Stock Radars กับเป้าหมายสู่ FinTech ระดับโลก

Stock Radars สตาร์ทอัพไทยที่ไปชนะเลิศบนเวทีประกวดซอฟต์แวร์ระดับโลกในงาน APICTA 2014 (Asia-Pacific ICT Awards) ได้รับเงินทุนในรอบ Seed จาก CyberAgent Ventures ประเทศญี่ปุ่น และ East Venture โดยทุนรอบนี้ ได้มีการนำมาพัฒนา Stock Radars ให้เป็นเรียลไทม์ขึ้น ขยายทีมงาน รวมถึงการทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ และขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงระดมทุนรอบ Series A คาดว่าจะปิดดีลอีกไม่นาน

ธีระชาติ ก่อตระกูล ผู้ก่อตั้ง บริษัท สยามสแควร์เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด และผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น Stock Radars

ธีระชาติ ก่อตระกูล ผู้ก่อตั้ง บริษัท สยามสแควร์เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด และผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น Stock Radars

คนชอบมองสตาร์ทอัพเป็นแค่นักสร้างแอพพลิเคชั่น แต่จริงแล้วสตาร์ทอัพเป็นธุรกิจรูปแบบหนึ่ง โดยมีแอพพลิเคชั่นเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท นอกจากนี้ ยังมีองค์ประกอบอื่นในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายการเงิน ฝ่ายการตลาด

โลกเปลี่ยนต้องปรับตาม
ธีระชาติ ก่อตระกูล ผู้ก่อตั้ง บริษัท สยามสแควร์เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด และผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น Stock Radars กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของบริษัทคือ การเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่ทำธุรกิจซอฟต์แวร์เฮาส์พัฒนาโปรแกรมและแอพพลิเคชั่นให้กับลูกค้าทั่วไป และเมื่อได้รับงานของบริษัทโบรกเกอร์ ซึ่งทำให้เข้ามาสู่อุตสาหกรรมพิเศษคือ ตลาดทุน ประกอบกับเพื่อนสนิทเป็นนักลงทุนมืออาชีพคือ เล่นหุ้นเป็นอาชีพหลัก และเห็นว่าการเล่นหุ้นเป็นอาชีพที่สร้างเงินได้มหาศาล จึงตัดสินใจนำโลกการเงินกับเทคโนโลยีมาผนวกกันออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้น

ธีระชาติ กล่าวต่อว่า ช่วงนั้นได้ไปนั่งทำงานที่ HUBBA ทำให้ได้รู้จักน้องๆ และเพื่อนร่วมวงการ สตาร์ทอัพหลายคน เกิดการชักชวนให้ลองมาทำสตาร์ทอัพ โดยบอกถึงความน่าสนใจของวงการนี้ ทำให้เริ่มกลับมาปรับความคิดการทำธุรกิจแบบซอฟต์แวร์เฮาส์ จนกลายเป็นสตาร์ทอัพในที่สุด ทั้งนี้ยังคงคอนเซ็ปต์เดิมที่ตั้งไว้ตอนเริ่มทำบริษัทคือ Life Simplify ทำอย่างไรให้ชีวิตคนง่ายขึ้นด้วยเทคโนโลยี สาเหตุที่ตัดสินใจเปลี่ยนมองว่า ถ้ายังคงดำเนินธุรกิจรับจ้างพัฒนาโปรแกรมและแอพ-พลิเคชั่นต่อไป ไม่รู้บริษัทจะเติบโตแบบก้าวกระโดดเมื่อไร และถ้าต้องการเป็นบริษัทมีชื่อเสียงระดับโลกคงยากมากเช่นกัน

แอพพลิเคชั่น Stock Radars ถูกพัฒนาต่อยอดมาจากผลิตภัณฑ์เดิม ชื่อว่า StockGrid โดยสยามสแควร์เทคโนโลยี พัฒนาไว้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นรายแรกๆ ที่นำหุ้นมาปรับให้เข้าใจง่ายในรูปแบบตารางธาตุ โดยนำมาปัดฝุ่นทำใหม่ให้ทันสมัยและตอบโจทย์กับยุคปัจจุบันมากขึ้น จนประสบความสำเร็จบนเวทีประกวดซอฟต์แวร์ระดับโลกในงาน APICTA 2014 (Asia-Pacific ICT Awards) ได้รางวัลชนะเลิศประเภทผลิตภัณฑ์ทางการเงิน จากทั้งหมด 17 ประเทศ และทำให้ VC (Venture Capital) เห็นและสนใจมาร่วมลงทุน ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการเข้ามาสู่การเป็นสตาร์ทอัพอย่างเต็มตัว

มุ่งมั่น มั่นใจ และพุ่งไป
ธีระชาติ กล่าวว่า คนชอบมองสตาร์ทอัพเป็นแค่นักสร้างแอพพลิเคชั่น แต่จริงแล้วสตาร์ทอัพเป็นธุรกิจรูปแบบหนึ่ง โดยมีแอพพลิเคชั่นเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท นอกจากนี้ ยังมีองค์ประกอบอื่นในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายการเงิน ฝ่ายการตลาด แต่ธุรกิจสตาร์ทอัพจะได้เปรียบกว่าธุรกิจอื่น เช่น กลุ่ม SMEs เนื่องจากไม่ต้องนำเงินตัวเองมาทำธุรกิจ แต่มีเงินจาก VC หรือนักลงทุนมาอัดฉีดให้ธุรกิจเติบโต ซึ่งการระดมทุนของสตาร์ทอัพแต่ละครั้งจะยิ่งทำให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด

ถ้าใครต้องการเป็นสตาร์ทอัพจะต้องมีความมุ่งมั่นในการทำตามความฝัน อย่าหวั่นไหวกับสิ่งรบกวนรอบข้างที่จะทำให้รู้สึกท้อแท้หมดหวัง ที่สำคัญอยากให้นักพัฒนาไทยเปลี่ยนความคิดว่าตัวเองมีความสามารถด้อยกว่าชาติอื่น และให้ลองหาสิ่งที่ถนัดใกล้ตัวนำมาพัฒนาต่อยอดในการทำสตาร์ทอัพ มากกว่าจะไปทำสิ่งไกลตัวหรือยังไม่มีขึ้นในโลกใบนี้ นอกจากนี้ ควรระลึกเสมอว่าถ้าคิดจะเป็นสตาร์ทอัพ ต้องกล้าที่จะล้มเหลวเพราะมันไม่ใช่สิ่งผิด

ตอนนี้ประเทศไทย ถือเป็นตลาดเนื้อหอมมากสำหรับนักลงทุนหรือ VC ต่างประเทศ เรียกได้ว่าคือ ยุคทองของคนสตาร์ทอัพ ดังนั้น อยากให้เหล่า SMEs หรือ Entrepreneur กล้าที่จะลองเปลี่ยนมาทำงานด้านสตาร์ทอัพกันมากขึ้น และกล้าที่จะแชร์ไอเดีย พร้อมกระโดดลงไปในสนามแข่ง เพื่อ Pitching ให้กับเหล่า VC ได้เห็นถึง Passion และไอเดียที่ตั้งเป้าฝันไว้

ธีระชาติ แสดงความเห็นว่า การนำเสนอไอเดียต่อสาธารณะและคิดว่าจะถูกนำไอเดียไปทำต่อนั้น ถ้าเขาเอาไปทำแล้วได้ดีกว่า แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นไม่เหมาะกับเราตั้งแต่แรกแล้ว แต่ถ้าลอกไปแล้วทำสู้เราไม่ได้ แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นของเรา ดังนั้น ไม่ต้องกังวลว่าการเสนอไอเดียอะไรไปคนจะสามารถลอกไปทำแล้วประสบความสำเร็จมากกว่า ตราบใดที่มันเป็นไอเดียของเราจริงๆ

e201

ฉบับที่ 201 เดือนกันยายน

เป้าหมายของ StartUp และการเลือก Exit

จุดอ่อนของนักพัฒนาไทย ที่ต้องการก้าวเป็นสตาร์ทอัพ แต่ไม่ได้รับเงินทุนจากนักลงทุนสักที คือการไม่ยอมเปิดเผยไอเดีย เพราะกลัวจะมีคนลอกเลียนแนวคิดไป จึงไม่นำผลงานมาเสนอในเวทีต่างๆ ทำให้ขาดโอกาสในการเจอ VC ซึ่งการที่จะกลายเป็นสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จได้คือ ยึดหลักยิ่งแชร์ ยิ่งได้ ถ้าเก็บเอาไอเดียไว้กับตัวเอง ไม่มีทางที่จะได้เงินจากนักลงทุนแน่นอน

“ผมอยากบอกว่า สังคมสตาร์ทอัพเป็น Sharing Economy ยิ่งให้ยิ่งได้ และตอนนี้ไม่ใช่ตัวตนของผมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เป็นการบ่มเพาะจากการคุยกับสตาร์ทอัพคนอื่นๆ สังเกตชาวบ้านว่าทำอะไร เมืองนอกและไทยทำอะไร ไม่มีสูตรตายตัวให้ทำตาม แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกทำแบบไหน”

ธีระชาติ กล่าวต่อว่า สตาร์ทอัพที่มีต้นทุนเดิมคือ ประสบการณ์และความรู้ในสายงานนั้นๆ จะได้เปรียบมากในพัฒนาผลิตภัณฑ์ และ VC ตัดสินใจในการลงทุนได้เร็วขึ้น ที่สำคัญถ้าคนที่จ้องจะลอกไอเดียจะไม่มีใครกล้าจะมาทำแข่ง เพราะรู้ว่าเรามีองค์ความรู้ด้านนี้เป็นอย่างดี ดังนั้น เมื่อสตาร์ทอัพที่เป็นกลุ่ม Unfair Advantage จะสามารถบริหารจัดการไอเดียให้เกิดเป็นธุรกิจได้เร็ว

“ถ้าเปรียบธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นต้นไม้ เวทีประกวดต่างๆ เป็นแค่ปุ๋ยช่วยให้เติบโตได้เร็ว แต่มีแค่ปุ๋ยอย่างเดียวก็ไม่มีทางโตได้ เราต้องเรียนรู้ที่จะเติบโตเองด้วยการสังเคราะห์แสงเองให้ได้ ดังนั้น ในฐานะสตาร์ทอัพต้องโฟกัสว่าเราต้องทำอะไรบ้าง ทุกวันนี้โอกาสมีเยอะ เพียงตัวเราเองต้องสร้างศักยภาพของตัวเองให้คนอื่นเห็นก่อน”

ทีมเวิร์กคู่กันกับสตาร์ทอัพ
สตาร์ทอัพที่จะประสบความสำเร็จนั้น ไม่ใช่แค่มีไอเดียที่ดี แต่การเป็นทีมเวิร์กที่ดีถึงจะทำให้ประสบความสำเร็จได้ เพราะการมีทีมที่แข็งแกร่งจะทำให้สามารถมอบหมายงานออกไปให้รับผิดชอบได้ทันที ทำให้ได้งานที่เร็วขึ้น ทั้งนี้คนที่ทำสตาร์ทอัพจริงจะรู้ว่าไอเดียแรกเริ่มกับตอนนี้มันไม่เหมือนเดิม เพราะกว่าผลิตภัณฑ์ที่ออกมานั้นจะสำเร็จได้จะต้องผ่านกระบวนการเคี่ยว บ่มเพาะทางความคิด จากทีมงานในการออกแบบระบบให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายและโดนใจ

ธีระชาติ กล่าวต่อว่า คน คือทรัพย์สินของสตาร์ทอัพเพียงอย่างเดียว ดังนั้น คนจึงมีมูลค่าสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ เนื่องจากปัจจุบันพบว่า คนไม่ต้องการเป็นพนักงานบริษัทกินเงินเดือนต่อไป คนเริ่มต้องการอยากเป็นเจ้าของธุรกิจเอง ดังนั้น ทำอย่างไรจะทำให้คนที่รับเข้ามาทำงานรู้สึกว่าเป็นเจ้าของบริษัทด้วย จึงเกิดเป็นโมเดล ESOP(Employee Stock Ownership Plan) ในแบบ Stock Option ขึ้น คือมอบหุ้นบริษัทให้กับพนักงาน โดยยื่นข้อเสนอว่าถ้าสามารถทำได้ตรงตามเป้าใหญ่ที่ตั้งไว้ ทุกคนจะเป็นเศรษฐีร่วมกัน

Cover3-3

Stock Radars และกำลังจะปิดรอบ Series A โดยการทำธุรกิจของเราจะไม่เร่งระดมทุนมาก เพราะการเป็น FinTech หากมีการระดมทุนเร็วและอัดฉีดเงินสูงมาก อาจทำให้รู้สึกขาดความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะต่างจากสตาร์ทอัพประเภทอื่น

“เราให้คำมั่นสัญญากับทีมงานว่า ถ้าสามารถทำงานได้ตรงตามเป้าคือ ขยายฐานลูกค้าใช้งานแอพฯ และสามารถเพิ่มค่า CLV หรือ Customer Lifetime Value ต่อคนได้มากที่สุด เราจะรวยไปด้วยกันในอนาคต”

การแบ่งหุ้นให้กับพนักงานบริษัทคือ การที่ทุกคนเหมือนเป็นเจ้าของกิจการ ดังนั้น ถ้าอยากให้กิจการได้ผลกำไรดี ทุกคนก็จะต้องร่วมแรงใจในการผลักดันผลิตภัณฑ์ของตนให้ได้รับการตอบรับ และเติบโตให้เร็วที่สุด ดังนั้น พนักงานก็เหมือนสตาร์ทอัพคนหนึ่ง ที่ไม่ต้องลงทุนเงิน แต่เมื่อโปรเจ็กต์สำเร็จ เขาก็ได้รับเงินรางวัลเป็นกำไรจากการทุ่มเททำงาน ซึ่งการบริหารจัดการแบบนี้ ทำให้บริษัทสามารถคัดกรองคนที่เป็นสตาร์ทอัพตัวจริงมาร่วมทำงานด้วย และทำให้องค์กรสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

ธีระชาติ เผยว่า การคัดเลือกคนเข้ามาทำงานใช้ระบบ Refer คือการแนะนำจากเพื่อน นั่นคือพนักงานที่ชวนเพื่อนเข้ามาร่วมทำงานที่บริษัท หากเพื่อนได้รับการผ่านทดลองการทำงานเป็นเวลา 6 เดือน พนักงานคนนั้นจะได้รับเงินพิเศษเป็นค่าตอบแทน ซึ่งวิธีนี้พบว่า เป็นประโยชน์กับบริษัท ทำให้เราจะได้คนที่มีเคมีเดียวกันมาร่วมงาน และการทำงานลื่นไหลไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร นอกจากนี้ การที่เราออกไปพูดและบรรยายในเวทีสาธารณะหรือสื่อ ทำให้สามารถดึงคนที่มีความคิดคล้ายกันสนใจเข้ามาสมัครทำงานด้วยเช่นกัน

“การพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมานั้น หากสามารถทำให้ผู้ใช้รักและรู้สึกขาดไม่ได้เมื่อไร สตาร์ทอัพรายนั้นรวยแน่นอน เพราะสามารถทำให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าจริงในชีวิตของคน เนื่องจากไปเปลี่ยนพฤติกรรมของคนให้จำเป็นต้องใช้และขาดไม่ได้เหมือน Facebook ที่ตอนนี้หากหายไปหรือระบบล่มจะเกิดผลกระทบกับผู้ใช้อย่างมาก และสิ่งนี้ทำให้เกิดมูลค่ามหาศาลให้กับผลิตภัณฑ์ หรือเรียกเหตุการณ์นี้ว่า Product Market Fit คือ เป็นสินค้าในตลาดที่จำเป็นสำหรับผู้บริโภคเรียบร้อยแล้ว” ธีระชาติ กล่าว

ทางออกที่เลือกได้
ธีระชาติ กล่าวต่อว่า ปลายทางสำหรับสตาร์ทอัพแต่ละคนมีจุดมุ่งหมายในการขายผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดไม่เหมือนกัน ซึ่งทางออกสามารถเลือกได้ 2 ทางคือ ทางแรก นำธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือ IPO และทางที่สองเป็นการขายให้กับ Corporate ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Facebook หรือ Google เป็นต้น สำหรับสตาร์ทอัพที่ต้องการครอบครองผลิตภัณฑ์ที่สร้างขึ้น และมองว่าผลิตภัณฑ์ของตนสามารถสร้างรายได้ให้ในระยะยาวได้ จึงตัดสินใจดูแลต่อไป โดยเลือกทำ IPO ปั้นให้เติบโตในตลาดทุนต่อไป

บางสตาร์ทอัพอาจได้รับคำแนะนำว่า ภายใน 3 ปี ควรจะมีการขายกิจการในแบบใดแบบหนึ่ง แต่จริงแล้วถ้าสำรวจจะพบว่า สตาร์ทอัพบางรายบ่มเพาะผลิตภัณฑ์ของตนนานถึง 7 หรือ 10 ปีก็มี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าสตาร์ทอัพผลิตภัณฑ์นั้นเหมาะสมจะอยู่ยาวหรือสั้น เช่น แอพพลิเคชั่นเกม เร่งระดมทุนอัดฉีดเงินให้เกมติดกระแสโดยเร็วและขายนักลงทุน เป็นต้น หรือตอนนี้มีสตาร์ทอัพที่เป็น Serial Entrepreneur โดยมุ่งสร้างผลิตภัณฑ์ออกมาเพื่อระดมทุนและขายให้นักลงทุนเป็นเป้าหมายหลัก เพราะสนุกกับการเป็นสตาร์ทอัพสร้างผลงานและได้กำไรจากไอเดีย

ธีระชาติ มองว่า Stock Radars สามารถเติบโตได้อีกมหาศาล จึงไม่คิดว่าจะขายผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดเร็วๆ นี้ ปีนี้เป็นปีที่สองของ Stock Radars และกำลังจะปิดรอบ Series A โดยการทำธุรกิจของเราจะไม่เร่งระดมทุน มากเพราะการเป็น FinTech หากมีการระดมทุนเร็วและอัดฉีดเงินสูงมาก อาจทำให้รู้สึกขาดความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะต่างจากสตาร์ทอัพประเภทอื่น ดังนั้น เราต้องการให้ StockRadars เติบโตอย่างยั่งยืน จึงมองว่าการทำ IPO น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับเราตอนนี้ เพราะต้องการสร้างความภูมิใจให้กับประเทศไทยที่มีสตาร์ทอัพคนไทยอยู่ในตลาดหุ้น

ตั้งเป้าไว้และฝันให้ถึง

“ตอน นี้สตาร์ทอัพอยากได้ CLV เพิ่มขึ้น ดังนั้น แนะนำว่าสตาร์ทอัพสามารถนำบริการของเราไปจับมือกับสตาร์ทอัพรายอื่นที่ ธุรกิจเชื่อมโยงกันได้ และจัดโปรโมชั่นร่วมกันเพื่อขยายฐานลูกค้า ซึ่งเป็นโมเดลที่ทำให้ได้รับผลประโยชน์ทั้งคู่”

ธีระชาติ กล่าวว่า ความฝันคือ การเป็น FinTech ระดับโลก โดยเลือกจะพัฒนา StockRadars ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องในตลาด โดยปล่อยไปตามกลไกตลาดทุนตามธรรมชาติของผลิตภัณฑ์ ซึ่งแน่นอนจะต้องมีเวลาเป็นตัวกำหนด เพราะเวลาคือ สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ แต่จะไม่เร่งอัดฉีดเงินมากจนเกินไป เหมือนกับการเร่งผลิต เพื่อปั้นมูลค่าและขายออก เนื่องจากไม่อยากสร้างความคิดให้กับสตาร์ทอัพรุ่นน้องว่า อยากเข้ามาเพื่อหวังรวย ซึ่งไม่ได้เกิดจาก Passion จริงๆ เพราะการเป็นสตาร์ทอัพคือ การสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นจาก Passion และหาทุนเพื่อทำมาสร้างผลิตภัณฑ์ให้เติบโต

“ผมอยากสร้าง StockRadars ที่เป็นฝีมือคนไทยให้มีชื่อเสียงระดับโลก เพื่อให้คนต่างชาติรู้ว่า ประเทศเราไม่ได้ล้าหลัง และคนไทยเก่งไม่ได้ด้อยไปกว่าฝรั่งเลย เพราะตอนสมัยทำงานกับบริษัทออสซี่ เพื่อนชาวออสซี่ชอบคิดว่าคนไทยขี่ช้างไปเรียน ถ้าถึงวันที่ StcokRadars ประสบความสำเร็จ ผมจะเอาแอพฯ นี้ไปให้คนพวกนี้ใช้”

การเป็นสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่จบแค่การระดมทุนในแต่ละรอบได้สำเร็จ แต่เป็นความสามารถบริหารจัดการธุรกิจ หลังจากได้เงินทุนให้มีประสิทธิภาพ และทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถเติบโตในตลาดได้อย่างยั่งยืนต่างหาก ทุกคนที่มีส่วนร่วมในการสร้างผลิตภัณฑ์มีความสุข และคนใช้ผลิตภัณฑ์มีความสุขในการใช้บริการ

“อยากให้เปลี่ยนความคิด ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ อยากให้แชร์กันมากขึ้น ขยายเรื่องดีๆ สู่สังคมสตาร์ทอัพมากขึ้น ขยายเรื่องไม่ดีให้มากขึ้น ใครทำอะไรดีคนได้ยิน อะไรไม่ดีคนเห็นจะได้ไม่ทำ และอยากให้ทุกคนช่วยกันสร้าง Eco System นี้ให้ใหญ่ขึ้นเพื่อจะช่วยผลักดันธุรกิจสตาร์ทอัพในไทยให้โตขึ้นด้วย”

 

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

ธนาคารกรุงเทพรับสมัครสตาร์ตอัพ เข้าโครงการ Bangkok Bank InnoHub Season 2

ธนาคารกรุงเทพร่วมกับบริษัท Nest ที่มากด้วยประสบการณ์ด้านสตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทค ค้นหาธุรกิจสตาร์ทอัพ 5 กลุ่ม …