
ระบบที่ทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟนเพื่อลดภาระของคนดูแลให้ทำงานได้ง่ายขึ้น หรือระบบที่จะคอยช่วยดู
เรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุไม่ให้ป่วยหนักกว่าเดิม
ประเทศญี่ปุ่นประสบกับปัญหาผู้สูงอายุที่กำลังเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังมีอัตราการเกิดของประชากรน้อย โดยเมื่อเทียบกับอัตราส่วนของประชากรนั้น 1 ใน 4 จะเป็นผู้สูงอายุ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 จากการคาดการณ์ในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า ซึ่งอาจทำให้กลายเป็นสังคมที่มีแต่ผู้สูงอายุที่จะต้องอยู่คนเดียวกันเป็นจำนวนมาก
ในอนาคตหลายประเทศในเอเชียอาจต้องเผชิญปัญหาการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุเช่นเดียวกันกับประเทศญี่ปุ่น แต่ก็สามารถมีวิธีการรับมือที่ดีได้ โดยใช้ญี่ปุ่นเป็นโมเดลหนึ่งในการรับมือหรือแก้ปัญหาเหล่านั้น ตลอดจนการหาแนวทางที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีช่วงอายุที่มีสุขภาพดี แข็งแรง และดูแลตัวเองได้อย่างยาวนานยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาทางการแพทย์ และค่าจ้างสำหรับคนดูแลไปได้นั่นเอง

เรดาร์ติดอยู่ที่เตียงจับว่ามีคนนอนอยู่บนเตียงหรือไม่ สามารถวัดอัตราการหายใจ หรือการเต้นของชีพจรได้ว่าเป็นอย่างไร
การขาดแคลนคนดูแลผู้สูงอายุกำลังเป็นปัญหาใหญ่
ช่วงอายุที่คนสูงอายุมีสุขภาพดี สำหรับผู้ชายจะมีอายุอยู่ที่ 70 ปี และผู้หญิงมีอายุอยู่ที่ 75 ปี ขณะที่อายุขัยเฉลี่ยของคนญี่ปุ่น ผู้ชายจะมีอายุอยู่ที่ประมาณ 80 ปี ส่วนผู้หญิงมีอายุอยู่ที่ประมาณ 86 ปี ดังนั้นในช่วงระยะเวลานี้จะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรงยาวนานขึ้น ซึ่งปัจจุบันที่ประเทศญี่ปุ่นจะมีคนดูแลผู้สูงอายุประมาณ 1.76 ล้านคน และในปี 2017 นี้ จำเป็นที่จะต้องมีคนดูแลผู้สูงอายุมากขึ้นอีกราว 3.1 แสนคน แต่กลับพบปัญหาที่ไม่สามารถหาคนมาทำหน้าที่เหล่านี้ได้ เนื่องจากคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ไม่อยากเป็นคนดูแลผู้สูงอายุ และยังมีคนที่เลิกเป็นคนดูแลผู้สูงอายุมากถึง 4 ล้านคน เพราะรู้สึกเหนื่อยและเครียดจากการทำงานเป็นระยะเวลานาน พร้อมทั้งความคาดหวังจากการทำงานแบบมีประสิทธิภาพ จนทำให้หลายรายเป็นโรคซึมเศร้าตามมา
สุดท้าย เมื่อไม่มีคนอยากเป็นคนดูแลผู้สูงอายุ ปัญหาที่ตามก็คือ คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเหล่านี้แย่ลง และยิ่งเมื่อเป็นรูปแบบของการทำธุรกิจ ลูกค้าก็ต้องคาดหวังการบริการที่ดีที่สุดจากผู้ให้บริการ แต่ด้วยลักษณะของงานดูแลผู้สูงอายุเป็นงานที่ใช้ระยะเวลาในการให้บริการค่อนข้างยาวนาน คุณภาพในการดูแลหรือความใส่ใจจะลดลงเรื่อยๆ มีความละเลย ซึ่งอาจจะทำงานในลักษณะแบบเห็นบ้างไม่เห็นบ้าง จนนำไปสู่การถอดใจและเลิกทำงานเป็นคนดูแลผู้สูงอายุไปเอง
ตามสถิติแล้วใน 1 ปี สมมติว่ามีคนดูแลผู้สูงอายุอยู่ทั้งหมด 10 คน จำนวน 3 ใน 10 คน จะลาออก และภายใน 3 ปี ใน 10 คนนี้ ก็จะมีคนลาออกถึง 8 คน จากการเป็นคนดูแลผู้สูงอายุ ดังนั้นการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้จะช่วยให้การทำงานของคนดูแลผู้สูงอายุ จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

Makoto Ogawa ผู้ร่วมก่อตั้ง Z-Work
เข้าใจในความสำคัญ สำหรับการดูแลผู้สูงอายุ
Makoto Ogawa ผู้ร่วมก่อตั้ง Z-Works กล่าวว่า สิ่งที่ Z-Works ทำคือ ระบบซัพพอร์ตการดูแลรักษาพยาบาล และการป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุเจ็บป่วยจนต้องการคนดูแล เช่น สำหรับคนที่จำเป็นจะต้องใช้คนดูแล ก็จะมีระบบเซ็นเซอร์ที่ทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟนเพื่อลดภาระของคนดูแลให้ทำงานได้ง่ายขึ้น หรือระบบที่จะคอยช่วยดูเรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุไม่ให้ป่วยหนักกว่าเดิม เพื่อให้มีสุขภาพดี แข็งแรง และอายุยาวนานขึ้น รวมทั้งช่วยลดปัญหาการตกจากเตียงของผู้สูงอายุ เพราะที่ญี่ปุ่นมักพบปัญหาการใช้ยานอนหลับเนื่องจากนอนไม่หลับ ทำให้เวลาลุกขึ้นจากเตียงอาจมีอาการมึนหรือมือเท้าชา จนเป็นอุบัติเหตุที่มีการเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งกรณีนี้ปกติจะต้องมีคนดูแลอยู่ใกล้ๆ
“เราใช้ Internet of Things (IoT) เพื่อที่ว่าจะคอยตรวจสอบหรือดูว่าการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุมีอะไรที่ผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่ ซึ่งระบบของเราจะมีการส่งข้อมูลที่เป็นข้อมูลการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุไปให้กับคนดูแล หรือคนในครอบครัวได้ตลอด 24 ชั่วโมง และมีการจดบันทึกข้อมูลเก็บไว้ทั้งหมดเพื่อเอาไว้เรียกดูข้อมูลย้อนหลังได้อีกด้วย เพราะเราอยู่กับครอบครัวของเราที่มีผู้สูงอายุ เราจึงนำสิ่งนี้มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานนี้ขึ้นมา”
หลายคนคงรู้จักกับ Internet of Things (IoT) กันพอสมควร ซึ่งอุปกรณ์แต่ละชนิดก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป เช่น ระบบที่ใช้สำหรับป้องกันขโมยหรือสิ่งแปลกปลอมภายในบ้าน ในส่วนนี้จะต้องเป็นอุปกรณ์ที่มีระบบเซ็นเซอร์แบบแม่นยำสูง แต่กลับกันถ้าเป็นเรื่องของการดูแลผู้สูงอายุก็ไม่จำเป็นต้องใช้เซ็นเซอร์ที่มีความแม่นยำสูง เพราะตัวเซ็นเซอร์ต่างๆ นั้นไม่ได้ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ คนที่เข้ามาดูจริงๆ คือคนที่ให้การดูแลนั่นเอง จึงช่วยลดราคาค่าเซ็นเซอร์ได้
![]() |
ฉบับที่ 219 เดือนมีนาคมยุค IoT ของพลเมืองสูงวัย
|
3 องค์ประกอบหลักที่ทำงานร่วมกันแบบผสมผสาน
ระบบการทำงานทั้งหมดจะเป็นแบบผสมผสาน ที่มีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ 1. ฮาร์ดแวร์ 2. คลาวด์และการวิเคราะห์ และ 3. แอพพลิเคชั่น โดยเซ็นเซอร์จะคอยทำหน้าที่ในการตรวจจับข้อมูล และส่งข้อมูลมาเก็บไว้ในระบบคลาวด์ ซึ่งถ้ามีข้อมูลผิดปกติระบบก็จะรายงานผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนเพื่อให้ผู้ดูแลได้ทราบ โดยทั้ง 3 องค์ประกอบนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับพาร์ตเนอร์ต่างๆ ได้ทันที เช่น ตัวเซ็นเซอร์ก็สามารถเลือกใช้สิ่งที่มีขายอยู่แล้วทั่วไปในท้องตลาด โดยที่ลูกค้าเป็นคนเลือกเองได้ตามงบประมาณและความเหมาะสมสำหรับการใช้งาน
อีกระบบหนึ่งที่ทาง Z-Works พัฒนาคือ ตัวจับเรดาร์ติดอยู่ที่เตียง โดยจะใช้เรดาร์นี้ในการจับว่ามีคนนอนอยู่บนเตียงหรือไม่ สามารถวัดอัตราการหายใจ หรือการเต้นของชีพจรได้ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจากข้อมูลทั้งหมดที่เก็บได้ก็สามารถที่จะนำไปวางแผนการดูแลต่างๆ ที่เหมาะสมได้ในอนาคต เพราะว่ามีข้อมูลตั้งแต่ผู้สูงอายุคนนี้นอนตอนกลางวันหรือตอนกลางคืน มีการเคลื่อนไหวตอนไหน มีการตกจากเตียงหรือไม่ หรือว่าไปเข้าห้องน้ำตอนไหน ก็สามารถทราบได้ทั้งหมดจากเรดาร์นี้
หนึ่งในปัญหาของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียว ในกรณีที่ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงหรือเสียชีวิตไปก็ทำให้ไม่มีใครรู้ หรือผ่านไปหลายอาทิตย์แล้วถึงค่อยมารู้ อย่างตอนนี้ในโตเกียวมีผู้สูงอายุเฉลี่ยประมาณ 3 ราย ที่เสียชีวิตในหนึ่งวัน การติดเซ็นเซอร์ก็จะเป็นข้อดีอย่างมากในกรณีที่ผู้สูงอายุเขาอยู่คนเดียวแล้วเขาเสียชีวิตไปจริงๆ

ข้อมูลของผู้สูงอายุที่ระบุว่านอนตอนกลางวันหรือตอนกลางคืน มีการเคลื่อนไหวตอนไหน
มีการตกจากเตียงหรือไม่ หรือว่าไปเข้าห้องน้ำตอนไหน
มุ่งเน้นการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์
สำหรับ Z-Works นั้นจะเป็นเพียงผู้พัฒนาระบบที่ทำงานแบบหลังบ้าน จึงไม่ได้มี โปรดักส์เป็นของตนเอง โดยจะเป็นพาร์ตเนอร์ ภายใต้แบรนด์ของพันธมิตรคู่ค้า ซึ่งสามารถที่จะนำระบบไปปรับแต่งให้เหมาะสมกับแบรนด์ต่างๆ ได้ โดยในปัจจุบันยังทำงานอยู่แค่ภายในประเทศญี่ปุ่น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุมีอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในแถบเอเชียอย่างประเทศไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง ที่เริ่มเข้ามาสู่สังคมของผู้สูงอายุ ซึ่งก็มีความคล้ายกับประเทศญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต Z-Works ก็จะใช้ตัวระบบในการดูแลผู้สูงอายุเข้ามาเปิดตลาด โดยสิ่งที่มุ่งเน้นเป็นหลักก็คือ การหาพาร์ตเนอร์
“เวลาจะออกไปในแต่ละประเทศ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือ การทำให้เข้ากับประเทศนั้นๆ ดังนั้นในแต่ละประเทศ เราก็อยากจะหาพาร์ตเนอร์ที่สามารถจะทำระบบแบบผสมผสานให้กับเราได้ในแต่ละประเทศ นอกจากนั้นแล้ว เราก็จะต้องหาศูนย์ผู้สูงอายุ หรือบ้านผู้สูงอายุต่างๆ อีกทั้งในอนาคต สิ่งที่เราอยากทำคือ ข้อมูลที่มาจาก Internet of Things (IoT) ที่เป็นข้อมูลแบบ Big Data เราก็ต้องใช้ AI ในการทำให้ข้อมูลของเรา Strong มากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่เราหาอยู่ก็คือ หาพาร์ตเนอร์ทางด้านเทคโนโลยีด้วยเช่นเดียวกัน”