้อน ระยะทางจากโลก ทั้งแบบของความและเสียงบรรยายประกอบ”
แอพฯ สามารถใช้งานได้ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้ใหญ่ ด้วยโทรศัพท์ระบบปฏิบัติการณ์แอนดรอยด์หน้าจอ 4.7 นิ้วขึ้นไป โดยยังรองรับเพียงแค่การทำงานภาษาไทยเท่านั้น แต่คาดว่าจะเพิ่มคำบรรยายภาษาอังกฤษเพื่อให้เด็กไทยได้เรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ ให้มากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ในอนาคตน้องๆ เองต้องการให้มีความรู้ใหม่มาเสริมมากกว่าแค่เรื่องระบบสุริยะ แต่แน่นอนว่าจะเน้นไปในทางวิทยาศาสตร์ เพราะมันเป็นไปได้ยาก ที่เราจะได้ขึ้นไปบนอวกาศจริงๆ ซึ่งเราต้องการให้คนดื่มด่ำประสบการณ์และตื่นเต้น พร้อมกับการศึกษา เพราะเชื่อว่ามันเป็นมากกว่าการเล่น มันเป็นการเรียนรู้ที่ทำให้เข้าใจได้ง่าย และหวังว่าจะมีผู้พัฒนาหลายๆ รายหยิบการทำงานแบบเสมือนจริงนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับการศึกษามากขึ้นเช่นกัน