
ปูม เชษฐ์โชติศักดิ์ CEO และ Co-founder TINT Bicycle
“TINT Bicycle” ร้านขายจักรยานแนวใหม่ที่ลูกค้าสามารถดีไซน์ตัวจักรยานได้ด้วยตัวเอง “ปูม เชษโชติศักดิ์” ร่วมกับเพื่อนเปิดร้านนี้ขึ้น ด้วยจุดเด่นเรื่องของดีไซน์จักรยานที่มีสีสันให้เลือกมากกว่า 22 สี สามารถเลือกอะไหล่ ปรับการตกแต่ง และประกอบออกมาเป็นจักรยานในสไตล์คุณได้ง่ายๆ ผ่านเว็บไซต์ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าโดยเฉพาะ
จักรยานแบบ Customize โดนใจคนรุ่นใหม่-ชาวต่างชาติ
ปูม เชษฐ์โชติศักดิ์ CEO และ Co-founder TINT Bicycle เล่าว่า หลังจากพบว่าจักรยานสำเร็จรูปที่มีวางจำหน่ายในตลาด ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ใช่นั่กปั่นได้ โดยจักรยานที่มีดีไซน์สวย รูปทรงโดนใจ มักจะมาพร้อมกับราคาที่สูงตามไปด้วย ซึ่งปูมมองว่าจักรยานเปรียบเสมือนเครื่องแต่งกายชิ้นหนึ่ง ที่จะต้องเข้ากับสไตล์ของผู้ใช้
“ในตลาดมีจักรยานสวยๆ อยู่มาก แต่มักจะมีราคาสูง ซึ่งเราไม่ได้ต้องการจักรยานที่ราคาสูงหรือมีฟังก์ชั่นการใช้งานเยอะ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราคิดจะทำร้านจักรยานที่ลูกค้าสามารถออกแบบด้วยตัวเองได้ ในราคาที่ไม่แพง และมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่เหมาะสมกับชีวิตประจำวัน”
นอกจากนี้ ปูม พบว่า ลูกค้าชาวต่างชาติที่มีสัดส่วนประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ เป็นอีกกลุ่มที่ให้ความสนใจ ด้วยความเป็น Made to Order แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าจักรยานในกลุ่มสเป็กเดียวกัน แต่เขากลับให้ราคาในความเป็น Customize และความยูนีคมาก เหมือนว่าทำออกมาสำหรับเขาโดยเฉพาะ
![]() |
ฉบับที่ 219 เดือนมีนาคมยุค IoT ของพลเมืองสูงวัย
|
นอกจากช่องทางหน้าร้านที่ตั้งอยู่ในย่านลาดพร้าวแล้ว TINT Bicycle ยังมีช่องทางออนไลน์บนเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และ www.tintbicycle.com ที่ปูมมองว่า เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ด้วยคอนเซ็ปต์การออกแบบที่ทำขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า ให้สามารถออกแบบ และเห็นภาพจักรยานที่ต้องการได้ง่ายขึ้น พร้อมสามารถสั่งซื้อได้ทันที
“ในส่วนของการทำการตลาด เรามองว่า ตลาดจักรยานเป็นตลาดที่มีลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เพราะไม่ใช่ทุกคนที่อยากปั่นจักรยาน คนอยากซื้อก็มีไม่มาก ทำให้เราอาศัยการทำการตลาดแบบ SEO (Search Engine Optimization) เพื่อช่วยในการเจาะกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยการพยายามทำให้ร้านของเรา อยู่ในหน้าแรกของการค้นหาผ่าน Google เพื่อให้พวกเขาค้นหาเราเจอได้ง่ายขึ้น” ปูม กล่าว
มองปัญหาเป็นโอกาสเรียนรู้ให้คำปรึกษา-บริการหลังการขาย
“ในช่วงแรกของธุรกิจ เราประสบกับปัญหาและการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น ปัญหาเรื่องการจัดส่งสินค้า เมื่อสินค้าเกิดตำหนิ หรือรอยค่อนข้างมาก อันเนื่องมาจากกระบวนการขนส่ง ซึ่งเมื่อเราตรวจสอบก็พบว่าไม่ได้เป็นความผิดพลาดที่มาจากการขนส่งเพียงอย่างเดียว แต่เป็นที่วิธีการแพ็กสินค้าด้วย ทำให้เราต้องหาวิธีแพ็กสินค้าใหม่ เช่น การจัดวางอะไหล่ที่ต้องทำตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งในแต่ละขั้นตอนต้องอาศัยความละเอียด ซึ่งเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ก็ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าปัญหาเกิดจากอะไร และจะต้องปรับแก้ที่จุดไหน”
ปูม กล่าวเพิ่มเติมว่า ลูกค้ามีพฤติกรรมชอบขอคำปรึกษาด้านการออกแบบผ่านการแชต ไม่ว่าจะเป็นอินบ็อกซ์ บนเฟซบุ๊ก หรือ LINE@ ซึ่งนอกจากบริการให้คำปรึกษาแล้ว ยังใช้ช่องทางแชตเข้ามาตอบส่วนเรื่องของบริการหลังการขายด้วย เช่น ลูกค้าแจ้งเข้ามาว่ายางแตก หากเป็นปัญหาที่เกิดจากความรับผิดชอบของทางร้าน ก็จะจัดส่งอะไหล่ไปให้ หรือหากนอกเหนือความรับผิดชอบ ก็สามารถช่วยได้
มุ่งทำการตลาดเฉพาะกลุ่ม เชื่ออนาคตคนใช้จักรยานมากขึ้น
ปูม กล่าวต่อว่า สำหรับแผนการขยายธุรกิจในปีนี้ จะมุ่งไปที่การควบคุมต้นทุนการผลิต เพื่อให้ธุรกิจยังคงแข่งขันในตลาดได้ เนื่องจากพบว่าในระยะที่ผ่านมา มีการปิดตัวของร้านจักรยานไปมาก เพราะความต้องการซื้อของผู้บริโภคลดลงไปจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
สิ่งที่เราอยากจะพัฒนาคือ เรื่องของการทำรีมาร์เก็ตติ้ง (Remarketing) โดยเราต้องการเจาะตลาดลูกค้าเฉพาะกลุ่ม หรือนิช มาร์เก็ต (Niche Market) ให้มากขึ้น แม้ว่าในภาพรวมตอนนี้ กระแสการปั่นจักรยานเริ่มลดลง แต่เชื่อว่าเทรนด์จักรยานโลกมีทิศทางเติบโต
“ยกตัวอย่างใน ยุโรป ที่ประชาชนมีอัตราการใช้รถยนต์ลดน้อยลง และหันมาจักรยานมากขึ้น ส่วนในไทยเชื่อว่าเมื่อรัฐบาลมีนโยบายเข้ามาสนับสนุนในเรื่องของเลนสำหรับจักรยานมากขึ้น จะทำให้การเติบโตในด้านนี้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย” ปูม กล่าว
สุดท้ายนี้ ปูม ฝากถึงคนที่อยากเริ่มต้นทำธุรกิจออนไลน์ว่า ช่องทางออนไลน์คืออาวุธสำคัญสำหรับการทำธุรกิจในปัจจุบัน เพราะวันนี้ผู้บริโภคอยู่บนออนไลน์ ดังนั้นหากธุรกิจไม่ใช้ออนไลน์เข้ามาช่วย ก็อาจทำให้แข่งขันในตลาดได้ค่อนข้างยาก ด้วยปัจจัยด้านบวกที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก เชื่อว่าจะช่วยให้คนที่มีไอเดีย หรืออยากจะเริ่มทำธุรกิจ เริ่มต้นได้ง่ายและมีโอกาสทดลองทำตลาดได้ง่ายขึ้น