KuuDoo รองเท้าแบบคราฟท์ ที่ขายบนไอจี

shopping-KuuDoo

ปุ้ม – ศิริขวัญ เนตรนิมิตร และ ปาม – นารา สวัสรังศรี

กระแสงานคราฟท์ และงานแฮนด์เมด กำลังเป็นเทรนด์ยอดฮิตของคนรุ่นใหม่ และยังเปิดโอกาสให้หลายคนได้เริ่มต้นทดลองผลิตงานคราฟท์ออกสู่ตลาด  เช่นเดียวกับ “ปุ้ม – ศิริขวัญ เนตรนิมิตร” และ “ปาม – นารา สวัสรังศรี” พี่น้องที่จับมือกันสร้างแบรนด์รองเท้า “KuuDoo (คู-ดู)  ซึ่งดัดแปลงมาจากคำว่ารองเท้าในภาษาเกาหลี ด้วยลวดลายปักบนตัวรองเท้าอันเป็นเอกลักษณ์ เสริมด้วยวัสดุผ้าที่ทำจากก๊อกที่ใช้ตัดเย็บพื้นรองเท้าบนรูปทรง Birkenstock สุดฮิต ทำให้ KuuDoo กลายเป็นแบรนด์รองเท้าที่โดดเด่นบนอินสตาแกรมเป็นอย่างมาก

จากรองเท้า (ทดลอง) ทำมือ สู่แบรนด์รองเท้ามีดีไซน์
ปุ้ม เล่าว่า ตนเป็นคนชื่นชอบทำงานฝีมือ หลังจากทดลองทำงานฝีมือมาหลากหลายประเภท วันหนึ่งเกิดไอเดีย อยากลองทำรองเท้าเย็บมือขึ้น จึงเริ่มศึกษาข้อมูลการตัดเย็บรองเท้าจากอินเทอร์เน็ต และทดลองทำรองเท้าขึ้นก่อนจะให้น้องสาวช่วยดูผลงาน

shopping-KuuDoo

“ครั้งแรกที่พี่สาวนำรองเท้ามาให้ดู มันน่ารักเลยขอเอาไปลองขาย    ซึ่งตอนนั้นเราขายของแบกะดินอยู่ ก็ลองนำรองเท้าเพียง 5-6 คู่ ไปวางขายด้วย ปรากฏว่ามีคนชื่นชอบ จากวันนั้นเราค่อนข้างพอใจกับผลตอบรับที่ได้จากลูกค้า จึงเปิดรับทำตามออเดอร์ในเวลาต่อมา” ปาม กล่าว

ปุ้ม เล่าต่อว่า ต่อมาเมื่อสินค้าเริ่มเป็นที่รู้จัก มีลูกค้าสนใจงานมากขึ้น ได้เริ่มขยายธุรกิจ โดยการหาช่างตัดเย็บ และเพิ่มช่องทางจำหน่าย พร้อมกับชื่อแบรนด์ KuuDoo ที่มุ่งตลาดออนไลน์เป็นหลักในช่วงปี 2014 พร้อมวางกลุ่มเป้าหมาย เป็นนักเรียนและนักศึกษา ที่ชื่นชอบงานคราฟท์สไตล์มินิมอล อีกทั้งปรับดีไซน์รองเท้าใหม่ ซึ่งเป็นการนำวัสดุผ้าที่ทำจากก๊อกมาตัดเย็บพื้นรองเท้า ประกอบกับลายปักบนสายคาดผ้าดิบที่ให้อารมณ์ธรรมชาติ ด้วยลวดลายสัตว์ต่างๆ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของร้านในปัจจุบัน

สื่อสารกับลูกค้าด้วยภาพถ่ายผ่านอินสตาแกรมช่องทางหลัก
ในการทำตลาดออนไลน์ ปาม มองว่า นอกจากการมีสินค้าที่ดีมีคุณภาพแล้ว จะต้องหาวิธีทำให้ร้านน่าสนใจ โดยเฉพาะช่องทาง อินสตาแกรม ที่ต้องสื่อสารกับลูกค้าด้วยภาพถ่ายเป็นสำคัญ

shopping-KuuDoo

เราเคยทำเพจบนเฟซบุ๊ก แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก เนื่องจากเรามองว่าอินสตาแกรม เป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของเราได้มากกว่า สามารถสื่อสารกับคนที่ชื่นชอบแฟชั่น และแชร์ไลฟ์สไตล์ได้โดยตรง

“ซึ่งการที่เรามีโซเชียลมีเดียช่องทางเดียว ทำให้เรามีเวลาดูแลลูกค้าได้อย่างเต็มที่ ส่วนการสื่อสารบนอินสตาแกรม สิ่งที่จะดึงดูดใจให้คนกดติดตามร้านเราได้คือ ภาพถ่าย ซึ่งเราเลือกใช้สถานที่รอบๆ ตัวเป็นสตูดิโอถ่ายภาพ เพื่อให้ความรู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติ และเป็นไปในทิศทางเดียวกับดีไซน์รองเท้า ปัจจุบัน KuuDoo มีผู้ติดตามราวๆ 3 หมื่นคนแล้ว” ปาม กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีช่องทางออฟไลน์ที่ร้าน A.Sap (สยามสแควร์ ซอย 3) ร้านที่รวบรวมแบรนด์ออนไลน์ และงานคราฟท์ที่น่าสนใจไว้อีกด้วย

ต้องเข้าใจลูกค้าแรงขับเคลื่อนผลิตของดีมีคุณภาพ
แม้จะเริ่มต้นธุรกิจจากศูนย์ และต้องประสบกับปัญหาต่างๆ เรื่อยมากว่าธุรกิจจะลงตัว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการออกแบบสินค้า ไปจนถึงความพึงพอใจของลูกค้า แต่ปุ้มและปาม มองว่า ประสบการณ์ที่ได้รับเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาสินค้าให้ได้คุณภาพยิ่งขึ้นไป

shopping-KuuDoo

“ในการทำรองเท้าคู่หนึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการทดลองและพัฒนาสินค้า เพื่อหาข้อผิดพลาดให้ได้มากที่สุด  ด้วยความที่เราไม่มีประสบการณ์กันมาก่อน ทำให้ใช้ระยะเวลาลองผิดลองถูกกันนานกว่า 2 ปี กว่าจะเจอวัสดุผลิตรองเท้าที่ลงตัว  เราต้องลองตัดเย็บและใส่เองก่อน เพื่อจะได้เห็นปัญหาและเข้าใจลูกค้ามากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเราพัฒนาให้มีน้ำหนักเบา และสวมใส่สบายมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราจะต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับลูกค้าด้วยว่า สินค้าเป็นงานทำมือ อย่างไรก็ตามก็เชื่อว่าด้วยการบริการ ให้คำปรึกษา และการดูแลหลังซื้อสินค้าที่ดีจะช่วยให้ลูกค้าประทับใจ” ปุ้ม กล่าว

เตรียมเปิดไลน์รองเท้าเด็ก เจาะกลุ่มแม่-ลูกรักแฟชั่น
ส่วนแผนการขยายธุรกิจในอนาคต ทั้งสองเผยว่า อีกไม่นานแฟนๆ จะได้เห็นรองเท้าสำหรับเด็กบนอินสตาแกรมของ KuuDoo

“เราชอบซื้อรองเท้าให้ลูก วันหนึ่งเราก็คิดว่าเราเองทำรองเท้าขายอยู่แล้ว ทำไมไม่ลองทำรองเท้าให้ลูกดู จะได้ใส่คู่กันกับลูกด้วย ขณะเดียวกันเรามองว่า ปัจจุบันคุณแม่ก็นิยมสวมใส่เสื้อผ้า หรือใช้สิ่งของที่เข้าคู่กับลูก ดังนั้นหากเราทำตรงนี้ ก็จะได้ลูกค้ากลุ่มแม่และเด็กเพิ่มขึ้นด้วย ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงขั้นตอนการออกแบบและทดลองตัดเย็บ เพื่อให้ได้รองเท้าที่สวมใส่สบายเหมาะสำหรับเท้าเด็ก แต่จะยังคงการออกแบบที่เป็นสไตล์ KuuDoo ไว้เช่นเดิม” ปุ้ม กล่าว

สุดท้ายนี้ ทั้งสองได้ฝากคำแนะนำถึงผู้ที่คิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจออนไลน์ ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ไม่ยาก โดยช่องทางออนไลน์ ถือเป็นทางเลือกที่ดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นฐานความชอบและความสนใจของแต่ละบุคคล โดยเชื่อว่า การเลือกทำในสิ่งที่เป็นตัวตนของเรา จะทำให้มีความสุข และมีแรงใจในการพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งขึ้นไป

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

Co working space สำหรับสตาร์ทอัพ แหล่งเรียนรู้งานพิมพ์ดิจิทัล ใช้งานฟรี

จะเห็นว่าขณะนี้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมไปตามกระแสดิจิทัล มีความต้องการสินค้าที่เจาะจงมากขึ้น มีเอกลักษณ์ในแบบของตนเอง ธุรกิจเองก็ต้องมีการปรับตัวให้ทันต่อความต้องการดังกล่าวให้มากขึ้นกว่าเดิม หนึ่งธุรกิจที่เริ่มเปลี่ยนให้เห็นบ้างแล้ว...