ความตื่นตัวท่ามกลางกระแสการแข่งขันด้าน Mobile Payment ที่รุนแรงในแวดวงการเงินธนาคาร ทำให้บทบาทของธนาคารเปลี่ยนไป และ ด้วยผู้ใช้งานแอพฯ K Plus ถึง 6.5 ล้านราย ซึ่งเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของลูกค้าธนาคารที่มีอยู่ราว 13-14 ล้านราย ล่าสุด K Bank โดย สมคิด จิรานันตรัตน์ รองประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ได้ออกมาเผยถึงเทคโนโลยีสำคัญในการทำดิจิทัลที่จะเป็นก้าวต่อไปสู่การเป็น Mobile Platform
“พร้อมเพย์” คือจุดเริ่มต้น Cashless Society
พร้อมเพย์เป็นโครงสร้างพื้นฐาน e-Payment ในไทย ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในการโอน-รับเงิน โดยที่ฝ่ายไม่จำเป็นต้องรู้ว่าอีกฝ่ายใช้บัญชีธนาคารไหน ด้วยการผูกบัญชีผ่าน หมายเลขโทรศัพท์ เลขบัตรประชาชน และล่าสุดผูกบัญชีกับ e-wallet ได้แล้ว
สมคิด มองว่า เลขบัตรประชาชน เป็นข้อมูลสงวน ที่ไม่ควรให้ใครรู้ หรือใช้พร่ำเพรื่อ นอกจากใช้รับเงินจากหน่วยงานภาครัฐ ขณะที่เบอร์โทรศัพท์ เหมาะสำหรับการบอกคนอื่นสำหรับโอนเงินให้ แต่ยังต้องระวังในเรื่องความเป็นส่วนตัว แต่เลขของ e-wallet จะเป็นเลขที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่จำนวน 15 หลัก โดยพร้อมเพย์จะสนใจแค่เลข 3 หลักแรกว่าเป็นของผู้ให้บริการ e-wallet รายใดเท่านั้น ส่วน 12 ตัวที่เหลือผู้ให้บริการสามารถจัดการเอง โดยจะใช้เป็นอะไรก็ได้ ทำให้ยากต่อการถูกปลอมแปลงมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันกสิกรไทย มีใบอนุญาตให้บริการ e-wallet อยู่แล้วในชื่อ K+ Wallet
นอกจากการโอนเงินส่วนบุคคล (PromptPay Transfer) ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2560 พร้อมเพย์จะเพิ่มโครงสร้างในส่วนของการชำระบิล (PromptPay Biller Payment) และการขอให้จ่ายเงิน (Request to Pay) ที่มีข้อมูล Reference บอกว่าเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับอะไรด้วย
Nearby Payment แค่เข้าใกล้ก็จ่ายเงินได้
มาที่ภาพรวมบริการ Mobile Banking และ Mobile Payment ของธนาคาร เป็นที่ทราบกันดีว่า ลูกค้าหรือบุคคลทั่วไปนิยมใช้งานแอพฯ K Plus แต่ล่าสุด K Bank ได้พัฒนา K Plus Shop ที่ออกแบบมาให้เป็นโซลูชั่นสำหรับร้านค้า รองรับการรับจ่ายเงินผ่านดิจิทัลที่สะดวกมากขึ้น โดยเริ่มให้บริการแล้วเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในพื้นที่ทดสอบย่านสยามสแควร์ จตุจักร และแพลทินัมประตูน้ำ ก่อนจะเปิดให้ใช้งานทั่วไปหลังได้รับการอนุมัติจากแบงก์ชาติ
นอกจากการเพิ่มฟีเจอร์ QR Code บน K Plus แล้ว K Plus Shop ถือเป็นแอพฯสำหรับร้านค้าแรกในไทย ที่รับชำระเงินด้วย QR Code ซึ่งนอกจากการโอนเงิน-จ่ายเงินผ่านระบบพร้อมเพย์แล้ว ยังมีฟีเจอร์พิเศษหลายอย่าง อาทิ การแจ้งผลเมื่อมีเงินเข้าร้านทันที การสร้างรายงานยอดขาย รายรับ และรายจ่าย
อีกทั้งร้านค้าสามารถกดคืนเงินให้ลูกค้าได้ทันที กรณีที่ลูกค้าจ่ายเงิน K Plus ไปยังร้านค้าที่ใช้ K Plus Shop หากโอนเงินให้ร้านค้าผิด หรือมีการเปลี่ยนแปลงออเดอร์ ร้านค้าสามารถกดเงินคืนให้ลูกค้าได้ โดยที่เงินจะกลับคืนบัญชีของลูกค้าทันที นอกจากนี้ลูกค้า K Plus สามารถดูชื่อร้าน และรูป Display ของร้านค้าที่ใช้ K Plus Shop ก่อนจ่ายเงิน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องก่อนกดยืนยันจ่ายเงินได้อีกด้วย
และในอนาคตจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไม่ต้องจ่ายผ่าน QR Code โดยเรียกว่า Beyond QR Payment ซึ่งเป็นการจ่ายเงินแบบ Nearby Payment หรือแค่เข้าใกล้ก็สามารถเลือกและกดจ่ายเงินได้เลย ผ่านเทคโนโลยีหลากหลาย Bluetooth Low Energy , Ultra Sonic และ GPS
เปิด Tag 31 นวัตกรรม K Bank
ปัจจุบันระบบของพร้อมเพย์ มี Tag สำหรับการจ่ายเงินอยู่ 3 แบบ คือ Tag 29 สำหรับการโอนเงิน (Transfer) , Tag 30 สำหรับการชำระบิล (Bill payment) ซึ่งทั้งสอง Tag ถือเป็นมาตรฐานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ทุกธนาคารต้องมี และ Tag 31 สำหรับ API เฉพาะแต่ละธนาคาร (API Based)
ซึ่ง Tag 31 ถือเป็นนวัตกรรมที่ K Bank เป็นผู้พัฒนาใช้เอง ทำให้แอพฯของ K Bank มีฟีเจอร์มากกว่าการโอนเงินแบบปกติ เพราะมีการพูดคุยกันผ่าน API ระหว่างแอพฯ K Plus และ K Plus Shop ทั้งนี้ปัจจุบันมี AIS mPay ที่เข้ามาเชื่อมต่อ API แล้ว และในอนาคตธนาคารจะเปิดให้หน่วยงานอื่นๆ หรือสตาร์ทอัพเข้ามาใช้งานได้โดยไม่คิดค่าบริการ
ใช้ AI , Biometric และบล็อกเชน พลิกแพลงบริการให้เป็นมากกว่าเรื่องเงิน
อนาคต K Bank ตั้งเป้ามีฐานผู้ใช้งานถึง 10 ล้านคน และในการดึงให้คนมาใช้งานแอพฯ ตลอดจนสามารถครองใจผู้ใช้ได้ K Bank ไม่ได้มองแค่เรื่องการเงินอีกต่อไป แต่มองถึงสิ่งอื่นรอบตัวที่อยู่ในของชีวิตประจำวันของลูกค้า หรือ ไลฟ์สไตล์มากขึ้น ด้วยการแมทซ์บริการที่มีอยู่ให้เป็นบริการใหม่ที่ตอบโจทย์ ผ่านการทำ K Plus Lifestyle
ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้ร้านค้า-ธุรกิจ สามารถเสนอบริการหรือผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าของธนาคารได้ การนำ Machine Learning เข้ามาช่วยจับคู่สินค้าที่เหมาะสมให้ลูกค้า (Machine Commerce) สามารถขายผ่านแอพ K Plus ได้ทันที
สมคิด บอกว่า AI เป็นเทคโนโลยีที่ธนาคารกำลังโฟกัส ซึ่งในอนาคตจะนำมาใช้กับการปล่อยกู้สินเชื่อส่วนบุคคล โดยธนาคารจะเป็นฝ่ายเสนอเงินกู้ให้กับลูกค้าเอง ผ่านทางแอพฯ K Plus ซึ่งมีการประเมินความเสี่ยงจากข้อมูลธุรกรรมที่มีอยู่ (Big Data) และหากลูกค้าตกลงกู้เงิน ระบบจะทำการอนุมัติพร้อมโอนเงินเข้าบัญชีลูกค้าทันทีภายในไม่กี่นาที จากเดิมที่ลูกค้าจะต้องยื่นขอกู้และใช้ระยะเวลาในการประเมินนานหลายสัปดาห์
นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยี Biometric Verification ที่นำมาใช้ในการยืนยันตัวตนของลูกค้า รวมถึงบล็อกเชน ที่เข้ามาจัดการเรื่องการจัดเก็บข้อมูลและรับรองเอกสาร ลดต้นทุนการจัดการเอกสารที่เป็นกระดาษ ตัวอย่างเช่น บริการหนังสือค้ำประกันบนเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่ K Bank ได้พัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก และมีการเปิดตัวไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยขณะนี้พัฒนาบริการอยู่ภายใต้ Regulatory Sandbox
อย่างไรก็ตาม สมคิด ยังบอกอีกว่า สาเหตุธนาคารมุ่งการพัฒนาไปที่ช่องทางโมบายล์มากกว่าเว็บไซต์ เพราะพฤติกรรมผู้ใช้งาน มีการทำธุรกรรมผ่าน K Plus สูงถึง 65 เปอร์เซ็นต์จากปริมาณธุรกรรมทั้งหมด ลูกค้าสามารถใช้งานได้ง่ายและสะดวกทันใจ ขณะที่ธนาคารเองสามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้เร็วขึ้นด้วย และทั้งหมดนี้คือภาพรวม Mobile Payment ของ K Bank ที่กำลังเปลี่ยนไป