เทคโนโลยีค็อกนิทิฟ เป็นเทคโนโลยีที่สามารถเข้าใจภาษาที่มนุษย์ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน โดยตีความข้อมูลจากเว็บไซต์ เซ็นเซอร์ ภาพ เสียง และวิดีโอ ซึ่งสามารถเข้าใจความสัมพันธ์และเป็นเหตุเป็นผลของข้อมูลเหล่านั้นและยังสามารถเรียนรู้จากบริบทใหม่ๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์อีกด้วย
ไอบีเอ็ม นำความสามารถของเทคโนโลยี ค็อกนิทิฟในรูปแบบเอพีไอ (Application Programming Interface: API) บนแพลตฟอร์มคลาวด์ “วัตสันไอโอที” (Watson IoT) มาต่อยอดพัฒนาระบบและการปฏิบัติการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้ Internet of things (IoT) ในยุคที่สองสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลรูปแบบต่างๆ ที่มาจากหลายแหล่งได้ ด้วยผลลัพธ์แบบเรียลไทม์จากพลังประมวลผลของระบบคลาวด์ระดับโลก หลังจากที่ IoT ในยุคแรก เป็นความพยายามติดตั้งเซ็นเซอร์ลงบนอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ สายการผลิตในโรงงาน โครงข่ายไฟฟ้า อาคาร และถนน เป็นต้น เพื่อเชื่อมให้วัตถุต่างๆ สามารถสื่อสารกันได้
อนาคต IoT จะเป็นแหล่งข้อมูลมหาศาล
ข้อมูลจาก ไอบีเอ็ม เปิดเผยว่า อุปกรณ์ Internet of things ราว 13,000 ล้านชิ้นที่เชื่อมต่อกันอยู่ทุกวันนี้ กำลังก่อให้เกิดข้อมูลปริมาณมหาศาลที่มีอัตราการเติบโตเร็วกว่าข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย และข้อมูลที่ได้รับการสร้างขึ้นบนคอมพิวเตอร์ถึงสองเท่า ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันเหล่านี้จะมีปริมาณสูงถึง 29,000 ล้านเครื่องในปี พ.ศ. 2563 โดยที่ IoT จะกลายเป็นแหล่งข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดหนึ่งเดียวของโลกในอนาคตอันใกล้นี้ และภายในปี 2568 ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะนำไปสู่มุมมองเชิงลึกที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่า 11 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
แต่ได้มีการคาดการณ์ต่อว่า 88 เปอร์เซ็นต์ ของข้อมูลเหล่านี้กลับยังไม่ได้รับการนำมาใช้ประโยชน์แต่อย่างใด ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีคอมพิวติ้งในปัจจุบันที่ยังต้องประมวลผลตามชุดคำสั่งที่โปรแกรมไว้ (Programmable Computing) และไม่มีศักยภาพมากพอที่จะไขรหัสความซับซ้อนของข้อมูล IoT หรือวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้ ขณะที่การจัดเก็บหรือเคลื่อนย้ายข้อมูลปริมาณมหาศาลยังเป็นภาระต้นทุนที่หนัก อีกทั้งยังไม่นับรวมข้อกำหนดและกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่อาจกลายเป็นอุปสรรคสำหรับการใช้คลาวด์คอมพิวติ้งขององค์กรอีกด้วย
ในยุคที่สอง สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลรูปแบบต่างๆ ที่มาจากหลายแหล่งได้ พร้อมสามารถให้ผลลัพธ์แบบเรียลไทม์ด้วยพลังประมวลผลของระบบคลาวด์
ค็อกนิทิฟเป็นกุญแจไขรหัสสำคัญ
กิตติพงษ์ อัศวพิชยนต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซอฟต์แวร์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันไอบีเอ็มได้นำความสามารถอัจฉริยะของเทคโนโลยีค็อกนิทิฟ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถเข้าใจภาษาที่มนุษย์ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน โดยตีความข้อมูลจากเว็บไซต์ เซ็นเซอร์ ภาพ เสียง และวิดีโอ สามารถเข้าใจความสัมพันธ์และเป็นเหตุเป็นผลของข้อมูลเหล่านั้น และสามารถเรียนรู้จากข้อมูล และบริบทใหม่ๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์ด้วย ในรูปแบบเอพีไอ (Application Programming Interface: API) บนแพลตฟอร์มคลาวด์ ที่เรียกว่า วัตสันไอโอที (Watson IoT) มาต่อยอด ทำให้ IoT ในยุคที่สอง สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลรูปแบบต่างๆ ที่มาจากหลายแหล่งได้ พร้อมสามารถให้ผลลัพธ์แบบเรียลไทม์ด้วยพลังประมวลผลของระบบคลาวด์ระดับโลก
สำหรับชุดเอพีไอค็อกนิทิฟบนแพลตฟอร์มวัตสันไอโอทีที่นำเข้ามาต่อยอด IoT ในปัจจุบัน อาทิ การประมวลผลภาษาธรรมชาติ หรือภาษาที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน (Natural Language Processing) ผู้ใช้สามารถปฏิสัมพันธ์กับระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ได้ด้วยภาษาที่ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน เมื่อระบบได้รับข้อมูลคำถามก็จะเชื่อมโยงคำต่างๆ กับบริบทและคุณสมบัติ, แมชชีนเลิร์นนิ่ง (Machine Learning) ความสามารถประมวลผลข้อมูล รวมถึงมอนิเตอร์ข้อมูลและผู้ใช้ใหม่อัตโนมัติ เพื่อเรียนรู้จากแพทเทิร์นและรูปแบบการจัดลำดับความสำคัญที่เกิดขึ้นในอดีต ช่วยให้ระบบสามารถแนะนำแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับเหตุต่างๆ
นอกจากนี้ ยังมี การวิเคราะห์วิดีโอ/ภาพ/เสียงเชิงลึก (Video/Image/Audio Analytics) ช่วยให้สามารถมอนิเตอร์ข้อมูลไร้โครงสร้างจากวิดีโอฟีดและภาพสแนปช็อตต่างๆ เพื่อระบุเหตุการณ์และแพทเทิร์นที่เกิดขึ้นบนวิดีโอและภาพเหล่านั้น และการวิเคราะห์คำเชิงลึก (Text Analytics) ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลไร้โครงสร้าง อาทิ ข้อมูลการบำรุงรักษาเชิงเทคนิค คำพูดลูกค้าที่บันทึกระหว่างโทรเข้าคอลเซ็นเตอร์ คอมเมนต์จากบล็อกต่างๆ ข้อมูลทวีต เป็นต้น เพื่อหาความสัมพันธ์และแพทเทิร์นที่ซ่อนอยู่ในถ้อยคำดังกล่าว
ฉบับที่ 211 เดือนกรกฏาคมแพลตฟอร์ม IoT หัวใจของข้อมูล |
ช่วยเสริมศักยภาพงานขนส่ง ห้างสรรพสินค้า และรถไร้คนขับ
ทั้งนี้ ได้มีการนำวัตสันไอโอทีเข้าเสริมศักยภาพงานด้านต่างๆ เช่น ขนส่งของบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าระดับโลก โดยบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าระดับโลกให้แบรนด์ชั้นนำแห่งหนึ่ง ได้ทำการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ เข้ากับแพลตฟอร์ม Watson IoT เพื่อผสานเทคโนโลยีค็อกนิทิฟและข้อมูลสภาพอากาศ ช่วยแสริมศักยภาพงานขนส่งสินค้า ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถเข้าใจคำถามในลักษณะคำพูดที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และสามารถให้คำตอบบนพื้นฐานของข้อมูลสภาพอากาศจาก The Weather Company ได้ แต่สิ่งที่ก้าวล้ำกว่าคือ บริษัทสามารถฝึกให้แอพฯ นี้ตอบคำถามในสาขาและลักษณะที่เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้นด้วย
ขณะที่ ห้างสรรพสินค้า ในปัจจุบันเริ่มมีการนำ IoT เข้ามาใช้ เช่น การติดเซ็นเซอร์เพื่อให้สามารถปรับระดับอุณหภูมิและควบคุมการใช้พลังงานได้ ทำให้ห้างฯ ในอนาคตสามารถรับรู้และควบคุมสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง อาทิ เซ็นเซอร์ที่ติดอยู่ตามชั้นและจุดขาย กล้องวิดีโอวงจรปิด ลำโพงแบบ 2 ทางที่เป็นทั้งตัวรับและขยายเสียง จะเชื่อมต่อกับระบบเน็ตเวิร์กของห้างฯ และแอพฯ บนสมาร์ทโฟนที่ลูกค้าอนุญาตให้เชื่อมต่อได้ โดยมีเทคโนโลยีค็อกนิทิฟทำหน้าที่ผนวกรวมข้อมูลจากเซ็นเซอร์และอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ เข้ากับข้อมูลสภาพอากาศ ข่าวสาร สตรีมข้อมูลจากโซเชียล-เน็ตเวิร์ก และเทรนด์การซื้อ ช่วยให้ผู้จัดการห้างฯ สามารถเห็นความเป็นไปต่างๆ ได้แบบเรียลไทม์ สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า และคาดการณ์เหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ ห้างฯ ยังสามารถใช้แอพฯ ค็อกนิทิฟเพื่อช่วยให้สามารถให้บริการลูกค้าแต่ละรายตามลักษณะความชอบและพฤติกรรมการซื้อของพวกเขาได้อีกด้วย
และล่าสุด ไอบีเอ็ม ได้นำเทคโนโลยีค็อก-นิทิฟเข้าเสริมศักยภาพให้ รถไร้คนขับ “ออลลี่” ที่พัฒนาขึ้นโดยลอคัลมอเตอร์ส (Local Motors) โดยมีการติดตั้งเซ็นเซอร์บนรถกว่า 30 จุด และมีการนำเอพีไอ Watson Speech to Text, Natural Language Classifier, Entity Extraction และ Watson Speech to Text บนแพลตฟอร์คลาวด์ วัตสันไอโอทีเข้ามาใช้ ทำให้ระบบสามารถวิเคราะห์ข้อมูลการเดินทางและปรับรูปแบบการให้บริการให้เหมาะกับความต้องการของผู้โดยสารในแต่ละจุดที่มีการให้บริการได้ นอกจากนี้ ผู้โดยสารยังสามารถสื่อสารกับรถ รวมถึงถามคำถามเกี่ยวกับการทำงานของรถ ถามข้อมูลร้านอาหารหรือสถานที่ท่องเที่ยวในละแวกใกล้เคียง รวมถึงสอบถามว่ารถมาถึงตำแหน่งที่ต้องการหรือยัง ช่วยให้รถสามารถเข้าใจและตอบคำถามผู้โดยสาร เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับประสบการณ์การเดินทางที่เพลิดเพลินสะดวกสบาย
แนะ 3 เรื่องสำคัญ ให้องค์กรใช้ IoT ต่อยอดธุรกิจ
กิตติพงษ์ ให้ข้อมูลต่อว่า สำหรับการใช้ประโยชน์จาก IoT ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจในอนาคต องค์กรจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับ 3 เรื่อง ได้แก่ 1. การพัฒนาอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อและทำงานร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆ นับล้านเครื่องทั่วโลกได้โดยง่าย สามารถเพิ่มจำนวนอุปกรณ์ได้อย่างรวดเร็ว โดยทำงานบนคลาวด์ที่รองรับการประมวลผลขั้นสูงและมีระบบความปลอดภัยสูง และอยู่บนแพลตฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยีเปิด (Open-Source) เพื่อเอื้อแก่การพัฒนาต่อยอดในอนาคต รวมทั้งต้องนำความสามารถของอนาไลติกส์และค็อกนิทิฟเข้ามาช่วยแปลงข้อมูลมหาศาลเหล่านี้เป็นมุมมองเชิงลึกสำหรับธุรกิจด้วย
ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยไอบีเอ็มยังได้เข้าร่วมโครงการ Future Internet Business Collaboration Networks (Flspace) อันเป็นหนึ่งในโครงการ Seventh Framework Programme (FP7) ของสหภาพยุโรป เพื่อร่วมพัฒนาแพลตฟอร์ม IoT ที่องค์กรในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร การเกษตร คมนาคม และการขนส่ง สามารถเชื่อมกันได้อย่างไร้รอยต่อและมีประสิทธิภาพ เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อนำไปสู่ระบบนิเวศที่เอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมไอที
2. องค์กรในอนาคตควรใช้ซอฟต์แวร์และบริการที่สามารถผนวกรวมข้อมูล IoT เข้ากับข้อมูลภายในและภายนอกองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ในระบบปฏิบัติการที่เป็นต้นตอของปัญหาธุรกิจ และเพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีสามารถเชื่อมต่อกันได้ ซึ่งจะทำให้องค์กรสามารถเข้าใจความต้องการของลูกค้าและสร้างประสบการณ์การใช้ผลิตภัณฑ์และบริการในแบบที่ลูกค้าต้องการได้
และ 3. องค์กรต้องกำหนดกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการนำ IoT มาช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ซึ่งนอกจากจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อให้เกิดมุมมองเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ทางธุรกิจแล้ว องค์กรจะต้องสร้างคลังข้อมูลความรู้ เพื่อประโยชน์ทั้งในแง่เสริมศักยภาพธุรกิจและการพัฒนาบุคลากรอีกด้วย