MacBook จอเรตินาขนาด 12 นิ้ว เป็นโน้ตบุ๊กที่ถูกวิจารณ์มากที่สุดรุ่นหนึ่งของโลกนะครับ เพราะตั้งแต่มันออกมาในปี 2015 ก็มีทั้งคนชมและคนเกลียด เพราะความดีงามและข้อบกพร่องอย่างสุดโต่งของมัน ซึ่งวันนี้เราจะขอรีวิวให้ดูกันว่าโน้ตบุ๊กเครื่องนี้มันเหมาะสำหรับการทำงานอย่างไร
ความแตกต่างระหว่าง MacBook รุ่น 2015 และ 2016
จุดแตกต่างระหว่าง MacBook 12 นิ้วรุ่นปี 2015 กับ 2016 หลักๆ คือ เปลี่ยน CPU จาก Intel Core M ในรหัส Broadwell มาเป็น Skylake ซึ่งผลทดสอบ Geekbench 3 แบบ 64-bit Multi-core ก็จะเห็นว่ามันเร็วขึ้นกว่าเดิมราวๆ 700 คะแนน ซึ่งก็ทำให้การทำงานทั่วไปลื่นไหลมากขึ้น จากรุ่นเดิมที่เปิดหน้าเว็บฯ หรือเปิดโปรแกรมหลายๆ ตัวก็เริ่มเห็นอาการหน่วง แต่รุ่นใหม่นี้ก็รองรับงานทั่วไปในชีวิตการทำงานได้ดีขึ้น
เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์แอปเปิลรุ่นปัจจุบันตัวอื่นๆ MacBook 2016 ที่ใช้ Intel Core m5 (หรือรุ่นราคา 59,900 บาท) นั้นมีความเร็วเทียบเท่ากับ MacBook Air 11 นิ้ว รุ่นเริ่มต้น และช้ากว่า MacBook Pro 13 นิ้วไม่มากนัก ส่วนถ้าเอาไปเทียบกับ iMac จะมีความเร็วต่างกันเท่าตัว
และเมื่อเปลี่ยนตัว CPU แล้ว ตัว GPU หรือหน่วยประมวลผลกราฟิกก็เปลี่ยนไปด้วย จากรุ่นเดิม Intel HD 5300 เป็น Intel HD 515 ซึ่งผลคะแนนประสิทธิภาพจาก PassMark บอกว่ามีประสิทธิภาพมากขึ้นพอสมควร แต่ยังช้ากว่า Intel HD 6000 ที่อยู่ใน Macbook Air และยังห่างไกลจากคำว่าเอาไปเล่นเกมได้เยอะ
นอกจากเรื่องตัว CPU แล้ว ความแตกต่างอีกเรื่องหนึ่งคือความเร็วของ SSD ที่การเปลี่ยนมาตรฐานการเชื่อมต่อจาก PCIe 2.0 x4 เป็น PCIe 3.0 x2 นั้นให้ความเร็วในการอ่านเขียนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผลทดสอบด้วย QuickBench ระบุว่า MacBook 2016 มีความเร็วในการอ่านราวๆ 1,200 MB/s และเขียนราว 900 MB/s เทียบกับ MacBook 2015 ที่ได้ความเร็วในการอ่านราวๆ 845 MB/s และเขียนได้แค่ 460 MB/s เท่านั้น
การมีพอร์ตเชื่อมต่อแค่ USB-C พอร์ตเดียวใช้ทำทุกอย่าง ทำให้การเสียบอุปกรณ์อย่าง Flashdrive หรือฮาร์ดดิสก์ภายนอก ต้องใช้สายแปลงหรือฮับมาต่อ ซึ่งของแอปเปิลเองก็แพงยับ
ประสบการณ์จากการใช้งานจริง MacBook 2016 ใช้งานได้ลื่นไหลกว่ารุ่นปี 2015 เวลาเปิดหน้าต่างงานเยอะๆ สามารถสลับไปมาได้คล่องตัวกว่า รองรับงานเชิงธุรกิจ ทำงานบนเว็บฯ เขียนเนื้อหา นำเสนอผลงาน อัพเว็บฯ ได้สบายๆ และในส่วนของเกมเทียบกับเกม Rayman Origin ก็พบว่า Macbook 2016 รุ่นปีนี้ให้เฟรมเรตภาพมากกว่า เล่นได้ลื่นกว่า แต่ก็ยังไม่ใช่ระดับที่ลื่นจริงๆ ส่วนถ้าเอาไปเล่นเกม Diablo 3 ที่ความละเอียดสูงสุด เปิดเกมยังไม่ทันสร้างตัวละครเสร็จเลย macOS บอกว่าเครื่องร้อนไป ให้พักเครื่องก่อน (เพราะ MacBook รุ่นนี้ไม่มีพัดลมด้วย) ก็สรุปได้ว่าไม่เหมาะสำหรับการเล่นเกมด้วยประการทั้งปวง ถ้าจะเล่นได้จริงๆ ก็เป็นเกมแนว Casual ภาพ 2 มิติเสียมากกว่า
ฉบับที่ 212 เดือนสิงหาคมวิธีสร้างธุรกิจอย่างสตาร์ทอัพ |
ส่วนอื่นๆ ที่ยังเหมือนกับ MacBook 12 นิ้วรุ่นแรก
สเป็กอื่นๆ ของเครื่องคือ ใช้จอ 12 นิ้ว ความละเอียด 2,304 x 1,440 พิกเซล ซึ่งสูงกว่า FullHD 1,920 x 1,080 อีก นั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราเล่นเกมที่ความละเอียดสูงสุดไม่ได้ เพราะจอละเอียดเกินแรงเครื่องไปมาก
ตัวจอนี้ถือว่าน่าประทับใจมาก ให้สีสันสดใส ตัวอักษรคมชัด ดูแล้วสบายตา ใช้ท่องเว็บฯ ทำงาน พิมพ์งานก็ฟินสุดๆ ซึ่งจอนี้บางมากจนน่าตกใจ ถือเป็นส่วนที่ดูดีมีเสน่ห์มากจุดหนึ่งของ MacBook
และจากความบางมากของจอทำให้กล้อง WebCam ที่วางอยู่เหนือจอให้ความละเอียดภาพได้แค่ 480p เพราะใส่ได้แค่กล้องขนาดเล็กเท่านั้น เทียบกับ MacBook Air ที่ใส่กล้อง 720p มาให้ ซึ่งภาพจาก WebCam ของ MacBook 12 นิ้ว ต้องบอกตรงๆ ว่าแย่กว่าโน้ตบุ๊กทั่วไป มี Noise เยอะ ภาพไม่ละเอียด เหมาะแค่ใช้คุยงาน ทำ Video Call เท่านั้น เอาไปใช้ Live Facebook ยังต้องแอบคิดนิดหนึ่ง
อีกอย่างหนึ่งที่เราไม่หวังแต่ MacBook ทำได้ดีเกินคาดคือลำโพงครับ เห็นเครื่องเล็กๆ บางๆ แบบนี้ เสียงลำโพงดังแถมมีเบสพอสมควรเลย เสียงดีกว่าลำโพงของ MacBook Air เสียอีก เรียกว่าใครไม่ได้ซีเรียสเรื่องเสียงมาก ก็ไม่ต้องซื้อลำโพงแยกมาใช้ก็ได้
เรื่องสุดโต่งของ MacBook 12 นิ้ว ที่ไม่รักก็เกลียดเลย
MacBook 12 นิ้ว ถือเป็นการออกแบบโน้ตบุ๊กใหม่ในหลายจุดที่ล้างขนบเดิมๆ ไป จะว่าแอปเปิลก้าวล้ำก็ได้ แต่สำหรับบางคนแล้วก็อาจบอกได้ว่าแอปเปิลทำเกินไป
เรื่องแรกคือ คีย์บอร์ดแบบใหม่ที่แอปเปิลเรียกว่า กลไกปีกผีเสื้อ ทำให้ได้คีย์บอร์ดที่รองรับแรงกดได้จากทุกตำแหน่งของปุ่มโดยไม่โยกเยก และออกแบบตัวแป้นได้บางมาก ระยะกดสูงราวๆ 1 mm เท่านั้น ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกจะรู้สึกว่าแป้นพิมพ์มันตื้นมากๆ กดแรงแบบคีย์บอร์ดทั่วไปจะรู้สึกว่าเจ็บนิ้วเพราะแรงสะท้อนกลับมา แต่พิมพ์จนชินจะรู้สึกว่าใช้แรงน้อย ตัวแป้นก็ใหญ่ทำให้พิมพ์ไม่พลาด แถมเสียงเวลาพิมพ์ดังแจ๊ะๆ ต่างจากคีย์บอร์ดปกติมันก็เพลินไปอีกแบบหนึ่ง ถ้ามาลองพิมพ์แล้วไม่รักคีย์บอร์ดนี้ก็จะเกลียดไปเลยนะครับ
แอปเปิลออกแบบ Macbook 12 นิ้ว ให้สุดโต่งมากทั้งทำจอบาง คีย์บอร์ดให้บาง แผงวงจรให้เล็กที่สุดเพื่อให้พื้นที่ในการเก็บแบตได้มากที่สุด โดยเครื่องน้ำหนัก 920 กรัมนี้ สามารถใช้งานได้ราวๆ 10 ชั่วโมง
อีกเรื่องที่แสดงความสุดโต่งของแอปเปิลที่ต้องการออกแบบโน้ตบุ๊กให้ได้ตัวเล็กและบางที่สุดคือ การมีพอร์ตเชื่อมต่อแค่ USB-C พอร์ตเดียวใช้ทำทุกอย่างตั้งแต่เสียบชาร์จเครื่องจนถึงเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ ส่วนอีกข้างก็มีแค่ช่องเสียบหูฟัง ทำให้การเสียบอุปกรณ์อย่าง Flashdrive หรือฮาร์ดดิสก์ภายนอก ต้องใช้สายแปลงหรือฮับมาต่อ ซึ่งของแอปเปิลเองก็แพงยับ (สายแปลงที่ทำให้เสียบ HDMI และ USB ได้มีราคา 3,300 บาท) ทำให้เราต้องหาอุปกรณ์เสริมจากผู้ผลิตรายอื่นๆ
เช่น ฮับจาก Verbatim ที่เสียบเข้าด้านข้างเครื่อง ทำให้เสียบ USB 3.0 ได้อีก 2 ช่อง และสามารถอ่านการ์ด SD และ MicroSD ได้พร้อมเสียบชาร์จไฟ ก็มีราคาราว 1,500 บาท (สั่งมาจาก eBay) ส่วนอีกตัวที่ซื้อหามาใช้คือ KADI Port ที่มีช่อง HDMI, USB และ USB-C ไว้ต่อไฟได้ ก็มีราคาราว 1,500 บาทเช่นกัน (อันนี้สั่งมาจากออสเตรเลีย)
แอปเปิลออกแบบ Macbook 12 นิ้ว ให้สุดโต่งมากทั้งทำจอบาง คีย์บอร์ดให้บาง แผงวงจรให้เล็กที่สุดเพื่อให้พื้นที่ในการเก็บแบตได้มากที่สุด โดยเครื่องน้ำหนัก 920 กรัมนี้ สามารถใช้งานได้ราวๆ 10 ชั่วโมง ซึ่งก็ถือว่าสามารถใช้งานทั้งวันได้โดยไม่ต้องพก Adapter ติดตัวไปก็ได้
MacBook 12 นิ้ว โน้ตบุ๊กที่เหมาะสำหรับการทำงานเบาๆ นอกบ้าน
สรุป MacBook 12 นิ้ว เหมาะมากสำหรับคนที่ทำงานนอกสถานที่ อย่างงานนักเขียน งานทำเว็บฯ หรือเอาไปเทรดหุ้น ติดตามข่าวสาร ทำเอกสารธุรกิจ เพราะมันเบามากจนติดตัวได้อย่างไม่เป็นภาระ อย่างผู้เขียนก็พกออกงานนอกสถานที่ เพราะต้องการความสามารถระดับคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่ระดับแท็บเล็ตต่อคีย์บอร์ด ที่ทำงานละเอียดหลาย อย่างเช่น การแต่งรูป การจัดการไฟล์ การทำอีเมลได้เหนื่อยกว่าโน้ตบุ๊กมาก
และ MacBook 12 นิ้ว ก็ยังพอไหวสำหรับงานแต่งรูป ใช้พวก Photoshop หรือ Lightroom หรืองานตัดต่อวิดีโอเล็กๆ บน iMovie เพราะมีแรม 8 GB และฮาร์ดดิสก์ในเครื่องนั้นเร็วพอ จอก็ละเอียด สีสันสวยงาม แต่ก็ไม่เหมาะสำหรับเกมเมอร์เลย อย่างที่ได้เล่าไปแล้ว
ส่วนราคา รุ่นเริ่มต้นเป็น Core m3 1.1 GHz ราคา 49,900 บาท ได้ SSD 256 GB ส่วนรุ่นท็อปเป็น Core m5 1.2 GHz ราคา 59,900 ก็ได้ SSD 512 GB และสามารถอัพสเปกเป็น Core m7 ได้โดยบวกราคาเพิ่มไปอีก 6,000 บาทครับ
Contributor
Eka-X
เอกพล ชูเชิด
วุ่นวายกับเทคโนโลยีมาตั้งแต่เยาว์วัย จนเริ่มมีอายุเยอะก็จับคีย์บอร์ดหาเลี้ยงชีพด้วยงานเขียนด้านเทคโนโลยีมาตลอด ทั้งยังเปิด Aofapp.com เว็บไซต์ส่วนตัวที่เล็กมากๆ เพื่อเขียนรีวิวแอพฯ มือถือเรื่อยๆ ในเวลาว่าง ถึงจะสาหัสกับงานขนาดไหนก็ยังเขียน แชร์ บ่นไปเรื่อยใน Twitter
Twitter: Twitter.com/eka_x